ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต]

๑. มหากัสสปเถรคาถา

๑๘. จัตตาฬีสนิบาต
๑. มหากัสสปเถรคาถา
ภาษิตของพระมหากัสสปเถระ
(พระมหากัสสปเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๑๐๕๔] บุคคลไม่พึงมีหมู่คณะแวดล้อมเที่ยวไป เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ยากแก่การได้สมาธิ การสงเคราะห์ชนต่างๆ เป็นความลำบาก บุคคลเห็นโทษด้วยประการฉะนี้แล้ว ไม่พึงชอบใจการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ [๑๐๕๕] มุนีไม่พึงเกี่ยวข้องตระกูลทั้งหลาย เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ยากแก่การได้สมาธิ ผู้ขวนขวายเกี่ยวข้องกับตระกูลนั้น ย่อมติดในรส ละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้ [๑๐๕๖] ด้วยว่านักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น กล่าวการไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียดซึ่งถอนขึ้นได้ยาก เป็นสักการะที่คนชั่วละได้ยาก [๑๐๕๗] เราลงจากเสนาสนะแล้วได้เข้าไปบิณฑบาตยังนคร ได้เข้าไปยืนอยู่ใกล้ๆ บุรุษโรคเรื้อนซึ่งกำลังบริโภคอาหารนั้นด้วย ความเอื้อเฟื้อ [๑๐๕๘] บุรุษโรคเรื้อนนั้นใช้มือข้างที่หงิกงอ น้อมคำข้าวเข้ามาถวายเรา และเมื่อเขาใส่คำข้าวลง นิ้วมือของเขาเน่าเฟะก็ขาดตกลงในบาตรของเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต]

๑. มหากัสสปเถรคาถา

[๑๐๕๙] เราได้อาศัยฝาเรือนฉันคำข้าวนั้นอยู่ ขณะฉัน หรือฉันเสร็จแล้ว เราไม่มีความรังเกียจเลย [๑๐๖๐] ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นบริโภคปัจจัย ๔ นี้ คือ (๑) อาหารบิณฑบาตที่จะต้องลุกขึ้นยืนรับ (๒) บังสุกุลจีวร (๓) เสนาสนะคือโคนไม้ (๔) ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ภิกษุนั้นแหละควรอยู่ในทิศทั้ง ๔ ได้ [๑๐๖๑] ในปัจฉิมวัย ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นภูเขาย่อมลำบาก แต่กัสสปะซึ่งเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า มีสติสัมปชัญญะตั้งมั่น แข็งแรงด้วยกำลังฤทธิ์ ย่อมขึ้นได้สบาย [๑๐๖๒] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่ [๑๐๖๓] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่ ก็ดับไฟเสียได้ กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่ [๑๐๖๔] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่ [๑๐๖๕] ภูมิภาคเรียงรายไปด้วยแนวต้นกุ่ม น่ารื่นรมย์ใจ กึกก้อง ด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์ ล้วนแล้วด้วยภูเขา ย่อมทำเราให้ยินดี [๑๐๖๖] ภูเขาเหล่านั้นมีสีเขียวดุจเมฆ งดงาม มีน้ำเย็น ทรงความสะอาดไว้ ดารดาษด้วยแมลงค่อมทอง ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ [๑๐๖๗] ภูเขาเหล่านั้นเปรียบดังปราสาท เขียวชะอุ่มสูงตระหง่านเทียมเมฆ กึกด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์ ย่อมทำเราให้ยินดี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต]

๑. มหากัสสปเถรคาถา

[๑๐๖๘] ภูเขาเหล่านั้นที่ฝนตกรดใหม่ๆ มีพื้นน่ารื่นรมย์ ทั้งเหล่าฤๅษีก็อาศัยอยู่ เซ็งแซ่ด้วยเสียงนกยูงร้อง ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ [๑๐๖๙] สถานที่เช่นนั้นเหมาะแก่เราผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งเข้าฌาน เหมาะแก่เราผู้เป็นภิกษุมีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งประโยชน์ [๑๐๗๐] เหมาะแก่เราผู้เป็นภิกษุ มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งความผาสุก เหมาะแก่เรา ผู้คงที่ มีใจเด็ดเดี่ยว มั่นคง [๑๐๗๑] ภูเขาเหล่านั้นมีสีเสมอด้วยดอกผักตบ คล้ายกับว่าหมู่เมฆบนท้องฟ้าปกคลุม คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาชนิด ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ [๑๐๗๒] ภูเขาเหล่านั้นไม่มีหมู่คนพลุกพล่าน มีแต่หมู่เนื้ออาศัยอยู่ คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาชนิด ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ [๑๐๗๓] ภูเขาหินอันกว้างใหญ่ไพศาลมีน้ำไหลใสสะอาด มีฝูงค่างและฝูงเนื้อฟานคลาคล่ำ ดารดาษไปด้วยน้ำและสาหร่าย ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจยิ่งนัก [๑๐๗๔] ความยินดีด้วยดนตรีมีเครื่อง ๕ เช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่เราผู้มีจิตตั้งมั่น พิจารณาเห็นธรรมโดยชอบ [๑๐๗๕] ภิกษุไม่ควรทำงานก่อสร้างให้มาก พึงเว้นห่างหมู่ชน ไม่พึงขวนขวายเพื่อลาภผล ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนั้นเป็นผู้ขวนขวาย ในลาภผลและติดในรสอาหาร ย่อมละทิ้งประโยชน์ที่จะนำความสุขมาให้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต]

๑. มหากัสสปเถรคาถา

[๑๐๗๖] ภิกษุไม่พึงทำงานก่อสร้างให้มาก พึงเว้นห่างงานก่อสร้างนั้น ซึ่งไม่นำประโยชน์มาให้ตน เพราะกายจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เธอซึ่งประสบความลำบาก ย่อมไม่ประสบความสงบใจ [๑๐๗๗] ภิกษุไม่พิจารณาเห็นแม้ประโยชน์ตน ด้วยเพียงท่องบ่นพระพุทธวจนะ ย่อมเที่ยวชูคอ สำคัญตัวว่าประเสริฐกว่าเขา [๑๐๗๘] นรชนใดไม่ประเสริฐเป็นพาล สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมไม่สรรเสริญนรชนนั้น ผู้มีใจกระด้าง [๑๐๗๙] ส่วนผู้ใดเป็นคนประเสริฐกว่าเขาแต่ไม่ถือตัวว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา หวั่นไหวด้วยมานะสักอย่างหนึ่งใน ๙ อย่าง [๑๐๘๐] ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นนั่นแหละว่า มีปัญญา คงที่เช่นนั้น ตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย บำเพ็ญความสงบใจอยู่เนืองๆ [๑๐๘๑] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมห่างไกลจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน [๑๐๘๒] ก็เหล่าภิกษุมีหิริและโอตตัปปะตั้งมั่นโดยชอบทุกเมื่อ มีพรหมจรรย์งอกงาม ย่อมเป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว [๑๐๘๓] ภิกษุที่ยังมีจิตฟุ้งซ่าน กลับกลอก ถึงจะห่มผ้าบังสุกุล ก็ย่อมไม่งดงามด้วยผ้าบังสุกุลนั้น เหมือนวานรที่คลุมด้วยหนังราชสีห์ ไม่งดงาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต]

๑. มหากัสสปเถรคาถา

[๑๐๘๔] ส่วนภิกษุผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก มีปัญญารักษาตนรอด สำรวมอินทรีย์ ย่อมงดงามด้วยผ้าบังสุกุล เหมือนราชสีห์ที่ซอกภูเขาฉะนั้น [๑๐๘๕] อุบัติเทพมีฤทธิ์ มีเกียรติยศ มีจำนวนมากถึง ๑๐,๐๐๐ เหล่านี้ และหมู่พรหมทั้งหมดนั้น [๑๐๘๖] พากันมายืนประนมมือ นอบน้อมท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรผู้เป็นปราชญ์ เข้าฌานสมาบัติได้อย่างอุกฤษฏ์ มีจิตตั้งมั่น พร้อมกับเปล่งวาจาว่า [๑๐๘๗] ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน ที่พวกเราไม่รู้ว่า ท่านอาศัยอารมณ์ไรเล่า ถึงเข้าฌานอยู่ [๑๐๘๘] น่าอัศจรรย์จริงหนอ วิสัยเฉพาะตัวของท่านผู้รู้ทั้งหลายลึกซึ้งยิ่งนัก พวกเราผู้สามารถที่จะรู้วิสัยแม้ที่ละเอียด ดุจนายขมังธนูผู้ยิงขนทรายได้มาประชุมกันแล้ว ก็ยังรู้ไม่ได้ [๑๐๘๙] เพราะได้เห็นท่านพระสารีบุตรผู้ควรแก่การบูชา ซึ่งหมู่ทวยเทพบูชาแล้วอย่างนั้นในครั้งนั้น ท่านพระกัปปินะจึงได้มีความยิ้มแย้ม [๑๐๙๐] ทั่วพุทธอาณาเขต ยกเว้นพระมหามุนีเสีย เราได้เป็นผู้ประเสริฐในธุดงคคุณ ไม่มีใครเทียบเท่าเรา [๑๐๙๑] เราปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ปลงภาระที่หนักเสียได้แล้ว ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๘. จัตตาฬีสนิบาต]

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต

[๑๐๙๒] พระโคดมผู้ทรงพระคุณหาประมาณมิได้ มีพระทัยน้อมไปในเนกขัมมะ สลัดออกจากภพ ๓ ไม่ทรงติดจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เหมือนดอกบัวไร้มลทินไม่ติดน้ำฉะนั้น [๑๐๙๓] พระองค์เป็นจอมปราชญ์ มีสติปัฏฐานเป็นพระศอ มีศรัทธาเป็นพระหัตถ์ มีปัญญาเป็นพระเศียร ทรงมีพระปรีชามาก ทรงปฏิบัติดับกิเลสและกองทุกข์ได้ตลอดไป
จัตตาฬีสนิบาต จบบริบูรณ์
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. พระมหากัสสปเถระรูปเดียวเท่านั้น และในจัตตาฬีสนิบาตมี ๔๐ คาถา ฉะนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๑๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๕๑๒-๕๑๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=26&siri=398              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=8215&Z=8302                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=398              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=398&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=10928              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=398&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=10928                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/thag/thag.18.00.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/thag/thag.18.00x.olen.html https://suttacentral.net/thag18.1/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :