ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
มหายมกวรรค
๑. จูฬโคสิงคสาลสูตร
เหตุแห่งความสามัคคี
[๓๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักซึ่งสร้างด้วยอิฐในนาทิกคาม. ก็สมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ ท่านพระกิมิละ อยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน. ครั้งนั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับพักผ่อนแล้ว เสด็จเข้าไปยังป่าโคสิงคสาลวัน. นายทายบาล [ผู้รักษาป่า] ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่สมณะท่านอย่าเข้าไปยังป่านี้เลย ในที่นี้มีกุลบุตร ๓ ท่าน ซึ่งเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ตนเป็น สภาพอยู่ ท่านอย่าได้กระทำความไม่ผาสุกแก่ท่านทั้ง ๓ นั้นเลย. เมื่อนายทายบาลกล่าวกะพระ ผู้มีพระภาคอยู่ ท่านพระอนุรุทธได้ยินแล้ว จึงได้บอกนายทายบาลดังนี้ว่า ดูกรนายทายบาลผู้มีอายุ ท่านอย่าได้ห้ามพระผู้มีพระภาคเลย พระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว. ลำดับ นั้น ท่านพระอนุรุทธได้เข้าไปหาท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมิละถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้บอกว่า รีบออกไปเถิด ท่านผู้มีอายุ รีบออกไปเถิด ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของพวกเรา เสด็จมาถึงแล้ว. ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ ได้ต้อนรับพระผู้มีพระภาค องค์หนึ่งรับบาตร และจีวรของพระผู้มีพระภาค องค์หนึ่งปูอาสนะ องค์หนึ่งตั้งน้ำล้างพระบาท. พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูถวาย ครั้นแล้วทรงล้างพระบาท. ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. [๓๖๒] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอนุรุทธว่า ดูกรอนุรุทธ นันทิยะ และกิมิละ พวกเธอพอจะอดทนได้ละหรือ พอจะยังชีวิตให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต หรือ? อ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พวกข้าพระองค์พอจะอดทนได้ พอจะยังมีชีวิตให้เป็นไปได้ พวกข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต. พ. ก็พวกเธอ ยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน ยังเป็นเหมือนน้ำนม กับน้ำ แลดูกันและกันด้วยจักษุอันเป็นที่รักอยู่หรือ? อ. เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. พ. ก็พวกเธอเป็นอย่างนั้นได้ เพราะเหตุอย่างไร? [๓๖๓] อ. พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เห็นปานนี้ ข้าพระองค์ เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งวจี- *กรรมประกอบด้วยเมตตา ... เข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงเก็บจิตของตนเสียแล้ว ประพฤติ ตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ แล้วข้าพระองค์ก็เก็บจิตของตนเสีย ประพฤติอยู่ตามอำนาจ จิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ กายของพวกข้าพระองค์ต่างกันจริงแล แต่ว่าจิตดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน. แม้ท่านพระนันทิยะ ... แม้ท่านพระกิมิละ ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส แม้ข้าพระองค์ก็มีความดำริอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้ว หนอ ที่ได้อยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เห็นปานนี้ ข้าพระองค์เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วย เมตตาในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ... เข้าไป ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ข้าพระองค์มีความ ดำริอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงเก็บจิตของตนเสียแล้ว ประพฤติตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุ เหล่านี้ แล้วข้าพระองค์ก็เก็บจิตของตนเสีย ประพฤติอยู่ตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้ กายของพวกข้าพระองค์ต่างกันจริงแล แต่ว่าจิตดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า พวก- *ข้าพระองค์ ยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน ยังเป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ แลดูกัน และกันด้วยจักษุอันเป็นที่รักอยู่. [๓๖๔] พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไป แล้วอยู่หรือ. อ. เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. พ. ก็พวกเธอเป็นอย่างนั้นได้ เพราะเหตุอย่างไร? อ. พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส บรรดาพวกข้าพระองค์ท่านผู้ใดกลับจาก บิณฑบาตแต่บ้านก่อน ท่านผู้นั้นย่อมปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ไว้ ตั้งถาดสำรับไว้ ท่านผู้ใด กลับจากบิณฑบาตแต่บ้านทีหลัง ถ้ามีบิณฑบาตที่เหลือจากฉัน หากประสงค์ ก็ฉัน ถ้าไม่ประสงค์ ก็ทิ้งเสียในที่ปราศจากของเขียวหรือเทลงในน้ำที่ไม่มีสัตว์ ท่านผู้นั้นเก็บอาสนะ เก็บน้ำฉัน เก็บน้ำใช้ เก็บถาดสำรับ กวาดโรงภัต ท่านผู้ใดเห็นหม้อน้ำฉัน น้ำใช้ หรือหม้อน้ำชำระว่างเปล่า ท่านผู้นั้นก็เข้าไปตั้งไว้ ถ้าเหลือวิสัยของท่าน ก็กวักมือเรียกรูปที่สองแล้วช่วยกันยกเข้าไปตั้งไว้ พวกข้าพระองค์ไม่เปล่งวาจา เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย และทุกวันที่ ๕ พวกข้าพระองค์ นั่งสนทนา ธรรมกถาตลอดคืนยังรุ่ง พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตน ไปอยู่ ด้วยประการฉะนี้แล.
ธรรมเครื่องอยู่สำราญ
[๓๖๕] พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ ก็เมื่อพวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปอยู่อย่างนี้ คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ อันยิ่งกว่า ธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญ ที่พวกเธอได้บรรลุแล้ว มีอยู่หรือ? อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานพระวโรกาส พวกข้าพระ- *องค์หวังอยู่เพียงว่า พวกเราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ เมื่อพวกข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปอยู่ คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็น เครื่องอยู่สำราญนี้แล พวกข้าพระองค์ได้บรรลุแล้ว. พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระ- *อริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญที่พวกเธอได้บรรลุแล้ว เพื่อความก้าวล่วง เพื่อความระงับ แห่งธรรมเป็นเครื่องอยู่อันนี้ อย่างอื่นมีอยู่หรือ? อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่เพียงว่า พวกเราบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจาร สงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปิติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ อันนี้ได้แก่คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญ เพื่อ ความก้าวล่วง เพื่อความระงับ แห่งธรรมเป็นเครื่องอยู่อันนี้อย่างอื่น. พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระ- *อริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ? อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่เพียงว่า พวกเรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่ พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข อันนี้ได้แก่- *คุณวิเศษ คือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น. พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระ- *อริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ? อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่เพียงว่า พวกเราบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้ได้แก่คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำ ความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น. พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระ- *อริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ? อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่เพียงว่า เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตต- *สัญญา พวกเราบรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยพิจารณาว่า อากาศหาที่สุดมิได้ ดังนี้อยู่ อันนี้ ได้แก่คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น. พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระ- *อริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ? อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่เพียงว่า เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง พวกเราบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วย พิจารณาว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ ดังนี้อยู่ อันนี้ได้แก่คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถ กระทำความความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น. พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระ- *อริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ? อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่เพียงว่า เพราะล่วงเสียงซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง พวกเราบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า น้อยหนึ่งไม่มี ดังนี้อยู่ อันนี้ได้แก่คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำ ความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น. พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระ อริยะ ... อย่างอื่นมีอยู่หรือ? อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่เพียงว่า เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง พวกเราบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อยู่ อันนี้ได้แก่คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ ... อย่างอื่น. พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ ก็คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถกระทำความเป็นพระ- *อริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญที่พวกเธอได้บรรลุแล้ว เพื่อความก้าวล่วง เพื่อความระงับ แห่งธรรมเป็นเครื่องอยู่อันนี้ อย่างอื่นมีอยู่หรือ? อ. เพราะเหตุอะไรเล่า จะไม่พึงมี พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์หวังอยู่เพียงว่า เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง พวกเราบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นแม้ด้วยปัญญา อาสวะของท่านผู้นั้นย่อมหมดสิ้นไป อันนี้ได้แก่คุณวิเศษคือญาณทัสสนะ อันสามารถกระทำความเป็นพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่สำราญอย่างอื่น เพื่อความก้าวล่วง เพื่อความระงับ แห่งธรรมเป็นเครื่องอยู่อันนี้ ได้บรรลุแล้ว พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระองค์ยังไม่พิจารณาเห็นธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญอย่างอื่น ที่ยิ่งกว่า หรือประณีต กว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญอันนี้. พ. ดีละ ดีละ อนุรุทธ ธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญอย่างอื่น ที่ยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญอันนี้หามีไม่. [๓๖๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคยังท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระ- *กิมิละ ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะ หลีกไป ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ ส่งเสด็จพระผู้มีพระภาค ครั้นกลับจากที่นั้นแล้ว ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ ได้กล่าวกะท่านพระอนุรุทธว่า ท่านอนุรุทธประกาศคุณวิเศษอันใดของพวกกระผม จนกระทั่งถึงความสิ้นอาสวะ ในที่เฉพาะ พระพักตร์ พระผู้มีพระภาค พวกกระผมได้บอกคุณวิเศษนั้น แก่ท่านอนุรุทธอย่างนี้หรือว่า พวก เราได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ด้วย. อ. พวกท่านผู้มีอายุมิได้บอกแก่กระผมอย่างนี้ว่า พวกเราได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ด้วยๆ แต่ว่ากระผมกำหนดใจของพวกท่านผู้มีอายุด้วยใจแล้วรู้ได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ได้วิหารสมาบัติ เหล่านี้ด้วยๆ แม้พวกเทวดาก็ได้บอกเนื้อความข้อนี้แก่กระผมว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ได้วิหาร- *สมาบัติเหล่านี้ด้วยๆ กระผม ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาแล้ว จึงทูลถวายพยากรณ์ เนื้อความนั้น.
เสียงสรรเสริญพระเถระ
[๓๖๗] ลำดับนั้น ทีฆปรชนยักษ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว ในเหตุที่พระตถาคต- *อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่านเหล่านี้ คือ ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ มาพักอยู่. พวกภุมมเทวดาได้ฟังเสียงของทีฆปรชนยักษ์แล้วได้ประกาศ [ต่อไป] ว่าท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว ในเหตุที่พระตถาคตอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้า มาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่าน คือ ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่าน พระกิมิละ มาพักอยู่. พวกเทพชั้นจาตุมหาราช ได้ฟังเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้วได้ประกาศ [ต่อไป] ... พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้วได้ประกาศ [ต่อไป] ... พวกเทพ ชั้นยามาได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้วได้ประกาศ [ต่อไป] ... พวกเทพชั้นดุสิตได้ฟังเสียง ของพวกเทพชั้นยามาแล้วได้ประกาศ [ต่อไป] ... พวกเทพชั้นนิมมานรดีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้น- *ดุสิตแล้วได้ประกาศ [ต่อไป] ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นนิมมานรดี แล้วได้ประกาศ [ต่อไป] ... พวกเทพที่นับเข้าในจำพวกพรหม ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นปรนิมมิต- *วสวัตดีแล้วได้ประกาศ [ต่อไป] ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชน ชาววัชชีได้ดีแล้ว ในเหตุที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่าน คือ ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ มาพักอยู่.
ทรงสรรเสริญพระอนุรุทธเป็นต้น
[๓๖๘] โดยขณะครู่หนึ่งนั้น เสียงได้เป็นอันรู้กันทั่วจนถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรทีฆะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรทีฆะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จากสกุลใด ถ้าสกุลนั้นมีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่สกุลนั้น ตลอดกาลนาน กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จากวงศ์สกุลใด ถ้าวงศ์สกุลนั้น มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึง กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่วงศ์สกุลนั้น ตลอดกาลนาน กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จากบ้านใด ถ้าบ้านนั้นมีจิตเลื่อมใส ระลึกถึง กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่บ้านนั้น ตลอดกาลนาน กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จากนิคมใด ถ้านิคมนั้นมีจิตเลื่อมใส ระลึกถึง กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่นิคมนั้น ตลอดกาลนาน กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จากนครใด ถ้านครนั้นมีจิตเลื่อมใส ระลึกถึง กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่นครนั้น ตลอดกาลนาน กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จากชนบทใด ถ้าชนบทนั้นมีจิตเลื่อมใส ระลึก ถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนบทนั้น ตลอดกาล- *นาน ถ้ากษัตริย์ทั้งมวลมีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่กษัตริย์ทั้งมวล ตลอดกาลนาน ถ้าพราหมณ์ทั้งมวล ... ถ้าแพศย์ทั้งมวล ... ถ้าศูทร ทั้งมวลมีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ศูทรทั้งมวล ตลอดกาลนาน ถ้าโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อม ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้น จะพึงเป็น ไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ตลอดกาลนาน ดูกรทีฆะ ท่านจงเห็นเถิด กุลบุตร ทั้ง ๓ นี้ ปฏิบัติแล้วก็เพียงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็น อันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ทีฆปรชนยักษ์ ชื่นชม ยินดี ภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้วแล.
จบ จูฬโคสิงคสาลสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๖๖๙๖-๖๘๗๖ หน้าที่ ๒๗๒-๒๗๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=6696&Z=6876&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=12&siri=31              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=361              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [361-368] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=12&item=361&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=3643              The Pali Tipitaka in Roman :- [361-368] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=12&item=361&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=3643              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i361-e1.php# https://suttacentral.net/mn31/en/sujato https://suttacentral.net/mn31/en/horner https://suttacentral.net/mn31/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :