ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๑๒. รัชชุมาลาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้สักการะเคารพพระพุทธเจ้า
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดาองค์หนึ่งว่า) [๘๒๖] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงดงามยิ่งนัก ขณะที่ดนตรีบรรเลงอยู่อย่างไพเราะ เธอกรีดกรายมือและเท้าฟ้อนรำได้อย่างกลมกลืน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

๔. มัญชิฏฐกวรรค ๑๒. รัชชุมาลาวิมาน

[๘๒๗] เมื่อเธอนั้นกำลังฟ้อนรำอยู่ เสียงทิพย์น่าฟัง น่ารื่นรมย์ใจ ย่อมเปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วนสัดของเธอ [๘๒๘] ทั้งกลิ่นทิพย์ หอมระรื่นชื่นใจ ก็ฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วนสัดของเธอ [๘๒๙] เมื่อเธอเยื้องไหวกายไปมา เสียงเครื่องประดับที่ช้องผม ก็เปล่งเสียงดังไพเราะ น่าฟัง ดังเสียงดนตรีเครื่องห้า [๘๓๐] อนึ่ง ต่างหูเพชรต้องลมสั่นไหว ก็ส่งเสียงดังไพเราะ น่าฟัง ดังเสียงดนตรีเครื่องห้า [๘๓๑] แม้มาลัยบนศีรษะของเธอมีกลิ่นหอมระรื่นชื่นใจ ก็ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ดุจต้นอุโลก [๘๓๒] เธอสูดดมกลิ่นหอมระรื่นนั้น ทั้งได้เห็นรูปที่มิใช่ของมนุษย์ เทพธิดา อาตมาถามแล้ว ขอเธอจงบอกเถิดว่า นี้เป็นผลของกรรมอันใดเล่า (เทพธิดานั้นตอบว่า) [๘๓๓] ชาติก่อน ดิฉันเกิดเป็นทาสีของพราหมณ์ในหมู่บ้านคยา มีบุญน้อย ด้อยวาสนา คนทั้งหลายรู้จักดิฉันในนามว่า รัชชุมาลา [๘๓๔] ดิฉันเสียใจอย่างหนัก เพราะถูกด่าว่า ถูกเฆี่ยนตีต่างๆ และถูกคุกคามจึงถือหม้อน้ำออกไป ทำเป็นเสมือนจะไปตักน้ำ [๘๓๕] ครั้นแล้วได้วางหม้อน้ำไว้ข้างทาง เข้าไปยังป่าชัฏโดยตัดสินใจว่า จักตายในป่านี้แหละ เราอยู่ไปจะมีประโยชน์อะไรเล่า [๘๓๖] จึงทำบ่วงให้แน่น แขวนเข้ากับต้นไม้ ทีนั้นก็เหลียวดูไปรอบทิศด้วยคิดเกรงว่า มีใครอยู่ในป่าไหมหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

๔. มัญชิฏฐกวรรค ๑๒. รัชชุมาลาวิมาน

[๘๓๗] ณ ที่นั้น ดิฉันได้เหลือบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมปราชญ์ ทรงเกื้อกูลสัตว์โลกทั้งมวล ผู้ไม่มีโรคภัย ประทับนั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ [๘๓๘] ดิฉันนั้นเกิดความสังเวช ขนลุกชูชันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คิดว่า ใครหนอมาอาศัยอยู่ในป่านี้ เป็นมนุษย์หรือเทวดากันแน่ [๘๓๙] เพราะได้เห็นพระพุทธองค์ผู้น่าเลื่อมใส ควรแก่การยินดี เสด็จออกจากป่า แล้วมาสู่ความไม่มีป่า(คือกิเลส) ใจของดิฉันก็เลื่อมใสด้วยคิดเห็นว่า ท่านผู้นี้คงจะมิใช่คนธรรมดาสามัญเป็นแน่ [๘๔๐] ท่านผู้นี้คุ้มครองอินทรีย์ได้แล้ว ยินดีในฌาน มีใจไม่วอกแวก จะต้องเป็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงเกื้อกูลสัตว์โลกทั้งมวลเป็นแน่ [๘๔๑] ท่านผู้นี้เป็นที่น่าเกรงขาม ผู้ซึ่งบุคคลที่ปราศจากความเพียรและความมาดหมาย ทำให้ทรงชื่นชมได้ยาก ดังราชสีห์ซึ่งเป็นสัตว์อยู่ถ้ำ น่าเกรงขาม ยากที่ใครจะทำให้ชื่นชมและยากที่จะได้พบเห็น เหมือนดอกมะเดื่อ [๘๔๒] พระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น ได้ตรัสเรียกดิฉันด้วยพระวาจาที่นุ่มนวลว่า รัชชุมาลาและรับสั่งกับดิฉันว่า เธอจงถึงตถาคตเป็นที่พึ่งเถิด [๘๔๓] ดิฉันฟังพระดำรัสอันปราศจากโทษ ประกอบด้วยประโยชน์ หมดจด ละเอียดอ่อน นุ่มนวลไพเราะ เป็นเครื่องบรรเทาความโศกเศร้าทั้งปวงเสียได้นั้น จึงเกิดจิตเลื่อมใส [๘๔๔] พระตถาคตผู้ทรงเกื้อกูลสัตว์โลกทุกหมู่เหล่า ทรงทราบว่า ดิฉันมีจิตเลื่อมใส มีใจบริสุทธิ์ ควรแก่การรับฟัง แล้วจึงได้ทรงพร่ำสอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

๔. มัญชิฏฐกวรรค ๑๒. รัชชุมาลาวิมาน

[๘๔๕] พระองค์ได้ตรัสสอนดิฉันว่า “นี้คือทุกข์ นี้คือเหตุเกิดทุกข์ นี้คือความดับทุกข์ และนี้คือทางสายตรงให้บรรลุอมตธรรม”๑- [๘๔๖] ดิฉันดำรงอยู่ในพระโอวาทของพระตถาคต ผู้ทรงอนุเคราะห์ เกื้อกูล ทรงฉลาดว่า “บุคคลได้บรรลุทางคือนิพพานซึ่งเป็นธรรมอันไม่ตาย สงบระงับ ไม่มีการจุติ” [๘๔๗] ดิฉันนั้นมีความภักดีมั่น ไม่หวั่นไหว เพราะมีความเห็นชอบเป็นปกติ ด้วยศรัทธาที่หยั่งรากลงแล้ว จึงได้เป็นธิดาที่แท้จริงของพระพุทธองค์ [๘๔๘] ดิฉันนั้นไม่มีภัย จึงเที่ยวรื่นเริงบันเทิงใจอยู่ ทัดทรงมาลัยทิพย์ ดื่มน้ำหวานที่ทำให้สดชื่น [๘๔๙] เหล่าดุริยเทพ ๖๐,๐๐๐ องค์ ช่วยกันปลุกเร้าดิฉันให้เกิดปีติโสมนัส ได้แก่ เทพบุตรมีนามว่า อาฬัมพะ คัคคระ ภีมะ สาธุวาที ปสังสยะ [๘๕๐] โปกขระและสุผัสสะ เหล่าเทพธิดาน้อยๆ มีนามว่า วีณา โมกขา นันทา สุนันทา โสณทินนา สุจิมหิตา [๘๕๑] อลัมพุสา มิสสเกสีและบุณฑริกา อนึ่ง เทพกัญญาอีกพวกหนึ่ง คือเอณีปัสสา สุผัสสา สุภัททาและมุทุวาทินี [๘๕๒] ผู้ประเสริฐกว่านางอัปสรทั้งหลาย ผู้มีหน้าที่ปลุกเร้าให้เกิดปีติโสมนัส เทวดาเหล่านั้น พอได้เวลาก็เข้ามาหาดิฉัน เสนอด้วยวาจาน่ายินดีว่า [๘๕๓] เอาเถอะ พวกเราจักฟ้อนรำ ขับร้อง บำเรอเธอให้รื่นรมย์ สถานที่ที่ดิฉันได้รับในบัดนี้ มิใช่สถานที่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำบุญไว้ แต่เป็นสถานที่สำหรับคนที่ได้ทำบุญไว้แล้วเท่านั้น @เชิงอรรถ : @ เว้นทางสุดโต่ง ๒ อย่างแล้วดำเนินตามมรรคอริยสัจจที่เป็นเหตุให้บรรลุอมตธรรม เพราะดำเนินไปตามทาง @ให้บรรลุนิพพาน (ขุ.วิ.อ. ๘๔๕/๒๔๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [๑. อิตถีวิมาน]

รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรค

[๘๕๔] ไม่มีความโศก น่าเพลิดเพลินเจริญใจ เป็นอุทยานกว้างใหญ่ของเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำบุญไว้ย่อมไม่มีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า [๘๕๕] ส่วนผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้วย่อมมีความสุขทั้งโลกนี้ และโลกหน้าแน่นอน ผู้ปรารถนาจะสถิตอยู่ร่วมกับเทพชั้นดาวดึงส์เหล่านั้น ควรทำกุศลไว้ให้มาก เพราะว่าเหล่าชนผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้ว ย่อมพรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติ บันเทิงอยู่ในสวรรค์ [๘๕๖] พระตถาคตทั้งหลาย ทรงอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากหนอ ทรงเป็นพระทักขิไณยบุคคล เป็นบ่อเกิดแห่งเนื้อนาบุญของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ที่ทายกทายิกาทั้งหลายทำสักการบูชาแล้ว จึงบันเทิงอยู่ในสวรรค์
รัชชุมาลาวิมานที่ ๑๒ จบ
รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มัญชิฏฐกวิมาน ๒. ปภัสสรวิมาน ๓. นาควิมาน ๔. อโลมวิมาน ๕. กัญชิกทายิกาวิมาน ๖. วิหารวิมาน ๗. จตุริตถีวิมาน ๘. อัมพวิมาน ๙. ปีตวิมาน ๑๐. อุจฉุวิมาน ๑๑. วันทนวิมาน ๑๒. รัชชุมาลาวิมาน
มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔ จบ
อิตถีวิมาน จบบริบูรณ์
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๙๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๙๕-๙๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=26&siri=50              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=1725&Z=1802                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=50              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=50&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=5023              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=50&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=5023                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/vv50/en/kiribathgoda



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :