ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
ปลาตัวเล็กไม่ ดังนี้ ฉันใด บุคคลสนทนาอยู่กับบุคคลก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม
รู้อย่างนี้ว่า ความลึกซึ้งของท่านผู้นี้เพียงไร ฯลฯ ท่านผู้นี้มีปัญญา หาใช่เป็นผู้มี
ปัญญาทรามไม่ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการ
สนทนา...คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แล อันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔ นี้ ฯ
             [๑๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่า
มหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล ภัททิยลิจฉวีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า พระ-
*สมณโคดมทรงมีมายา ย่อมทรงรู้มายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้
มานับถือ พวกเขาเหล่านั้นพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทรงมีมายา ย่อม
ทรงรู้มายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ คนเหล่านั้นเป็นอันกล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแลหรือ ไม่ได้กล่าวตู่
พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่เป็นจริง ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และการ
คล้อยตาม วาทะอันชอบแก่เหตุไรๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะอันควรติเตียนแลหรือ
แท้จริง ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภัททิยะ ท่านจงมาเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยสืบต่อ
กันมา อย่าได้ถือโดยตื่นข่าว อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยนึกเดาเอาเอง อย่าได้
ถือโดยคาดคะเน อย่าได้ถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าถูกกับลัทธิของตน 
อย่าได้ถือโดยเห็นว่าผู้พูดเป็นคนควรเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าสมณะเป็นครูของเรา
ดูกรภัททิยะ เมื่อใด ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ
ธรรมเหล่านี้อันวิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไป
เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสียเถิด ดูกรภัททิยะ ท่านจะ
พึงสำคัญความความข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภเมื่อเกิดขึ้น ภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
ประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ฯ
             ภัท. เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้โลภมาก ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อม
ฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
หรือ ฯ
             ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โทสะ ... โมหะ ...
การแข่งดี เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่
ประโยชน์ ฯ
             ภัท. เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ บุคคลผู้แข่งดี ถูกความแข่งดีครอบงำย่ำยีจิต ย่อม
ฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็น
อย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานหรือ ฯ
             ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็น
กุศลหรือเป็นอกุศล ฯ
             ภัท. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า ฯ
             พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ
             ภัท. มีโทษ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. วิญญูชนติเตียนหรือวิญญูชนสรรเสริญ ฯ
             ภัท. วิญญูชนติเตียน พระเจ้าข้า ฯ
             พ. บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อ
ทุกข์ หรือมิใช่ หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้ ฯ
             ภัท. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้
พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ เราได้กล่าวคำใดกะท่านว่า ท่านทั้งหลายอย่าถือโดย
ฟังตามกันมา...เมื่อใด ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล...ท่าน
ทั้งหลายควรละเสียเถิด ดังนี้ คำนั้นเรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ดูกรภัททิยะ ท่าน
ทั้งหลายอย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา...เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ ธรรม
เหล่านี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น
ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่เถิด ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อ
นั้นเป็นไฉน ความไม่โลภเมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
ประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ฯ
             ภัท. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่โลภนี้ ไม่ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต
ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ และชักชวนผู้อื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน
หรือ ฯ
             ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โกรธ...
ความไม่หลง...ความไม่แข่งดี เกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ฯ
             ภัท. เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่แข่งดีนี้ ไม่ถูกความแข่งดีครอบงำย่ำยีจิต
ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ และชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็น
อย่างนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนานหรือ ฯ
             ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็น
กุศล หรือเป็นอกุศล ฯ
             ภัท. เป็นกุศล พระเจ้าข้า ฯ
             พ. มีโทษหรือหาโทษมิได้ ฯ
             ภัท. หาโทษมิได้ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. วิญญูชนติเตียนหรือสรรเสริญ ฯ
             ภัท. วิญญูชนสรรเสริญ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขหรือมิใช่ หรือท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้ ฯ
             ภัท. ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้ พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ เราได้กล่าวคำใดกะท่านว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด
ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือฟังตามกันมา...ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่เถิด
ดังนี้ คำนั้นเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ดูกรภัททิยะ คนเหล่าใดเป็นคนสงบ เป็น
สัตบุรุษคนเหล่านั้นย่อมชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมา จงปราบ
ปรามความโลภเสียเถิด เมื่อปราบปรามความโลภได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิด
แต่ความโลภด้วยกายวาจาใจ จงปราบปรามความโกรธเสียเถิด เมื่อท่านปราบปราม
ความโกรธได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความโกรธด้วยกาย วาจา ใจ จงปราบ
ปรามความหลงเสียเถิด เมื่อปราบปรามความหลงได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิด
แต่ความหลงด้วยกาย วาจา ใจ จงปราบปรามความแข่งดีเสียเถิด เมื่อปราบปราม
ความแข่งดีได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความแข่งดีด้วยกาย วาจา ใจ ฯ
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภัททิยลิจฉวีได้กราบทูลพระผู้มี-
*พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอ
พระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไป ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ ก็เราได้กล่าวชักชวนท่านอย่างนี้ว่า ดูกรภัททิยะ
ขอท่านจงมาเป็นสาวกของเราเถิด เราจักเป็นศาสดาของท่าน ดังนี้หรือ ฯ
             ภัท. มิใช่เช่นนั้น พระเจ้าข้า ฯ
             พ. ดูกรภัททิยะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่เราผู้มีปรกติกล่าวอย่างนี้
มีปรกติบอกอย่างนี้ ด้วยคำอันไม่แน่นอน เป็นคำเปล่า คำเท็จ คำไม่จริง ว่า
พระสมณโคดมมีมายา รู้จักมายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มา
นับถือ ฯ
             ภัท. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มายาเครื่องกลับใจนี้ดีนัก งามนัก ถ้าญาติ
สาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์ พึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิด
นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่บรรดาญาติสาโลหิตอัน
เป็นที่รักของข้าพระองค์ ตลอดกาลนาน ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจมาด้วย
มายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่กษัตริย์
ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าพราหมณ์ทั้งปวง...แพศย์...ศูทร์ทั้งปวงจะพึงกลับ
ใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อสุข แก่ศูทร์แม้ทั้งปวงตลอดกาลนาน ฯ
             ดูกรภัททิยะ คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนั้นๆ ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงพึง
ทรงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่กษัตริย์ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าแม้พราหมณ์...
แพศย์...ศูทร์พึงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็พึง
เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่ศูทร์ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าแม้โลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ พึงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็พึงเป็นไป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ตลอดกาลนาน ดูกรภัททิยะ
ถ้าแม้พวกมหาศาลเหล่านี้ จะพึงกลับใจมาด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ เพื่อละอกุศล
ธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
แก่พวกมหาศาลเหล่านี้ตลอดกาลนาน ถ้ามหาศาลเหล่านี้พึงตั้งใจ จะป่วยกล่าว
ไปไยถึงผู้ที่เป็นมนุษย์เล่า ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๕๑๑๕-๕๒๔๑. หน้าที่ ๒๑๙ - ๒๒๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=5115&Z=5241&pagebreak=0              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย[เลขข้อ] เป็นเกณฑ์แบ่งข้อ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=21&item=193&items=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=21&siri=136              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=191              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item.php?book=21&item=193&items=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item.php?book=21&item=193&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_21

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]