ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

การมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง

๓. จักกวัตติสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ
การมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง
[๘๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองมาตุลา แคว้นมคธ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ๑- มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็น ที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมป- ชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรม เป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างนี้แล @เชิงอรรถ : @ มีตนเป็นเกาะ ในที่นี้หมายถึงทำตนให้พ้นจากห้วงน้ำ คือ โอฆะ ๔ เหมือนกับเกาะกลางมหาสมุทรที่ @น้ำท่วมไม่ถึง (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๕๐, ที.ม.ฏีกา ๑๖๕/๑๘๐) ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๖๕/๑๑๑, @สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๙/๒๓๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๕๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร๑- ซึ่งเป็นวิสัยอัน สืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติธรรมอันเป็นโคจรซึ่งเป็นวิสัย อันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน มารจะไม่ได้โอกาส จะไม่ได้อารมณ์ ภิกษุทั้งหลาย บุญนี้ย่อมเจริญขึ้นได้อย่างนี้ เพราะการสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ
เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ
[๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า ทัฬหเนมิ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่ เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ได้แก่ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่ง ล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรง ชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็น ขอบเขต [๘๒] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เมื่อเวลาล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลาย พันปี พระเจ้าทัฬหเนมิรับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘บุรุษผู้เจริญ ในขณะที่ ท่านเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พึงบอกแก่เราทันที’ ราชบุรุษนั้น ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ราชบุรุษนั้นได้เห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึง ที่ประทับ แล้วได้กราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าทัฬหเนมิดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของ พระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว’ @เชิงอรรถ : @ ธรรมอันเป็นโคจร ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เป็นอารมณ์กัมมัฏฐานของภิกษุ (ที.ปา.อ. ๘๐/๓๑, @ที.ปา.ฏีกา ๘๐/๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๖๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ

ลำดับนั้น ท้าวเธอรับสั่งเรียกพระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า ‘ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยิน มาว่า ‘จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง ณ บัดนี้ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน’ กามทั้งหลาย อันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะแสวงหากามทั้งหลาย อันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองแผ่นดิน อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้ ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต๑-’ [๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ครั้นพระเจ้าทัฬหเนมิทรงสั่งสอนพระกุมารผู้เป็นพระ ราชโอรสองค์ใหญ่ในเรื่องการครองราชย์เรียบร้อยแล้ว ทรงโกนพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระราชฤๅษี ผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์ได้อันตรธานไป ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้ากษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษก๒- แล้ว ถึงที่ ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์ ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว’ ขณะนั้น เมื่อจักรแก้วอัน เป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอทรงเสียพระทัย ทรงแสดงความเสียพระทัยให้ ปรากฏ จึงเสด็จเข้าไปหาพระราชฤๅษีถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไป แล้ว’ เมื่อท้าวเธอกราบทูลอย่างนี้ พระราชฤๅษีจึงตรัสว่า ‘ลูก เมื่อจักรแก้วอัน เป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว เจ้าอย่าเสียใจและอย่าแสดงความเสียใจให้ปรากฏเลย @เชิงอรรถ : @ บวชเป็นบรรพชิต ในที่นี้หมายถึงบวชเป็นดาบส ซึ่งต้องโกนผมและหนวดเป็นพิธีการแรก หลังจากบวช @แล้วเมื่อผมงอกขึ้นมาใหม่ ก็จะใช้วิธีมุ่นผมเป็นชฎา แล้วเที่ยวไป การบวชในสมัยแรกใช้ผ้ากาสาวพัสตร์ @(ผ้าที่ย้อมน้ำฝาด) ในสมัยต่อมาใช้ผ้าเปลือกไม้ก็มี (ที.ปา.อ. ๘๒/๓๓) @ มูรธาภิเษก หมายถึงพิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษก หรือพระราชพิธีอื่นๆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๖๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ

ด้วยว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ หาใช่เป็นทรัพย์สมบัติที่เป็นมรดกสืบมาจากบิดาของ เจ้าไม่ ขอให้ลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือ เมื่อลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม จักปรากฏจักรแก้วอันเป็น ทิพย์ ซึ่งมีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง’
จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ
[๘๔] ‘จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า’ ‘ลูกเอ๋ย ถ้าเช่นนั้น ลูกจงอาศัยธรรม๑- เท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรม เป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองชนภายใน๒- กำลังพล พวกกษัตริย์ผู้ ตามเสด็จ พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท สมณพราหมณ์ สัตว์ จำพวกเนื้อและนกโดยธรรม การกระทำสิ่งที่ผิดแบบแผน อย่าได้เป็นไปในแว่นแคว้น ของลูก อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก ไม่มีทรัพย์ ลูกพึงให้ทรัพย์แก่บุคคล เหล่านั้นด้วย อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก เว้นขาดจากความ มัวเมา และความประมาท๓- ตั้งมั่นอยู่ในขันติ(ความอดทน)และโสรัจจะ(ความเสงี่ยม) ฝึกตน สงบตน ให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว ลูกพึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ตามกาลอันควรแล้วไต่ถามสอบถามว่า ‘ท่านขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง อะไรที่ข้าพเจ้า ทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่าอะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่ @เชิงอรรถ : @ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ คือ (๑) เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ (๒) เว้นขาดจากการ @ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ (๓) เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (๔) เว้นขาดจากการพูดเท็จ @(๕) เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด (๖) เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ (๗) เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ @(๘) ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา (๙) ความมีจิตไม่พยาบาท (๑๐) ความเห็นชอบ (ที.ปา.อ. ๘๔/๓๔) @ ชนภายใน ในที่นี้หมายถึงพระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดา (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘) @ ความประมาท ในที่นี้หมายถึงความมีจิตหมกมุ่นในกามคุณ ๕ (ที.ปา.อ. ๘๔/๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

การปรากฏของจักรแก้ว

พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ ครั้นลูกได้ฟังจากสมณพราหมณ์เหล่า นั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้น สิ่งใดเป็นกุศล พึงยึดถือประพฤติสิ่งนั้น ให้มั่น ลูกเอ๋ย จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นอย่างนี้แล’
การปรากฏของจักรแก้ว
[๘๕] ภิกษุทั้งหลาย กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วรับสนองพระดำรัส ของพระราชฤๅษีแล้ว ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ เมื่อท้าวเธอทรง ประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่ สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษา อุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม ปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมี กำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง เมื่อกษัตราธิราชผู้ได้รับ มูรธาภิเษกแล้ว ทอดพระเนตรแล้วทรงดำริว่า ‘เราได้ฟังเรื่องนี้มาว่า ‘กษัตราธิราช พระองค์ใด ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงสนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม จักปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง กษัตราธิราช พระองค์นั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิกระมัง’ ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงลุกจากที่ประทับ ทรงพระภูษาเฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้าย ทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้นตรัสว่า ‘จักรแก้วอันประเสริฐ จงหมุนไป จงได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่’ ทันใดนั้น จักรแก้วหมุนไปทางทิศตะวันออก ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา๑- ได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วย จตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์ ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’ @เชิงอรรถ : @ จตุรงคินีเสนา หมายถึงกองทัพที่มีกำลัง ๔ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า @(สํ.ส.อ. ๑/๑๒๕/๑๔๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

การปรากฏของจักรแก้ว

ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ เขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจงครอง ราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ [๘๖] ภิกษุทั้งหลาย จากนั้น จักรแก้วหมุนไปยังมหาสมุทรทิศตะวันออก แล้วกลับเวียนไปทางทิศใต้ ฯลฯ หมุนไปยังมหาสมุทรทิศใต้แล้วกลับเวียนไปทาง ทิศตะวันตก ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อม ด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันตก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์ ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’ ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ เขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจงครอง ราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันตกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ [๘๗] จากนั้น จักรแก้วหมุนไปยังมหาสมุทรทิศตะวันตกแล้วกลับหมุนไป ทางทิศเหนือ ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรม ในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือ พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จ มาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์ ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทาน พระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ เป็นต้น

ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ เขามิได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจงครอง ราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ ครั้งนั้น จักรแก้วได้ปราบปรามแผ่นดินมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตอย่างราบคาบ เสร็จแล้วหมุนกลับยังราชธานีนั้นมาปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิที่พระทวารภายใน พระราชวัง ณ หน้ามุขที่ทรงวินิจฉัยราชกิจ ทำภายในพระราชวังของท้าวเธอให้ สว่างไสว
เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ เป็นต้น
[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ ฯลฯ แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๓ ฯลฯ แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๔ ฯลฯ แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๕ ฯลฯ แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๖ ฯลฯ แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๗ เมื่อเวลาล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ได้รับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘บุรุษผู้เจริญ ในขณะที่ท่านเห็นจักรแก้ว อันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พึงบอกแก่เราทันที’ ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระ ราชดำรัสแล้ว เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ราชบุรุษนั้นได้ เห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึงที่ประทับ แล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์ ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว’ [๘๙] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอรับสั่งเรียกพระกุมาร ผู้เป็นพระราช- โอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า ‘ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ เป็นต้น

ที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยินมาว่า ‘จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใด ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง ณ บัดนี้ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่ นาน’ กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะ แสวงหากามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองแผ่นดิน อันมี มหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้ ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออก จากเรือนบวช เป็นบรรพชิต ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทรงสั่งสอนพระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในเรื่อง การครองราชย์เรียบร้อยแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระราชฤๅษีผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้ว อันเป็นทิพย์ได้อันตรธานไป [๙๐] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้ากษัตราธิราชผู้ได้รับ มูรธาภิเษกแล้วถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว’ ขณะนั้น เมื่อ จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอทรงเสียพระทัย ทรงแสดงความเสีย พระทัยให้ปรากฏ แต่ไม่ได้เสด็จเข้าไปหาพระราชฤๅษีทูลถามถึงจักรวรรดิวัตรอัน ประเสริฐ นัยว่า ท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เอง เมื่อท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เองอยู่ ประชาราษฎร์ ก็ไม่เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติ จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่ ครั้งนั้น ข้าราชการ ข้าราชบริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพ นายกอง ราชองครักษ์ องคมนตรี ได้ประชุมกันกราบทูลท้าวเธอดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ทราบว่า เมื่อพระองค์ทรงปกครองชนบท๑- ตามพระมติของพระองค์เอง ประชาราษฎร์ก็ไม่ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๕๐ หน้า ๓๕ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติ จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่ พระเจ้าข้า ในแว่นแคว้นของพระองค์มีข้าราชการ ข้าราชบริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ องคมนตรี อยู่พร้อมทีเดียว ข้าพระองค์ทั้งหลายและประชาราษฎร์เหล่าอื่น จดจำจักรวรรดิวัตร อันประเสริฐได้อยู่ ขอพระองค์โปรดตรัสถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด พระองค์ ตรัสถามแล้ว พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกราบทูลจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐถวาย’
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น
[๙๑] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้ประชุมข้าราชการ ข้าราช- บริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ องคมนตรี ตรัสถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ พวกเขาจึงกราบทูลจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ แก่ท้าวเธอ ท้าวเธอได้ฟังคำทูลตอบของพวกเขาแล้ว จึงทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองโดยชอบธรรม แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ เมื่อไม่ พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนจึงแพร่หลาย เมื่อความขัดสน แพร่หลาย บุรุษคนหนึ่งจึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย ประชาชน ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาท บุรุษคนนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขา กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่ ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’ ‘จริง พระเจ้าข้า’ ‘เพราะเหตุไร’ ‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’ ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขาแล้วรับสั่งว่า ‘พ่อคุณ เธอจง เลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงบุตรภรรยา ประกอบการงานทั้งหลาย จงตั้งทักษิณา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่ทำให้มีผลสูงขึ้นไป๑- ที่เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์๒- ด้วยทรัพย์นี้เถิด’ เขาได้ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว แม้บุรุษอีกคนหนึ่ง ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย คนทั้งหลาย ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วจึงนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบ ทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ยินว่า เธอถือเอาสิ่งของ ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’ ‘จริง พระเจ้าข้า’ ‘เพราะเหตุไร’ ‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’ ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขาแล้วรับสั่งว่า ‘พ่อคุณ เธอ จงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา จงเลี้ยงบุตรภรรยา จงประกอบการงานทั้งหลาย จงตั้งทักษิณาในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ทำให้มีผลสูงขึ้นไป เป็นไปเพื่อไห้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ด้วยทรัพย์นี้เถิด’ เขาทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว [๙๒] ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายได้ฟังมาว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบ ว่า คนถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย พระเจ้าแผ่นดินยังพระราช- ทานทรัพย์ให้อีก’ จึงพากันคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี แม้พวกเราก็ควรถือเอาสิ่ง ของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยบ้าง’ @เชิงอรรถ : @ มีผลสูงขึ้นไป ในที่นี้หมายถึงส่งผลให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ คือ (๑) จาตุมหาราช (๒) ดาวดึงส์ @(๓) ยามา (๔) ดุสิต (๕) นิมมานรดี (๖) ปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ปา.ฏีกา ๙๑/๓๖) @ ให้เกิดในสวรรค์ในที่นี้หมายถึงให้ได้คุณวิเศษที่ล้ำเลิศ ๑๐ อย่าง มีผิวพรรณทิพย์ เป็นต้น (ที.ปา.อ. ๙๑/๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย คนทั้งหลาย ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบทูล อย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของ ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’ ‘จริง พระเจ้าข้า’ ‘เพราะเหตุไร’ ‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’ ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงทรงพระดำริอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราจักให้ทรัพย์แก่คนที่ถือเอา สิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย อทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ ไม่ได้ให้)นี้ จักแพร่หลายขึ้นด้วยประการอย่างนี้ ทางที่ดี เราควรให้คุมตัวบุรุษผู้นี้ อย่างแข็งขัน แล้วตัดต้นคอ ตัดศีรษะของบุรุษนั้นเสีย’ จากนั้น ท้าวเธอทรงสั่งบังคับ ราชบุรุษทั้งหลายว่า ‘แน่ะพนาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงใช้เชือกเหนียวๆ มัดบุรุษนี้ ไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอก พร้อมกับ แกว่งบัณเฑาะว์๑- เสียงดังน่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ จงคุมตัวอย่างแข็งขัน ทำการประหารชีวิต ตัดศีรษะบุรุษนั้นเสียทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร’ ราชบุรุษทั้งหลาย ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนั้นเอาแขนไพล่หลังอย่างแน่น หนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอกพร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดัง น่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ คุมตัวอย่างแข็งขัน ทำการประหารชีวิต ตัดศีรษะ บุรุษนั้นทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร [๙๓] ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายได้ฟังว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินได้คุมตัวคนผู้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยอย่างแข็งขัน ตัดต้นคอ ตัดศีรษะพวกเขาเสีย’ ครั้นได้ฟังแล้วจึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี @เชิงอรรถ : @ บัณเฑาะว์ ในที่นี้หมายถึงกลองที่ใช้ตีให้สัญญาณเมื่อจะประหารนักโทษ (ที.ปา.อ. ๙๒/๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

แม้พวกเราก็ควรให้ช่างทำศัสตราอย่างคมๆ แล้วจับคนที่ไม่ให้สิ่งของที่พวกเรา ถือเอาโดยอาการขโมยคุมตัวไว้อย่างแข็งขัน จักประหารชีวิต ตัดศีรษะของพวกมันเสีย’ พวกเขาจึงให้ช่างทำศัสตราคม แล้วจึงเริ่มทำการปล้นบ้าน นิคม พระนคร ปล้นตาม ถนนหนทาง จับคนที่ไม่ให้สิ่งของที่พวกตนถือเอาโดยอาการขโมย คุมตัวอย่างแข็งขัน ประหารชีวิต ตัดศีรษะของบุคคลเหล่านั้นเสีย [๙๔] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความ ขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตรา ก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) ก็แพร่หลาย เมื่อ ปาณาติบาตแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๔๐,๐๐๐ ปี ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ โดยอาการขโมย พวกเขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงนำไปถวายแก่กษัตราธิราช ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษนี้ ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ โดยอาการขโมย จริงหรือ’ บุรุษนั้นได้กราบทูลคำเท็จทั้งที่รู้อยู่ว่า ‘ไม่จริงเลย พระเจ้าข้า’ [๙๕] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความ ขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตรา ก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาต แพร่หลาย มุสาวาท(การพูดเท็จ) ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย คนเหล่านั้น ก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลง เหลือ ๒๐,๐๐๐ ปี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ โดยอาการขโมย บุรุษอีกคนหนึ่งจึงกราบทูลกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษชื่อนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการ ขโมย’ ชื่อว่าได้กระทำการส่อเสียด [๙๖] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาท ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย ปิสุณาวาจา(การพูดส่อเสียด) ก็แพร่หลาย เมื่อปิสุณาวาจาแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอย บ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มี อายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑๐,๐๐๐ ปี ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐,๐๐๐ ปี มนุษย์บางพวกมีวรรณะดี บางพวกมี วรรณะไม่ดี พวกที่มีวรรณะไม่ดี ก็เพ่งเล็งพวกที่มีวรรณะดี ประพฤติล่วงละเมิดใน ภรรยาของคนอื่น [๙๗] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ฯลฯ กาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติผิดในกาม) ก็แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย คนเหล่านั้น ก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลง เหลือ ๕,๐๐๐ ปี [๙๘] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๕,๐๐๐ ปี ธรรม ๒ ประการ คือ ผรุสวาจา(การพูดคำหยาบ) และสัมผัปปลาปะ(การพูดเพ้อเจ้อ) ก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อม ถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ที่มีอายุขัย ๕,๐๐๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒,๕๐๐ ปี บางพวกก็มี อายุขัยถอยลงเหลือ ๒,๐๐๐ ปี [๙๙] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒,๕๐๐ ปี อภิชฌา(ความเพ่งเล็ง อยากได้ของของเขา) และพยาบาท(ความคิดร้าย) ก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌา และ พยาบาทแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อ พวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๒,๕๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑,๐๐๐ ปี [๑๐๐] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑,๐๐๐ ปี มิจฉาทิฏฐิ(ความ เห็นผิด) ก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๑,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๕๐๐ ปี [๑๐๑] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๕๐๐ ปี ธรรม ๓ ประการ คือ อธัมมราคะ๑- วิสมโลภะ๒- และมิจฉาธรรม๓- ก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการ แพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขา มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๕๐๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒๕๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒๐๐ ปี ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๕๐ ปี ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ก็แพร่หลาย @เชิงอรรถ : @ อธัมมราคะ แปลว่า ความกำหนัดที่ผิดธรรม หมายถึงความกำหนัดในบุคคลที่ไม่สมควรกำหนัด เช่น @แม่ พ่อ (ที.ปา.อ. ๑๐๑/๓๘) @ วิสมโลภะ แปลว่า ความโลภจัด หมายถึงความโลภที่รุนแรงในฐานะแม้ที่ควรจะได้ (ที.ปา.อ. ๑๐๑/๓๘) @ มิจฉาธรรม แปลว่า ความกำหนัดผิดธรรมชาติ หมายถึงความกำหนัดที่ชายมีต่อชาย และที่ผู้หญิงมีต่อ @ผู้หญิง (ที.ปา.อ. ๑๐๑/๓๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

สมัยที่คนมีอายุขัย ๑๐ ปี

[๑๐๒] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาท ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย ปิสุณาวาจาก็แพร่หลาย เมื่อปิสุณาวาจาแพร่ หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย ธรรม ๒ ประการ คือ ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปะก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการ แพร่หลาย อภิชฌาและพยาบาทก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌาและพยาบาทแพร่หลาย มิจฉาทิฏฐิก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิแพร่หลาย ธรรม ๓ ประการ คือ อธัมมราคะ วิสมโลภะ และมิจฉาธรรมก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการแพร่หลาย ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่ เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลก็แพร่หลาย เมื่อ ธรรมเหล่านี้แพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๒๕๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑๐๐ ปี
สมัยที่คนมีอายุขัย ๑๐ ปี
[๑๐๓] ภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มีบุตรของมนุษย์เหล่านี้มีอายุขัย ๑๐ ปี ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี เด็กหญิงอายุ ๕ ปี ก็มีสามีได้ ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี รสเหล่านี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเกลือ จักอันตรธาน ไปสิ้น ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี หญ้ากับแก้จักเป็นอาหารอย่างดี ภิกษุทั้งหลาย ข้าวสาลี เนื้อ และข้าวสุก เป็นอาหารอย่างดีในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี หญ้ากับแก้ก็จักเป็นอาหารอย่างดี ฉันนั้น ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี กุศลกรรมบถ ๑๐ จักอันตรธานไปหมดสิ้น อกุศลกรรมบถ ๑๐ จักเจริญรุ่งเรืองเหลือเกิน ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี แม้แต่ ชื่อว่ากุศลก็จักไม่มี และคนที่ทำกุศลจักมีแต่ที่ไหน ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูลมารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

สมัยที่คนมีอายุขัย ๑๐ ปี

พราหมณ์ และไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็จักได้รับการบูชาและได้รับ การสรรเสริญ ภิกษุทั้งหลาย คนที่เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูล พราหมณ์ และประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการบูชาและได้รับการ สรรเสริญในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูล มารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และไม่ประพฤติอ่อนน้อม ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็จักได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญ ฉันนั้น ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุขัย ๑๐ ปี พวกเขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า ‘แม่’ ว่า ‘ป้า น้า’ ว่า ‘ป้าสะใภ้ น้าสะใภ้’ ว่า ‘ภรรยาของอาจารย์’ หรือว่า ‘ภรรยาของครู’ สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกันหมด เป็นเสมือน แพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์เหล่านั้นก็จักเกิดความอาฆาต๑- อย่าง แรงกล้า ความพยาบาท๒- อย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิด จะฆ่ากันอย่างแรงกล้า มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตร กับบิดาก็ดี พี่ชายน้องชายกับพี่สาวน้องสาวก็ดี พี่สาวน้องสาวกับพี่ชายน้องชายก็ดี จักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่ง ใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ภิกษุทั้งหลาย นายพรานเนื้อ เห็น เนื้อเข้า เกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้าย แห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ฉันใด ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมี อายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์เหล่านั้นจักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาท อย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายน้อง @เชิงอรรถ : @ ความอาฆาต หมายถึงความโกรธที่ทำให้ผูกใจเจ็บ (ที.ปา.อ. ๑๐๓/๓๙) @ ความพยาบาท หมายถึงความโกรธที่ทำให้ประโยชน์สุขทั้งของตนทั้งของคนอื่นพินาศ (ที.ปา.อ. ๑๐๓/๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น

ชายกับพี่สาวน้องสาวก็ดี พี่สาวน้องสาวกับพี่ชายน้องชายก็ดี จักเกิดความอาฆาต อย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ฉันนั้น [๑๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี จักมีสัตถันตรกัป๑- ตลอด ๗ วัน มนุษย์เหล่านั้นจักเกิดความเข้าใจในกันและกันว่าเป็นเนื้อ ศัสตรา ทั้งหลายอันคมกริบจักปรากฏในมือของพวกเขา พวกเขาจักใช้ศัสตราอันคมกริบ ฆ่ากันเองด้วยเข้าใจว่า ‘นี้เป็นเนื้อ นี้เป็นเนื้อ’ ครั้งนั้น มนุษย์เหล่านั้นบางพวก มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเราอย่าฆ่าใครๆ และใครๆ ก็อย่าฆ่าพวกเรา ทางที่ดี เราควรเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำ หรือซอกเขา ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพ’ พวกเขาจึงพากันเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำหรือ ซอกเขา ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพอยู่ตลอด ๗ วัน เมื่อล่วงไป ๗ วัน พวกเขาพากันออกจากป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำ หรือ ซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกันและกัน ขับร้องปลอบใจกันในที่ประชุมว่า ‘ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่’
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น
[๑๐๕] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นจักปรึกษากันอย่างนี้ว่า ‘พวกเราสูญสิ้นญาติมากมายเช่นนี้ เพราะยึดถืออกุศลธรรมเป็นเหตุ ทางที่ดี พวกเรา ควรทำกุศล ควรทำกุศลอย่างไรดี ทางที่ดี พวกเราควรงดเว้นจากปาณาติบาต(การ ฆ่าสัตว์) ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้’ แล้วจึงพากันงดเว้นจากปาณาติบาต @เชิงอรรถ : @ สัตถันตรกัป แปลว่าอันตรกัปพินาศเพราะศัสตรา เป็นชื่ออันตรกัป (กัประหว่าง) ๑ ใน ๓ อันตรกัป ซึ่ง @เป็นกัปย่อยของสังวัฎฎกัป(กัปเสื่อม) มักเรียกกันสั้นๆ ว่ากัปพินาศ อีก ๒ กัป คือ (๑) ทุพภิกขันตรกัป @(กัปพินาศเพราะข้าวยากหมากแพง) (๒) โรคันขันตรกัป (กัปพินาศเพราะโรค) คำว่า กัป ในที่นี้เป็นคำย่อของ @คำว่า “กัปพินาศ” (กปฺปวินาส) (ที.ปา.อ. ๑๐๔/๓๙, ที.ปา.ฎีกา ๑๐๔/๓๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น

สมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้ เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ พวกเขาจักเจริญ ด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง เมื่อพวกเขาเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วย วรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ทั้งหลายที่มีอายุขัย ๑๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๒๐ ปี ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นจักปรึกษากันอย่างนี้ว่า ‘พวกเราเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ ทางที่ดี พวกเราควรทำ กุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ควรทำกุศลอย่างไรบ้าง พวกเราควรงดเว้นจากอทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้) ควรงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติ ผิดในกาม) ควรงดเว้นจากมุสาวาท(การพูดเท็จ) ควรงดเว้นจากปิสุณาวาจา(การพูด ส่อเสียด) ควรงดเว้นจากผรุสวาจา(การพูดคำหยาบ) ควรงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ (การพูดเพ้อเจ้อ) ควรละอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา) ควรละพยาบาท (ความคิดร้ายผู้อื่น) ควรละมิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิด) ควรละธรรม ๓ ประการ คือ อธัมมราคะ วิสมโลภะ และมิจฉาธรรม ทางที่ดี พวกเราควรเกื้อกูลมารดา ควร เกื้อกูลบิดา ควรเกื้อกูลสมณะ ควรเกื้อกูลพราหมณ์ และควรประพฤติอ่อนน้อม ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้ ดังนี้ เขาเหล่านั้น จักเกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์ และประพฤติอ่อนน้อม ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล จักสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้ เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ พวกเขาจักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วย วรรณะบ้าง เมื่อพวกเขาเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ ที่มีอายุขัย ๒๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๔๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๘๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้น เป็น ๑๖๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๑๖๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๓๒๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๓๒๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๖๔๐ ปี บุตรของมนุษย์ ผู้มีอายุขัย ๖๔๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๒,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๒,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๔,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๘,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๘,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

ความอุบัติของพระราชาพระนามว่าสังขะ

เพิ่มขึ้นเป็น ๒๐,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้น เป็น ๔๐,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐,๐๐๐ ปี เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงจักสมควร มีสามีได้
ความอุบัติของพระราชาพระนามว่าสังขะ
[๑๐๖] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีอาพาธ ๓ อย่าง คือ (๑) อิจฉา๑- (๒) อนสนะ๒- (๓) ชรา เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้ จักมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ บ้าน นิคมและราชธานีมีทุกระยะชั่วไก่บินตก๓- เมื่อมนุษย์มี อายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้ จักดูประหนึ่งอเวจีนรกที่แออัดยัดเยียดไปด้วย ผู้คนทั้งหลาย เหมือนป่าไม้อ้อ หรือป่าไม้แก่น ฉะนั้น เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี กรุงพาราณสีนี้ จักเป็นราชธานีนามว่ากรุงเกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีพลเมืองมาก มีประชากรคับคั่ง และมีภักษาหารสมบูรณ์๔- เมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ในชมพูทวีปนี้ จักมีเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงเกตุมดีราชธานีเป็น เมืองเอก เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสังขะ ทรงอุบัติขึ้น ณ กรุงเกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็น @เชิงอรรถ : @ อิจฉา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่ทำให้เกิดคำพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงให้อาหารแก่เรา’ (ที.ปา.อ. ๑๐๖/๔๐) @ อนสนะ ในที่นี้หมายถึงความเฉื่อยชาทางกายของผู้กินอาหารอิ่มแล้วต้องการจะนอนเพราะเมาอาหาร @(ที.ปา.อ. ๑๐๖/๔๐) @ มีทุกระยะชั่วไก่บินตก ในที่นี้หมายถึงระยะห่างจากบ้านหนึ่งถึงบ้านหนึ่ง คำนวณจากการบินของไก่ คือ @ในเมืองนี้ ไก่สามารถบินจากหลังคาบ้านหลังหนึ่งไปลงหลังคาบ้านหลังหนึ่งได้ซึ่งแสดงว่ามีบ้านเรือนหนาแน่น @จนไก่บินถึงกันได้ (ที.ปา.อ. ๑๐๖/๔๐) @ มีภักษาหารสมบูรณ์ ในที่นี้หมายถึงสมบูรณ์ด้วยอาหารที่ควรเคี้ยวและอาหารที่ควรบริโภค @(ที.ม.อ. ๒๑๐/๑๙๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย

ใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักร มั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ได้แก่ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยี ราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครอง แผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต
การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย
[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาค พระนามว่าเมตไตรย จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค๑- เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นในโลกในบัดนี้ เป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลกและหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามเหมือนตถาคตในบัดนี้ รู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามอยู่ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๖ หน้า ๕- ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย

พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงแสดงธรรมอัน มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน เหมือนตถาคต ในบัดนี้ แสดงธรรมอันมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความ งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน พระองค์จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพันรูป เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลาย ร้อยรูปในบัดนี้ ฉะนั้น [๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าสังขะ จักรับสั่งให้ยกปราสาทที่ พระเจ้ามหาปนาทะโปรดให้สร้างไว้ แล้วประทับอยู่ ทรงสละบำเพ็ญทานแก่สมณ- พราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลาย จักทรงปลงพระเกศา และพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตใน สำนักของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเมตไตรย ท้าวเธอ ผนวชแล้วไม่นานอย่างนี้ ทรงหลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาทมีความเพียร อุทิศ กายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งประโยชน์อันยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยพระปัญญา อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้ [๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่ง อื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะเป็นต้นของภิกษุ

๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัม- ปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก ๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลก ๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรม เป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างนี้แล
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น ของภิกษุ
[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่งเป็น วิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่ง เป็นวิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน จักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะ บ้าง จักเจริญด้วยสุขะบ้าง จักเจริญด้วยโภคะบ้าง จักเจริญด้วยพละบ้าง ในเรื่องอายุของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากฉันทะและความเพียรสร้างสรรค์) ๒. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากวิริยะและความเพียรสร้างสรรค์) ๓. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากจิตตะและความเพียรสร้างสรรค์) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะเป็นต้นของภิกษุ

๔. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากวิมังสาและความเพียรสร้างสรรค์) เพราะเจริญ ทำอิทธิบาท ๔ ประการนี้ให้มาก เมื่อมุ่งหวัง เธอจะพึงดำรงอยู่ ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องอายุของภิกษุ ในเรื่องวรรณะของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบ พร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน สิกขาบททั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องวรรณะของภิกษุ ในเรื่องความสุขของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ... ๓. บรรลุตติยฌาน ... ๔. บรรลุจตุตถฌาน ... ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องความสุขของภิกษุ ในเรื่องโภคะของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]

เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะเป็นต้นของภิกษุ

๒. มีกรุณาจิต ... ๓. มีมุทิตาจิต ... ๔. มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่ เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องโภคะของภิกษุ ในเรื่องพละของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ๑- ปัญญาวิมุตติ๒- อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องพละของภิกษุ เราไม่เล็งเห็นกำลังอื่นแม้อย่างหนึ่ง ซึ่งข่มได้แสนยาก เหมือนกำลังของมาร๓- นี้เลย บุญนี้จะเจริญขึ้นได้อย่างนี้ก็เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
จักกวัตติสูตรที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ เจโตวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นแห่งจิต ความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึก หรือด้วยกำลัง @สมาธิ เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติอันละเอียดประณีต (ที.สี.อ. ๓๗๓/๒๘๑) @ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นด้วยปัญญา ความหลุดพ้นที่บรรลุด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้ @สำเร็จอรหัตตผล และทำให้เจโตวิมุตติ เป็นวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป @(ที.สี.อ. ๓๗๓/๒๘๑) @ กำลังของมาร ในที่นี้หมายถึงกำลังของเทวปุตตมาร มัจจุมาร และกิเลสมาร (ที.ปา.อ. ๑๑๐/๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า : ๘๒}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๕๙-๘๒. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=11&A=1695 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=11&siri=3              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับฉบับหลวง https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=1189&Z=1702&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=33              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_11 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu11 https://84000.org/tipitaka/english/?index_11


บันทึก ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]