ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
เมณฑกคหบดีอังคาสพระสงฆ์
[๘๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครภัททิยะตามพระพุทธาภิรมย์ แล้ว ไม่ได้ทรงลาเมณฑกะคหบดี เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางชนบทอังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เมณฑกะคหบดีได้ทราบข่าวแน่ชัดว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จพระ พุทธดำเนินไปทางชนบทอังคุตตราปะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป จึงสั่ง ทาสและกรรมกรว่า พนายทั้งหลาย ถ้ากระนั้น พวกเจ้าจงบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสาร บ้าง ของขบฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มากๆ และคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน จงพาแม่โคนม ๑,๒๕๐ ตัว มาด้วย เราจักเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ที่มีน้ำยังอุ่นๆ ณ สถานที่ๆ เราได้พบ พระผู้มีพระภาค ครั้นเมณฑกะคหบดีตามไปพบพระผู้มีพระภาค ณ ระหว่างทางกันดาร จึงเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคมยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลอาราธนาว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดย ดุษณีภาพ ครั้นเมณฑกะคหบดี ทราบการทรงรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมทำประทักษิณกลับไป แล้วสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต โดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร เสร็จแล้ว. ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธ- *ดำเนินเข้าสถานที่อังคาสของเมณฑกะคหบดี ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเมณฑกะคหบดีสั่งคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คนว่า พนายทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น จงช่วยกันจับแม่โคนมคนละตัว แล้วยืนใกล้ๆ ภิกษุรูปละคนๆ เราจักเลี้ยงพระด้วยน้ำนมสด อันรีดใหม่ที่มีน้ำยังอุ่นๆ ครั้นแล้วได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนีย- *โภชนียาหารอันประณีต และด้วยน้ำนมสดอันรีดใหม่ด้วยมือของตน จนให้ห้ามภัตรแล้ว ภิกษุ ทั้งหลายรังเกียจ ไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จงรับประเคนฉันเถิด. เมื่อเมณฑกะคหบดีอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหาร อันประณีต และด้วยน้ำนมสดรีดใหม่ด้วยมือของตนจนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จ ทรงนำ พระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมณฑกะคหบดีนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า หนทาง กันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย ขอประทานพระ วโรกาส ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.
เมณฑกานุญาต
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกะคหบดีเห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับไป หลังจากนั้นพระองค์ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ คือ นมสด นมส้ม เปรียง เนยข้น เนยใส. มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ภิกษุต้องการข้าวสาร พึงแสวงหาข้าวสาร ต้องการถั่วเขียว พึงแสวงหาถั่วเขียว ต้องการถั่วราชมาส พึงแสวงหาถั่วราชมาส ต้องการเกลือ พึงแสวงหาเกลือ ต้องการน้ำอ้อย พึงแสวงหาน้ำอ้อย ต้องการน้ำมัน พึงแสวงหาน้ำมัน ต้องการเนยใส ก็พึงแสวงหาเนยใส. มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่า สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของอันเป็นกัปปิยะจากกัปปิยภัณฑ์นั้นได้ แต่เรา มิได้กล่าวว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ เลย.
เรื่องเกณิยชฎิล
[๘๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ เสด็จถึง อาปณนิคมแล้ว เกณิยชฎิลได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูล เสด็จโดยลำดับถึงอาปณนิคมแล้ว ก็เพราะกิตติศัพท์อันงามของท่าน พระโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรง เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของทวยเทพและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบาน แล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสั่งสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ ทวยเทพและมนุษย์ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรง ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ ทั้งหลายเห็นปานนั้นเป็นความดี. หลังจากนั้น เกณิยชฎิลได้ดำริว่า เราจะให้นำอะไรไปถวายพระสมณโคดมดีหนอ จึง ได้ดำริต่อไปว่า บรรดาฤษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤษีอัฏฐกะ ฤษีวามกะ ฤษีวามเทวะ ฤษีเวสสามิตตะ ฤษียมตัคคิ ฤษีอังคีรสะ ฤษีภารทวาชะ ฤษีวาเสฏฐะ ฤษีกัสสปะ ฤษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์มาก่อนพวกพราหมณ์ในบัดนี้ ขับตามกล่าวตามซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ ที่ท่านขับแล้วบอกว่า รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่กล่าวไว้บอกไว้ เป็นผู้เว้นฉันในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ฤษีเหล่านั้นได้ยินดีน้ำปานะเห็นปานนี้ แม้พระสมณะ โคดมก็เว้นฉันในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ก็ควรจะยินดีน้ำปานะเห็นปานนี้บ้าง แล้วสั่งให้ ตกแต่งน้ำปานะเป็นอันมาก ให้คนหาบไปถึงพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยพอให้เป็น ที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคว่า ขอท่านพระโคดมโปรดทรงรับน้ำปานะของข้าพระเจ้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เกณิยะ ถ้าเช่นนั้นจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่ยอมรับประเคน พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จงรับประเคนฉันเถิด ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยน้ำปานะอันมากด้วยมือของตนจนยัง พระผู้มีพระภาคผู้ล้างพระหัตถ์ นำพระหัตถ์จากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา. ครั้งนั้น เกณิยชฎิลอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติปราโมทย์ในวัน พรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนว่า เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใส ยิ่งนักในหมู่พราหมณ์. เกณิยชฎิล ได้ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเป็นคำรบที่สองว่า แม้ภิกษุสงฆ์จะมีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระพุทธเจ้าได้เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ขอท่าน พระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญ กุศลและปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนเกณิยะว่า ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใส ยิ่งนักในหมู่พราหมณ์. เกณิยชฎิล ก็ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเป็นคำรบสามว่า แม้ภิกษุสงฆ์จะมีมาก ถึง ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระพุทธเจ้าได้เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ขอท่าน พระโคดมพร้อมภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญ กุศลและปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้นเกณิยชฎิลทราบอาการ รับอาราธนา ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งกลับไป.
พระพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิด คือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะทราง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือ องุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเหง้าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะทราง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด. ครั้งนั้น เกณิยชฎิลสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต ณ อาศรมของตนโดยผ่าน ราตรีนั้น แล้วให้คนกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านพระโคดม ภัตตาหาร เสร็จแล้ว ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรจีวรเสด็จ พระพุทธดำเนินไปทางอาศรมของเกณิยชฎิล ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขา จัดถวาย พร้อมกับภิกษุสงฆ์ จึงเกณิยชฎิลอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยของ เคี้ยว ของฉันอันประณีต ด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ นำพระหัตถ์จากบาตร ห้ามภัตรแล้ว ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค ได้ทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิลด้วยคาถาเหล่านี้ ว่าดังนี้:- [๘๗] ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นหัวหน้า สาวิตติฉันท์ เป็นยอดของฉันทศาสตร์ พระมหาราชเจ้าเป็นประมุขของ มนุษยนิกร สมุทรสาครเป็นประธานของแม่น้ำทั้งหลาย ดวงจันทร์ใหญ่กว่าดวงดาวนักษัตรในอากาศ ดวงภาณุมาศ ใหญ่กว่าบรรดาสิ่งของที่มีแสงร้อนทั้งหลาย ฉันใด พระ- *สงฆ์ ย่อมเป็นใหญ่สำหรับทายกผู้หวังบุญบำเพ็ญทานอยู่ ฉันนั้น. ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิล ด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จกลับ.
เตรียมการต้อนรับพระพุทธเจ้า
[๘๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาปณนิคมตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ จาริกไปทางพระนครกุสินารา พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป. พวกมัลลกษัตริย์ชาวพระนครกุสินารา ได้ทรงทราบข่าวแน่ถนัดว่า พระผู้มีพระภาค กำลังเสด็จมาพระนครกุสินารา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป มัลลกษัตริย์ เหล่านั้นได้ตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาค จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ สมัยนั้น โรชะมัลลกษัตริย์เป็นพระสหายของพระอานนท์ ครั้นพระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครกุสินาราแล้ว พวกมัลลกษัตริย์ชาวพระนครกุสินาราได้จัดการ ต้อนรับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์รับเสด็จพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหา ท่านพระอานนท์ถึงที่พัก ทรงอภิวาทแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ท่านพระอานนท์ได้ปราศรัยกะโรชะมัลลกษัตริย์ผู้ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ท่านโรชะ การรับเสด็จพระผู้มีพระภาคของท่านโอฬารแท้. โรชะมัลลกษัตริย์ตรัสว่า พระคุณเจ้าอานนท์ พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ ก็ดี ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าใหญ่โต พวกญาติต่างหากได้ตั้งกติกาไว้ว่า ผู้ใดไม่ต้อนรับเสด็จพระผู้มี พระภาค จะต้องถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๕๐๐ กษาปณ์ ข้าพเจ้านั้นแลได้ต้อนรับเสด็จพระผู้มี พระภาคเช่นนี้ เพราะกลัวพวกญาติปรับสินไหม. ทันใดท่านพระอานนท์แสดงความไม่พอใจว่า ไฉน โรชะมัลลกษัตริย์จึงได้ตรัสอย่างนี้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูล คำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นี้ เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก และความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ ของคนที่มีผู้รู้จักมากเช่นนี้ มีอิทธิพลมากนัก ขอประทาน พระวโรกาส ขอพระองค์ทรงกรุณาโปรดบันดาลให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ด้วย เถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ การที่จะบันดาลให้โรชะมัลลกษัตริย์เลื่อมใสใน พระธรรมวินัยนี้นั้น ตถาคตทำได้ไม่ยากเลย. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิตไปยังโรชะมัลลกษัตริย์ แล้วทรงลุกจากที่ ประทับเสด็จเข้าพระวิหาร ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์ อันพระเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาคถูกต้องแล้ว ได้เที่ยวค้นหาตามวิหาร ตามบริเวณทั่วทุกแห่ง ดุจโคแม่ลูกอ่อน แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ท่านเจ้าข้า เวลานี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน เพราะข้าพเจ้าใคร่จะเฝ้าพระองค์. ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า ท่านโรชะ พระวิหารนั่นเขาปิดพระทวารเสียแล้ว ขอท่าน โปรดสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารนั้น ค่อยๆ ย่องเข้าไปที่หน้ามุข ทรงกระแอมแล้ว ทรงเคาะพระทวารเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดพระทวารรับท่าน ถวายพระพร.
โรชะมัลลกษัตริย์ได้ธรรมจักษุ
ขณะนั้น โรชะมัลลกษัตริย์ทรงสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารซึ่งปิดพระทวารเสีย แล้วนั้น ค่อยๆ ย่องเข้าไปที่หน้ามุข ทรงกระแอมแล้วเคาะบานพระทวาร พระผู้มีพระภาค ทรงเปิดพระทวารรับ จึงโรชะมัลลกษัตริย์เสด็จเข้าพระวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่โรชะมัลลกษัตริย์ คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกาม ทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม ขณะเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า โรชะมัลลกษัตริย์ มีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศ พระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้บังเกิดแก่โรชะมัลลกษัตริย์ ณ สถานที่ ประทับนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมด้วยดี ฉะนั้น โรชะมัลลกษัตริย์ได้ทรงเห็นธรรมแล้ว ได้ทรงบรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้ง ได้หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้องอาจไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว อย่ารับของ คนอื่น. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโรชะ แม้อริยบุคคลผู้ได้เห็นธรรมแล้วด้วยญาณของ พระเสขะ ด้วยทัสสนะของพระเสขะเหมือนอย่างท่าน ก็คงมีความปรารภอย่างนี้ว่า โอ พระคุณเจ้าทั้งหลายคงกรุณารับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของพวกเรา เท่านั้น คงไม่รับของผู้อื่นเป็นแน่ เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจักรับปัจจัยของท่านด้วย ของคนอื่นด้วย. ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนทั้งหลายได้จัดตั้งลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้ที่นครกุสินารา ครั้นโรชะมัลลกษัตริย์ไม่ได้ลำดับที่จะถวายภัตตาหารจึงได้ทรงดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงตรวจดู โรงอาหาร สิ่งใดไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ครั้นแล้วทรงตรวจดูในโรงอาหาร ไม่ทอดพระเนตรเห็นของ ๒ อย่าง คือผักสด ๑ ของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ๑ จึงเสด็จเข้าไปหา ท่านพระอานนท์ ครั้นแล้วได้ทูลหารือว่า ท่านพระอานนท์เจ้าข้า เมื่อข้าพเจ้าไม่ได้ลำดับที่จะ ถวายภัตตาหาร ณ สถานที่แห่งนี้ ได้มีความดำริว่า ไฉนหนอ เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใด ไม่มีในโรงอาหาร เราพึงตกแต่งสิ่งนั้นถวาย ท่านพระอานนท์เจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นเมื่อตรวจดู โรงอาหาร ไม่ได้เห็นของ ๒ อย่าง คือผักสด ๑ ของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ๑ หากข้าพเจ้าพึง ตกแต่งผักสดและของขบฉันที่ทำด้วยแป้งถวาย พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงรับของข้าพเจ้าหรือไม่ เจ้าข้า? ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า ท่านโรชะ ถ้ากระนั้นอาตมาจะทูลถามพระผู้มีพระภาคดู แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อานนท์ ถ้าเช่นนั้นจงให้เขาตกแต่งเถิด. ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า ท่านโรชะ ถ้ากระนั้น ท่านจงตกแต่งถวาย. โรชะมัลลกษัตริย์ จึงสั่งให้ตกแต่งผักสด และของขบเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งเป็นอันมาก โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว น้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคพลางกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงโปรด รับผักสด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ของข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโรชะ ถ้าเช่นนั้น จงถวายภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย รังเกียจ ไม่รับประเคน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด. ขณะนั้น โรชะมัลลกษัตริย์ ทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยผักสด และของ ขบฉันที่ทำด้วยแป้งมากมาย ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ จนยังพระผู้มีพระภาคผู้ล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงนำพระหัตถ์จากบาตร ให้ห้ามภัตแล้ว ได้ประทับเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
พระพุทธานุญาตผักและแป้ง
ภายหลังพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาแล้ว ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผักสดทุกชนิด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้งทุกชนิด.
เรื่องวุฑฒบรรพชิต
[๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ในพระนครกุสินาราตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินทางอาตุมานครพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้น มีภิกษุบวชภายแก่รูปหนึ่ง เคยเป็นช่างกัลบก อาศัยอยู่ในอาตุมานคร เธอมีบุตรชายสองคน เป็นเด็กพูดจาอ่อนหวาน มีไหวพริบดี ขยันแข็งแรง มีฝีมือยอดเยี่ยมในการช่างกัลบกของตน ดีเท่าอาจารย์ เธอได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาสู่อาตุมานคร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป ครั้นแล้วได้แจ้งความประสงค์อันนั้นแก่บุตรทั้งสองนั้นว่า พ่อ ทั้งหลายข่าวว่า พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จสู่อาตุมานคร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ ไปเถิด พ่อทั้งสอง จงถือเครื่องมือตัดผม และโกนผม กับทะนานและถุง เที่ยวไปตัด และโกนผม ตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง พ่อจักทำยาคูที่ดื่มได้ถวายพระผู้มีพระภาคผู้เสด็จมาถึงแล้ว. บุตรชายทั้งสองรับคำสั่งของหลวงพ่อว่า จะปฏิบัติเช่นนั้น แล้วถือเครื่องมือตัดผม โกนผมกับทะนานและถุง เที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือนทุกแห่ง แลกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ชาวบ้านเห็นเด็กสองคนนั้นพูดจาอ่อนหวาน มีไหวพริบดี แม้ผู้ที่ ไม่ประสงค์จะให้ตัดและโกนผม ก็ให้ตัดให้โกนผม ถึงให้ตัดให้โกนผมแล้ว ก็ให้ค่าแรงมาก เป็นอันว่าเด็กทั้งสองคนนั้นเก็บรวบรวมเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของขบฉันบ้าง ได้เป็นอันมาก. ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ เสด็จถึงอาตุมานครแล้ว ทราบว่าพระองค์ ประทับอยู่ที่ภูสาคารเขตอาตุมานครนั้น จึงพระขรัวตานั้น สั่งให้คนตกแต่งข้าวยาคูเป็นอันมาก โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว น้อมถวายพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงโปรดรับข้าวยาคูของข้าพระพุทธเจ้า.
พุทธประเพณี
พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถาม สิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สิ่งที่ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงสอบถาม ภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรมอย่าง ๑ จักทรงบัญญัติสิกขาบท แก่พระสาวกทั้งหลายอย่าง ๑. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามพระขรัวตานั้นว่า ดูกรภิกษุ ข้าวยาคูนี้เธอได้มา จากไหน พระขรัวตาจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ.
ห้ามภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกเก็บรักษามีดโกน
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอบวชแล้วจึงได้ชักจูงทายกในสิ่งอัน ไม่ควรเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตไม่พึงชักจูงทายก ในสิ่งอันไม่ควร รูปใดชักจูง ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบก ไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผม ไว้สำหรับตัว รูปใดเก็บรักษาไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธานุญาตผลไม้
[๙๐] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาตุมานครตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ พุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ทราบว่าพระองค์ ประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น เวลานั้น ของขบฉันคือผลไม้ในนครสาวัตถีมีดาดดื่นมาก จึงภิกษุทั้งหลายได้มีความสงสัยว่า ของขบฉันคือ ผลไม้ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้แล้วหรือมิได้ทรงอนุญาต แล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ทุกชนิด.
พืชของสงฆ์และของบุคคล
[๙๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พืชของสงฆ์เขาเพาะปลูกในที่ของบุคคล พืชของบุคคล เขาเพาะปลูกในที่ของสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืชของสงฆ์ที่เพาะปลูกในที่ ของบุคคล พึงให้ส่วนแบ่ง แล้วบริโภค พืชของบุคคลที่เพาะปลูกในที่ของสงฆ์ พึงให้ส่วนแบ่ง แล้วบริโภค.
พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔
[๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่า สิ่งใดหนอ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งไรไม่ได้ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค.
วัตถุเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้:- ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่ง ที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.
พระพุทธานุญาตกาลิกระคน
[๙๓] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิก ควร หรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับยาว- *กาลิกควรหรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคน กับยามกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิก ควรหรือไม่ควรหนอ แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัส ว่าดังนี้:- ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล ๒. สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล ๓. ยาวชีวิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล ๔. สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม ล่วงยามแล้ว ไม่ควร. ๕. ยาวชีวิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม ล่วงยามแล้วไม่ควร. ๖. ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรตลอด ๗ วัน ล่วง ๗ วัน แล้วไม่ควร.
เภสัชชขันธกะ ที่ ๖ จบ.
ในขันธกะนี้มี ๑๐๖ เรื่อง.
หัวข้อประจำขันธกะ
[๙๔] ๑. เรื่องอาพาธที่เกิดชุมในฤดูสารท ๒. เรื่องฉันเภสัชนอกกาล ๓. เรื่อง น้ำมันเปลวสัตว์เป็นยา ๔. เรื่องรากไม้ที่เป็นตัวยา ๕. เรื่องรากไม้ทำยาผง ๖. เรื่องน้ำฝาด ๗. เรื่องใบไม้ ๘. เรื่องผลไม้ ๙. เรื่องยางไม้ ๑๐. เรื่องเกลือ ๑๑. เรื่องมูลโค ๑๒. เรื่องยาผงและวัตถุเครื่องร่อนยา ๑๓. เรื่องเนื้อดิบเลือดสด ๑๔. เรื่องยาตา ๑๕. เรื่อง เครื่องยาผสมกับยาตา ๑๖. เรื่องกลักยาตา กลักยาตาชนิดต่างๆ และกลักยาตาไม่มีฝาปิด ๑๗. เรื่องไม้ป้ายยาตา ๑๘. เรื่องภาชนะเก็บไม้ป้ายยาตา ถุงกลักยาตา และเชือกผูกเป็นสาย สะพาย ๑๙. เรื่องน้ำมันหุงมันทาศีรษะ ๒๐. เรื่องการนัตถุ์ ๒๑. เรื่องกล้องนัตถุ์ยา ๒๒. เรื่องสูดควัน กล้องสูดควัน ฝาปิดกล้องสูดควัน ๒๓. เรื่องถุงเก็บกล้องสูดควัน ๒๔. เรื่องน้ำมันหุง ๒๕. เรื่องน้ำเมาที่ผสมในน้ำมันที่หุง ๒๖. เรื่องน้ำมันเจือน้ำเมามาก ๒๗. เรื่องน้ำมันเจือน้ำเมามากใช้เป็นยาทา ๒๘. เรื่องลักจั่น ๒๙. เรื่องเข้ากระโจม ๓๐. เรื่อง รมด้วยใบไม้ต่างๆ ๓๑. เรื่องการรมใหญ่และเอาใบไม้มาต้มรม ๓๒. เรื่องอ่างน้ำ ๓๓. เรื่อง ระบายเลือดออก ๓๔. เรื่องกรอกโลหิตด้วยเขา ๓๕. เรื่องยาทาเท้า ๓๖. เรื่องปรุงน้ำมัน ทาเท้า ๓๗. เรื่องผ่าฝี ๓๘. เรื่องชะแผลด้วยน้ำฝาด ๓๙. เรื่องงาที่บดแล้ว ๔๐. เรื่อง ยาพอกแผล ๔๑. เรื่องผ้าพันแผล ๔๒. เรื่องชะแผลด้วยน้ำแป้งพรรณผักกาด ๔๓. เรื่อง รมแผลด้วยควัน ๔๔. เรื่องตัดเนื้องอกด้วยก้อนเกลือ ๔๕. เรื่องน้ำมันทาแผล ๔๖. เรื่อง ผ้าปิดกันน้ำมันเยิ้ม ๔๗. เรื่องยามหาวิกัฏ ๔๘. เรื่องรับประเคน ๔๙. เรื่องดื่มน้ำเจือคูถ และหยิบคูถเมื่อกำลังถ่าย ๕๐. เรื่องดื่มน้ำที่ละลายจากดินติดผาลไถ ๕๑. เรื่องดื่มน้ำด่าง อามิส ๕๒. เรื่องดื่มน้ำสมอดองมูตร ๕๓. เรื่องทาของหอม ๕๔. เรื่องดื่มยาถ่าย ๕๕. เรื่องน้ำข้าวใส ๕๖. เรื่องน้ำถั่วเขียวต้มที่ไม่ข้น ๕๗. เรื่องน้ำถั่วเขียวที่ข้นนิดหน่อย ๕๘. เรื่องน้ำเนื้อต้ม ๕๙. เรื่องชำระเงื้อมเขา และพระราชทานคนทำการวัด ๖๐. เรื่องฉัน เภสัชที่เก็บไว้ ๗ วัน ๖๑. เรื่องน้ำอ้อย ๖๒. เรื่องถั่วเขียว ๖๓. เรื่องยาดองโลณโสจิรกะ ๖๔. เรื่องอามิสที่หุงต้มเอง ๖๕. เรื่องภัตตาหารที่ต้องอุ่น ๖๖. เรื่องให้เก็บที่หุงต้มอามิส ในภายในและหุงต้มเอง เมื่อคราวอัตคัดอาหารต่อไปอีก ๖๗. เรื่องรับประเคนผลไม้ที่เป็น อุคคหิตได้ ๖๘. เรื่องถวายงา ๖๙. เรื่องของขบฉันที่รับประเคนไว้ตอนเช้า ๗๐. เรื่อง เป็นไข้ตัวร้อน ๗๑. เรื่องฉันผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออก ๗๒. เรื่องริดสีดวงทวาร ๗๓. เรื่อง สัตถกรรมและวัตถิกรรม ๗๔. เรื่องอุบาสิกาสุปปิยา ๗๕. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์ ๗๖. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อช้าง ๗๗. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อม้า ๗๘. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อสุนัข ๗๙. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้องู ๘๐. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อราชสีห์ ๘๑. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อ เสือโคร่ง ๘๒. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง ๘๓. เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อหมี ๘๔. เรื่อง ทรงห้ามฉันเนื้อเสือดาว ๘๕. เรื่องคอยโอกาสถวายภัตร และข้าวยาคู ๘๖. เรื่องมหาอำมาตย์ เริ่มเลื่อมใส เป็นต้นเหตุให้ทรงห้ามภิกษุรับนิมนต์ไว้แห่งหนึ่งแล้วไปฉันในที่อื่น ๘๗. เรื่อง ถวายงา น้ำอ้อย ๘๘. เรื่องทรงรับอาคารพักแรม ๘๙. เรื่องมหาอำมาตย์สุนีธะและวัสสการะ ๙๐. เรื่องแม่น้ำคงคา ๙๑. เรื่องเสด็จตำบลบ้านโกฏิ ทรงแสดงอริยสัจจกถา ๙๒. เรื่อง นางอัมพปาลีคณิกา ๙๓. เรื่องเจ้าลิจฉวี ๙๔. เรื่องอุทิศมังสะ ๙๕. เรื่องพระนครเวสาลี หาอาหารได้ง่าย ๙๖. เรื่องทรงห้ามอามิสที่เป็นอันโตวุตถะเป็นต้นใหม่ ๙๗. เรื่องฝนตั้งเค้า ๙๘. เรื่องพระโสชะอาพาธ ๙๙. เรื่องเมณฑกะคหบดี ถวายปัญจโครสกับเสบียงเดินทาง ๑๐๐. เรื่องเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน คือ น้ำผลมะม่วง น้ำผลหว้า น้ำกล้วยมีเมล็ด น้ำกล้วย ไม่มีเมล็ด น้ำผลทราง น้ำผลจันทน์ น้ำเหง้าบัว น้ำผลมะปราง ๑๐๑. เรื่องโรชะมัลลกษัตริย์ถวาย ผักสดและของขบฉันที่สำเร็จด้วยแป้ง ๑๐๒. เรื่องภิกษุช่างกัลบกในเมืองอาตุมา ๑๐๓. เรื่อง ผลไม้ดาดดื่นในพระนครสาวัตถี ๑๐๔. เรื่องพืช ๑๐๕. เรื่องเกิดสงสัยในพระบัญญัติบาง สิ่งบางอย่าง ๑๐๖. เรื่องกาลิกระคน.
หัวข้อประจำขันธกะ จบ.
-----------------------------------------------------
กฐินขันธกะ
ภิกษุปาไฐยรัฐเดินทางเข้าเฝ้า
[๙๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณ- *ฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์เดินทางไปพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวน ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์ ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุ เหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวัน อารามของอนาถบิณ- *ฑิกคหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั่นเป็น พุทธประเพณี.
พุทธประเพณี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอ ทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำ พรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้ เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวน ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมือง สาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นล่วง ไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็ม ไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า.
พระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน
[๙๖] ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ ๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา ๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ ๓. ฉันคณะโภชน์ได้ ๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา ๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว.
วิธีกรานกฐิน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาให้ผ้ากฐิน
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่ง ของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ สงฆ์ให้ผ้ากฐิน ผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน การให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบ แก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน อย่างนี้ไม่เป็นอันกราน.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๒๓๒๐-๒๖๙๕. หน้าที่ ๙๔ - ๑๐๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=2320&Z=2695&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย[เลขข้อ] เป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=5&item=85&items=12&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=23              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=83              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=5&item=85&items=12              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=5&item=85&items=12              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_5

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]