ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๑๔. มหารถวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่รถทิพย์คันใหญ่เป็นพาหนะเกิดขึ้นแก่คนเลี้ยงโค
(พระมหาโมคคัลานเถระถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า) [๑๐๑๕] ท่านขึ้นรถเทียมด้วยม้า ๑,๐๐๐ ตัวเป็นพาหนะ งามวิจิตรอเนกประการ รุ่งเรืองเหมือนกับท้าววาสวปุรินททะ๑- ผู้เป็นจอมเทพซึ่งกำลังเสด็จไปใกล้พื้นที่อุทยานโดยลำดับ [๑๐๑๖] แคร่รถทั้งสองข้างของท่านก็ล้วนแล้วด้วยทองคำ ประกอบไม้เท้าแขนสองข้าง @เชิงอรรถ : @ เป็นชื่อของท้าวสักกะ ผู้เคยให้ที่พักอาศัยในกาลก่อน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน

ไม้คานทั้งสองสนิทดี มีลูกกรงจัดไว้ได้ระเบียบเรียบร้อย เหมือนช่างศิลป์บรรจงจัดไว้เสร็จแล้ว รถของท่านนี้รุ่งเรืองดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ [๑๐๑๗] รถคันนี้คลุมด้วยข่ายทองคำ วิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ มากมาย มีเสียงกึกก้องไพเราะน่าเพลิดเพลิน ทั้งมีรัศมีรุ่งโรจน์ รุ่งเรืองด้วยหมู่เทวดาถือแส้จามร [๑๐๑๘] ดุมรถเหล่านี้ประดับตรงกลางระหว่างล้อรถ ประดุจเนรมิตด้วยใจ ทั้งวิจิตรด้วยลวดลายเป็นร้อย สว่างไสวดังสายฟ้าแลบ [๑๐๑๙] รถคันนี้พราวไปด้วยลวดลายวิจิตรอเนกประการ และกงล้อใหญ่มีรัศมีตั้งพัน มีเสียงดังไพเราะน่าฟัง คล้ายดนตรีเครื่องห้าที่ขับประโคมแล้ว [๑๐๒๐] งอนรถร้อยไว้ด้วยแก้วมณี มีสัณฐานกลมดังดวงจันทร์ วิจิตร บริสุทธิ์ งดงาม ผุดผ่องทุกเมื่อ ประกอบด้วยลายทองเนียนสนิท งามล้ำดุจลายแก้วไพฑูรย์ [๑๐๒๑] ม้าเหล่านี้ผูกร้อยไว้ด้วยแก้วมณี มีสัณฐานกลมดังดวงจันทร์ สูงใหญ่ ว่องไว เปรียบเหมือนม้าใหญ่ที่เจริญเติบโต มีฤทธิ์มาก ทรงพลัง รวดเร็วมาก รู้ใจของท่าน วิ่งไปได้เร็วดังใจนึก [๑๐๒๒] ด้วยว่า ม้าทั้งหมดนี้อดทน เหยาะย่างไปด้วยเท้าทั้ง ๔ รู้ใจของท่าน วิ่งไปได้เร็วดังใจนึก มีกิริยาท่าทางนุ่มนวล ไม่ลำพอง วิ่งเรียบ ทำให้ผู้ขับขี่เบิกบานใจ เป็นยอดม้าทั้งหลาย [๑๐๒๓] บางคราวก็แกว่งขนหางไปมา บางคราวก็วิ่งเหยาะย่างเท้าไป บางคราวก็เหาะไป ทำเครื่องประดับที่เขาตกแต่งไว้เรียบร้อยให้กวัดแกว่ง เสียงเครื่องประดับเหล่านั้นดังไพเราะน่าฟัง คล้ายดนตรีเครื่องห้าที่ขับประโคมแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน

[๑๐๒๔] เสียงรถ เสียงเครื่องประดับทั้งหลาย เสียงกีบเท้าม้า เสียงม้าเสียดสีกัน และเสียงเทพผู้บันเทิงดังไพเราะ คล้ายดนตรีของคนธรรพ์ในสวนจิตรลดา [๑๐๒๕] เหล่าเทพอัปสรอยู่บนรถ มีดวงตาอ่อนโยนคล้ายดวงตาลูกเนื้อทราย มีขนตาดก มีใบหน้ายิ้มแย้ม พูดจาอ่อนหวาน มีร่างกายคลุมด้วยข่ายแก้วไพฑูรย์ มีผิวเนียน ซึ่งคนธรรพ์และเทวดาผู้สูงศักดิ์บูชาทุกเมื่อเป็นประจำ [๑๐๒๖] เทพอัปสรเหล่านั้นมีรูปโฉมเย้ายวนน่ายินดี ทรงพัสตราภรณ์สีแดงและสีเหลือง มีดวงตากลมโต มีนัยน์ตางามน่ารักยิ่งนัก เป็นผู้ดีมีสกุล มีเรือนร่างสวยงาม ยิ้มแย้มแจ่มใส ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ [๑๐๒๗] เธอเหล่านั้นสวมใส่ทองต้นแขน ทรงพัสตราภรณ์งดงาม มีเอวกลมกลึง ขาเรียวงาม ถันเต่งตึง นิ้วมือเรียวกลม พักตร์ผุดผ่อง น่าชม ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ [๑๐๒๘] เทพอัปสรบางพวกมีช้องผมงาม ล้วนเป็นสาวแรกรุ่น มีมวยผมแซมสลับด้วยแก้วทับทิมและพวงดอกไม้จัดแต่งไว้เรียบร้อย มีประกายพรายพราว เทพอัปสรเหล่านั้นมีกิริยาแช่มช้อย มีใจชื่นชมต่อท่าน ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ [๑๐๒๙] บางพวกมีมาลัยแก้วประดับเทริด และทับทรวงด้วยดอกปทุมและอุบล ทรงเครื่องประดับ อบด้วยแก่นจันทน์ เทพอัปสรเหล่านั้นมีกิริยาแช่มช้อย มีใจชื่นชมต่อท่าน ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน

[๑๐๓๐] เทพอัปสรเหล่านั้นประดับพวงมาลัย และทับทรวงด้วยดอกปทุมและดอกอุบล ทรงเครื่องประดับ อบด้วยแก่นจันทน์ ถึงพวกนางก็มีกิริยาแช่มช้อย มีใจชื่นชมต่อท่าน ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ [๑๐๓๑] บางพวกสว่างไสวไปทั่วทั้งสิบทิศด้วยเครื่องประดับคอ มือ เท้า และศีรษะ เหมือนพระอาทิตย์ในสารทกาลกำลังอุทัย [๑๐๓๒] ดอกไม้และเครื่องประดับที่แขนทั้งสองต้องลมก็ไหวพริ้ว เปล่งเสียงกังวานไพเราะจับใจ อันวิญญูชนทุกคนควรฟัง [๑๐๓๓] ท่านผู้เป็นจอมเทพ เสียงรถ ช้าง ม้า และดนตรีทั้งหลาย ซึ่งอยู่สองข้างพื้นอุทยานทำให้ท่านบันเทิงใจ ดุจพิณทั้งหลายมีรางและคันถือที่ประกอบไว้เรียบร้อยแล้ว [๑๐๓๔] เมื่อพิณมีเสียงไพเราะจับใจจำนวนมากเหล่านี้ ที่เทพอัปสรทั้งหลายบรรเลงอย่างซาบซึ้งตรึงใจยิ่งอยู่ เหล่านางอัปสรเทพกัญญา ผู้ล้วนชำนาญศิลป์ ต่างพากันร่ายรำอยู่บนดอกปทุมทั้งหลาย [๑๐๓๕] ในเวลาที่มีการขับร้อง การประโคม และการฟ้อนเหล่านี้ ประสานกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน เทพอัปสรพวกหนึ่งฟ้อนรำอยู่บนรถของท่านนี้ อีกพวกหนึ่งทางด้านนี้เปล่งรัศมีสว่างไสวทั้งสองด้าน [๑๐๓๖] ท่านนั้นผู้อันหมู่เทพดุริยางค์ปลุกเร้าให้เกิดปีติโสมนัส อันทวยเทพทั้งหลายบูชาอยู่ บันเทิงใจอยู่ ดังพระอินทร์ผู้ทรงวชิราวุธ ในเมื่อพิณมีเสียงไพเราะจับใจจำนวนมากเหล่านี้ ที่เทพอัปสรทั้งหลายบรรเลงอย่างซาบซึ้งตรึงใจยิ่งอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน

[๑๐๓๗] เมื่อชาติก่อน ท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำกรรมอะไรไว้ ท่านได้รักษาอุโบสถหรือว่า ได้ชอบใจการประพฤติธรรมและการสมาทานวัตรอะไร [๑๐๓๘] การที่ท่านมีอิทธานุภาพไพบูลย์รุ่งโรจน์ยิ่งกว่าหมู่เทพนี้ มิใช่ผลกรรมเล็กน้อยที่ท่านทำไว้แล้ว หรืออุโบสถที่ท่านประพฤติแล้วในชาติก่อน [๑๐๓๙] นี้เป็นผลของทาน หรือศีล หรือการกราบไหว้ของท่าน อาตมาถามท่านแล้ว โปรดบอกผลกรรมนั้นแก่อาตมาเถิด [๑๐๔๐] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า [๑๐๔๑] ข้าพเจ้าได้เห็นพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงชนะอินทรีย์แล้ว มีความเพียรไม่ย่อหย่อน ผู้สูงสุดแห่งนระทั้งหลาย เป็นอัครบุคคล เปิดประตูอมตนิพพาน เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ซึ่งมีบุญลักษณะนับร้อย [๑๐๔๒] ครั้นได้เห็นพระองค์ผู้ข้ามโอฆะได้แล้วเช่นกับกุญชร มีพระวรกายงดงามเช่นกับทองสิงคี๑- และทองชมพูนุท๒- พลันข้าพเจ้าก็มีใจหมดจดเพราะได้เห็นพระองค์ ผู้มีธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วเป็นธงนั่นเอง [๑๐๔๓] ข้าพเจ้านั้นมีใจไม่ติดข้องในอะไร ได้มอบถวายข้าวน้ำ จีวร และของที่สะอาด ประณีต มีรสชาติ เฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ในที่อยู่ของตนซึ่งดารดาษด้วยดอกไม้ [๑๐๔๔] ได้อังคาสพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นซึ่งทรงเป็นผู้สูงสุด กว่าเหล่ามนุษย์ ให้อิ่มหนำด้วยข้าว น้ำ จีวร ของเคี้ยว ของฉัน และของลิ้ม จึงรื่นรมย์อยู่ในสวรรค์อันเป็นเทวบุรี @เชิงอรรถ : @ ทองเนื้อสุก (ขุ.วิ.อ. ๑๐๔๒/๓๒๙) @ ทองวิเศษ (ขุ.วิ.อ. ๑๐๔๒/๓๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรค

[๑๐๔๕] โดยอุบายนี้ ข้าพเจ้าได้ถวายทานที่มีลิ่มสลักออกแล้วนี้๑- อันมีความบริสุทธิ์ ๓ ประการ ละร่างมนุษย์แล้ว รื่นรมย์อยู่ในเทวบุรี เสมอเหมือนกับพระอินทร์ [๑๐๔๖] ท่านพระมุนี บุคคลผู้มุ่งหวังอายุ วรรณะ สุขะ พละ และรูปที่ประณีต มีใจไม่ติดข้องในอะไรๆ พึงถวายข้าวและน้ำซึ่งปรุงดีแล้วให้มากแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า [๑๐๔๗] ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกหน้า ผู้ที่ประเสริฐกว่า หรือเสมอด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มี บรรดาผู้ควรบูชาทั้งหลาย พระพุทธเจ้าถึงความเป็นผู้ควรบูชาอย่างยิ่ง ของเหล่าชนผู้ต้องการบุญหวังผลอันไพบูลย์
มหารถวิมานที่ ๑๔ จบ
มหารถวรรคที่ ๕ จบ
รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มัณฑูกเทวปุตตวิมาน ๒. เรวตีวิมาน ๓. ฉัตตมาณวกวิมาน ๔. กักกฏกรสทายกวิมาน ๕. ทวารปาลวิมาน ๖. ปฐมกรณียวิมาน ๗. ทุติยกรณียวิมาน ๘. ปฐมสูจิวิมาน ๙. ทุติยสูจิวิมาน ๑๐. ปฐมนาควิมาน ๑๑. ทุติยนาควิมาน ๑๒. ตติยนาควิมาน ๑๓. จูฬรถวิมาน ๑๔. มหารถวิมาน
ภาณวารที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ บริจาคสมบัติของตนทั้งหมด (ขุ.วิ.อ. ๑๐๔๓/๓๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๓๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๑๒๕-๑๓๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=26&siri=64              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=2236&Z=2338                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=64              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=64&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=6631              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=64&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=6631                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :