ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
สังขิตตสูตร
[๑๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า มหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระ- *วโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่หม่อมฉัน ซึ่งหม่อมฉันได้ฟัง แล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ด เดี่ยวอยู่เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อประกอบ สัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่ง สมกิเลส เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย เป็น ไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วย หมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อ ปรารภความเพียร เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคน เลี้ยงง่าย ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลาย กำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไป เพื่อประกอบสัตว์ไว้ เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส เป็น ไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วย หมู่คณะ เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อ ความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ดูกรโคตมี ท่านพึง ทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ
จบสูตรที่ ๓
ทีฆชาณุสูตร
[๑๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกฬิยะ ชื่อ กักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกฬิยะ ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชื่อทีฆชาณุ เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ในแคว้นกาสี ยังทรงดอก- *ไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยังยินดีเงินและทองอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้าเถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ๔ ประการเป็นไฉน คือ อุฏฐานสัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา ๑ ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยง ชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับ ราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายใน การงานนั้น สามารถจัดทำได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีโภค- *ทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ด้วยทำไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่ พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป ดูกร พยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัย ในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคม นั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจาร บริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึง พร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็สมชีวิตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญ ทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่าย ของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่ง หรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่ม เข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่ง โภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วย คิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือ รายได้ ดูกรพยัคฆปัชชะ ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น ก็ถ้า กุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ จักตายอย่างอนาถา แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูกร พยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสมชีวิตา ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ เป็นนักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงปิดทางไหลเข้า เปิดทาง ไหลออกของสระนั้น ฝนก็มิตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่ นั้นพึงหวังความเสื่อมอย่างเดียว ไม่มีความเจริญเลย ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิด โดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ เป็น นักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑ ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลง การพนัน ๑ มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือน สระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงเปิดทางไหลเข้า ปิดทางไหลออกของสระนั้น ทั้งฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิด โดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ ไม่เป็น นักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑ ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในภายหน้าแก่กุลบุตร ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัทธา- *สัมปทา ๑ สีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑ ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็สัทธาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสัทธาสัมปทา ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ สีลสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้น จากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็น ที่ตั้งแห่งความประมาท ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าสีลสัมปทา ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีจิต ปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าจาคสัมปทา ฯ ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มี ปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรก กิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่าปัญญาสัมปทา ดูกรพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุข ในภายหน้าแก่กุลบุตร ฯ คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม เลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ ชำระ ทางสัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์ ธรรม ๘ ประการดังกล่าวนี้ ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระนาม อันแท้จริงตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสอง คือ ประโยชน์ ในปัจจุบันนี้และความสุขในภายหน้า บุญ คือ จาคะนี้ ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์ด้วยประการฉะนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๔
อุชชยสูตร
[๑๔๕] ครั้งนั้นแล อุชชยพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ใคร่จะไปอยู่ต่างถิ่น ขอท่านพระโคดมโปรด แสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในภายหน้า แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็น ไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบัน ๔ ประการเป็นไฉน คือ อุฏฐาน- *สัมปทา ๑ อารักขสัมปทา ๑ กัลยาณมิตตตา ๑ สมชีวิตา ๑ ฯ ดูกรพราหมณ์ ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีพด้วย ความหมั่นประกอบการงาน ... ดูกรพราหมณ์ นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา ฯ ดูกรพราหมณ์ ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้มีโภคทรัพย์ ที่หามาด้วยความหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน ... ดูกรพราหมณ์ นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา ฯ ดูกรพราหมณ์ ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้อยู่อาศัยใน บ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจาสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ... ดูกรพราหมณ์ นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา ฯ ดูกรพราหมณ์ ก็สมชีวิตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้รู้ทางเจริญแห่ง โภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟาย นัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ... ดูกรพราหมณ์ นี้เรียกว่าสมชีวิตา ฯ ดูกรพราหมณ์ โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ เป็นนักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑ ... ฯ ดูกรพราหมณ์ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ย่อมมีทางเจริญอยู่ ๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลง การพนัน ๑ มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑ ... ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการ นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ฯ ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในภายหน้าแก่กุลบุตร ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ศรัทธา- *สัมปทา ๑ ศีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑ ดูกรพราหมณ์ ก็ศรัทธาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา ... นี้เรียกว่าศรัทธา สัมปทา ฯ ดูกรพราหมณ์ ศีลสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ งดเว้นจาก ปาณาติบาต ฯลฯ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท ดูกรพราหมณ์ นี้เรียกว่าศีลสัมปทา ฯ ดูกรพราหมณ์ ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีจิตปราศจาก ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ดูกรพราหมณ์ นี้เรียกว่าจาคสัมปทา ฯ ดูกรพราหมณ์ ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ นี้เรียกว่าปัญญาสัมปทา ดูกรพราหมณ์ ธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็น ไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในภายหน้าแก่กุลบุตร ฯ คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม เลี้ยงชีพพอเหมาะ ตามรักษาทรัพย์ที่หามาได้ มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ ชำระ ทางสัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์ ธรรม ๘ ประการดังกล่าว มานี้ ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันพระพุทธเจ้าผู้มี พระนามอันแท้จริง ตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และสุขในภายหน้า บุญคือจาคะนี้ ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์ ด้วยประการฉะนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๕
ภยสูตร
[๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า ภัย เป็นชื่อของกาม คำว่า ทุกข์ เป็นชื่อของกาม คำว่า โรค เป็นชื่อของกาม คำว่า หัวฝี เป็นชื่อของกาม คำว่า ลูกศร เป็นชื่อของกาม คำว่า ความข้อง เป็นชื่อของกาม คำว่า เปือกตม เป็นชื่อของกาม คำว่า การอยู่ในครรภ์ เป็นชื่อของกาม ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุไร คำว่า ภัย จึงเป็นชื่อของกาม เพราะบุคคลผู้นี้ยินดีในกามราคะ พัวพันในฉันทราคะ ย่อมไม่พ้นไปจากภัยทั้งใน ปัจจุบัน ทั้งในภายหน้า ฉะนั้น คำว่า ภัย จึงเป็นชื่อของกาม ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุไรคำว่า ทุกข์ ฯลฯ โรค ฯลฯ หัวฝี ฯลฯ ลูกศร ฯลฯ ความข้อง ฯลฯ เปือกตม จึงเป็นชื่อของกาม ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุไรคำว่า การอยู่ในครรภ์ จึงเป็นชื่อ ของกาม เพราะบุคคลนี้ยินดีในกามราคะ พัวพันในฉันทราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น ไปจากการอยู่ในครรภ์ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในภายหน้า ฉะนั้น คำว่า การอยู่ ในครรภ์ จึงเป็นชื่อของกาม ฯ ภัย ทุกข์ โรค หัวฝี ลูกศร ความข้อง เปือกตม และ การอยู่ในครรภ์ นี้เรียกว่ากามที่ปุถุชนข้องอยู่แล้ว อันกาม สุขครอบงำแล้ว ย่อมไปเพื่อเกิดในครรภ์อีก ก็เพราะ ภิกษุมีความเพียร ยินดีด้วยสัมปชัญญะ ภิกษุเห็นปานนี้นั้น ก้าวล่วงทางหมุนเวียนที่ข้ามได้ยากนี้ได้แล้ว ย่อมพิจารณา เห็นหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงชาติและชรา ดิ้นรนอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๖
อาหุเนยยสูตรที่ ๑
[๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำ อัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ใน สิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ๑ เป็นผู้ มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ๑ เป็นสัมมาทิฐิ ประกอบด้วยความเห็นชอบ ๑ มีปรกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมี ในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑ ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ๑ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไป ตามกรรม ๑ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
จบสูตรที่ ๗
อาหุเนยยสูตรที่ ๒
[๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วย ทิฐิ ๑ เป็นผู้ปรารภความเพียร มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระใน กุศลธรรมทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ในเสนาสนะ อันสงัด ๑ เป็นผู้อดกลั้นความไม่ยินดีและความยินดี ระงับความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ เป็นผู้อดกลั้นความกลัวต่อภัยเสียได้ ระงับความกลัวต่อภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ มีปรกติได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ฯลฯ เข้าถึงอยู่ ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
จบสูตรที่ ๘
อัฏฐปุคคลสูตรที่ ๑
[๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๘ จำพวกเป็นไฉน คือ พระโสดาบัน ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑ พระสกทา- *คามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล ๑ พระอนาคามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๑ พระอรหันต์ ๑ ท่านผู้ปฏิบัติ เพื่ออรหัตตผล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของ คำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ บุคคลผู้ปฏิบัติ ๔ จำพวก ผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ จำพวกนี้เป็นสงฆ์ ผู้ปฏิบัติตรง มีปัญญา มีศีล และจิตมั่นคง ย่อมกระทำบุญ ของมนุษย์ผู้เพ่งบุญบูชาอยู่ให้มีผลมาก ทานที่ให้ในสงฆ์ ย่อมมีผลมาก ฯ
จบสูตรที่ ๙
อัฏฐปุคคลสูตรที่ ๒
[๑๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๘ จำพวกเป็นไฉน คือ พระโสดาบัน ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑ พระสกทา- *คามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล ๑ พระอนาคามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๑ พระอรหันต์ ๑ ท่านผู้ปฏิบัติ เพื่ออรหัตตผล ๑ บุคคล ๘ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญ ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ ผู้ปฏิบัติ ๔ จำพวก ผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ จำพวก สงฆ์นี้คือ บุคคล ๘ จำพวก เป็นผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งหลาย ย่อม กระทำบุญของมนุษย์ผู้เพ่งบุญบูชาอยู่ให้มีผลมาก ทานที่ให้ ในสงฆ์นี้ย่อมมีผลมาก ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบสันธานวรรคที่ ๑
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โคตมีสูตร ๒. โอวาทสูตร ๓. สังขิตตสูตร ๔. ทีฆชาณุสูตร ๕. อุชชยสูตร ๖. ภยสูตร ๗. อาหุเนยยสูตรที่ ๑ ๘. อาหุเนยยสูตรที่ ๒ ๙. อัฏฐปุคคลสูตรที่ ๑ ๑๐. อัฏฐปุคคลสูตรที่ ๒ ฯ
-----------------------------------------------------
จาลวรรคที่ ๒
อิจฉาสูตร
[๑๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกมีปรากฏอยู่ในโลก ๘ จำ พวกเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญ กรรมฐานให้ติดต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอย่อมหมั่นเพียร พยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อเธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อที่จะได้ลาภ ลาภไม่เกิดขึ้น เธอย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงใหลเพราะไม่ได้ ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่าผู้ปรารถนาลาภ หมั่นเพียรพยายามเพื่อ จะได้ลาภ แต่ไม่ได้ลาภ เศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากสัทธรรม ฯ อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่อง กันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอย่อมหมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อเธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ลาภเกิดขึ้น เธอย่อมมัวเมาถึงความ ประมาทเพราะลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่าผู้มีความปรารถนาลาภ ย่อมหมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ได้ลาภแล้ว มัวเมา ประมาท และเคลื่อน จากสัทธรรม ฯ อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่อง กันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อ เธอไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ลาภไม่เกิดขึ้น เธอย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงใหลเพราะไม่ได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่าผู้มีความปรารถนาลาภ ไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ไม่ได้ลาภ เศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากสัทธรรม ฯ อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่อง กันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อ เธอไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ลาภเกิดขึ้น เธอย่อมมัวเมาถึงประมาท เพราะลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่าผู้มีความปรารถนาลาภ ไม่ หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ได้ลาภแล้ว มัวเมา ประมาท และเคลื่อนจาก สัทธรรม ฯ อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่อง กันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อเธอ หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ลาภไม่เกิดขึ้น เธอไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหลเพราะไม่ได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่าผู้มีความปรารถนาลาภ หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ไม่ได้ลาภแล้ว ไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจากสัทธรรม ฯ อนึ่ง ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่อง กันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อ เธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ลาภเกิดขึ้น เธอไม่มัวเมา ไม่ถึงความ ประมาทเพราะได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่าผู้มีความปรารถนาลาภ ย่อมหมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ได้ลาภแล้ว ก็ไม่มัวเมาประมาท และไม่ เคลื่อนจากสัทธรรม ฯ อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่อง กันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อ เธอไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ลาภไม่เกิดขึ้น เธอไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหลเพราะไม่ได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่าผู้มีความปรารถนาลาภ ไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ไม่ได้ ลาภแล้ว ไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจากสัทธรรม ฯ อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่อง กันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อ เธอไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ลาภเกิดขึ้น เธอไม่มัวเมา ไม่ถึงความ ประมาทเพราะได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่าผู้มีความปรารถนาลาภ ไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ ได้ลาภแล้ว ไม่มัวเมาประมาท และไม่เคลื่อน จากสัทธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
จบสูตรที่ ๑
อลํสูตรที่ ๑
[๑๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็น ผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งตนและผู้อื่น ธรรม ๖ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเข้าใจได้เร็วใน กุศลธรรมทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว ๑ พิจารณาเนื้อความแห่ง ธรรมที่ทรงจำแล้ว ๑ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ เป็นผู้มี วาจางาม กล่าวถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มี โทษ ให้รู้ประโยชน์ ๑ เป็นผู้ชี้แจงสพรหมจารีให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้ อาจหาญร่าเริง ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นผู้สามารถในอันปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น ฯ
จบสูตรที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๕๙๐๘-๖๒๒๕. หน้าที่ ๒๕๕ - ๒๖๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=5908&Z=6225&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย[เลขข้อ] เป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=23&item=143&items=10&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=23&siri=126              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=143              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=23&item=143&items=10              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=23&item=143&items=10              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_23

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]