ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๑๐. จูฬสาโรปมสูตร
อุปมานักบวชกับผู้แสวงหาแก่นไม้
[๓๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อปิงคลโกจฉะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้นแล้ว ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม สมณพราหมณ์พวกนี้ เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นคนดี คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถ์นาฏบุตร พวกนั้นทั้งหมดรู้ยิ่งตามปฏิญญาของตนๆ หรือทุกคนไม่รู้ยิ่ง เลย หรือว่าบางพวกรู้ยิ่ง บางพวกไม่รู้ยิ่ง. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่ว่าพวกนั้นทั้งหมดรู้ยิ่งตามปฏิญญา ของตนๆ หรือทุกคนไม่รู้ยิ่งเลย หรือว่าบางพวกรู้ยิ่ง บางพวกไม่รู้ยิ่งนั้น จงงดไว้เถิด เราจัก แสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังธรรมนั้น จงกระทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว ปิงคลโกจฉพราหมณ์ ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว. [๓๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการ แก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลย กระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น บุรุษผู้มีจักษุเห็น เขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จัก สะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของ เขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา หรืออีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลย กระพี้ ละเลยเปลือกไปเสีย ถากเอาสะเก็ดถือไป สำคัญว่าแก่น. บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยว เสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือกไป เสีย ถากเอาสะเก็ดถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขาจักไม่สำเร็จ ประโยชน์แก่เขา. หรืออีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหา แก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ไปเสีย ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น. บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษ ผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริง อย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อ ต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ไปเสีย ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา. หรืออีกอย่างหนึ่ง เปรียบ เหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มี แก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่นไปเสีย ถากเอากระพี้ถือไป สำคัญว่าแก่น. บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้น แล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จัก สะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหา แก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่นไปเสีย ถากเอากระพี้ ถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา. หรือ อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้ อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ตัดเอาแก่นนั้นแหละถือไป รู้อยู่ว่าแก่น. บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขา ผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ รู้จักแก่น รู้จักกระพี้ รู้จักเปลือก รู้จัก สะเก็ด รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ตัดเอาแก่นนั่นแหละถือไป รู้อยู่ว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขาจักสำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด. [๓๕๕] ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภ สักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น. เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ ไม่ปรากฏ [หรือมีคนรู้จักน้อย] มี ศักดาน้อย. อนึ่ง เขาไม่ยังฉันทะให้เกิด ไม่พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย เปรียบเหมือนบุรุษคนนั้น ที่มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จ ประโยชน์แก่เขา ฉันใด. ดูกรพราหมณ์ เราเรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมาฉันนั้น [๓๕๖] ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพ- *ชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุด แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนี้แล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้ บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ นั้น. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น. เขายังฉันทะให้ เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ลาภสักการะและ ความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังความถึงพร้อมแห่ง ศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม แล้วด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น. เพราะ ความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่น นอกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม. อนึ่ง เขาไม่ยังฉันทะให้เกิด ไม่พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่ง ธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่าความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติ ย่อหย่อน ท้อถอย. เปรียบเหมือนบุรุษคนนั้น ที่มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ไปเสีย ถากเอาสะเก็ดถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จ ประโยชน์แก่เขา ฉันใด. ดูกรพราหมณ์ เราเรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมาฉันนั้น. [๓๕๗] ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำ ที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความ สรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความ สรรเสริญนั้น เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ลาภ สักการะและความสรรเสริญนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยัง ความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความ ดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น. อนึ่ง เขายัง ฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ความ ถึงพร้อมแห่งศีลนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังความถึงพร้อม แห่งสมาธิให้สำเร็จ. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์ เป็นอันเดียว ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดแล้ว. เขาไม่ยังฉันทะให้เกิด ไม่พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่าความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น ทั้งเป็นผู้ประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย. เปรียบเหมือนบุรุษนั้นที่มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหา แก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ไปเสีย ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์ แก่เขาฉันใด. ดูกรพราหมณ์ เราเรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมาฉันนั้น. [๓๕๘] ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุด แห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้ บังเกิดขึ้น เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ นั้น. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะ ให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ลาภสักการะและ ความสรรเสริญนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังความถึงพร้อม แห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้ แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น ทั้งเป็นผู้มีความ ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังญาณทัสสนะให้สำเร็จ. เขามีความยินดี มีความ ดำริเต็มเปี่ยม ด้วยญาณทัสสนะอันนั้น. เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรารู้ เราเห็น ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ ไม่รู้ไม่เห็นอยู่. อนึ่ง เขาไม่ยังฉันทะให้เกิด ไม่พยายาม เพื่อทำ ให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่าญาณทัสสนะนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติ ย่อหย่อน ท้อถอย. เปรียบเหมือนบุรุษคนนั้น ที่มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยว เสาะหาแก่นอยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่นไปเสีย ถากเอากระพี้ถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด. ดูกรพราหมณ์ เรา เรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมาฉันนั้น. [๓๕๙] ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับ แล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่ง กองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้ เกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้ เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ลาภสักการะและความ สรรเสริญนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังความถึงพร้อม แห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ความถึงพร้อมแห่งศีล นั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. เขาย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิ ให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งกว่า และประณีตกว่า ความถึงพร้อมแห่ง สมาธินั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมยังญาณทัสสนะให้ สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยญาณทัสสนะนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณทัสสนะอันนั้น. อนึ่ง เขายังฉันทะให้เกิด พยายาม เพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งธรรมเหล่าอื่นยิ่งกว่า และประณีตกว่า ญาณทัสสนะนั้น ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย. ดูกรพราหมณ์ ก็ธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะเป็น ไฉน? ภิกษุในพระศาสนานี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ. อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ. อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ. อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับ โสมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ. อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา ภิกษุย่อมบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า อากาศหาที่สุดมิได้. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ. อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อมบรรลุ วิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและ ประณีตกว่าญาณทัสสนะ. อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อมบรรลุ อากิญจัญญายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า น้อยหนึ่งไม่มี. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ. อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อม บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ. อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อม บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ. เพราะเห็นด้วยปัญญาของเธอ อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป. แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ. ดูกรพราหมณ์ ธรรมเหล่านี้แล ที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ. เปรียบเหมือนบุรุษคนนั้นที่มีความต้องการแก่น แสวงหาแก่น เที่ยวเสาะหาแก่นอยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ตัดเอาแก่นนั้นแหละถือไป รู้อยู่ว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้ แก่นของเขา จักสำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด. ดูกรพราหมณ์ เราเรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมา ฉันนั้น. [๓๖๐] ดูกรพราหมณ์ ดังพรรณนามาฉะนี้ พรหมจรรย์จึงมิใช่มีลาภสักการะและความ สรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมสมาธิ เป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ เป็น ประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปิงคลโกจฉพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยประสงค์ว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉันใด ธรรมที่ พระองค์ทรงประกาศแล้วโดยอเนกปริยาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระองค์กับ พระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง พระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จบ จูฬสาโรปมสูตร ที่ ๑๐
จบ โอปัมมวรรค ที่ ๓
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรในวรรคนี้
เรื่องพระโมลิยะภัคคุนะ เรื่องภิกษุชื่ออริฏฐะ เรื่องอันธวัน เรื่องพระปุณณะ นิวาปสูตร ปาสราสิสูตร จูฬหัตถิปโทปมสูตร มหาหัตถิ ปโทปมสูตร มหาสาโรปมสูตร จูฬสาโรปม สูตร.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๖๕๐๕-๖๖๙๕ หน้าที่ ๒๖๔-๒๗๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=6505&Z=6695&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=12&siri=30              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=353              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [353-360] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=12&item=353&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=3583              The Pali Tipitaka in Roman :- [353-360] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=12&item=353&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=3583              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i353-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.030.than.html https://suttacentral.net/mn30/en/sujato https://suttacentral.net/mn30/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :