ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค
หมวดว่าด้วยพระปิลินทวัจฉะเป็นต้น
๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปิลินทวัจฉเถระ
(พระปิลินทวัจฉเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑] ข้าพเจ้าเป็นคนเฝ้าประตูอยู่ที่กรุงหงสวดี ได้รวบรวมโภคสมบัติเก็บไว้ในเรือนมากมายนับไม่ถ้วน [๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในสถานที่สงัด ทำใจให้ร่าเริง นั่งอยู่ในปราสาทที่ประเสริฐ ได้คิดอย่างนี้ว่า [๓] โภคสมบัติของเรามีมาก ภายในบุรีของเราก็มั่งคั่ง แม้พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน พระนามว่าอานนท์ ก็ทรงเชื้อเชิญเรา [๔] พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เป็นพระมุนี เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ และโภคสมบัติของเราก็มีอยู่ เราจักถวายทานแด่พระศาสดา [๕] พระโอรสของพระราชาพระนามว่าปทุมะ ทรงถวายทานอย่างประเสริฐ คือช้างเชือกประเสริฐ บัลลังก์และพนักพิง ประมาณไม่น้อย ในพระชินเจ้า [๖] แม้เราก็จักถวายทาน ในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

ทานอย่างประเสริฐที่ยังไม่เคยมีใครถวาย เราจักเป็น (ผู้ถวาย) คนแรก [๗] ข้าพเจ้าคิดถึงทานหลายอย่าง ที่มีผลเป็นสุขในเพราะการบูชา ก็ได้เห็นการถวายบริขาร เป็นเหตุทำความคิดของข้าพเจ้าให้เต็มได้ [๘] ข้าพเจ้าจักถวายบริขาร ในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด การถวายบริขารที่คนเหล่าอื่นยังไม่เคยถวาย ข้าพเจ้าจักเป็นคนแรก
(การถึงพร้อมแห่งทานวัตถุ)
[๙] ขณะนั้น ข้าพเจ้าเข้าไปหาช่างจักสาน จ้างให้ทำร่ม รวบรวมร่มได้ ๑๐๐,๐๐๐ คัน [๑๐] รวบรวมผ้าได้ ๑๐๐,๐๐๐ ผืน รวบรวมบาตรได้ ๑๐๐,๐๐๐ ใบ [๑๑] จ้างช่างให้ทำมีดโกน มีดเล็ก เข็ม และมีดตัดเล็บ ที่สมควร(แก่สมณบริโภค) แล้วให้วางไว้ภายใต้ร่ม [๑๒] จ้างช่างให้ทำพัดใบตาล พัดขนปีกนกยูง แส้จามร ผ้ากรองน้ำ ภาชนะน้ำมัน ให้สมควร (แก่สมณบริโภค) [๑๓] จ้างช่างให้ทำกล่องเข็ม ผ้าอังสะ ประคตเอว และเชิงรองบาตร ซึ่งทำอย่างสวยงาม ให้สมควร(แก่สมณบริโภค) [๑๔] ให้บรรจุเภสัชจนเต็มภาชนะสำหรับใส่ของบริโภค และบรรจุขันสำริดให้วางไว้ภายใต้ร่ม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๑๕] ให้บรรจุว่านน้ำ หญ้าคา ชะเอม ดีปลี พริก ผลสมอ และขิงสด จนเต็มภาชนะทุกอย่าง [๑๖] จ้างช่างให้ทำรองเท้า เขียงเท้า ผ้าสำหรับเช็ดน้ำ และไม้เท้าคนแก่ อย่างสวยงาม ให้สมควร(แก่สมณบริโภค) [๑๗] จ้างช่างให้ทำยารักษาไข้ ยาหยอดตา ไม้ป้ายยาตา กระบอกกรองน้ำ ลูกกุญแจ และกล่องลูกกุญแจ ซึ่งเย็บด้วยด้าย ๕ สี [๑๘] สายโยค กระบอกเป่าควันไฟ ตะเกียงตั้ง คนโทน้ำและผอบ ให้สมควร(แก่สมณบริโภค) [๑๙] จ้างช่างให้ทำแหนบ กรรไกร วัตถุขัดสนิมและถุงสำหรับใส่เภสัช ให้สมควร(แก่สมณบริโภค) [๒๐] จ้างช่างให้ทำเก้าอี้นอน ตั่งและบัลลังก์ ๔ เท้า ให้สมควร(แก่สมณบริโภค)แล้วให้ตั้งไว้ภายใต้ร่ม [๒๑] จ้างช่างให้ทำฟูกยัดด้วยขนสัตว์ ฟูกยัดด้วยนุ่น ฟูกตั่งและหมอนทำอย่างดี ให้สมควร(แก่สมณบริโภค) [๒๒] จ้างช่างให้ทำจุรณสำหรับอาบ ขี้ผึ้ง น้ำมันที่หุงด้วยมือ และเตียงที่ปูด้วยแผ่นกระดานเล็กๆ อันสะอาดพร้อมด้วยเครื่องลาด [๒๓] เสนาสนะ ผ้าเช็ดเท้า ที่นอน ที่นั่ง ไม้เท้า ไม้ชำระฟัน กระเบื้อง ของหอมสำหรับไล้ทาศีรษะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๒๔] ไม้สีไฟ ตั่งแผ่นกระดาน ฝาบาตร ถุงบาตร กระบวยตักน้ำ เครื่องอบ (สีผงย้อมผ้า) รางย้อมผ้า [๒๕] ไม้กวาด ผ้าอาบน้ำ ผ้าอาบน้ำฝน ผ้านิสีทนะ ผ้าปิดฝี ผ้าอันตรวาสก (ผ้านุ่ง) [๒๖] ผ้าอุตราสงค์(ผ้าห่ม) ผ้าสังฆาฏิ(ผ้าพาดบ่า) ยานัตถุ์ น้ำบ้วนปาก น้ำส้ม น้ำปลา น้ำผึ้ง นมส้ม น้ำปานะ [๒๗] ขี้ผึ้ง ผ้าเก่า ผ้าเช็ดปาก ด้าย สิ่งใดชื่อว่าเป็นของควรให้ทานมีอยู่ และสมควรแก่พระศาสดา [๒๘] ข้าพเจ้ารวบรวมสิ่งนั้นทั้งหมดได้แล้ว จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าอานนท์ ครั้นเข้าเฝ้าพระราชาผู้นำหมู่ชน ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ถวายบังคมด้วยเศียรเกล้าแล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า
(การขอโอกาสถวายทาน)
[๒๙] เราทั้ง ๒ เจริญเติบโตมาด้วยกัน มียศร่วมกัน ร่วมสุข ร่วมทุกข์ และประพฤติคล้อยตามกัน [๓๐] ขอเดชะพระองค์ผู้ปราบข้าศึก ทุกข์ใจที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ยังมีอยู่ ขอเดชะพระองค์ผู้ขัตติยราช ถ้าพระองค์สามารถ ก็ขอได้ทรงพระกรุณาบรรเทาทุกข์นั้นด้วยเถิด [๓๑] พระราชาตรัสว่า ทุกข์ของท่านก็เป็นทุกข์ของข้าพเจ้าด้วย เราทั้ง ๒ มีใจตรงกัน ท่านย่อมรู้ว่าสำเร็จ ถ้าท่านจะพึงเปลื้องทุกข์นั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๓๒] ขอเดชะพระมหาราช ขอจงทรงทราบทุกข์ของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งบรรเทาได้ยาก พระองค์บันลือมากไป ทรัพย์นี้ พระองค์ยังสละได้ยาก [๓๓] คือสิ่งที่มีอยู่ในแว่นแคว้นประมาณเท่าใด ชีวิตของข้าพระพุทธเจ้าประมาณเท่าใด ถ้าพระองค์ต้องการสิ่งเหล่านี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็จักให้อย่างไม่หวั่นไหว [๓๔] ขอเดชะ พระองค์ทรงบันลือแล้ว การบันลือมากนั้นผิด ข้าพระพุทธเจ้าจักทราบพระองค์ วันนี้ ว่าทรงดำรงอยู่ในธรรมทั้งปวง [๓๕] ท่านบีบคั้นหนักนัก เมื่อข้าพเจ้าจะให้ ท่านจะได้ประโยชน์อะไรจากการที่ข้าพเจ้าถูกบีบคั้น ท่านปรารถนาสิ่งใดจงบอกแก่ข้าพเจ้า [๓๖] ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าจักนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสวย ชีวิตของข้าพระพุทธเจ้าอย่าเป็นโทษเลย [๓๗] ข้าพเจ้าจะให้พรอย่างอื่นแก่ท่าน ท่านอย่าขอพระตถาคตเลย พระพุทธเจ้าไม่มีใครจะให้แก่ใครๆ ได้ เปรียบเหมือนแก้วมณีโชติรส [๓๘] ขอเดชะ พระองค์ทรงบันลือแล้วมิใช่หรือว่า กระทั่งชีวิตที่มีอยู่ เมื่อพระองค์ประทานชีวิตได้ ก็ควรพระราชทานพระตถาคตได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๓๙] พระพุทธชินมหาวีรเจ้าควรงดไว้ ไม่พึงให้แก่ใครๆ ได้ เรารับปากให้ไม่ได้ ท่านจงเลือกเอาทรัพย์จนนับไม่ถ้วนเถิด [๔๐] ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องถึงการวินิจฉัย พวกเราจักถามผู้วินิจฉัย ผู้วินิจฉัยจักตัดสินละเอียดฉันใด พวกเราจักสอบถามข้อนั้นฉันนั้น [๔๑] ข้าพเจ้าจับพระหัตถ์พระราชา พากันไปยังสถานที่วินิจฉัย ได้กล่าวคำนี้ต่อหน้าผู้พิพากษาทั้งหลายว่า [๔๒] ขอผู้พิพากษาจงฟังข้าพเจ้า พระราชาได้พระราชทานพรแก่ข้าพเจ้า พระองค์ไม่ยกเว้นอะไรๆ ยอมให้ได้แม้กระทั่งชีวิต [๔๓] เมื่อพระองค์พระราชทานพรแก่ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด พระพุทธเจ้าเป็นอันพระราชาพระราชทาน แก่ข้าพเจ้าดีแล้วมิใช่หรือ ท่านทั้งหลายจงตัดความสงสัยของข้าพเจ้าด้วยเถิด [๔๔] (ผู้พิพากษาทั้งหลายกล่าวว่า) ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะฟังคำของท่านและพระดำรัสของพระราชา ผู้ปกครองแผ่นดิน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายฟังคำของทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว จักตัดความสงสัยในข้อนี้ได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๔๕] ขอเดชะ พระองค์พระราชทานทุกสิ่ง ท่านผู้นี้ถือเอาทุกสิ่งแล้วหรือ พระเจ้าข้า พระองค์ไม่ยกเว้นอะไรๆ ยอมให้ได้แม้กระทั่งชีวิตหรือ [๔๖] (พระราชาตรัสว่า) เราได้รับความลำบาก แสนสาหัสนักจนตลอดชีวิต รู้ว่าผู้นี้ได้รับความทุกข์อย่างหนัก จึงได้ให้สิ่งของที่ควรถือเอาไว้ทุกอย่าง [๔๗] ขอเดชะ พระองค์ทรงเป็นผู้พ่ายแพ้ ควรจะพระราชทานพระตถาคตให้เขาไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายตัดความสงสัยของทั้ง ๒ ฝ่ายได้แล้ว ขอท่านทั้ง ๒ จงตั้งอยู่ในคำมั่นสัญญาเถิด [๔๘] พระราชาประทับอยู่ ณ ที่นั้นแล ได้ตรัสกับผู้พิพากษาดังนี้ว่า ท่านทั้งหลายพึงให้แก่เราโดยชอบบ้าง เราจะได้พระพุทธเจ้าอีก [๔๙] (ผู้พิพากษาได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า) ท่านทำความดำริของท่านให้บริบูรณ์ นิมนต์พระตถาคตให้เสวยแล้ว พึงถวายคืนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้แก่พระเจ้าอานนท์ผู้ทรงยศอีก
(กถาว่าด้วยการทูลนิมนต์)
[๕๐] ข้าพเจ้าไหว้ผู้พิพากษาและถวายบังคม พระเจ้าอานนท์จอมกษัตริย์แล้ว มีความยินดีปราโมทย์ ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๕๑] ครั้นเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ข้ามโอฆกิเลสได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ถวายอภิวาทด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า [๕๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ขอพระองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป โปรดรับนิมนต์ พระองค์เมื่อจะทำจิตของข้าพระองค์ให้ร่าเริง ขอจงเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของข้าพระองค์เถิด [๕๓] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ผู้มีพระจักษุ ทรงรู้ความดำริของข้าพเจ้า จึงทรงรับนิมนต์(ด้วยดุษณีภาพ) [๕๔] ข้าพเจ้าทราบว่าพระองค์ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงถวายอภิวาทพระศาสดา มีจิตร่าเริงเบิกบาน เข้าไปยังนิเวศน์ของตน
(การตระเตรียมทาน)
[๕๕] ข้าพเจ้าประชุมมิตรและอำมาตย์แล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า เราได้สิ่งที่ได้แสนยากแล้ว เปรียบเหมือนได้แก้วมณีโชติรส [๕๖] เราจักบูชาพระองค์ด้วยอะไร พระชินเจ้ามีคุณหาประมาณมิได้ หาใครเปรียบมิได้ ไม่มีใครเทียบเท่า ไม่มีใครเสมอ เป็นนักปราชญ์ ไม่มีบุคคลเปรียบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๕๗] หาผู้เสมอเหมือนเช่นนั้นมิได้ ไม่เป็นที่ ๒ (รองใคร) ทรงองอาจกว่านรชน อธิการ๑- ที่สมควรแก่พระพุทธเจ้า เราทำได้โดยยาก [๕๘] ขอพวกเราจงช่วยกันรวบรวมดอกไม้ต่างๆ มาทำมณฑปดอกไม้เถิด นี้ย่อมสมควรแก่พระพุทธเจ้า ถือเป็นการบูชาด้วยสิ่งทั้งปวง [๕๙] ข้าพเจ้าใช้ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง ดอกมะลิ ดอกลำดวน ดอกจำปา ดอกกากะทิง ทำให้เป็นมณฑป [๖๐] ปูลาดอาสนะ ๑๐๐,๐๐๐ ไว้ใต้เงาร่ม อาสนะของข้าพเจ้าอยู่สุดท้าย มีค่าเกินร้อย [๖๑] ปูลาดอาสนะ ๑๐๐,๐๐๐ ไว้ใต้เงาร่ม จัดแจงข้าวและน้ำเสร็จแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาล
(เวลาอันสมควรเพื่อฉันภัตตาหาร)
[๖๒] เมื่อคนไปกราบทูลภัตกาลแล้ว พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ องค์ ได้เสด็จเข้ามายังนิเวศน์ของข้าพเจ้า [๖๓] ร่มกั้นอยู่เบื้องบน ในมณฑปดอกไม้ที่บานสะพรั่ง พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด ประทับนั่งพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ องค์ [๖๔] (ข้าพเจ้ากราบทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ขอพระองค์โปรดทรงรับร่ม ๑๐๐,๐๐๐ คัน @เชิงอรรถ : @ อธิการ การกระทำที่ยิ่ง เช่น การบริจาคชีวิตเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๑๖๘, และดูเทียบ ขุ.อป.อ. ๒/๕-๖/๒๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

และอาสนะ ๑๐๐,๐๐๐ ที่ อันสมควรและไม่มีโทษเถิด [๖๕] พระมหามุนีทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า ให้ข้ามพ้น(สงสารวัฏ) จึงทรงรับไว้
(ทานกถา)
[๖๖] ข้าพเจ้าได้ถวายบาตรแก่ภิกษุรูปละหนึ่งใบ ภิกษุทั้งหลายสละบาตรที่ตนใช้สอยแล้ว ใช้บาตรเหล็ก [๖๗] พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ ในมณฑปดอกไม้ตลอด ๗ วัน ๗ คืน เมื่อจะทรงให้สัตว์จำนวนมากตรัสรู้ จึงทรงประกาศพระธรรมจักร [๖๘] เมื่อทรงประกาศพระธรรมจักรภายใต้มณฑปดอกไม้ เทวดาและมนุษย์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม [๖๙] เมื่อถึงวันที่ ๗ พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ ประทับนั่งอยู่ภายในใต้เงาร่ม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
(พยากรณ์)
[๗๐] เราจักพยากรณ์มาณพผู้ที่ได้ถวายทานอย่างประเสริฐ ไม่บกพร่องแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๗๑] กองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้าจักห้อมล้อมมาณพนั้นเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งทานทั้งปวง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๗๒] ยานพาหนะคือช้าง ยานพาหนะคือม้า คานหาม และวอ จักบำรุงเขาเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งทานทั้งปวง [๗๓] รถ ๖,๐๐๐ คันประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง จักแวดล้อมเขาเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งทานทั้งปวง [๗๔] เครื่องดนตรี ๖,๐๐๐ ชิ้น กลองที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม จักขับกล่อมเขาเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งทานทั้งปวง [๗๕] สาวรุ่น ๘๖,๐๐๐ นาง ผู้ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี [๗๖] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง รูปงาม เอวเล็กเอวบาง จักห้อมล้อมเขาเป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งทานทั้งปวง [๗๗] เขาจักรื่นรมย์ในเทวโลก ๓,๐๐๐ กัป จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ [๗๘] และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๗๙] เมื่อเขาอยู่ในเทวโลก พรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม เทวดาจักกั้นฉัตรแก้วไว้ที่ขอบเทวโลก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๘๐] เขาจักปรารถนาเมื่อใด หลังคาผ้าและดอกไม้(ดังจะ)รู้ความคิดของเขา จักกั้นอยู่เนืองนิตย์เมื่อนั้น [๘๑] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนจุติจากเทวโลก แล้วประกอบด้วยบุญกรรม จักเป็นบุตรของพราหมณ์ [๘๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๘๓] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ จักทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะ [๘๔] เขาจักได้เป็นสาวกมีนามว่าปิลินทวัจฉะ ของพระศาสดา จักเป็นผู้ที่เทวดา อสูร และคนธรรพ์ สักการะ [๘๕] เขาจักเป็นที่รักของภิกษุ ภิกษุณี และคฤหัสถ์ทั้งปวง อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
(ว่าด้วยอานิสงส์ของทาน)
[๘๖] กรรมที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วใน ๑๐๐,๐๐๐ กัป ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว ดุจความเร็วของลูกศรที่หลุดพ้นไปจากแล่ง เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว [๘๗] น่าปลื้มใจ กรรมข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้ว ในเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

ซึ่งเป็นฐานะที่ข้าพเจ้าทำสักการะแล้ว ได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว๑- [๘๘] ก็มาณพใดได้ให้ทานอย่างประเสริฐไม่บกพร่อง มาณพนั้นได้เป็นหัวหน้าคนแรก นี้เป็นผลแห่งทานนั้น
(๑. อานิสงส์ของการถวายร่ม)
[๘๙] ข้าพเจ้าได้ถวายร่มในพระสุคต และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ [๙๐] คือข้าพเจ้าไม่รู้สึกหนาว ๑ ไม่รู้สึกร้อน ๑ ละอองและธุลีไม่แปดเปื้อน ๑ เป็นผู้ไม่มีอันตราย ๑ ไม่มีเสนียดจัญไร ๑ ชนทั้งหลายยำเกรงทุกเมื่อ ๑ [๙๑] เป็นผู้มีผิวพรรณละเอียด ๑ เป็นผู้มีใจใสสะอาด ๑ เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ฉัตร ๑๐๐,๐๐๐ คัน [๙๒] ซึ่งประกอบด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง กั้นอยู่เหนือศีรษะของข้าพเจ้า ยกเว้นชาตินี้ เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น [๙๓] เพราะฉะนั้น ในชาตินี้ การกั้นฉัตรจึงไม่มีแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ากระทำกรรมทุกอย่าง ก็เพื่อบรรลุฉัตรคือวิมุตติ @เชิงอรรถ : @ บทที่ไม่หวั่นไหว ได้แก่พระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๖๖/๒๗๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

(๒. อานิสงส์ของการถวายผ้า)
[๙๔] ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าในพระสุคต และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ [๙๕] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณดังทอง ๑ ปราศจากธุลี(ปราศจากไฝฝ้า) ๑ มีรัศมีผ่องใส ๑ มีตบะ ๑ มีร่างกายมีผิวเกลี้ยงเกลา ๑ เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ [๙๖] ก็มีผ้าสีขาว ๑๐๐,๐๐๐ ผืน ๑ มีผ้าสีเหลือง ๑๐๐,๐๐๐ ผืน ๑ มีผ้าสีแดง ๑๐๐,๐๐๐ ผืน ๑ กั้นอยู่เหนือศีรษะของข้าพเจ้า นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า [๙๗] ข้าพเจ้าได้ผ้าไหม ผ้ากัมพล ผ้าป่าน และผ้าฝ้ายในที่ทุกแห่ง เพราะผลกรรมเหล่านั้น
(๓. อานิสงส์ของการถวายบาตร)
[๙๘] ข้าพเจ้าได้ถวายบาตรในพระสุคต และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๑๐ ประการ [๙๙] คือข้าพเจ้าบริโภคโภชนาหารในภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี ภาชนะเงิน และภาชนะที่ทำด้วยทับทิม ทุกครั้ง ๑ [๑๐๐] ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีอันตราย ๑ ไม่มีเสนียดจัญไร ๑ ชนทั้งหลายยำเกรงทุกเมื่อ ๑ เป็นผู้ได้ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน เป็นปกติ ๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๑๐๑] โภคสมบัติของข้าพเจ้าไม่พินาศ ๑ ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตมั่นคง ๑ เป็นผู้ใคร่ธรรมทุกเมื่อ ๑ เป็นผู้มีกิเลสน้อย ๑ ไม่มีอาสวะ ๑ [๑๐๒] คุณเหล่านี้ ติดตามข้าพเจ้าไปทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก ไม่ละข้าพเจ้าในที่ทุกแห่ง เปรียบเหมือนเงาต้นไม้
(๔. อานิสงส์ของการถวายมีด)
[๑๐๓] ข้าพเจ้าได้ถวายมีดเล็กที่ทำอย่างสวยงาม เนื่องด้วยเครื่องผูกอย่างวิจิตรจำนวนมาก แก่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดและแก่สงฆ์แล้ว [๑๐๔] ได้รับอานิสงส์ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ คือข้าพเจ้าเป็นผู้กล้า ๑ เป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อน ๑ ถึงความสำเร็จในเวสารัชชธรรม ๑ [๑๐๕] เป็นผู้มีปัญญาเครื่องทรงจำ ๑ มีความเพียร ๑ ประคองใจไว้ได้ทุกเมื่อ ๑ ได้ญาณอันสุขุมเป็นเครื่องตัดกิเลส ๑ ได้ความบริสุทธิ์ไม่มีอะไรเทียมเท่าในที่ทั้งปวง ๑ เพราะผลกรรมของข้าพเจ้านั้น
(๕. อานิสงส์ของการถวายมีดเล็ก)
[๑๐๖] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใสได้ถวายมีดเล็กอันราบเรียบ ไม่หยาบ ขัดถูดีแล้ว จำนวนมากในพระพุทธเจ้าและในพระสงฆ์แล้ว [๑๐๗] ได้รับอานิสงส์ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ คือข้าพเจ้าย่อมได้กัลยาณมิตร ๑ ความเพียร ๑ ขันติ ๑ ศัสตราคือไมตรี ๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๑๐๘] เพราะตัดลูกศรคือตัณหา จึงได้ศัสตราคือปัญญาอันยอดเยี่ยม และญาณที่เสมอด้วยเพชร ๑ เพราะผลแห่งกรรมเหล่านั้น
(๖. อานิสงส์ของการถวายเข็ม)
[๑๐๙] ข้าพเจ้าได้ถวายเข็มในพระสุคต และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๑๐] คือเมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เป็นผู้ที่มหาชนนอบน้อม ๑ ตัดความสงสัยได้ ๑ มีรูปร่างงดงาม ๑ มีโภคสมบัติ ๑ มีปัญญาฉลาดหลักแหลม ๑ ทุกเมื่อ [๑๑๑] ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นอรรถ ซึ่งเป็นฐานะละเอียดลึกซึ้งด้วยญาณ ญาณของข้าพเจ้าเสมอด้วยยอดเพชร เป็นเครื่องกำจัดความมืด
(๗. อานิสงส์ของการถวายมีดตัดเล็บ)
[๑๑๒] ข้าพเจ้าได้ถวายมีดตัดเล็บในพระสุคต และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๑๓] คือข้าพเจ้าย่อมได้ทาสชายหญิง ๑ โคและม้า ๑ ลูกจ้างที่เป็นนางฟ้อนรำ ๑ ช่างตัดผม ๑ พ่อครัวผู้ทำอาหารจำนวนมากในที่ทั้งปวง ๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

(๘. อานิสงส์ของการถวายพัดใบตาล)
[๑๑๔] ข้าพเจ้าได้ถวายพัดใบตาลสวยงามในพระสุคตแล้ว ได้รับอานิสงส์ ๘ ประการ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า [๑๑๕] คือข้าพเจ้าไม่รู้สึกหนาวร้อน ๑ ไม่มีความเร่าร้อน ๑ ไม่รู้สึกกระวนกระวาย ที่ทำจิตของข้าพเจ้าให้เร่าร้อน ๑ [๑๑๖] ไฟทั้งหมด คือ ไฟคือราคะ ๑ ไฟคือโทสะ ๑ ไฟคือโมหะ ๑ ไฟคือมานะ ๑ ไฟคือทิฏฐิ ๑ ข้าพเจ้าดับได้แล้ว เพราะผลกรรมของข้าพเจ้านั้น
(๙. อานิสงส์ของการถวายพัดขนปีกนกยูงและแส้จามร)
[๑๑๗] ข้าพเจ้าได้ถวายพัดขนปีกนกยูงและแส้จามรในหมู่สงฆ์ และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด เป็นผู้มีกิเลสสงบระงับแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
(๑๐. อานิสงส์ของการถวายผ้ากรองน้ำคือธมกรก)
[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้ถวายผ้ากรองน้ำคือธมกรกในพระสุคตแล้ว ได้รับอานิสงส์ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๑๙] คือข้าพเจ้าล่วงพ้นอันตรายทั้งปวงได้ ๑ ได้อายุทิพย์ ๑ โจรหรือข้าศึกข่มไม่ได้ทุกเมื่อ ๑ [๑๒๐] ศัสตราหรือยาพิษไม่เบียดเบียนข้าพเจ้า ๑ ไม่มีความตายในระหว่าง(ไม่ตายก่อนอายุขัย) ๑ เพราะผลแห่งกรรมเหล่านั้นของข้าพเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

(๑๑. อานิสงส์ของการถวายภาชนะน้ำมัน)
[๑๒๑] ข้าพเจ้าได้ถวายภาชนะน้ำมันในพระสุคต และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๒๒] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีรูปร่างงดงาม ๑ มีความเจริญดี ๑ มีใจเบิกบานดี ๑ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ๑ ได้รับการคุ้มครองโดยการอารักขาทั้งปวง ๑
(๑๒. อานิสงส์ของการถวายกล่องเข็ม)
[๑๒๓] ข้าพเจ้าได้ถวายกล่องเข็มในพระสุคต และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมข้าพเจ้า ๓ ประการ [๑๒๔] คือข้าพเจ้าย่อมได้คุณเหล่านี้ คือ ความสุขใจ ๑ ความสุขกาย ๑ ความสุขเกิดแต่อิริยาบถ ๑ เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๑๓. อานิสงส์ของการถวายผ้าอังสะ)
[๑๒๕] ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าอังสะในพระชินเจ้า และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ [๑๒๖] คือข้าพเจ้าย่อมได้ความมั่นคงในพระสัทธรรม ๑ ระลึกชาติได้ ๑ เป็นผู้มีผิวพรรณงดงามในที่ทุกแห่ง ๑ เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๑๔. อานิสงส์ของการถวายประคตเอว)
[๑๒๗] ข้าพเจ้าได้ถวายประคตเอวในพระชินเจ้า และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๖ ประการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๑๒๘] คือข้าพเจ้าย่อมไม่หวั่นในสมาธิ(มีสมาธิแน่วแน่) ๑ เป็นผู้ชำนาญในสมาธิ ๑ มีบริวารไม่แตกแยกกัน ๑ มีถ้อยคำที่เชื่อถือได้ทุกเมื่อ ๑ [๑๒๙] มีสติตั้งมั่น ๑ ไม่มีความสะดุ้งกลัว ๑ คุณเหล่านี้ติดตามข้าพเจ้าไปทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
(๑๕. อานิสงส์ของการถวายเชิงรองบาตร)
[๑๓๐] ข้าพเจ้าได้ถวายเชิงรองบาตรในพระชินเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด เป็นผู้ไม่มีภัยในเพราะวรรณะ ๕ และไม่หวั่นไหวด้วยอะไรๆ [๑๓๑] ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีสติ และญาณเป็นเครื่องตรัสรู้ ข้าพเจ้าฟังแล้ว ธรรมที่ข้าพเจ้าทรงจำไว้ย่อมไม่คลาดเคลื่อน เป็นอันวินิจฉัยดีแล้ว
(๑๖. อานิสงส์ของการถวายภาชนะ)
[๑๓๒] ข้าพเจ้าได้ถวายภาชนะสำหรับใส่ของบริโภคในพระพุทธเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่สูงสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ [๑๓๓] คือข้าพเจ้าย่อมได้ภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี ภาชนะแก้วผลึก และภาชนะแก้วทับทิม ๑ [๑๓๔] ได้ภริยา ได้ทาสชายหญิง พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า และหญิงผู้เคารพนาย ๑ ได้เครื่องบริโภคทุกเวลา ๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๑๓๕] วิชาในบทมนตร์ในอาคมต่างๆ จำนวนมากและศิลปะทั้งปวง ข้าพเจ้าย่อมใคร่ครวญให้เป็นที่ใช้สอยได้ทุกเวลา
(๑๗. อานิสงส์ของการถวายขัน)
[๑๓๖] ข้าพเจ้าได้ถวายขันในพระสุคต และในหมู่สงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ [๑๓๗] คือข้าพเจ้าย่อมได้ขันทองคำ ขันแก้วมณี ขันแก้วผลึก และขันแก้วทับทิม ๑ [๑๓๘] ข้าพเจ้าได้ขันรูปต้นโพธิ์ รูปผลไม้ รูปใบบัว และสังข์สำหรับดื่มน้ำผึ้ง ๑ [๑๓๙] ข้าพเจ้าย่อมได้ข้อปฏิบัติในวัตรอันงาม ในอาจาระและกิริยา ๑ ข้าพเจ้าได้คุณเหล่านี้ เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๑๘. อานิสงส์ของการถวายเภสัช)
[๑๔๐] ข้าพเจ้าได้ถวายเภสัชในพระสุคต และในหมู่สงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๑๐ ประการ [๑๔๑] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีอายุยืน ๑ มีกำลัง ๑ เป็นนักปราชญ์ ๑ มีวรรณะ ๑ มียศ ๑ มีสุข ๑ ไม่มีอันตราย ๑ ไม่มีเสนียดจัญไร ๑ ชนทั้งหลายยำเกรงทุกเมื่อ ๑ ไม่มีความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ๑ เพราะผลแห่งกรรมของข้าพเจ้านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

(๑๙. อานิสงส์ของการถวายรองเท้า)
[๑๔๒] ข้าพเจ้าได้ถวายรองเท้าในพระชินเจ้า และในหมู่สงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ [๑๔๓] คือยานคือช้าง ยานคือม้า วอ และคานหาม ๑ รถ ๖๐,๐๐๐ คันแวดล้อมข้าพเจ้าทุกเมื่อ ๑ [๑๔๔] เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ รองเท้าแก้วมณี รองเท้าทองแดง รองเท้าทองคำ รองเท้าเงิน ผุดขึ้นรองรับทุกย่างเท้า ๑ [๑๔๕] บุญกรรมทั้งหลายย่อมช่วยชำระอาจารคุณให้สะอาดแน่นอน ข้าพเจ้าได้คุณเหล่านี้เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๒๐. อานิสงส์ของการถวายเขียงเท้า)
[๑๔๖] ข้าพเจ้าได้ถวายเขียงเท้าในพระสุคต และในหมู่สงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้สวมเขียงเท้า ซึ่งสำเร็จด้วยฤทธิ์แล้วอยู่ได้ตามปรารถนา
(๒๑. อานิสงส์ของการถวายผ้าเช็ดน้ำ)
[๑๔๗] ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าเช็ดน้ำในพระสุคต และในหมู่สงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๔๘] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณดุจทองคำปราศจากธุลี ๑ มีรัศมีผ่องใส ๑ มีตบะ ๑ ร่างกายมีผิวเกลี้ยงเกลา ๑ ฝุ่นละอองไม่ติดร่างกายข้าพเจ้า ๑ ข้าพเจ้าได้คุณเหล่านี้เพราะผลแห่งกรรมนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

(๒๒. อานิสงส์ของการถวายไม้เท้าคนแก่)
[๑๔๙] ข้าพเจ้าได้ถวายไม้เท้าคนแก่ในพระสุคต และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๕๐] คือข้าพเจ้ามีบุตรมาก ๑ ไม่มีความสะดุ้งกลัว ๑ ได้รับการคุ้มครองโดยการอารักขาทั้งปวง ใครๆ ข่มไม่ได้ทุกเมื่อ ๑ ไม่รู้จักความพลั้งพลาด ๑ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ๑
(๒๓. อานิสงส์ของการถวายยารักษาไข้และยาหยอดตา)
[๑๕๑] ข้าพเจ้าได้ถวายยารักษาไข้และยาหยอดตา(ในพระสุคต) และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ [๑๕๒] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีนัยน์ตาโต ๑ มีนัยน์ตาสีขาว ๑ มีนัยน์ตาสีเหลือง ๑ มีนัยน์ตาสีแดง ๑ มีนัยน์ตาแจ่มใสไม่มัว ๑ ปราศจากโรคตาโดยประการทั้งปวง ๑ [๑๕๓] มีตาทิพย์ ๑ มีดวงตาคือปัญญาอย่างสูงสุด ๑ ข้าพเจ้าได้คุณเหล่านี้เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๒๔. อานิสงส์ของการถวายลูกกุญแจ)
[๑๕๔] ข้าพเจ้าได้ถวายลูกกุญแจในพระสุคต และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้ว ได้ลูกกุญแจคือญาณสำหรับเปิดประตูแห่งธรรม
(๒๕. อานิสงส์ของการถวายแม่กุญแจ)
[๑๕๕] ข้าพเจ้าได้ถวายแม่กุญแจ(ในพระสุคต) และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๒ ประการ คือเมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ เป็นคนมีความโกรธน้อย ๑ ไม่มีความคับแค้นใจ ๑
(๒๖. อานิสงส์ของการถวายสายโยก)
[๑๕๖] ข้าพเจ้าได้ถวายสายโยกในพระสุคต และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๕๗] คือข้าพเจ้าย่อมไม่หวั่นไหวในสมาธิ ๑ เป็นผู้ชำนาญในสมาธิ ๑ มีบริวารไม่แตกแยกกัน ๑ มีถ้อยคำที่เชื่อถือได้ทุกเมื่อ ๑ โภคสมบัติย่อมเกิดเมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ๑
(๒๗. อานิสงส์ของการถวายกระบอกเป่าควันไฟ)
[๑๕๘] ข้าพเจ้าได้ถวายกระบอกเป่าควันไฟในพระชินเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ [๑๕๙] คือข้าพเจ้ามีสติตั้งมั่น ๑ เส้นเอ็นต่อเนื่องกันดี ๑ ได้ที่นอนทิพย์ ๑ เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๒๘. อานิสงส์ของการถวายตะเกียง)
[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้ถวายตะเกียงในพระชินเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ [๑๖๑] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีตระกูล ๑ มีอวัยวะสมบูรณ์ ๑ มีปัญญาที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ ๑ ข้าพเจ้าได้คุณเหล่านี้เพราะผลแห่งกรรมของข้าพเจ้านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

(๒๙. อานิสงส์ของการถวายคนโทน้ำและผอบ)
[๑๖๒] ข้าพเจ้าได้ถวายคนโทน้ำและผอบในพระพุทธเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๑๐ ประการ [๑๖๓] คือครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ๑ พรั่งพร้อมด้วยความสุข ๑ มียศยิ่งใหญ่ ๑ มีการดำเนินชีวิตที่ดี ๑ มีร่างกายที่ได้สัดส่วน ๑ เป็นสุขุมาลชาติ ๑ ปราศจากเสนียดจัญไรทั้งปวง ๑ [๑๖๔] ได้คุณอันไพบูลย์ ๑ ได้รับการยกย่องนับถืออย่างมั่นคง ปราศจากความหวาดเสียว ๑ [๑๖๕] ได้คนโทน้ำและผอบ ๔ สี และช้างแก้ว ม้าแก้ว ๑ คุณของข้าพเจ้าเหล่านั้นไม่พินาศ นี้เป็นผลในการถวายคนโทน้ำและผอบ
(๓๐. อานิสงส์ของการถวายวัตถุขัดสนิม)
[๑๖๖] ข้าพเจ้าได้ถวายแปรงมือในพระพุทธเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๖๗] คือข้าพเจ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยลักษณะทั้งปวง ๑ มีอายุยืน ๑ มีปัญญา ๑ มีจิตตั้งมั่น ๑ มีร่างกายพ้นจากความยากลำบาก ทุกอย่างในกาลทุกเมื่อ ๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

(๓๑. อานิสงส์ของการถวายกรรไกร)
[๑๖๘] ข้าพเจ้าได้ถวายกรรไกรที่มีคมบางซึ่งลับไว้ดีในพระสงฆ์ แล้วได้ญาณเป็นเครื่องตัดกิเลส ซึ่งบริสุทธิ์ไม่มีอะไรเปรียบปาน
(๓๒. อานิสงส์ของการถวายแหนบ)
[๑๖๙] ข้าพเจ้าได้ถวายแหนบในพระสุคต และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด ย่อมได้ญาณเป็นเครื่องถอนกิเลส ซึ่งบริสุทธิ์ไม่มีอะไรเทียบเท่า
(๓๓. อานิสงส์ของการถวายยานัตถุ์)
[๑๗๐] ข้าพเจ้าได้ถวายยานัตถุ์ในพระสุคต และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ [๑๗๑] คือข้าพเจ้ามีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ มีสุตะ ๑ มีจาคะ ๑ มีขันติ ๑ มีปัญญา ๑
(๓๔. อานิสงส์ของการถวายตั่ง)
[๑๗๒] ข้าพเจ้าได้ถวายตั่งในพระสุคต และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๗๓] คือข้าพเจ้าย่อมเกิดในตระกูลสูง เป็นผู้มีโภคสมบัติมาก ๑ ชนทั้งปวงยำเกรงข้าพเจ้า ๑ ชื่อเสียงของข้าพเจ้าฟุ้งขจรไป ๑ [๑๗๔] บัลลังก์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมห้อมล้อมข้าพเจ้าเป็นนิตย์ ตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป ๑ ยินดีในการจำแนกทาน ๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

(๓๕. อานิสงส์ของการถวายฟูก)
[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้ถวายฟูกในพระสุคต และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๖ ประการ [๑๗๖] คือข้าพเจ้ามีร่างกายสมส่วนที่บุญกรรมก่อให้ เป็นผู้อ่อนโยน มีรูปงาม น่าดู ๑ ข้าพเจ้าย่อมได้ญาณอันประเสริฐ ๑ นี้เป็นผลแห่งการถวายฟูก [๑๗๗] ข้าพเจ้าย่อมได้ฟูกที่ยัดด้วยนุ่น อันวิจิตรด้วยรูปสัตว์ต่างๆ มีรูปราชสีห์ และเสือโคร่งเป็นต้น ด้วยผ้าไหม แกมดิ้นที่ปักเพชรพลอย ๑ ผ้าป่านอย่างดี และผ้ากัมพลต่างๆ จำนวนมาก ๑ [๑๗๘] ได้ผ้าปาวารที่มีขนอ่อนนุ่ม ผ้าทำด้วยขนสัตว์อ่อนนุ่มในที่ต่างๆ ๑ นี้เป็นผลแห่งการถวายฟูก [๑๗๙] เมื่อใดข้าพเจ้าระลึกถึงตน เมื่อใดข้าพเจ้าเป็นผู้รู้เดียงสา เมื่อนั้นข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่เปล่า มีฌานเป็นเตียงนอน ๑ นี้เป็นผลแห่งการถวายฟูก
(๓๖. อานิสงส์ของการถวายหมอน)
[๑๘๐] ข้าพเจ้าได้ถวายหมอนในพระชินเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๖ ประการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๑๘๑] คือข้าพเจ้าใช้หมอนที่ยัดด้วยขนสัตว์ หมอนที่ยัดด้วยเกสรบัวหลวง และหมอนที่ยัดด้วยจุรณจันทน์แดง หนุนศีรษะของข้าพเจ้าทุกเมื่อ ๑ [๑๘๒] ข้าพเจ้าทำญาณให้เกิดในอัฏฐังคิกมรรคอย่างประเสริฐ และในสามัญผล ๔ เหล่านั้น อยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ ๑ [๑๘๓] ข้าพเจ้าทำญาณให้เกิดในทาน ทมะ สัญญมะ อัปปมัญญา และรูปฌานเหล่านั้น อยู่ตลอดกาลทั้งปวง ๑ [๑๘๔] ข้าพเจ้าทำญาณให้เกิดในวัตร คุณ การปฏิบัติ อาจาระและกิริยา อยู่ตลอดกาลทั้งปวง ๑ [๑๘๕] ข้าพเจ้าทำญาณให้เกิดในการจงกรม ในความเพียรที่เป็นประธาน และในโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น อยู่ตามปรารถนา ๑ [๑๘๖] ข้าพเจ้าทำญาณให้เกิดในศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และในวิมุตติญาณทัสสนะเหล่านั้นแล้ว อยู่เป็นสุข ๑
(๓๗. อานิสงส์ของการถวายตั่งแผ่นกระดาน)
[๑๘๗] ข้าพเจ้าได้ถวายตั่งแผ่นกระดานในพระชินเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๒ ประการ [๑๘๘] คือข้าพเจ้าได้บัลลังก์อย่างประเสริฐ ทำด้วยทอง ทำด้วยแก้วมณี ๑ และทำด้วยงาช้างจำนวนมาก ๑ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแผ่นกระดาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

(๓๘. อานิสงส์ของการถวายตั่งวางเท้า)
[๑๘๙] ข้าพเจ้าได้ถวายตั่งวางเท้าในพระชินเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๒ ประการ คือข้าพเจ้าย่อมได้ยานพาหนะจำนวนมาก ๑ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งวางเท้า [๑๙๐] ทาสหญิงชาย ภรรยา และคนผู้อาศัยเหล่าอื่น บำรุงบำเรอข้าพเจ้าโดยชอบ ๑ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งวางเท้า
(๓๙. อานิสงส์ของการถวายน้ำมันทาเท้า)
[๑๙๑] ข้าพเจ้าได้ถวายน้ำมันทาเท้า(ในพระชินเจ้า) และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๙๒] คือข้าพเจ้าไม่มีความเจ็บไข้ ๑ มีรูปงาม ๑ มีเส้นประสาทรับรสได้เร็ว ๑ ได้ข้าวและน้ำ ๑ มีอายุยืนเป็นคำรบ ๕
(๔๐. อานิสงส์ของการถวายเนยใสและน้ำมัน)
[๑๙๓] ข้าพเจ้าได้ถวายเนยใสและน้ำมัน(ในพระชินเจ้า) และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๙๔] คือข้าพเจ้าเป็นคนมีกำลังแข็งแรง ๑ มีร่างกายสมบูรณ์ ๑ เป็นคนร่าเริงทุกเมื่อ ๑ มีบุตรได้ทุกเมื่อ ๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

และเป็นคนไม่เจ็บไข้ทุกเมื่อ ๑ นี้เป็นผลแห่งการถวายเนยใสและน้ำมัน
(๔๑. อานิสงส์ของการถวายน้ำบ้วนปาก)
[๑๙๕] ข้าพเจ้าได้ถวายน้ำบ้วนปาก(ในพระชินเจ้า) และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ [๑๙๖] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีลำคอบริสุทธิ์ ๑ มีเสียงไพเราะ ๑ ปราศจากโรคไอ ๑ ปราศจากโรคหืด ๑ กลิ่นดอกอุบลฟุ้งออกจากปากของข้าพเจ้าทุกเมื่อ ๑
(๔๒. อานิสงส์ของการถวายนมส้ม)
[๑๙๗] ข้าพเจ้าได้ถวายนมส้มอย่างดีในพระพุทธเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด ได้บริโภคอมตภัตคือกายคตาสติอันประเสริฐ
(๔๓. อานิสงส์ของการถวายน้ำผึ้ง)
[๑๙๘] ข้าพเจ้าได้ถวายน้ำผึ้งที่มีสีกลิ่นและรสในพระชินเจ้า และในหมู่สงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ได้วิมุตติรสที่ไม่มีรสอื่นเปรียบปานได้ ไม่เป็นอย่างอื่น
(๔๔. อานิสงส์ของการถวายรส)
[๑๙๙] ข้าพเจ้าได้ถวายรสตามเป็นจริงในพระพุทธเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับผล ๔ ประการ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า
(๔๕. อานิสงส์ของการถวายข้าวและน้ำ)
[๒๐๐] ข้าพเจ้าได้ถวายข้าวและน้ำในพระพุทธเจ้า และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๑๐ ประการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน

[๒๐๑] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีอายุยืน ๑ มีกำลัง ๑ เป็นนักปราชญ์ ๑ มีวรรณะสวยงาม ๑ มียศ ๑ มีสุข ๑ เป็นผู้ได้ข้าว ๑ เป็นผู้ได้น้ำ ๑ เป็นคนกล้า ๑ เป็นผู้มีปัญญา ๑ ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ได้คุณเหล่านี้
(๔๖. อานิสงส์ของการถวายธูป)
[๒๐๒] ข้าพเจ้าได้ถวายธูปในพระสุคต และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๑๐ ประการ [๒๐๓] คือเป็นผู้มีกลิ่นตัวหอมฟุ้ง ๑ มียศ ๑ มีปัญญาไว ๑ มีชื่อเสียง ๑ มีปัญญาเฉียบแหลม ๑ มีปัญญากว้างขวาง ๑ มีปัญญาร่าเริง ๑ มีปัญญาลึกซึ้ง ๑ [๒๐๔] มีปัญญาไพบูลย์ ๑ มีปัญญาแล่นไปเร็ว ๑ เพราะผลแห่งการถวายธูปนั้น ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ได้บรรลุนิพพานซึ่งเป็นสันติสุข ในกาลบัดนี้
(อานิสงส์ทั่วๆ ไป)
[๒๐๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๒๐๖] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๒. เสลเถราปทาน

[๒๐๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๕๗๙-๖๐๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=32&siri=393              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=32&A=7925&Z=8287                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=393              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=393&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5304              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=393&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5304                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap393/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :