ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๑๓. จูฬรถวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีรถทิพย์คันเล็กเป็นพาหนะเกิดขึ้นแก่สุชาตกุมาร
(พระมหากัจจายนเถระทูลถามสุชาตกุมารว่า) [๙๘๑] นายขมังธนู ท่านยืนลดธนูไม้แก่นอันยอดเยี่ยมอยู่ ท่านเป็นกษัตริย์หรือราชกุมาร หรือเป็นพรานป่า (สุชาตกุมารตรัสตอบว่า) [๙๘๒] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นราชโอรสของพระเจ้าอัสสกะ เที่ยวไปในป่า ภิกษุ ข้าพเจ้าขอบอกนามแก่ท่าน ชนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่า สุชาตะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๑๓. จูฬรถวิมาน

[๙๘๓] ข้าพเจ้าเที่ยวลัดเลาะไปยังป่าใหญ่ เสาะหาหมู่เนื้อ ไม่ทันได้เห็นเนื้อนั้นเลย แต่มาพบท่านเข้า จึงได้หยุดยืนอยู่ (พระมหากัจจายนเถระทูลว่า) [๙๘๔] พระองค์ผู้มีบุญมาก พระองค์เสด็จมาดีแล้ว ทั้งมิได้เสด็จมาร้าย ขอเชิญพระองค์ทรงตักน้ำจากภาชนะนี้ล้างพระบาทของพระองค์เถิด [๙๘๕] นี้น้ำเย็นน่าดื่มนำมาจากซอกเขา พระราชโอรส ขอเชิญพระองค์เสวยน้ำจากภาชนะนั้นแล้ว โปรดเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนพื้นที่ปูลาดไว้แล้ว (สุชาตกุมารตรัสว่า) [๙๘๖] พระมหามุนี วาจาของท่านงามจริงหนอ น่าฟัง ไม่มีโทษ มีแต่ประโยชน์ ไพเราะ ท่านมีปัญญากล่าวแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ [๙๘๗] ท่านยินดีอะไรจึงอยู่แต่ในป่า พระฤๅษีผู้องอาจ ข้าพเจ้าถามแล้ว ท่านโปรดบอกด้วยเถิด ข้าพเจ้าพิจารณาถ้อยคำของท่านแล้วจะประพฤติอย่างสม่ำเสมอ ตามครรลองแห่งธรรมอันนำมาซึ่งประโยชน์ (พระมหากัจจายนเถระทูลว่า) [๙๘๘] พระราชกุมาร อาตมภาพชอบการไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง การงดเว้นจากการลักขโมย การประพฤติผิดประเวณี และการดื่มน้ำเมา [๙๘๙] ความงดเว้น ความประพฤติชอบ ความเป็นพหูสูต ความกตัญญู ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมอันกุลบุตรพึงหวังในปัจจุบัน อันวิญญูชนพึงสรรเสริญแท้ [๙๙๐] พระราชโอรส พระองค์ทรงทราบเถิดว่า พระองค์ใกล้สวรรคต เหลืออีกไม่ถึง ๕ เดือน โปรดรีบเปลื้องตนเสียเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๑๓. จูฬรถวิมาน

(พระราชกุมารตรัสถามว่า) [๙๙๑] ข้าพเจ้านั้นพึงไปชนบทไหน ทำการงานอะไร และทำหน้าที่ของบุรุษอย่างไร หรือใช้วิชาอะไร จึงจะไม่แก่ไม่ตาย (พระมหากัจจายนเถระทูลว่า) [๙๙๒] พระราชโอรส ไม่มีสถานที่ที่สัตว์ไปแล้วไม่พึงแก่ไม่พึงตาย ทั้งการงาน วิชา และหน้าที่ของบุรุษ ที่สัตว์ทำแล้วจะไม่พึงแก่ไม่พึงตาย ก็ไม่มี [๙๙๓] แม้ชนทั้งหลายที่มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ถึงจะเป็นกษัตริย์ผู้ครองแว่นแคว้น มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มีเลย [๙๙๔] ถึงท่านผู้เป็นบุตรของชาวอันธกเวณฑุ ผู้ได้ศึกษาแล้ว มีความสามารถแกล้วกล้าประหารข้าศึกได้ แม้ท่านเหล่านั้นซึ่งเสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืน ก็ต้องถึงความสิ้นอายุสลายไป [๙๙๕] แม้เหล่าชนที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล ปุกกุสะ และชนประเภทอื่น โดยชาติกำเนิดซึ่งจะไม่แก่ไม่ตายไม่มี [๙๙๖] แม้เหล่าชนผู้ร่ายมนตร์พรหมจินดามีองค์ ๖ ๑- และเหล่าชนที่ใช้วิชาอื่นๆ จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มี [๙๙๗] อนึ่ง แม้ฤๅษีทั้งหลายผู้สงบ สำรวมตน บำเพ็ญตบะ ก็ยังต้องละทิ้งร่างกายไปตามกาลอันสมควร @เชิงอรรถ : @ มนตร์พรหมจินดามีองค์ ๖ คือ ๑. กัปปะ (ว่าด้วยวิธีเกี่ยวกับการบูชายัญ) ๒. พยากรณ์ (แสดงการแยกปกติ) @๓. นิรุตติ (แสดงรูปศัพท์ เติมปัจจัย) ๔. สิกขา (แสดงฐานกรณ์ และปตยนะของอักษร) ๕. ฉันโทวิจิติ @(แสดงลักษณะของฉันท์) ๖. โชติสัตถะ (แสดงลักษณะของดวงดาวที่บ่งถึงความเจริญหรือความเสื่อมของ @มนุษย์) (ขุ.วิ.อ. ๙๙๖/๓๐๙) เทียบ เวทางคศาสตร์ของพราหมณ์ มี ๖ อย่าง คือ ๑. ศึกษาวิธีออกเสียง @คำในพระเวทให้ถูกต้อง ๒. ไวยากรณ์ ๓. ฉันท์ ๔. เชยติส คือดาราศาสตร์ ๕. นิรุกติ คือกำเนิดของคำ @และ ๖. กัลปะ คือวิธีจัดทำพิธี (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๗๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๑๓. จูฬรถวิมาน

[๙๙๘] แม้พระอรหันต์ทั้งหลายผู้อบรมตนแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญและบาป ก็ยังต้องทอดทิ้งร่างกายนี้ไป (พระราชกุมารตรัสว่า) [๙๙๙] พระมหามุนี คาถาทั้งหลายของท่านเป็นสุภาษิต มีประโยชน์ ข้าพเจ้าโล่งใจ เพราะเนื้อความที่เป็นสุภาษิต และขอท่านโปรดเป็นที่พึ่งที่ระลึกของข้าพเจ้าด้วย (พระมหากัจจายนเถระทูลว่า) [๑๐๐๐] ขอพระองค์จงอย่าทรงถึงอาตมภาพว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเลย ขอจงทรงถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นศากยบุตร ผู้มีความเพียรยิ่งใหญ่ ผู้ซึ่งอาตมภาพถือเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว พระองค์นั้นแหละว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด (พระราชกุมารตรัสถามว่า) [๑๐๐๑] ท่านผู้นิรทุกข์ พระศาสดาของท่านพระองค์นั้น ประทับอยู่ ณ ชนบทไหน ถึงข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระชินเจ้าผู้หาบุคคลใดเสมอเหมือนมิได้ (พระเถระถวายพระพรว่า) [๑๐๐๒] พระศาสดาผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ทรงสมภพในราชวงศ์ ของพระเจ้าโอกกากราช ในชนบทด้านทิศตะวันออก พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว (พระราชกุมารตรัสว่า) [๑๐๐๓] ท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของท่าน ยังทรงพระชนม์อยู่ ถึงไกลหลายพันโยชน์ ข้าพเจ้าก็จะพึงไปเฝ้าใกล้ๆ ให้จงได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๑๓. จูฬรถวิมาน

[๑๐๐๔] ท่านผู้นิรทุกข์ แต่เพราะพระบรมศาสดาของท่าน เสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอถึงพระองค์ผู้มีความเพียรยิ่งใหญ่ ซึ่งเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก [๑๐๐๕] ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า กับทั้งพระธรรมที่ยอดเยี่ยม และพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเทวดา และมนุษย์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก [๑๐๐๖] ข้าพเจ้าของดเว้นจากการฆ่าสัตว์โดยพลัน ของดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ และไม่ดื่มน้ำเมา (พระเถระถามเทพบุตรนั้นว่า) [๑๐๐๗] รถใหญ่ของท่านนี้แผ่รัศมีไปโดยรอบกว้าง ๑๐๐ โยชน์ ดังดวงอาทิตย์มีรัศมีมากโคจรไปในท้องฟ้า ส่องแสงไปทั่วทุกทิศ [๑๐๐๘] รถใหญ่ของท่านนี้บุด้วยแผ่นทองคำโดยรอบ งอนรถนั้นวิจิตรด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณี แผ่นทองคำและแผ่นเงินมีลวดลายสวยงาม ประดิษฐ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ บรรจงสร้างไว้อย่างดี ทำให้แลดูงาม [๑๐๐๙] และปลายงอนรถนี้สร้างด้วยแก้วไพฑูรย์ แอกรถนี้วิจิตรด้วยแก้วทับทิม แม้ม้าเหล่านี้ก็ประดับด้วยทองและเงิน วิ่งได้เร็วทันใจ แลดูสง่างาม [๑๐๑๐] ท่านยืนสง่าอยู่บนรถทองคำเทียมด้วยม้า๑,๐๐๐ ตัวเป็นพาหนะ เปรียบดังท้าวสักกะจอมเทพ ท่านผู้มียศ อาตมภาพขอถามท่านผู้ชาญฉลาดว่า ยศอย่างโอฬารนี้ท่านได้มาอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๑๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๒. ปุริสวิมาน]

๕. มหารถวรรค ๑๔. มหารถวิมาน

(เทพบุตรตอบว่า) [๑๐๑๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชาติก่อนข้าพเจ้าเป็นราชโอรสนามว่าสุชาตะ และพระคุณเจ้าได้อนุเคราะห์ให้ข้าพเจ้าได้ตั้งอยู่ในความสำรวม [๑๐๑๒] อนึ่ง พระคุณเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าจะสิ้นอายุ ได้มอบพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดาด้วยกล่าวว่า สุชาตราชโอรส พระองค์จงทรงบูชาพระบรมสารีริกธาตุนี้ การบูชานั้นจักเป็นประโยชน์แก่พระองค์เอง [๑๐๑๓] ข้าพเจ้าได้ขวนขวายบูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้น ด้วยของหอมและดอกไม้ทั้งหลาย ครั้นละร่างมนุษย์แล้วได้เกิดในสวนนันทวัน [๑๐๑๔] มีเหล่านางอัปสรฟ้อนรำขับร้องห้อมล้อมรื่นรมย์อยู่ ในสวนนันทวันอย่างงามเลิศ น่ารื่นรมย์ ขวักไขว่ไปด้วยฝูงนกนานาชนิด
จูฬรถวิมานที่ ๑๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๑๒๐-๑๒๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=26&siri=63              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=2141&Z=2235                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=63              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=63&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=6377              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=63&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=6377                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :