ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             [๕๐๕] คำว่า โลก ในอุเทศว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ ดังนี้ คือ นิรยโลก
ติรัจฉานโลก ปิตติวิสยโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้
โลกอื่น พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก.
             ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
โลก โลก ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า โลก เพราะเหตุเท่าไรหนอแล?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ เรากล่าวว่าโลก เพราะเหตุว่า ย่อมแตก. อะไรแตก?
จักษุแตก รูปแตก จักษุวิญญาณแตก จักษุสัมผัสแตก สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี
อทุกขมสุขเวทนาก็ดี ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้เวทนานั้นก็แตก. หูแตก เสียง
แตก จมูกแตก กลิ่นแตก ลิ้นแตก รสแตก กายแตก โผฏฐัพพะแตก มนะแตก ธรรมารมณ์
แตก มโนวิญญาณแตก มโนสัมผัสแตก สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อทุกขมสุขเวทนาก็ดี
ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้เวทนานั้นก็แตก. ดูกรภิกษุ ธรรมมีจักษุเป็นต้นนั้น
ย่อมแตกดังนี้แล เพราะเหตุนั้นเราจึงกล่าวว่าโลก.
             คำว่า จงพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ความว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดย
ความเป็นของสูญ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยสามารถความกำหนดว่าไม่เป็นไปในอำนาจ ๑
ด้วยสามารถการพิจารณาเห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่า ๑.
             บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญด้วยสามารถการกำหนดว่า ไม่เป็นไป
ในอำนาจ อย่างไร? ใครๆ ย่อมไม่ได้อำนาจในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ใน
วิญญาณ.
             สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และจะพึงได้
ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่
เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และย่อมไม่ได้ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็น
อย่างนี้ รูปของเราจงอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. เวทนาเป็นอนัตตา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้
จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และพึงได้ในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา
จงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะเวทนาเป็นอนัตตา
ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า ขอเวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้
เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. สัญญาเป็นอนัตตา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักเป็น
อัตตาแล้วไซร้ สัญญานี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และพึงได้ในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา
จงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะสัญญาเป็นอนัตตา
ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า ขอสัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้
สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. สังขารเป็นอนัตตา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารนี้จักเป็น
อัตตาแล้วไซร้ สังขารนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และจะพึงได้ในสังขารว่า ขอสังขารของเรา
จงเป็นอย่างนี้ สังขารของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะสังขารเป็น
อนัตตา ฉะนั้น สังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และย่อมไม่ได้ในสังขารว่า ขอสังขารของเราจงเป็น
อย่างนี้ สังขารของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. วิญญาณเป็นอนัตตา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณ
นี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ วิญญาณนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และจะพึงได้ในวิญญาณว่า ขอ
วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะ
วิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ. และย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่า ขอ
วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย.
             และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้ไม่ใช่
ของท่านทั้งหลาย ทั้งไม่ใช่ของผู้อื่น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมเก่านี้อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
มีเจตนาเป็นมูลเหตุ. ท่านทั้งหลายพึงเห็นว่าเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกายนั้น
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วย่อมมนสิการโดยแยบคายด้วยดีถึงปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละว่า เพราะเหตุ
ดังนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ
สิ่งนี้ก็ดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะ
วิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย
จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหา
เป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติ
เป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่ง
กองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ก็เพราะอวิชชานั้นแลดับโดยสำรอกไม่เหลือ สังขาร
จึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับสฬาย-
*ตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหา
จึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกอบทุกข์ทั้งสิ้นนั้นย่อม
มีด้วยอาการอย่างนี้. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยสามารถการกำหนด
ว่าไม่เป็นไปในอำนาจ อย่างนี้.
             บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยสามารถการพิจารณาเห็นสังขาร
โดยความเป็นของว่างเปล่า อย่างไร? ใครๆ ย่อมไม่ได้แก่นสารในรูป ในเวทนา ในสัญญา
ในสังขาร ในวิญญาณ. รูปไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระว่าความเที่ยง
เป็นแก่นสาร โดยสาระว่าความสุขเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าตนเป็นแก่นสาร โดยความเที่ยง
โดยความยั่งยืน โดยความมั่นคง หรือโดยมีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา. เวทนาไม่มีแก่นสาร
ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร สัญญาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร สังขาร
ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร วิญญาณไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจาก
แก่นสาร โดยสาระว่าความเที่ยงเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าความสุขเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าตน
เป็นแก่นสาร โดยความเที่ยง โดยความยั่งยืน โดยความมั่นคง หรือโดยมีความไม่แปรปรวน
เป็นธรรมดา. ต้นอ้อไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ต้นละหุ่งไม่มีแก่นสาร
ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ต้นมะเดื่อไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร
อนึ่ง ต้นรักไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ต้นทองหลางไม่มีแก่นสาร
ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ฟองน้ำไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร
อนึ่ง ต่อมน้ำไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง ต้นกล้วยไม่มีแก่นสาร
ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร อนึ่ง พยัมแดดไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร
ฉันใด รูปไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระว่าความเที่ยงเป็นแก่นสาร
โดยสาระว่าความสุขเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าตนเป็นแก่นสาร โดยความเที่ยง โดยความยั่งยืน
โดยความมั่นคง หรือโดยมีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา เวทนาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร
ปราศจากแก่นสาร สัญญาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร สังขารไม่มีแก่นสาร
ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร วิญญาณไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดย
สาระว่า ความเที่ยงเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าความสุขเป็นแก่นสาร โดยสาระว่าตนเป็นแก่นสาร
โดยความเที่ยง โดยความยั่งยืน โดยความมั่นคง หรือโดยมีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา
ฉันนั้นเหมือนกัน. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยสามารถการพิจารณา
เห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่า อย่างนี้. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ
ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้.
             อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญโดยอาการ ๖ อย่าง
คือ บุคคลย่อมเห็นรูปโดยความที่ตนไม่เป็นใหญ่ ๑ โดยทำตามความชอบใจไม่ได้ ๑ โดยเป็น
ที่ตั้งแห่งความไม่สบาย ๑ โดยไม่เป็นไปในอำนาจ ๑ โดยเป็นไปตามเหตุ ๑ โดยว่างเปล่า ๑.
บุคคลย่อมพิจารณาเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความที่ตนไม่เป็นใหญ่ ... โดย
ว่างเปล่า. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ โดยอาการ ๖ อย่างนี้.
             อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญโดยอาการ ๑๐ อย่าง
คือ บุคคลย่อมพิจารณาเห็นรูป โดยความว่าง ๑ โดยความเปล่า ๑ โดยความสูญ ๑ โดยไม่ใช่
ตน ๑ โดยไม่เป็นแก่นสาร ๑ โดยเป็นดังผู้ฆ่า ๑ โดยความเสื่อม ๑ โดยเป็นมูลแห่งทุกข์ ๑
โดยมีอาสวะ ๑ โดยความเป็นขันธ์อันปัจจัยปรุงแต่ง ๑. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นเวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ โดยความว่าง ... โดยความเป็นขันธ์อันปัจจัยปรุงแต่ง. บุคคลย่อมพิจารณาเห็น
โลกโดยความเป็นของสูญ โดยอาการ ๑๐ อย่างนี้.
             อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ โดยอาการ ๑๒ อย่าง
คือ ย่อมพิจารณาเห็นว่า รูปไม่ใช่สัตว์ ๑ ไม่ใช่ชีวิต ๑ ไม่ใช่บุรุษ ๑ ไม่ใช่คน ๑ ไม่ใช่มาณพ ๑
ไม่ใช่หญิง ๑ ไม่ใช่ชาย ๑ ไม่ใช่ตน ๑ ไม่ใช่ของที่เนื่องกับตน ๑ ไม่ใช่เรา ๑ ไม่ใช่ของเรา ๑
ไม่มีใครๆ ๑. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่สัตว์ ...
ไม่มีใครๆ. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญโดยอาการ ๑๒ อย่างนี้.
             และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่
ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไป
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเล่าไม่ใช่ของท่าน
ทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้น
อันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขตลอดกาลนาน. ดูกรภิกษุ-
*ทั้งหลาย เวทนาไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ... สัญญาไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ... สังขารไม่ใช่ของ
ท่านทั้งหลาย ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละวิญญาณ
นั้นเสีย วิญญาณนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอด
กาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? หญ้า ไม้ กิ่งไม้
และใบไม้ใด ที่มีอยู่ในเชตวันวิหารนี้ ชนพึงนำหญ้า ไม้ กิ่งไม้และใบไม้นั้นไปเสีย เผาเสีย
หรือพึงทำตามควรแก่เหตุ. ท่านทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนำเราทั้งหลายไปเสีย เผาเสีย
หรือทำตามควรแก่เหตุบ้างหรือหนอ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
นั่นเป็นเพราะเหตุอะไร? เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ตนหรือสิ่งที่เนื่องกับตนของข้าพระองค์ทั้งหลาย
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย. สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขตลอดกาลนาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูป
นั้นเสีย รูปนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละ
สิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอด
กาลนาน. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้.
             ท่านพระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า
โลกสูญ ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า โลกสูญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ?
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เพราะสูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องกับตน
ฉะนั้น จึงกล่าวว่า โลกสูญ. ดูกรอานนท์ สิ่งอะไรเล่าสูญจากตน หรือจากสิ่งที่เนื่องกับตน?
จักษุสูญ รูปสูญ จักษุวิญญาณสูญ จักษุสัมผัสสูญ สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อทุกขมสุข-
*เวทนาก็ดี ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้เวทนานั้นก็สูญจากตนหรือสิ่งที่เนื่องกับตน.
หูสูญ เสียงสูญ จมูกสูญ กลิ่นสูญ ลิ้นสูญ รสสูญ กายสูญ โผฏฐัพพะสูญ ใจสูญ
ธรรมารมณ์สูญ มโนวิญญาณสูญ มโนสัมผัสสูญ สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อทุกขมสุข-
*เวทนาก็ดี ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้เวทนานั้นก็สูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่อง
กับตน. ดูกรอานนท์ เพราะสูญจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องกับตนนั่นแล ฉะนั้น จึงกล่าวว่า
โลกสูญ. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้.
                          ดูกรคามณิ เมื่อบุคคลเห็นซึ่งความเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรม
                          ทั้งสิ้น ซึ่งความสืบต่อแห่งสังขารทั้งสิ้น ตามความเป็นจริง
                          ภัยนั้นย่อมไม่มี. เมื่อใด บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกเสมอ
                          หญ้าและไม้ด้วยปัญญา เมื่อนั้น บุคคลนั้นก็ไม่พึงปรารถนา
                          ภพหรืออัตภาพอะไรๆ อื่น เว้นไว้แต่นิพพานอันไม่มี
                          ปฏิสนธิ.
             บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้.
             และสมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมตาม
ค้นหารูป. คติของรูปมีอยู่เท่าไร? ตามค้นหาเวทนา. คติของเวทนามีอยู่เท่าไร? ตามค้นหา
สัญญา. คติของสัญญามีอยู่เท่าไร? ตามค้นหาสังขาร. คติของสังขารมีอยู่เท่าไร? ตามค้นหา
วิญญาณ. คติของวิญญาณมีอยู่เท่าไร? ก็เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ เมื่อภิกษุตามค้นหารูป คติ
ของรูปมีอยู่เท่าไร? ตามค้นหาเวทนา คติของเวทนามีเท่าไร? ตามค้นหาสัญญา คติของสัญญา
มีอยู่เท่าไร? ตามค้นหาสังขาร คติของสังขารมีอยู่เท่าไร? ตามค้นหาวิญญาณ คติของวิญญาณ
มีอยู่เท่าไร? แม้ความถือใดด้วยอำนาจทิฏฐิว่า เราก็ดี ด้วยอำนาจตัณหาว่า ของเราก็ดี ด้วย
อำนาจมานะว่า เป็นเราก็ดี ของภิกษุใดมีอยู่ ความถือแม้นั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น. บุคคลย่อม
พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้.
             คำว่า จงพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ความว่า จงมองดู จงพิจารณา
จงเทียบเคียง จงตรวจตรา จงให้แจ่มแจ้ง จงทำให้ปรากฏ ซึ่งโลกโดยความเป็นของสูญ เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า จงพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๔๗๓๐-๔๘๗๖. หน้าที่ ๑๙๒ - ๑๙๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=4730&Z=4876&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย[เลขข้อ] เป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=30&item=505&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=30&siri=34              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=490              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=30&item=505&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=30&item=505&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_30

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]