ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
โทณสูตร
[๓๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกลในระหว่างเมือง อุกกัฏฐะและเมืองเสตัพยะ แม้โทณพราหมณ์ก็เดินทางไกลในระหว่างเมือง อุกกัฏฐะและเมืองเสตัพยะ โทณพราหมณ์ได้เห็นรอยกงจักรในรอยพระบาทของ พระผู้มีพระภาคมีซี่ตั้งพัน ประกอบด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ครั้นเห็นแล้วจึงรำพึงว่า อัศจรรย์จริงหนอท่านผู้เจริญ สิ่งไม่เคยมีมามีขึ้น รอยเท้า เหล่านี้ชะรอยจักไม่ใช่รอยเท้ามนุษย์ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะออก จากทาง ประทับนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ทรงคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงสติไว้ เฉพาะหน้า ครั้งนั้น โทณพราหมณ์ติดตามรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาค ได้ เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง น่าพอใจ ควรแก่ความเลื่อมใส มีพระอินทรีย์อันสงบ มีพระทัยอันสงบ ถึงความฝึกฝนและความสงบอันยอดเยี่ยม มีตนอันฝึกแล้วคุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์อันรักษาแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ ครั้น เห็นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่า ท่านผู้เจริญเป็นเทวดาหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ เรามิใช่เป็นเทวดา ฯ โท. ท่านผู้เจริญเป็นคนธรรพ์หรือ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ เรามิใช่เป็นคนธรรพ์ ฯ โท. ท่านผู้เจริญเป็นยักษ์หรือ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ เรามิใช่เป็นยักษ์ ฯ โท. ท่านผู้เจริญเป็นมนุษย์ใช่ไหม ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ เรามิใช่เป็นมนุษย์ โท. เราถามท่านว่า เป็นเทวดาหรือ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เราถามว่าเป็น- *คนธรรพ์หรือ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เราถามว่าเป็นยักษ์หรือ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เรา ถามว่าเป็นมนุษย์หรือ ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นท่านผู้เจริญเป็นอะไรแน่ ฯ พ. ดูกรพราหมณ์ เราพึงเป็นเทวดา เพราะยังละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน กระทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรพราหมณ์ เราพึงเป็น- *คนธรรพ์ ... เราพึงเป็นยักษ์ ... เราพึงเป็นมนุษย์ เพราะยังละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ อาสวะเหล่านั้น เราละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน กระทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือน ดอกอุบล ดอกปทุม หรือดอกบัวขาว เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ตั้งอยู่พ้นน้ำ แต่ น้ำมิได้แปดเปื้อน แม้ฉันใด ดูกรพราหมณ์ เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดในโลก เติบโตขึ้นในโลก อยู่ครอบงำโลก อันโลกมิได้แปดเปื้อน ดูกรพราหมณ์ ท่าน จงทรงจำเราไว้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ฯ ความบังเกิดเป็นเทวดา หรือคนธรรพ์ ผู้เที่ยวไปในเวหา พึงมีแก่เราด้วยอาสวะใด เราพึงถึงความเป็นยักษ์ และ เข้าถึงความเป็นมนุษย์ด้วยอาสวะใด อาสวะเหล่านั้นของเรา สิ้นไปแล้ว เรากำจัดเสียแล้ว กระทำให้ปราศจากเครื่อง ผูกพัน ดอกบัวตั้งอยู่พ้นน้ำ ย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ ฉันใด เราก็ย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยโลก ฉันนั้น ดูกรพราหมณ์ เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า ฯ
จบสูตรที่ ๖
อปริหานิสูตร
[๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นผู้ ไม่ควรเพื่อเสื่อมรอบ ชื่อว่าย่อมประพฤติใกล้นิพพานทีเดียว ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ๑ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ๑ เป็นผู้ ประกอบเนืองๆ ซึ่งมีความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีลสำรวมระวังในพระ ปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมประพฤติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึง ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วย จมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ แล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุ เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมกลืนกินซึ่งอาหารมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อจะมัวเมา มิใช่เพื่อประเทืองผิว มิใช่เพื่อจะตกแต่ง เพียงเพื่อร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยหวังว่า จักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ยังเวทนาใหม่ให้บังเกิดขึ้น ความเป็นไป ความที่ร่างกายไม่มีโทษ และ ความอยู่สำราญจักมีแก่เรา ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่น อยู่อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นด้วยการ เดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นด้วย การเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีหไสยาโดยข้าง เบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ มนสิการความสำคัญในอันจะ ลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้วย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม เครื่องกั้นด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ภิกษุเป็นผู้ ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่นอยู่อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่ควรเพื่อเสื่อมรอบ ชื่อว่าย่อม ประพฤติใกล้นิพพานทีเดียว ฯ ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในศีล สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณใน โภชนะ และย่อมประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่น อยู่ ภิกษุผู้มีปรกติพากเพียรอยู่อย่างนี้ ไม่เกียจคร้านตลอด วันและคืน บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อถึงความเกษมจากโยคะ ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท หรือมีปรกติเห็นภัยในความ ประมาทเป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ชื่อว่าประพฤติใกล้ นิพพานทีเดียว ฯ
จบสูตรที่ ๗
ปฏิลีนสูตร
[๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่างอันบรรเทา ได้แล้ว มีการแสวงหาทั้งปวงอันสละแล้ว มีกายสังขารอันสงบระงับ เราเรียกว่า ผู้มีการหลีกออกเร้นอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่าง อันบรรเทาได้แล้วอย่างไร ทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่างเป็นอันมาก ของสมณพราหมณ์ ผู้มีกิเลสหนาแน่นเหล่าใด คือ เห็นว่า โลกเที่ยง หรือว่าโลกไม่เที่ยง โลกมี ที่สุด หรือว่าโลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก หรือว่าสัตว์เบื้องหน้า ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีก ก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ทิฏฐิสัจจะเหล่านั้นทั้งหมดอันภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรเทาได้แล้ว สละแล้ว คายออกแล้ว ปล่อยแล้ว ละได้แล้ว สละคืนแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะ แต่ละอย่างอันบรรเทาได้แล้วอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาทั้งปวง อันสละแล้วอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีการแสวงหากามอันละได้แล้ว มีการแสวงหาภพอันละ ได้แล้ว มีการแสวงหาพรหมจรรย์อันสงบแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาทั้งปวง อันสละแล้ว อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันสงบระงับอย่างไร ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุ เป็นผู้มีกายสังขารอันสงบระงับอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่อย่างไร ภิกษุในธรรม วินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่างอันบรรเทาได้แล้ว มีการแสวงหาทั้งปวงอันสละแล้ว มีกายสังขารอันสงบระงับแล้ว เราเรียกว่า ผู้หลีกออกเร้นอยู่ ฯ การแสวงหากาม การแสวงหาภพ กับการแสวงหาพรหมจรรย์ อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ สละคืนแล้ว การเชื่อถือสัจจะ และ ฐานะแห่งทิฐิทั้งหลาย อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ถอนขึ้นแล้ว ด้วยประการดังนี้ ภิกษุผู้สำรอกราคะทั้งปวง ผู้หลุดพ้นเพราะ สิ้นตัณหา สละคืนการแสวงหา ถอนฐานะแห่งทิฐิทั้งหลาย ได้แล้ว ภิกษุนั้นแล เป็นผู้สงบ มีสติ ระงับกายสังขาร เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ เป็นผู้ตรัสรู้เพราะรู้เท่าถึงมานะ เราเรียกว่า เป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๘
อุชชยสูตร
[๓๙] ครั้งนั้นแล อุชชยพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามว่า แม้พระโคดมผู้เจริญก็กล่าว สรรเสริญยัญของพวกข้าพเจ้าหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เรามิได้สรรเสริญยัญไปทุกอย่าง และก็มิได้ติเตียนยัญไปทุกอย่าง ดูกรพราหมณ์ ในยัญชนิดใดมีการ ฆ่าโค ฆ่าแพะ แกะ ฆ่าไก่ สุกร สัตว์ต่างชนิดถูกฆ่า ดูกรพราหมณ์ เราไม่สรรเสริญยัญเห็นปานนี้แล อันประกอบด้วยความริเริ่ม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตมัค ย่อมไม่เกี่ยวข้อง ยัญเห็นปานนั้น อันประกอบด้วยความริเริ่ม แต่ในยัญชนิดใด ไม่มีการฆ่าโค ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ ไม่มีการฆ่าไก่ สุกร สัตว์ต่างชนิดไม่ถูกฆ่า เราย่อม สรรเสริญยัญเห็นปานนั้นแล อันปราศจากความริเริ่ม คือ นิจทาน อนุกุลยัญ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์หรือผู้บรรลุอรหัตมรรค ย่อมเกี่ยวข้องยัญ เห็นปานนั้น อันปราศจากความริเริ่ม ฯ มหายัญที่มีการริเริ่มใหญ่ คือ อัสสเมธ ปุริสเมธ การบูชา ชื่อสัมมาปาสวาชเปยยะ และนิรัคคละ เหล่านั้น ไม่มีผลมาก ในยัญใดมีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ต่างๆ พระอริยะ ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ย่อมไม่เกี่ยวข้อง ยัญนั้น แต่ยัญใดไม่มีการริเริ่ม เป็นอนุกุลยัญที่ชนทั้งหลาย บูชาเสมอ และแพะ แกะ โค สัตว์ต่างๆ ไม่ถูกฆ่าใน ยัญใด พระอริยะทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ย่อมสรรเสริญยัญนั้น นักปราชญ์ย่อมบูชาอย่างนี้ ยัญนี้มี ผลมาก เพราะเมื่อบุคคลบูชาอยู่อย่างนี้ ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว และยัญย่อมไพบูลย์ ทั้งเทวดาย่อมเลื่อมใส ฯ
จบสูตรที่ ๙
อุทายสูตร
[๔๐] ครั้งนั้นแล อุทายพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า แม้พระโคดม ผู้เจริญย่อมกล่าวสรรเสริญยัญของพวกข้าพเจ้าหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เรามิได้สรรเสริญยัญไปทุกอย่าง และก็มิได้ติเตียนยัญไปทุกอย่าง ดูกรพราหมณ์ ในยัญชนิดใด มีการฆ่าโค ฆ่าแพะ แกะ ฆ่าไก่ สุกร สัตว์ ต่างชนิดถูกฆ่า เราไม่สรรเสริญยัญเห็นปานนี้ อันประกอบด้วยความริเริ่ม ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตมรรค ย่อมไม่เกี่ยวข้องยัญ เห็นปานนั้น อันประกอบด้วยความริเริ่ม แต่ในยัญชนิดใดไม่มีการฆ่าโค ไม่มี การฆ่าแพะ แกะ ไม่มีการฆ่าไก่ สุกร สัตว์ต่างชนิดไม่ถูกฆ่า เราย่อมสรรเสริญ ยัญเห็นปานนี้ อันปราศจากความริเริ่ม ได้แก่นิจทาน อนุกุลยัญ ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะพระอรหันต์หรือผู้บรรลุอรหัตมรรค ย่อมเกี่ยวข้องยัญเห็นปานนี้ อันปราศจากความริเริ่ม ฯ ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้สำรวมแล้ว ย่อม สรรเสริญยัญชนิดที่กระทำเป็นหมวด ไม่มีความริเริ่ม ควร โดยกาลเช่นนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ผู้ฉลาดต่อบุญ ผู้มีกิเลส เพียงดังว่าหลังคาอันเปิดแล้วในโลก ผู้ล่วงเลยตระกูลและคติ ไปแล้ว ย่อมสรรเสริญยัญชนิดนี้ ถ้าบุคคลกระทำการบูชา ในยัญ หรือในมตกทานตามสมควร มีจิตเลื่อมใส บูชา ในเนื้อนาอันดี คือ พรหมจารีบุคคลทั้งหลาย ยัญที่บุคคล บูชาดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว อันบุคคลกระทำ แล้วในทักขิเณยยบุคคลทั้งหลาย ย่อมเป็นยัญไพบูลย์ และ เทวดาย่อมเลื่อมใส บัณฑิตผู้มีเมธาเป็นผู้มีศรัทธา มีใจ อันสละแล้ว บูชายัญอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลก อันปราศจาก ความเบียดเบียน เป็นสุข ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบจักกวรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จักกสูตร ๒. สังคหสูตร ๓. สีหสูตร ๔. ปสาทสูตร ๕. วัสสการสูตร ๖. โทณสูตร ๗. อปริหานิสูตร ๘. ปฏิลีนสูตร ๙. อุชชยสูตร ๑๐. อุทายสูตร ฯ
-----------------------------------------------------
โรหิตัสสวรรคที่ ๕
สมาธิสูตร
[๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน คือ สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันมีอยู่ ๑ สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่ ๑ สมาธิภาวนาอันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ ๑ สมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะมีอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น ไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุ ทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระ อริยะสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น ไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มนสิการอาโลก- *สัญญา อธิษฐานทิวาสัญญา ๑- ว่า กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือน กลางคืน มีใจอันสงัด ปราศจากเครื่องรัดรึง อบรมจิตให้มีความสว่างอยู่ ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น ไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว @๑. ความสำคัญหมายว่ากลางวัน กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป รู้แจ้งสัญญาที่ เกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่ดับไป รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่ดับไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้น อาสวะเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปรกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความ เสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้ ความ ดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้ สัญญาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นดังนี้ ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้ สังขารเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นดังนี้ ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้ วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคล เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง คำต่อไปนี้ เรากล่าวแล้ว ในปุณณปัญหาในปรายนวรรค หมายเอาข้อความนี้ว่า ความหวั่นไหวไม่มีแก่บุคคลใด ในโลกไหนๆ เพราะรู้ความ สูงต่ำในโลก บุคคลนั้นเป็นผู้สงบปราศจากควันคือความโกรธ เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้หมดหวัง เรากล่าวว่า ข้าม ชาติและชราได้แล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๑
ปัญหาสูตร
[๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญหาพยากรณ์ ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างเป็นไฉน คือ ปัญหาที่พึงพยากรณ์โดยส่วนเดียวมีอยู่ ๑ ปัญหาที่พึงจำแนกพยากรณ์มีอยู่ ๑ ปัญหาที่ต้องสอบถามแล้วพยากรณ์มีอยู่ ๑ ปัญหาที่ควรงดมีอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญหาพยากรณ์ ๔ อย่าง นี้แล ฯ ๑. กล่าวแก้โดยส่วนเดียว ๒. จำแนกกล่าวแก้ ๓. ย้อนถาม กล่าวแก้ ๔. การงดกล่าวแก้ อนึ่ง ภิกษุใดย่อมรู้ความ สมควรแก่ธรรมในฐานะนั้นๆ แห่งปัญญาเหล่านั้น บัณฑิต ทั้งหลายกล่าวภิกษุอย่างนั้นว่า เป็นผู้ฉลาดต่อปัญหาทั้ง ๔ ภิกษุผู้ที่ใครๆ ไล่ปัญหาได้ยาก ครอบงำได้ยาก เป็นผู้ลึกซึ้ง ให้พ่ายแพ้ได้ยาก และเป็นผู้ฉลาดต่อประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ทั้งในด้านเจริญและในด้านเสื่อม ย่อมเป็นผู้ฉลาดงดเว้น ทางเสื่อม ถือเอาทางเจริญ เป็นธีรชนเพราะรู้จักประโยชน์ ชาวโลกขนานนามว่า บัณฑิต ฯ
จบสูตรที่ ๒
โกธสูตรที่ ๑
[๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ เป็นผู้หนักในความโกรธ ไม่หนักในสัทธรรม ๑ เป็นผู้หนักในความลบหลู่ ไม่หนักในสัทธรรม ๑ เป็นผู้หนักในลาภ ไม่หนัก ในสัทธรรม ๑ เป็นผู้หนักในสักการะ ไม่หนักในสัทธรรม ๑ บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ เป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนัก ในความโกรธ ๑ เป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในความลบหลู่ ๑ เป็นผู้หนัก ในสัทธรรม ไม่หนักในลาภ ๑ เป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในสักการะ ๑ บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ ภิกษุผู้หนักในความโกรธ และความลบหลู่ หนักในลาภ และสักการะ พวกเธอย่อมไม่งอกงามในธรรมอันพระ- สัมมาสัมพุทธะแสดงแล้ว ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นผู้หนักใน สัทธรรมอยู่แล้ว และกำลังเป็นผู้หนักในสัทธรรมอยู่ ภิกษุ เหล่านั้นแล ย่อมงอกงามในธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงแสดงแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๓
โกธสูตรที่ ๒
[๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัทธรรม ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน คือ ความเป็นผู้หนักในความโกรธ ไม่เป็นผู้หนักในสัทธรรม ๑ ความเป็นผู้หนักในความลบหลู่ ไม่หนักในสัทธรรม ๑ ความเป็นผู้หนักในลาภ ไม่หนักในสัทธรรม ๑ ความเป็นผู้หนักในสักการะ ไม่หนักในสัทธรรม ๑ อสัทธรรม ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัทธรรม ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในความโกรธ ๑ ความเป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในความลบหลู่ ๑ ความเป็นผู้หนักใน สัทธรรม ไม่หนักในลาภ ๑ ความเป็นผู้หนักในสัทธรรม ไม่หนักในสักการะ ๑ สัทธรรม ๔ ประการนี้แล ฯ ภิกษุผู้หนักในความโกรธและความลบหลู่ หนักในลาภและ สักการะ ย่อมไม่งอกงามในพระสัทธรรม ดุจพืชที่หว่านไว้ ในนาไม่ดี ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นผู้หนักในสัทธรรมอยู่แล้ว และกำลังเป็นผู้หนักในสัทธรรม ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อม งอกงามในธรรม ประดุจต้นไม้อาศัยยางงอกงามอยู่ ฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๔
โรหิตัสสสูตรที่ ๑
[๔๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล โรหิตัสสเทวบุตร เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหาร เชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดหนอแล พระองค์อาจหรือหนอเพื่อจะทรงทราบ เพื่อจะทรงเห็น หรือเพื่อจะทรงถึงซึ่งที่สุดแห่งโลกด้วยการเสด็จไปในโอกาสนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้นว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึงด้วยการไป ฯ โร. อัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น พระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มี พระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็น ที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป เป็นอันตรัสดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรนายบ้าน มีฤทธิ์ไปในอากาศได้ ความเร็วของข้าพระองค์นั้นเปรียบได้กับ นายขมังธนู ผู้มีธนูอันมั่นเหมาะ ศึกษาดีแล้ว เชี่ยวชาญ เคยแสดงให้ ปรากฏแล้ว พึงยิงลูกศรอันเบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่สู้ยาก ฉะนั้น การยกย่างเท้าแต่ละก้าวของข้าพระองค์ เปรียบด้วยสมุทรด้านตะวันตกไกล จากสมุทรด้านตะวันออก ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาเห็น ปานนี้ว่า เราจักถึงที่สุดแห่งโลกด้วยการไป เกิดขึ้นแล้วแก่ข้าพระองค์นั้น ผู้ประกอบด้วยกำลังเร็วเห็นปานนั้น และด้วยการยกย่างเท้าเห็นปานนั้น ข้าพระองค์ นั้นแล เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจากการถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับและการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้มี ชีวิตอยู่ตลอดร้อยปีในคราวที่มนุษย์มีอายุร้อยปี ไปตลอดร้อยปี ไม่ทันถึงที่สุด แห่งโลก ได้ทำกาละเสียในระหว่างทีเดียว น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมี ได้มีขึ้นพระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาส ใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป เป็นอันตรัสดีแล้ว พ. ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อม ไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุด แห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป และเราย่อมไม่กล่าวการกระทำ ที่สุดแห่งทุกข์ เพราะไปไม่ถึงที่สุดแห่งโลก แต่เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิด แห่งโลก ความดับแห่งโลก และปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งโลก ในอัตภาพ อันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญาและมีใจนี้เท่านั้น ฯ ในกาลไหนๆ ที่สุดแห่งโลก อันใครๆ ไม่พึงถึงด้วยการไป และการเปลื้องตนให้พ้นจากทุกข์ ย่อมไม่มีเพราะไม่ถึงที่สุด แห่งโลก เพราะฉะนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีเมธาดี ถึงที่สุดแห่งโลก มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นผู้มีบาป อันสงบ รู้ที่สุดแห่งโลกแล้ว ย่อมไม่หวังโลกนี้และ โลกหน้า ฯ
จบสูตรที่ ๕
โรหิตัสสสูตรที่ ๒
[๔๖] ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีนั้นผ่านไปแล้ว พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อปฐมยาม ล่วงไปแล้ว โรหิตัสสเทวบุตร มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง ไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทเราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว ได้ถามเราว่า ข้าแต่พระองค์เจริญ สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดหนอแล พระองค์อาจหรือหนอเพื่อจะทรง ทราบ เพื่อจะทรงเห็น หรือเพื่อจะทรงถึงที่สุดแห่งโลกด้วยการไปในโอกาสนั้น ดังนี้ เมื่อเทวบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะเทวบุตรนั้นว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาส ใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้นว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว โรหิตัสสเทวบุตร ได้กล่าวกะเราว่า น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น พระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อม ไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใดแล เราย่อมไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป เป็นอันตรัสดี แล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรนายบ้านมีฤทธิ์ไปในอากาศได้ ความเร็วของข้าพระองค์นั้น เปรียบได้กับ นายขมังธนู ผู้มีธนูอันมั่นเหมาะ ศึกษาดีแล้ว เคยแสดงให้ปรากฏแล้ว พึงยิงลูกศรอันเบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่สู้ยาก ฉะนั้น การยกย่างเท้า แต่ละก้าวของข้าพระองค์ เปรียบด้วยสมุทรด้านตะวันตกไกลจากสมุทรด้านตะวัน ออก ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาเห็นปานนี้ว่า เราจักถึงที่สุด แห่งโลกด้วยการไป ดังนี้ ได้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์นั้น ผู้ประกอบด้วยกำลัง เร็วเห็นปานนั้น และด้วยการยกย่างเท้าเห็นปานนั้น ข้าพระองค์นั้นแล เว้น จากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับและการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย เป็นผู้มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี ในคราวที่มนุษย์มีอายุร้อยปี ไปตลอดร้อยปี ไม่ทันถึงที่สุดแห่งโลก ได้ทำกาละ เสียในระหว่างทีเดียว น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า สิ่งไม่เคยมีได้มีขึ้น พระเจ้าข้า เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อมไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะเทวบุตรว่า ดูกรอาวุโส สัตว์ย่อม ไม่เกิด ย่อมไม่แก่ ย่อมไม่ตาย ย่อมไม่จุติ ย่อมไม่อุบัติ ในโอกาสใด เราไม่กล่าวโอกาสนั้น ว่าเป็นที่สุดแห่งโลก ที่ควรรู้ ควรเห็น ควรถึง ด้วยการไป และเราย่อมไม่กล่าวการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะไปไม่ถึงที่สุดแห่งโลก แต่เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก ปฏิปทาเครื่องให้ถึง ความดับแห่งโลก ในอัตภาพอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญาและมีจิตนี้เท่านั้น ในกาลไหนๆ ที่สุดแห่งโลกอันใครๆ ไม่พึงถึงด้วยการไป และการเปลื้องทุกข์ย่อมไม่มี เพราะไม่ถึงที่สุดแห่งโลก เพราะฉะนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีเมธาดี ถึงที่สุดแห่งโลก มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นผู้มีบาปอันสงบ รู้ที่สุดแห่งโลก แล้ว ย่อมไม่หวังโลกนี้ และโลกหน้า ฯ
จบสูตรที่ ๖
สุวิทูรสูตร
[๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฟ้ากับแผ่นดิน นี้เป็นสิ่งที่ไกลกัน แสนไกลประการที่ ๑ ฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งสมุทร นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล ประการที่ ๒ พระอาทิตย์ยามขึ้นและยามอัสดงคตนี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล ประการที่ ๓ ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล ประการที่ ๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ ประการนี้แล ฯ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ฟ้ากับดินไกลกัน ฝั่งสมุทร ก็ไกลกัน พระอาทิตย์ส่องแสงยามอุทัยกับยามอัสดงคต ไกลกัน บัณฑิตกล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของ อสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น การสมาคมของสัตบุรุษ มั่นคงยืดยาว ย่อมเป็นอย่างนั้นตราบเท่ากาลที่พึงดำรงอยู่ ส่วนการสมาคมของอสัตบุรุษ ย่อมจืดจางเร็ว เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษ จึงไกลจากธรรมของอสัตบุรุษ ฯ
จบสูตรที่ ๗
วิสาขสูตร
[๔๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ท่าน วิสาขปัญจาลิบุตร ได้ชี้แจงภิกษุทั้งหลาย ในอุปัฏฐานศาลาให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่ อิงวัฏฏะ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงออกจากที่เร้นในสายัณห์สมัย เสด็จ ไปยังอุปัฏฐานศาลา แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วตรัสถามภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใครหนอ ชี้แจงภิกษุทั้งหลายในอุปัฏฐานศาลา ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันเป็นวาจา- *ของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่อง ในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่าน วิสาขปัญจาลิบุตร ชี้แจงภิกษุทั้งหลายในอุปัฏฐานศาลาให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านวิสาขปัญจาลิบุตรว่า ดีละ ดีละ วิสาขะ เป็นการดีแล้ววิสาขะ ที่เธอชี้แจงภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ ฯ คนที่ไม่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ไม่ได้ว่า เป็นพาลหรือบัณฑิต ส่วนคนที่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ว่า เป็นผู้แสดงอมตบท บุคคลพึงยังธรรมให้สว่างแจ่มแจ้ง พึงยกย่องธงของฤาษี ทั้งหลาย ฤาษีทั้งหลายมีสุภาษิตเป็นธง เพราะว่าธรรมเป็น ธงของพวกฤาษี ฯ
จบสูตรที่ ๘
วิปัลลาสสูตร
[๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่า เป็นตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่ วิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่ วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งาม ๑ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้แล ฯ เหล่าสัตว์ผู้ถูกมิจฉาทิฐิกำจัด มีจิตฟุ้งซ่าน มีความสำคัญผิด มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สำคัญในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข สำคัญในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน และสำคัญในสิ่งที่ ไม่งามว่างาม สัตว์คือชนเหล่านั้น ชื่อว่าประกอบแล้วในเครื่อง ประกอบของมาร ไม่เป็นผู้เกษมจากโยคะ มีปรกติไปสู่ชาติ และมรณะ ย่อมไปสู่สงสาร ก็ในกาลใด พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้กระทำแสงสว่าง บังเกิดขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมประกาศธรรมนี้เป็นเครื่องให้สัตว์ถึงความสงบทุกข์ ชน เหล่านั้น ผู้มีปัญญา ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น แล้ว ได้จิตของตน ได้เห็นสิ่งไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่ เที่ยง ได้เห็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์ ได้เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตน ว่าไม่ใช่ตน ได้เห็นสิ่งที่ไม่งามโดยความเป็นของไม่งาม สมาทานสัมมาทิฐิ จึงล่วงทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ
จบสูตรที่ ๙
อุปกิเลสสูตร
[๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครื่องมัวหมองของพระจันทร์ และพระอาทิตย์ อันเป็นเหตุให้พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่แผดแสง ไม่ส่องแสง ไม่ไพโรจน์ มี ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ เมฆ ๑ หมอก ๑ ควันและละออง ๑ ราหูจอมอสูร ๑ เครื่องมัวหมองของพระจันทร์และพระอาทิตย์ อันเป็นเหตุให้ พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่แผดแสง ไม่สว่างไสว ไม่ไพโรจน์ ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์ พวกหนึ่งไม่สง่า ไม่รุ่งเรือง ไม่ไพโรจน์ ก็มี ๔ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ดื่มสุราและ เมรัย ไม่งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย นี้เป็นอุปกิเลสของสมณพราหมณ์ ประการที่ ๑ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเสพเมถุนธรรม ไม่งดเว้นจากเมถุน ธรรม นี้เป็นอุปกิเลสของสมณพราหมณ์ประการที่ ๒ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ยินดีทองและเงิน ไม่งดเว้นจากการรับทองและเงิน นี้เป็นอุปกิเลสของสมณ- *พราหมณ์ประการที่ ๓ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ไม่งดเว้น จากมิจฉาชีพ นี้เป็นอุปกิเลสของสมณพราหมณ์ประการที่ ๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ไม่สง่า ไม่รุ่งเรือง ไม่ไพโรจน์ ฯ สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถูกราคะและโทสะ ปกคลุมแล้ว อันอวิชชาหุ้มห่อแล้ว เพลิดเพลินรูปที่น่ารัก ย่อมดื่มสุรา และเมรัย เสพเมถุน เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง ยินดีรับทองและเงิน สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ย่อมเลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ อุป- กิเลสอันเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งไม่สง่า ไม่รุ่ง- เรือง ไม่ไพโรจน์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ มีธุลีคือกิเลส เป็นผู้อันความมืดรัดรึงแล้ว เป็นทาสแห่ง ตัณหา อันตัณหานำไปด้วยดี ย่อมยังอัตภาพอันหยาบให้ เจริญ ย่อมยินดีภพใหม่เหล่านี้ อันพระพุทธเจ้าผู้เป็น เผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ตรัสไว้แล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบโรหิตัสสวรรคที่ ๕
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สมาธิสูตร ๒. ปัญหาสูตร ๓. โกธสูตรที่ ๑ ๔. โกธสูตรที่ ๒ ๕. โรหิตัสสสูตรที่ ๑ ๖. โรหิตัสสสูตรที่ ๒ ๗. สุวิทูรสูตร ๘. วิสาขสูตร ๙. วิปัลลาสสูตร ๑๐. อุปกิเลสสูตร ฯ
จบปฐมปัณณาสก์
-----------------------------------------------------
ทุติยปัณณาสก์
ปุญญาภิสันทวรรคที่ ๑
ปุญญาภิสันทสูตรที่ ๑
[๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการนี้ นำความสุข มาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็น ไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ห้วงบุญ ห้วงกุศล ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบริโภคจีวรของทายกใด เข้าถึงเจโตสมาธิอันหาประมาณมิได้อยู่ ห้วงบุญห้วงกุศลของทายกนั้นหาประมาณ มิได้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดใน สวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ภิกษุบริโภคบิณฑบาตของทายกใด ... บริโภคเสนาสนะของทายกใด ... บริโภคเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ของทายกใด เข้าถึงเจโตสมาธิอันหา ประมาณมิได้อยู่ ห้วงบุญห้วงกุศลของทายกนั้นหาประมาณมิได้ นำความสุขมา ให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการนี้แล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อัน เลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ฯ อนึ่ง การถือเอาประมาณแห่งบุญของอริยสาวก ผู้ประกอบด้วยห้วงบุญ ห้วงกุศล ๔ ประการนี้ว่า ห้วงบุญห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ดังนี้ ไม่ใช่ กระทำได้ง่าย โดยที่แท้ ย่อมถึงการนับว่า เป็นกองบุญใหญ่ จะนับจะประมาณ มิได้ทีเดียว การถือเอาประมาณแห่งน้ำในมหาสมุทรว่า เท่านี้อาฬหกะ เท่านี้ ร้อยอาฬหกะ เท่านี้พันอาฬหกะ หรือว่าเท่านี้แสนอาฬหกะ ไม่ใช่ทำได้ง่าย โดยที่แท้ ย่อมถึงการนับว่า เป็นห้วงน้ำใหญ่ จะนับจะประมาณมิได้ทีเดียว แม้ฉันใด การถือเอาประมาณแห่งบุญของอริยสาวก ผู้ประกอบด้วยห้วงบุญห้วง กุศล ๔ ประการนี้ว่า ห้วงบุญห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำความสุขมาให้ ให้ อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ดังนี้ ไม่ใช่ กระทำได้ง่าย โดยที่แท้ ย่อมถึงซึ่งการนับว่า เป็นกองบุญใหญ่ จะนับจะ ประมาณมิได้ทีเดียว ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ แม่น้ำทั้งหลาย อันคับคั่งด้วยหมู่ปลาเป็นจำนวนมาก ไหล ไปยังสาครคือทะเลใหญ่ ที่ขังน้ำใหญ่ ไม่มีประมาณ ประกอบด้วยสิ่งที่น่ากลัวมาก เป็นที่อยู่อาศัยแห่งรัตนะเป็น อันมาก ย่อมยังสาครให้เต็ม ฉันใด ท่อธารแห่งบุญย่อมยัง นรชนผู้เป็นบัณฑิต ผู้ให้ข้าวและน้ำ ให้เครื่องปูลาด ที่นอนและที่นั่ง ให้เต็มด้วยบุญ ฉันนั้น เหมือนอย่างแม่น้ำ คือห้วงน้ำยังสาครให้เต็มฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๑
ปุญญาภิสันทสูตรที่ ๒
[๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการนี้ นำความสุข มาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็น ไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ห้วงบุญ ห้วงกุศล ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็น ผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงสมบูรณ์ ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ชั้นเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้มีโชค ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๑ นี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็น วิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขอัน น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดี แล้ว อันผู้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๒ นี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวใน พระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้คือ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่น ยิ่งกว่า ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๓ นี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ ประกอบด้วยศีล อันพระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อสมาธิ ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๔ นี้ นำสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการนี้ แล นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดใน สวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ฯ ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลดีงาม อันพระอริยะเจ้าใคร่แล้ว สรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสใน พระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่า เพราะฉะนั้น ผู้มี ปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควร ประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมไว้ เนืองๆ เถิด ฯ
จบสูตรที่ ๒
สังวาสสูตรที่ ๑
[๕๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินหนทางไกลในระหว่าง เมืองมธุราและเมืองเวรัญชาต่อกัน คหบดีและคหปตานีมากด้วยกัน ก็เป็นผู้ ดำเนินหนทางไกล ในระหว่างเมืองมธุราและเมืองเวรัญชาต่อกัน ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะออกจากทาง ประทับนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง คหบดีและ คหปตานีเหล่านั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง จึงได้พากัน ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะคหบดีและคหปตานีเหล่านั้น ว่า ดูกรคหบดีและคหปตานีทั้งหลาย การอยู่ร่วม ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผี ๑ ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา ๑ ชายเทวดาอยู่ร่วม กับหญิงผี ๑ ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา ๑ ดูกรคหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ก็ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผีอย่างไร สามีในโลกนี้เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติ ผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม มีใจอันมลทินคือความตระหนี่ครอบงำ ด่าและบริภาษ สมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน แม้ภรรยาของเขาก็เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาท เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม มีใจอันมลทินคือความตระหนี่ครอบงำ ด่า และบริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน ดูกรคหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผีอย่างนี้แล ฯ ดูกรคหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ก็ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาอย่างไร สามีในโลกนี้เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ฯลฯ ด่าและบริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน ส่วนภรรยาของเขาเป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติ ผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาท มีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ ไม่ด่าไม่ บริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน ดูกรคหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ชายผี อยู่ร่วมกับหญิงเทวดาอย่างนี้แล ฯ ดูกรคหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผีอย่างไร สามีในโลกนี้เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ อยู่ครองเรือน ส่วนภรรยาของเขา เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ฯลฯ ด่าและบริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน ดูกรคหบดี และคหปตานีทั้งหลาย ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผีอย่างนี้แล ฯ ดูกรคหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา อย่างไร สามีในโลกนี้เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ไม่ด่าไม่บริภาษสมณ- *พราหมณ์ อยู่ครองเรือน แม้ภรรยาของเขาก็เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ไม่ด่าไม่บริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน ดูกรคหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาอย่างนี้แล ดูกรคหบดีและคหปตานีทั้งหลาย การ อยู่ร่วม ๔ ประการนี้แล ฯ ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้ทุศีล เป็นคนตระหนี่ มักด่าว่า สมณพราหมณ์ ชื่อว่าเป็นผีมาอยู่ร่วมกัน สามีเป็นผู้ทุศีล มีความตระหนี่ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ ส่วนภรรยาเป็นผู้มี ศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ภรรยา นั้นชื่อว่าเทวดาอยู่ร่วมกับสามีผี สามีเป็นผู้มีศีล รู้ความ ประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ส่วนภรรยาเป็นผู้ ทุศีล มีความตระหนี่ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ ชื่อว่าหญิงผี อยู่ร่วมกับสามีเทวดา ทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม ภรรยาและ สามีทั้งสองนั้น เจรจาถ้อยคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมี ความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุก ทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอ กัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ครั้นประพฤติธรรม ในโลกนี้แล้ว เป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวย กามารมณ์เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก ฯ
จบสูตรที่ ๓
สังวาสสูตรที่ ๒
[๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การอยู่ร่วม ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผี ๑ ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา ๑ ชายเทวดาอยู่ร่วม กับหญิงผี ๑ ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชายผีอยู่ ร่วมกับหญิงผีอย่างไร สามีในโลกนี้เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดใน กาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความละโมบ มีจิต พยาบาท มีความเห็นผิด เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม มีใจอันมลทิน คือความ ตระหนี่ครอบงำ ด่าและบริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน แม้ภรรยาของเขา ก็เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ฯลฯ อยู่ครองเรือน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชายผีอยู่ร่วมกับ หญิงผีอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาอย่างไร สามีในโลกนี้ เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ฯลฯ อยู่ครองเรือน ส่วนภรรยาของเขาเป็นผู้งดเว้นจากการ ฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการ พูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความละโมบ ไม่มี พยาบาท มีความเห็นชอบ มีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากมลทินคือความ ตระหนี่ ไม่ด่าไม่บริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชายผี อยู่ร่วมกับหญิงเทวดาอย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผีอย่างไร สามีในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ อยู่ครองเรือน ส่วนภรรยาของเขาเป็นผู้มัก ฆ่าสัตว์ ฯลฯ อยู่ครองเรือน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผี อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาอย่างไร สามีใน โลกนี้เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ อยู่ครองเรือน แม้ภรรยาของเขาก็เป็น ผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ อยู่ครองเรือน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชายเทวดาอยู่ ร่วมกับหญิงเทวดาอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย การอยู่ร่วม ๔ ประการนี้แล ฯ ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้ทุศีล เป็นคนตระหนี่ มักด่าว่า สมณพราหมณ์ ชื่อว่าเป็นผีมาอยู่ร่วมกัน สามีเป็นผู้ทุศีล มีความตระหนี่ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ ส่วนภรรยาเป็นผู้มี ศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ภรรยา นั้นชื่อว่าเทวดาอยู่ร่วมกับสามีผี สามีเป็นผู้มีศีล รู้ความ ประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ส่วนภรรยาเป็น ผู้ทุศีล มีความตระหนี่ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ ชื่อว่าหญิง ผีอยู่ร่วมกับสามีเทวดา ทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธารู้ความประสงค์ ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม ภรรยาและสามี ทั้งสองนั้น เจรจาถ้อยคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความ เจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุก ทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ครั้นประพฤติธรรมใน โลกนี้แล้ว เป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวย กามารมณ์เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก ฯ
จบสูตรที่ ๔
สมชีวิสูตรที่ ๑
[๕๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามฤคทายวัน ใกล้บ้านสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่ง แล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนกุลบิดาคฤหบดี แล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้งนั้นแล คฤหบดีผู้นกุลบิดาและคฤหปตานี ผู้นกุลมารดา เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว คฤหบดีผู้นกุลบิดาได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับแต่เวลาที่ตระกูลนำคฤหปตานีผู้นกุลมารดาซึ่งยังเป็น สาวมา เพื่อข้าพระองค์ผู้ยังเป็นหนุ่ม ข้าพระองค์มิได้รู้สึกจะประพฤตินอกใจ คฤหปตานีผู้นกุลมารดาแม้ด้วยใจเลย ที่ไหนจะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า ข้า พระองค์ทั้งสองปรารถนาพบกันและกันทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพ แม้คฤหป- *ตานีผู้นกุลมารดา ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับแต่ เวลาที่ตระกูลนำหม่อมฉันซึ่งยังเป็นสาวมา เพื่อคฤหบดีผู้นกุลบิดาซึ่งยังเป็นหนุ่ม หม่อมฉันมิได้รู้สึกจะประพฤตินอกใจคฤหบดีผู้นกุลบิดาแม้ด้วยใจเลย ที่ไหนจะ ประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า หม่อมฉันทั้งสองปรารถนาพบกันและกันทั้งใน ปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรคฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามี ทั้งสอง หวังจะพบกันและกันทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพไซร้ ทั้งสองเทียว พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ ฯ ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของ ผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาคำที่น่ารักแก่ กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุก ทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตร เสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจ อยู่ในเทวโลก ฯ
จบสูตรที่ ๕
สมชีวิสูตรที่ ๒
[๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภรรยาและสามี ทั้งสองพึงหวังพบกันและกันทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพ ทั้งสองเทียวพึง เป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ ฯ ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของ ผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาคำที่น่ารักแก่ กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุก ทั้ง สองฝ่ายมีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอ กัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ใน เทวโลก ฯ
จบสูตรที่ ๖
สุปปวาสสูตร
[๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนิคมของโกลิยราชสกุล ชื่อปัชชเนละ แคว้นโกฬิยะ ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของโกลิยธิดาชื่อสุปปวาสา ครั้นแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้งนั้นแล โกลิยธิดาชื่อสุปปวาสาได้อังคาส พระผู้มีพระภาคด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยมือของตน ให้อิ่มหนำ เพียงพอแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ นำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรนางสุปปวาสา อริยสาวิกาผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๔ แก่ปฏิคาหก ฐานะ ๔ เป็นไฉน คือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุ อันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะ อันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุข อันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้พละแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งพละอัน เป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ดูกรนางสุปปวาสา อริยสาวิกา เมื่อให้โภชนะ ชื่อว่า ย่อมให้ฐานะ ๔ ประการนี้แก่ปฏิคาหก ฯ อริยสาวิกา ย่อมให้โภชนะที่ปรุงแล้ว สะอาดประณีต สมบูรณ์ด้วยรส ทักษิณานั้นอันบุคคลให้แล้วในท่านผู้ดำเนิน ไปตรง ผู้ประกอบด้วยจรณะ ผู้ถึงความเป็นใหญ่ สืบต่อ บุญกับบุญ เป็นทักษิณามีผลมาก อันพระพุทธเจ้าผู้รู้แจ้งโลก สรรเสริญแล้ว ชนเหล่าใดเมื่อระลึกถึงยัญเช่นนั้น ย่อม เป็นผู้มีความโสมนัสเที่ยวไปในโลก กำจัดมลทินคือความ ตระหนี่พร้อมทั้งรากเหง้าออกแล้ว ชนเหล่านั้นไม่ถูกนินทา ย่อมเข้าถึงฐานะคือสวรรค์ ฯ
จบสูตรที่ ๗
สุทัตตสูตร
[๕๘] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่- *ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๔ ประการ แก่ปฏิคาหก ฐานะ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ครั้นให้อายุแล้วย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้ วรรณะแล้ว ... ครั้นให้สุขแล้ว ... ครั้นให้พละแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่ง พละอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ดูกรคฤหบดี อริยสาวกเมื่อให้โภชนะ ชื่อว่า ย่อมให้ฐานะ ๔ ประการนี้แก่ปฏิคาหก ฯ ผู้ใดย่อมให้โภชนะโดยเคารพ ตามกาลอันควร แก่ท่านผู้ สำรวม บริโภคโภชนะที่ผู้อื่นให้เป็นอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าให้ฐานะ ทั้ง ๔ คือ อายุ วรรณะ สุขะ และพละ นรชนผู้มีปรกติ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มีบริวารยศ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๘
โภชนสูตร
[๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๔ ประการแก่ปฏิคาหก ๔ ประการเป็นไฉน คือให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้น ให้วรรณะแล้ว ... ครั้นให้สุขะแล้ว ... ครั้นให้พละแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วน แห่งพละอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๔ ประการนี้แก่ปฏิคาหก ฯ ผู้ใดย่อมให้โภชนะ ตามกาล อันควร โดยเคารพ แก่ปฏิคาหก ผู้สำรวมแล้ว ผู้บริโภคโภชนะที่ผู้อื่นให้เป็นอยู่ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมให้ฐานะ ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ และพละ นรชนผู้มีปรกติให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเป็นผู้ มีอายุยืน มีบริวารยศ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๙
คิหิสามีจิสูตร
[๖๐] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ ปฏิบัติปฏิปทาสมควรแก่คฤหัสถ์อันเป็นเหตุให้ได้ยศ และเป็นไปเพื่อเกิดใน สวรรค์ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้บำรุง ภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร ๑ ด้วยบิณฑบาต ๑ ด้วยเสนาสนะ ๑ ด้วยเภสัชบริขารอัน เป็นปัจจัยแก่คนไข้ ๑ ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันสมควรแก่คฤหัสถ์ อันเป็นเหตุให้ได้ยศ และเป็นไป เพื่อสวรรค์ ฯ บัณฑิตทั้งหลายบำรุงท่านผู้มีศีล ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ด้วย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ ชื่อว่าย่อมปฏิบัติปฏิปทาสมควรแก่คฤหัสถ์ บุญย่อมเจริญ แก่เขาทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน เขาทำกรรมอัน เจริญแล้ว ย่อมเขาถึงฐานะคือสวรรค์ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบปุญญาภิสันทวรรคที่ ๑
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปุญญาภิสันทสูตรที่ ๑ ๒. ปุญญาภิสันทสูตรที่ ๒ ๓. สังวาส สูตรที่ ๑ ๔. สังวาสสูตรที่ ๒ ๕. สมชีวิสูตรที่ ๑ ๖. สมชีวิสูตรที่ ๒ ๗. สุปปวาสาสูตร ๘. สุทัตตสูตร ๙. โภชนสูตร ๑๐. คิหิสามีจิสูตร ฯ
-----------------------------------------------------
ปัตตกรรมวรรคที่ ๒
ปัตตกรรมสูตร
[๖๑] ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มี พระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่า พอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ขอโภคะจงเกิดขึ้นแก่ เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ขอยศจงเฟื่องฟูแก่เรา พร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อม ด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว ขอเราจงเป็นอยู่นาน จงรักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็น ธรรมประการที่ ๓ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก เราได้ โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่ นาน รักษาอายุให้ยั่งยืนแล้ว เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้ เป็นธรรมประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ดูกรคฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้แล น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยาก ในโลก ฯ ดูกรคฤหบดี ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรม ๔ ประการ นี้ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือ สัทธาสัมปทา ๑ สีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑ ดูกรคฤหบดี ก็สัทธาสัมปทาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัย ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรคฤหบดี นี้เรียกว่าสัทธาสัมปทา ก็สีลสัมปทาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจ ปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดี ในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือน นี้เรียกว่าจาคสัมปทา ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน บุคคลมีใจอันความโลภไม่สม่ำ- *เสมอ คือ อภิชฌาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำอยู่ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข บุคคลมีใจอันพยาบาทครอบงำ ... อันถีนมิทธะครอบงำ ... อันอุทธัจจกุกกุจจะ ครอบงำ ... อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข ดูกรคฤหบดี อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า อภิชฌาวิสม- *โลภะเป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสของจิตเสียได้ รู้ว่า พยาบาท ... ถีนมิทธะ ... อุทธัจจกุกกุจจะ ... วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสของ จิต ย่อมละวิจิกิจฉาอันเป็นอุปกิเลสของจิต ดูกรคฤหบดี เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะเป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้ เมื่อใด อริยสาวกรู้ว่าพยาบาท ... ถีนมิทธะ ... อุทธัจจกุกกุจจะ ... วิจิกิจฉา เป็น อุปกิเลสของจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้น ย่อมละเสียได้ อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็น ผู้มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้เห็นทาง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา นี้ เรียกว่า ปัญญาสัมปทา ดูกรคฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ ได้ธรรม ๔ ประการนี้แล อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ฯ ดูกรคฤหบดี อริยสาวกนี้แล ย่อมเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลัง แขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรมได้มาแล้วโดยธรรม กรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ เลี้ยงมารดา บิดา ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้ เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวารให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่น เพียร ฯลฯ นี้เป็นฐานะข้อที่ ๑ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่ เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมป้องกันอันตราย ทั้งหลายที่เกิดแต่ไฟ แต่น้ำ แต่พระราชา แต่โจร หรือแต่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วย กำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม กระทำตน ให้สวัสดี นี้เป็นฐานะข้อที่ ๒ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่ เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ทำพลี ๕ ประการ คือ ญาติพลี อติถิพลี ปุพพเปตพลี ราชพลี เทวตาพลี ด้วยโภคทรัพย์ที่ตน หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะข้อที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงแล้วโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อ เกิดในสวรรค์ ให้ตั้งไว้เฉพาะในสมณพราหมณ์ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนตนผู้เดียว ยังตนผู้เดียวให้สงบ ยังตนผู้เดียว ให้ดับกิเลส เห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรมได้มาโดยธรรม นี้เป็น ฐานะข้อที่ ๔ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้ว โดยควร ดูกรคฤหบดี อริยสาวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการ นี้ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม ดูกรคฤหบดี โภคทรัพย์ ของใครๆ ถึงความสิ้นไป นอกจากกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่า สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ สิ้นเปลืองไปโดยไม่สมควร ใช้สอยโดยไม่สมควรแก่เหตุ ส่วนโภคทรัพย์ของใครๆ ถึงความสิ้นไปด้วยกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เรา เรียกว่า สิ้นเปลืองไปโดยเหตุอันควร สิ้นเปลืองไปโดยสถานที่ควร ใช้สอย โดยสมควรแก่เหตุ โภคทรัพย์ทั้งหลายเราได้บริโภคแล้ว คนที่ควรเลี้ยง เราได้ เลี้ยงแล้ว เราได้ข้ามพ้นอันตรายทั้งหลายไปแล้ว ทักษิณามี ผลอันเลิศ เราได้ให้แล้ว อนึ่ง พลีกรรม ๕ ประการ เรา ได้กระทำแล้ว ท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ เราได้บำรุงแล้ว บัณฑิตอยู่ครอบครองเรือน พึงปรารถนา โภคทรัพย์ เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้ว โดยลำดับ กรรมที่ไม่เดือดร้อนในภายหลังเราได้กระทำแล้ว นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ เมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ เป็นผู้ตั้ง อยู่แล้วในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญ เขาในโลกนี้ทีเดียว ครั้นเขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงใน โลกสวรรค์ ฯ
จบสูตรที่ ๑
อันนนาถสูตร
[๖๒] ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้ อันคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามพึงได้รับตาม กาลตามสมัย สุข ๔ ประการเป็นไฉน คือ สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ๑ สุขเกิด แต่การจ่ายทรัพย์บริโภค ๑ สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ ๑ สุขเกิดแต่ประกอบ การงานที่ปราศจากโทษ ๑ ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์เป็นไฉน โภคทรัพย์ของกุลบุตรในโลกนี้ เป็นของที่เขาหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมของ เรามีอยู่ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การจ่าย ทรัพย์บริโภคเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำ บุญทั้งหลาย ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วย กำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม เขาย่อมได้รับ ความสุขโสมนัสว่า เราย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลายด้วย โภคทรัพย์ ฯลฯ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้เป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมไม่เป็นหนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราไม่เป็น หนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความไม่ เป็นหนี้ ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อัน หาโทษมิได้ เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจาก โทษ ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้แล อันคฤหบดีผู้บริโภคกามพึงได้รับตาม กาลตามสมัย ฯ นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ รู้ความไม่เป็นหนี้ว่าเป็นสุขแล้ว พึงระลึกถึงสุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ เมื่อใช้สอยโภคะเป็นสุข อยู่ ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญา ผู้มีเมธาดี เมื่อเห็นแจ้ง ย่อมรู้ ส่วนทั้ง ๒ ว่า สุขแม้ทั้ง ๓ อย่างนี้ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อัน จำแนกแล้ว ๑๖ ครั้ง ของสุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ ปราศจากโทษ ฯ
จบสูตรที่ ๒
สพรหมสูตร
[๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของ ตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้น ชื่อว่ามีพรหม มารดา และบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูล เหล่านั้นชื่อว่ามีบุรพาจารย์ มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูล เหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้น ชื่อว่ามีอาหุเนยยบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมบุรพาจารย์ บุรพเทพ อาหุเนยยบุคคล นี้เป็นชื่อของมารดาและบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดา และบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ประคบประหงมเลี้ยงดูบุตร เป็นผู้แสดงโลกนี้ แก่บุตร ฯ มารดาและบิดาผู้อนุเคราะห์แก่บุตร ท่านเรียกว่า พรหม บุรพาจารย์ และอาหุเนยยบุคคลของบุตรทั้งหลาย เพราะ เหตุนั้นแหละ บุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงนอบน้อม พึงสักการะ ท่านด้วยข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่ง อบกาย ให้อาบน้ำ และชำระเท้า เพราะเหตุที่บุตรผู้เป็นบัณฑิตได้บำรุงบำเรอใน มารดาและบิดา บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขา ครั้นเขา ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์ ฯ
จบสูตรที่ ๓
นิรยสูตร
[๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อม เกิดในนรก เหมือนถูกนำมาโยนลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้มัก ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนำมา โยนลง ฯ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การคบหาภรรยาของผู้อื่น การ พูดเท็จ เรากล่าวว่า เป็นกรรมกิเลส บัณฑิตทั้งหลายย่อม ไม่สรรเสริญเลย ฯ
จบสูตรที่ ๔
รูปสูตร
[๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวก เป็นไฉนคือ ผู้ถือประมาณในรูป เลื่อมใสในรูป ๑ ผู้ถือประมาณในเสียง เลื่อม ใสในเสียง ๑ ผู้ถือประมาณในความเศร้าหมอง เลื่อมใสในความเศร้าหมอง ๑ ผู้ถือประมาณในธรรม เลื่อมใสในธรรม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวก นี้แล มีปรากฏอยู่ในโลกนี้ ฯ ก็ชนเหล่าใด ถือประมาณในรูป และชนเหล่าใด คล้อยไป ตามเสียง ชนเหล่านั้น เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของฉันทราคะ ย่อมไม่รู้จักชนนั้น คือ ย่อมไม่รู้คุณภายในของเขา และ ไม่เห็นข้อปฏิบัติภายนอกของเขา บุคคลนั้นแล เป็นคน เขลา ถูกห้อมล้อมไว้โดยรอบ อันเสียงย่อมพัดไป อนึ่ง บุคคลไม่รู้คุณภายใน และไม่เห็นข้อปฏิบัติภายนอกของเขา แม้บุคคลนั้นเห็นผลในภายนอก ก็ยังถูกเสียงพัดไป ส่วน บุคคลรู้ทั่วถึงคุณภายในของเขา และเห็นแจ้งข้อปฏิบัติภาย นอกของเขา บุคคลนั้นเป็นผู้เห็นธรรมอันปราศจากเครื่องกั้น ย่อมไม่ถูกเสียงพัดไป ฯ
จบสูตรที่ ๕
สราคสูตร
[๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลผู้มีราคะ ๑ มีโทสะ ๑ มีโมหะ ๑ มีมานะ ๑ บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ ชนทั้งหลาย กำหนัดนักในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพลิดเพลินในรูปที่น่ารัก เป็นสัตว์เลวทราม อันโมหะผูกไว้ ย่อมยังเครื่องผูกให้เจริญ เป็นผู้ไม่ฉลาด ย่อมกระทำอกุศล กรรมอันเกิดแต่ราคะบ้าง เกิดแต่โทสะบ้าง เกิดแต่โมหะบ้าง มีความคับแค้น ให้ทุกข์ต่อไป สัตว์ทั้งหลายอันอวิชชาหุ้ม ห่อแล้ว เป็นผู้มืดมน ไม่มีจักษุ พวกเขาย่อมไม่สำคัญ ว่าเราเป็นผู้มีสภาพเหมือนธรรม ๓ ทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๖
อหิสูตร
[๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุ รูปหนึ่งในกรุงสาวัตถีถูกงูกัด ทำกาละแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากพากัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งใน เมืองสาวัตถีนี้ถูกงูกัด ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่ เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ตระกูลพญางู ๔ เป็นไฉน คือ ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักขะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ ๑ ตระกูล พญางูชื่อฉัพยาปุตตะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางู ๔ จำพวกนี้เป็นแน่ ก็ถ้าเธอ พึงแผ่เมตตาไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางู ๔ จำพวกนี้ เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน ฯ ความเป็นมิตร ของเรา จงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อวิรูปักขะ ความเป็นมิตรของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อเอราปถะ ความเป็นมิตร ของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อฉัพยา- ปุตตะ ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสกุลพญางูทั้งหลายชื่อ กัณหาโคตมกะ ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่ ไม่มีเท้า ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก ๒ เท้า ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก ๔ เท้า ความเป็น มิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวกมีเท้ามาก สัตว์ไม่มีเท้าอย่า เบียดเบียนเรา สัตว์ ๒ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์ ๔ เท้า อย่าเบียดเบียนเรา สัตว์มีเท้ามากอย่าเบียดเบียนเรา ขอ สรรพสัตว์ทั้งปวงที่มีลมปราณ มีชีวิตเป็นอยู่ จงได้พบ เห็นความเจริญเถิด อย่าได้มาถึงโทษอันลามกน้อยหนึ่งเลย ฯ พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีคุณหาประมาณมิได้ พระสงฆ์มีคุณหาประมาณมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง จะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนู ล้วนมีประมาณ ความรักษาอันเรากระทำแล้ว ความป้องกันอันเรากระทำแล้ว ขอหมู่สัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย เรานั้น กำลังนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอยู่ กำลังนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์อยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๗
เทวทัตตสูตร
[๖๘] สมัยหนึ่ง เมื่อพระเทวทัตต์หลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภพระเทวทัตต์ ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ต้นกล้วยย่อมเผล็ดผลเพื่อฆ่าตน เมื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้ไผ่ย่อมตกขุยเพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้อ้อย่อมผลิดอกเพื่อฆ่า ตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่ พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่ม้าอัสดรย่อมตั้งครรภ์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ก็ฉันนั้น เหมือนกันแล ฯ ผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ดอกอ้อ ย่อมฆ่าต้นอ้อ ลูกม้าอัสดรย่อมฆ่าแม่ม้าอัสดร ฉันใด สักการะย่อมฆ่าบุรุษชั่ว ฉันนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๘
ปธานสูตร
[๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปธานคือความเพียร ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สังวรปธาน ๑ ปหานปธาน ๑ ภาวนาปธาน ๑ อนุรักขนาปธาน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สังวรปธานเป็นไฉน ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อให้อกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า สังวรปธาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปหานธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อละอกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า ปหานปธาน ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็ภาวนาปธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อให้กุศลกรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า ภาวนาปธาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนุรักขนาปธานเป็น ไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อความดำรงอยู่ เพื่อไม่หลงลืม เพื่อความเจริญยิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์ เพื่อเพิ่มพูน เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปธานคือความเพียร ๔ ประการ นี้แล ฯ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้มีความเพียร พึงถึงความสิ้นทุกข์ได้ด้วย ปธานเหล่าใด ปธาน ๔ ประการเหล่านี้ คือ สังวรปธาน ๑ ปหานปธาน ๑ ภาวนาปธาน ๑ อนุรักขนาปธาน ๑ อัน พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดง ไว้แล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๙
ธรรมิกสูตร
[๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พวกข้าราชการ ก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้ง อยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อ พราหมณ์และคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบท ก็ เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์ และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุน เวียนไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อคืนและวัน หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำ เสมอเมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไม่สม่ำเสมอ เมื่อลมพัดไม่ สม่ำเสมอ ลมก็เดินผิดทางไม่สม่ำเสมอ ย่อมพัดเวียนไป เมื่อลมเดินผิดทางไม่สม่ำ เสมอพัดเวียนไป เทวดาย่อมกำเริบ เมื่อเทวดากำเริบฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกไม่เสมอกัน ย่อมเป็นผู้มีอายุน้อย มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีอาพาธมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ข้าราชการก็ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อข้าราชการตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และ คฤหบดีตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบท ก็ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระ อาทิตย์ก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนสม่ำ เสมอกัน หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรหมุนเวียน สม่ำเสมอ คืนและวันก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันย่อมหมุนเวียน สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอกัน เมื่อ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนสม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไปสม่ำ เสมอ เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไปสม่ำเสมอกัน ลมย่อมพัดสม่ำเสมอ เมื่อลม พัดสม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไปถูกทาง เมื่อลมพัดไปถูกทาง เทวดาย่อม ไม่กำเริบ เมื่อเทวดาไม่กำเริบ ฝนย่อมตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝน ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าก็สุกเสมอกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าว กล้าที่สุกเสมอกัน ย่อมมีอายุยืน มีผิวพรรณดี มีกำลัง และมีอาพาธน้อย ฯ เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปคด โคเหล่านั้นย่อม ไปคดทั้งหมด ในเมื่อโคผู้นำไปคด ในมนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม ประชาชนนอกนี้ก็จะประพฤติอธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้น ทั้งหมดจะได้ประสบความทุกข์ ถ้าพระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ ในธรรม เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปตรง โคเหล่า นั้นย่อมไปตรงทั้งหมด ในเมื่อโคผู้นำไปตรง ในหมู่มนุษย์ ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติ ธรรม ประชาชนนอกนี้ย่อมประพฤติธรรมเหมือนกัน แว่น แคว้นทั้งหมดย่อมได้ประสบความสุข ถ้าพระราชาเป็นผู้ ตั้งอยู่ในธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบปัตตกรรมวรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปัตตกรรมสูตร ๒. อันนนาถสูตร ๓. สพรหมกสูตร ๔. นิรยสูตร ๕. รูปสูตร ๖. สราคสูตร ๗. อหิสูตร ๘. เทว- *ทัตตสูตร ๙. ปธานสูตร ๑๐. ธรรมิกสูตร ฯ
-----------------------------------------------------
อปัณณกวรรคที่ ๓
ปธานสูตร
[๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อม เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันไม่ผิด และเป็นอันปรารภเหตุ เพื่อความสิ้นอาสวะ ทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็น พหูสูต ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันไม่ผิด และเป็นปรารภเหตุเพื่อ ความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๑
ทิฏฐิสูตร
[๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้ ปฏิบัติปฏิปทาอันไม่ผิด และเป็นอันปรารภเหตุ เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เนกขัมมวิตก ๑ อพยาบาทวิตก ๑ อวิหิงสา วิตก ๑ สัมมาทิฏฐิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ นี้แล เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันไม่ผิด และเป็นอันปรารภเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะ ทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๒
สัปปุริสสูตร
[๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึง ทราบว่าเป็นอสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อ ถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความ เสียหายของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่าท่านผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของ ผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวสรรเสริญคุณผู้อื่นโดยย่อ ไม่เต็มที่ ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความเสีย หายของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดย ตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของ ตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามแล้วก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อม ค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่า เป็นอสัตบุรุษ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่า เป็นสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่ เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถาม เข้า ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวความเสียหายของผู้ อื่นโดยย่อไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลก แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่ หน่วงเหนี่ยว กล่าวความดีของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึง ทราบว่าท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหาย ของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่ อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึง ทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นสัตบุรุษ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย หญิงสะใภ้ที่ถูกนำมาคืนหนึ่งหรือวันหนึ่งเท่านั้น นาง ตั้งหิริและโอตตัปปะได้อย่างแรงกล้าในแม่ผัว พ่อผัว และผัว โดยที่สุดใน คนรับใช้และคนทำงาน สมัยต่อมา นางอาศัยอยู่คุ้นเคย จึงกล่าวกะแม่ผัว บ้าง พ่อผัวบ้าง และผัวบ้าง อย่างนี้ว่า จงหลีกไป ก็พวกท่านรู้อะไร ดังนี้ ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพียงออกบวชได้วันหนึ่ง หรือคืนหนึ่งเท่านั้น เธอตั้งหิริและโอตตัปปะไว้อย่างแรงกล้า ในพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาทั้งหลาย โดยที่สุดในคนวัดและสามเณร สมัยต่อมา เธออาศัยความอยู่ร่วม จึงกล่าวกะอาจารย์บ้าง กะอุปัชฌาย์บ้าง อย่างนี้ว่า จงหลีก ไปก็พวกท่านรู้อะไร ดังนี้ เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้ว่า เราจักมีใจเสมือนหญิงสะใภ้ซึ่งมาใหม่อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอ ทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๓
อัคคสูตรที่ ๑
[๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเลิศ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ศีลอันเลิศ ๑ สมาธิอันเลิศ ๑ ปัญญาอันเลิศ ๑ วิมุตติอันเลิศ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเลิศ ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๔
อัคคสูตรที่ ๒
[๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเลิศอีก ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็น ไฉน คือ รูปอันเลิศ ๑ เวทนาอันเลิศ ๑ สัญญาอันเลิศ ๑ ภพอันเลิศ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเลิศอีก ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๑๐๐๙-๒๑๓๘. หน้าที่ ๔๓ - ๙๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=1009&Z=2138&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย[เลขข้อ] เป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=21&item=36&items=40&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=21&siri=36              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=36              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=21&item=36&items=40              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=21&item=36&items=40              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_21

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]