ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๑๐. นิสสารณียสูตร
[๒๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธาตุที่พึงพรากได้ ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ มนสิการถึงกามทั้งหลาย จิตของเธอย่อม ไม่แล่นไป ย่อมไม่เลื่อมใส ย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่น้อมไปในกามทั้งหลาย แต่เมื่อเธอมนสิการถึงเนกขัมมะ จิตของเธอย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้ง อยู่ ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะ จิตของเธอนั้นชื่อว่าเป็นจิตดำเนินไปแล้ว อบรม ดีแล้ว ตั้งอยู่ดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว พรากออกดีแล้ว จากกามทั้งหลาย อาสวะ ทุกข์และความเร่าร้อนเหล่าใด ย่อมเกิดเพราะกามเป็นปัจจัย เธอหลุดพ้นแล้วจาก อาสวะ ทุกข์และความเร่าร้อนเหล่านั้น เธอย่อมไม่เสวยเวทนาที่เกิดเพราะเหตุนั้น นี้เรากล่าวว่าเป็นการพรากออกแห่งกามทั้งหลาย ฯ อีกประการหนึ่ง เมื่อภิกษุมนสิการถึงพยาบาท จิตของเธอย่อมไม่แล่นไป ย่อมไม่เลื่อมใส ย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่น้อมไปในพยาบาท แต่เมื่อเธอมนสิการ ถึงความไม่พยาบาท จิตของเธอย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมน้อม ไปในความไม่พยาบาท จิตของเธอนั้นชื่อว่าเป็นจิตดำเนินไปดีแล้ว อบรมดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว พรากออกดีแล้วจากพยาบาท อาสวะ ทุกข์และความเร่าร้อน เหล่าใด ย่อมเกิดเพราะพยาบาทเป็นปัจจัย เธอหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ทุกข์และ ความเร่าร้อนเหล่านั้น เธอย่อมไม่เสวยเวทนาที่เกิดเพราะเหตุนั้น นี้เรากล่าวว่า เป็นการพรากออกแห่งพยาบาท ฯ อีกประการหนึ่ง เมื่อภิกษุมนสิการถึงวิหิงสา จิตของเธอย่อมไม่แล่นไป ย่อมไม่เลื่อมใส ย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่น้อมไปในวิหิงสา แต่เมื่อเธอมนสิการ ถึงอวิหิงสา จิตของเธอย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมน้อมไปใน อวิหิงสา จิตของเธอนั้นชื่อว่าเป็นจิตดำเนินไปดีแล้ว อบรมดีแล้ว ตั้งอยู่ดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว พรากออกดีแล้วจากวิหิงสา อาสวะ ทุกข์และความเร่าร้อนเหล่าใด ย่อมเกิดเพราะวิหิงสาเป็นปัจจัย เธอหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ทุกข์และความ เร่าร้อนเหล่านั้น เธอย่อมไม่เสวยเวทนาที่เกิดเพราะเหตุนั้น นี้เรากล่าวว่าเป็นการ พรากออกแห่งวิหิงสา ฯ อีกประการหนึ่ง เมื่อภิกษุมนสิการถึงรูปทั้งหลาย จิตของเธอย่อมไม่แล่น ไป ย่อมไม่เลื่อมใส ย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่น้อมไปในรูปทั้งหลาย แต่เมื่อเธอ มนสิการถึงอรูป จิตของเธอย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมน้อมไป ในอรูป จิตของเธอนั้นชื่อว่าเป็นจิตดำเนินไปดีแล้ว อบรมดีแล้ว ตั้งอยู่ดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว พรากออกดีแล้วจากรูปทั้งหลาย อาสวะ ทุกข์และความเร่าร้อน เหล่าใด ย่อมเกิดเพราะรูปเป็นปัจจัย เธอหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ทุกข์และความ เร่าร้อนเหล่านั้น เธอย่อมไม่เสวยเวทนาที่เกิดเพราะเหตุนั้น นี้เรากล่าวว่าเป็นการ พรากออกแห่งรูปทั้งหลาย ฯ อีกประการหนึ่ง เมื่อภิกษุมนสิการถึงสักกายะ จิตของเธอย่อมไม่แล่นไป ย่อมไม่เลื่อมใส ย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่น้อมไปในสักกายะ แต่เมื่อเธอมนสิการ ถึงความดับแห่งสักกายะ จิตของเธอย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อม น้อมไปในความดับแห่งสักกายะ จิตของเธอนั้นชื่อว่าเป็นจิตดำเนินไปดีแล้ว อบรมดีแล้ว ตั้งอยู่ดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว พรากออกดีแล้วจากสักกายะ อาสวะ ทุกข์และความเร่าร้อนเหล่าใด ย่อมเกิดเพราะสักกายะเป็นปัจจัย เธอหลุดพ้น แล้วจากอาสวะ ทุกข์และความเร่าร้อนเหล่านั้น เธอย่อมไม่เสวยเวทนาที่เกิด เพราะเหตุนั้น นี้เรากล่าวว่าเป็นการพรากออกแห่งสักกายะ ฯ ความเพลินในกามก็ดี ความเพลินในพยาบาทก็ดี ความเพลินในวิหิงสา ก็ดี ความเพลินในรูปก็ดี ความเพลินในสักกายะก็ดี ย่อมไม่บังเกิดขึ้นแก่เธอ เพราะความเพลินในกามก็ดี ความเพลินในพยาบาทก็ดี ความเพลินในวิหิงสาก็ดี ความเพลินในรูปก็ดี ความเพลินในสักกายะก็ดี ไม่บังเกิดขึ้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีอาลัย ตัดตัณหาได้แล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธาตุที่พึงพรากได้ ๕ ประการ นี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบพราหมณวรรคที่ ๕
จบจตุตถปัณณาสก์ ฯ
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โสณสูตร ๒. โทณสูตร ๓. สังคารวสูตร ๔. การณปาลีสูตร ๕. ปิงคิยานีสูตร ๖. สุปินสูตร ๗. วัสสสูตร ๘. วาจาสูตร ๙. กุลสูตร ๑๐. นิสสารณียสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๕๖๗๗-๕๗๓๔. หน้าที่ ๒๔๗ - ๒๕๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=5677&Z=5734&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย[เลขข้อ] เป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=22&item=200&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=22&siri=200              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=200              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=22&item=200&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=22&item=200&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_22

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]