ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๓. อานันทเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระอานันทเถระ
[๓๙๗] บัณฑิต ไม่ควรทำตนให้เป็นมิตรสหายกับคนที่ชอบส่อเสียด มักโกรธ ตระหนี่ และผู้ปรารถนาให้ผู้อื่นพินาศ เพราะการสมาคมกับคนชั่ว เป็นความลามก แต่บัณฑิตควรทำตนให้เป็นมิตรสหายกับคนผู้มีศรัทธา มีศีลน่ารัก มีปัญญา และเป็นคนได้สดับเล่าเรียนมามาก เพราะการ สมาคมกับคนดี ย่อมมีแต่ความเจริญอย่างเดียว เชิญดูร่างกายอันมี กระดูก ๓๐๐ ท่อน ซึ่งมีเอ็นใหญ่น้อยผูกขึ้นเป็นโครงตั้งไว้ อันบุญกรรม ตบแต่งให้วิจิตร มีแผลทั่วทุกแห่ง กระสับกระส่าย คนโง่เขลาพากัน ดำริเป็นอันมาก ไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น พระอานนทเถระผู้โคตมโคตร เป็นผู้ได้สดับมามาก มีถ้อยคำไพเราะ เป็นผู้อุปฐากพระพุทธเจ้า ปลงภาระลงแล้ว บรรลุอรหัต สำเร็จการนอน พระอานนทเถระสิ้นอาสวะ แล้ว ปราศจากกิเลสเครื่องเกาะเกี่ยวแล้ว ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง แล้ว ดับสนิท ถึงฝั่งแห่งชาติและชรา ทรงไว้แต่ร่างกายอันมีในที่สุด ธรรมทั้งหลายของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ตั้งอยู่แล้ว ในบุคคลใด บุคคลนั้น คือ พระอานนทเถระผู้โคตมะ ชื่อว่าย่อมตั้งอยู่ ในมรรคเป็นทางไปสู่นิพพาน พระอานนทเถระได้เรียนธรรมจาก พระพุทธเจ้ามา ๘๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ได้เรียนมาจากสำนักภิกษุมีพระธรรม เสนาบดีเป็นต้น ๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จึงรวมเป็นที่คล่องปากขึ้นใจ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ คนที่เป็นชายมีการศึกษาเล่าเรียนมาน้อย ย่อม แก่เปล่า เหมือนกับโคที่มีกำลังแต่เขาไม่ได้ใช้งาน ฉะนั้น เนื้อย่อม เจริญแก่เขา ปัญญาไม่เจริญแก่เขา ผู้ใดเล่าเรียนมามาก ดูหมิ่นผู้ที่ ศึกษาเล่าเรียนมาน้อยด้วยการสดับ แต่เขาไม่ได้ปฏิบัติตามที่เล่าเรียนมา ย่อมปรากฏแก่เรา เหมือนคนตาบอดถือดวงไฟไป ฉะนั้น บุคคลควร เข้าไปนั่งใกล้ผู้ที่ศึกษามามาก แต่ไม่ควรทำสุตะที่ตนได้มาให้พินาศ เพราะสุตะที่ตนได้มานั้น เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ทรงธรรม บุคคลผู้รู้อักษรทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย รู้อรรถ แห่งภาษิต ฉลาดในนิรุติและบท ย่อมเล่าเรียนธรรมให้เป็นการเล่าเรียนดี และพิจารณาเนื้อความ เป็นผู้กระทำความพอใจ ด้วยความอดทน พยายามพิจารณา ตั้งความเพียรในเวลาพยายาม มีจิตตั้งมั่นด้วยดี ในภายใน บุคคลควรคบหาท่านผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีปัญญา เป็น สาวกของพระพุทธเจ้า หวังการรู้แจ้งธรรมเช่นนั้นเถิด บุคคลผู้เป็น พหูสูต ทรงธรรม เป็นผู้รักษาคลังพระธรรมแห่งพระพุทธเจ้า ผู้ทรง แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของโลกทั่วไป ผู้ที่เป็นพหูสูตนั้น เป็นผู้อันมหาชนควรบูชา ภิกษุมีธรรมเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในธรรม ค้นคว้าธรรม ระลึกถึงธรรม ย่อมไม่เสื่อมไปจากสัทธรรม เมื่อกายและ ชีวิตของตนเสื่อมไป ภิกษุผู้หนักในความตระหนี่กาย ติดอยู่ด้วยความ สุขทางร่างกาย ไม่ขวนขวายบำเพ็ญเพียร ความผาสุกทางสมณะจักมี แต่ที่ไหน ทิศทั้งหมดไม่ปรากฏ ธรรมทั้งหลายไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ในเมื่อท่านธรรมเสนาบดีผู้เป็นกัลยาณมิตร นิพพานแล้ว โลกทั้งหมด นี้ปรากฏเหมือนความมืดมน กายคตาสติย่อมนำมาซึ่งประโยชน์โดย ส่วนเดียว ฉันใด กัลยาณมิตรเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้มีสหาย ล่วงลับไปแล้ว มีพระศาสดานิพพานไปแล้ว ฉันนั้น มิตรเก่าพากัน ล่วงลับไปแล้ว จิตของเราไม่สมาคมด้วยมิตรใหม่ วันนี้เราจะเพ่งฌาน อยู่ผู้เดียว เหมือนกับนกที่อยู่ในรังในฤดูฝน ฉะนั้น. พระผู้มีพระภาคตรัสกะพระอานนท์ด้วยพระคาถา ๑ พระคาถา ความว่า เธออย่าห้ามประชาชนเป็นอันมาก ที่พากันมาแต่ต่างประเทศ ในเมื่อ ล่วงเวลาเทศนาเลย เพราะประชุมชนเหล่านั้นเป็นผู้มุ่งจะฟังธรรม จงเข้ามาหาเราได้ เวลานี้เป็นเวลาที่จะเห็นเรา. พระอานนทเถระจึงกล่าวเป็นคาถาต่อไปว่า พระศาสดาผู้มีพระจักษุ ทรงประทานโอกาสให้ประชุมชนที่พากันมาแต่ ต่างประเทศ ในเมื่อล่วงเวลาเทศนา ไม่ทรงห้าม เมื่อเรายังเป็นพระเสข- บุคคลอยู่ ๒๕ ปี กามสัญญาไม่เกิดขึ้นเลย เชิญดูความที่ธรรมเป็นธรรมดี เมื่อเรายังเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี โทสสัญญาไม่เกิดขึ้นเลย เชิญดู ความที่ธรรมเป็นธรรมดี เราได้อุปฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตากายกรรม เหมือนพระฉายาติดตามพระองค์อยู่ ๒๕ ปี เราอุปฐากพระผู้มีพระภาค ด้วยเมตตาวจีกรรม เหมือนพระฉายาติดตามพระองค์อยู่ ๒๕ ปี เรา อุปฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตามโนกรรม เหมือนพระฉายาติดตาม พระองค์อยู่ ๒๕ ปี เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดำเนินไป เราก็ได้เดินตาม ไปเบื้องพระปฤษฎางค์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ฌานเกิดขึ้นแก่เรา เราเป็นผู้มีกิจที่จะต้องทำ ยังเป็นพระเสขะ ยังไม่ บรรลุอรหัต พระศาสดาพระองค์ใดเป็นผู้ทรงอนุเคราะห์เรา พระศาสดา พระองค์นั้น ได้เสด็จปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อพระสัมมา สัมพุทธเจ้าผู้ถือความเป็นผู้ประเสริฐโดยอาการทั้งปวง เสด็จปรินิพพาน แล้ว ครั้งนั้น ได้เกิดมีความหวาดเสียวและได้เกิดขนพองสยองเกล้า. พระสังคีติกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระอานนทเถระ ได้รจนาคาถา ๓ คาถา ความว่า พระอานนทเถระเป็นพหูสูต ทรงธรรม เป็นผู้รักษาคลังพระธรรมของ พระพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของโลก ทั่วไป ปรินิพพานไปเสียแล้ว พระอานนทเถระเป็นพหูสูต ทรงธรรม เป็นผู้รักษาคลังพระธรรม ของพระพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของชาวโลกทั่วไป เป็นผู้กำจัดความมืดมนที่เป็นเหตุทำให้ ดังคนตาบอดได้แล้ว พระอานนทเถระเป็นผู้มีคติ มีสติและฐิติ เป็นผู้ แสวงคุณ เป็นผู้ทรงจำพระสัทธรรมไว้ได้ เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ. พระอานนทเถระ ก่อนแต่นิพพานได้กล่าวคาถา ความว่า เรามีความคุ้นเคยกับพระศาสดา เราทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสด็จ แล้ว ปลงภาระหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพได้แล้ว.
-----------------------------------------------------
พระเถระ ๓ รูปนี้ คือ พระปุสสเถระ ๑ พระสารีบุตรเถระ ๑ พระอานนทเถระ ๑ ท่านนิพนธ์คาถาไว้ในติงสนิบาตนั้น รวม ๑๐๕ คาถา ฉะนั้นแล.
จบ ติงสนิบาต
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๘๑๓๔-๘๒๑๔ หน้าที่ ๓๕๐-๓๕๓. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=8134&Z=8214&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=26&siri=397              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=397              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [397] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=26&item=397&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=10494              The Pali Tipitaka in Roman :- [397] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=26&item=397&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=10494              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/thag/thag.17.03.olen.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/thag/thag.17.03.hekh.html https://suttacentral.net/thag17.3/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :