ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๑. ปฐมปัณณาสก์ ๑. กัมมกรณวรรค ๑. วัชชสูตร

พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต
__________________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. ปฐมปัณณาสก์
๑. กัมมกรณวรรค
หมวดว่าด้วยวิธีการลงโทษ
๑. วัชชสูตร
ว่าด้วยโทษ
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๒ ประการนี้ โทษ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. โทษที่ให้ผลในภพนี้ ๒. โทษที่ให้ผลในภพหน้า โทษที่ให้ผลในภพนี้ เป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๕๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๑. กัมมกรณวรรค ๑. วัชชสูตร

คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นพระราชารับสั่งให้จับโจรผู้มักประพฤติชั่วแล้วให้ ลงโทษทัณฑ์นานาชนิด คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้ตะบอง บ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหู และจมูกบ้าง ทำให้เป็นภาชนะสำหรับรองหม้อน้ำข้าวบ้าง ทำให้เกลี้ยงเกลาเหมือน สังข์บ้าง ทำให้มีปากเหมือนปากราหูบ้าง ทำให้มีพวงมาลัยไฟบ้าง ทำให้มือมีไฟลุก โชติช่วงบ้าง ทำให้เป็นเกลียวหนังเนื้อทรายบ้าง ทำให้นุ่งหนังตนเองเหมือนนุ่งผ้าขี้ริ้ว บ้าง ทำให้ยืนกวางบ้าง ทำให้เหมือนเนื้อติดเบ็ดบ้าง ทำให้เป็นชิ้นเท่ากหาปณะบ้าง ทำให้เป็นที่รับน้ำด่างบ้าง ทำให้หมุนเหมือนกลอนเหล็กบ้าง ทำให้เป็นตั่งที่ทำด้วย ฟางบ้าง ราดด้วยน้ำมันร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง ให้นอนหงายบนหลาวทั้งที่ยัง มีชีวิตอยู่บ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง เขามีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะกรรมชั่วเช่นใดเป็นเหตุ พระราชารับสั่งให้จับ โจรผู้มักประพฤติชั่ว แล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิด คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัด ศีรษะด้วยดาบบ้าง ก็ถ้าเราเองพึงทำกรรมชั่วเช่นนั้น พระราชาพึงรับสั่งให้จับเรา แล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิดอย่างนี้ คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะด้วย ดาบบ้าง” เขากลัวโทษที่ให้ผลในภพนี้ ไม่เที่ยวแย่งชิงสิ่งของของคนอื่นๆ นี้เรียกว่า โทษที่ให้ผลในภพนี้ โทษที่ให้ผลในภพหน้า เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ผลของกายทุจริตเป็นผลที่ เลวทราม เป็นทุกข์ ซึ่งบุคคลจะต้องได้รับในภพหน้าแน่นอน ผลของวจีทุจริตเป็นผล ที่เลวทราม เป็นทุกข์ ซึ่งบุคคลจะต้องได้รับในภพหน้าแน่นอน ผลของมโนทุจริตเป็น ผลที่เลวทราม เป็นทุกข์ ซึ่งบุคคลจะต้องได้รับในภพหน้าแน่นอน ก็ถ้าเราพึง ประพฤติชั่วทางกาย ประพฤติชั่วทางวาจา ประพฤติชั่วทางใจ ความชั่วบางอย่างนั้น พึงเป็นเหตุให้เราหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก” เขากลัวโทษ ที่ให้ผลในภพหน้า จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เรียกว่า โทษที่ให้ผลใน ภพหน้า ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๒ ประการนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๕๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๑. กัมมกรณวรรค ๒. ปธานสูตร

เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักกลัวโทษที่ให้ผล ในภพนี้ จักกลัวโทษที่ให้ผลในภพหน้า จักเป็นคนขลาดต่อโทษ มีปกติเห็นโทษโดย ความเป็นของน่ากลัว” เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล บุคคลผู้ขลาดต่อโทษ มีปกติเห็นโทษโดยความเป็นของน่ากลัว พึงหวังเหตุแห่งความหลุดพ้นจากโทษ๑- ทั้งมวลได้
วัชชสูตรที่ ๑ จบ
๒. ปธานสูตร
ว่าด้วยความเพียรที่เกิดได้ยาก
[๒] ภิกษุทั้งหลาย ความเพียรที่เกิดได้ยากในโลก ๒ ประการนี้ ความเพียร ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ความเพียรของพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนเพื่อทำให้เกิดเครื่อง นุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ๒. ความเพียรของผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อสละทิ้ง อุปธิ๒- ทั้งปวง ความเพียรที่เกิดได้ยากในโลก ๒ ประการนี้แล บรรดาความเพียร ๒ ประการนี้ ความเพียรเพื่อสละทิ้งอุปธิทั้งปวงเป็นธรรม ยอดเยี่ยม เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักเริ่มตั้ง ความเพียรเพื่อสละทิ้งอุปธิทั้งปวง ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
ปธานสูตรที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ เหตุแห่งความหลุดพ้นจากโทษ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑/๔) @ อุปธิ หมายถึงเบญจขันธ์ กิเลส และอภิสังขาร (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒/๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๕๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๑. กัมมกรณวรรค ๔. อตปนียสูตร

๓. ตปนียสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเดือดร้อน
[๓] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเดือดร้อน ๒ ประการนี้ ธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเดือดร้อน ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. ทำแต่กายทุจริต ๒. ไม่ได้ทำกายสุจริต ๑. ทำแต่วจีทุจริต ๒. ไม่ได้ทำวจีสุจริต ๑. ทำแต่มโนทุจริต ๒. ไม่ได้ทำมโนสุจริต เขาเดือดร้อนอยู่ว่า “เราทำแต่กายทุจริต ไม่ได้ทำกายสุจริต ทำแต่วจีทุจริต ไม่ได้ทำวจีสุจริต ทำแต่มโนทุจริต ไม่ได้ทำมโนสุจริต” ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นเหตุแห่งความเดือดร้อน ๒ ประการนี้แล
ตปนียสูตรที่ ๓ จบ
๔. อตปนียสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ไม่เป็นเหตุแห่งความเดือดร้อน
[๔] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ไม่เป็นเหตุแห่งความเดือดร้อน ๒ ประการนี้ ธรรมที่ไม่เป็นเหตุแห่งความเดือดร้อน ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. ทำแต่กายสุจริต ๒. ไม่ได้ทำกายทุจริต ๑. ทำแต่วจีสุจริต ๒. ไม่ได้ทำวจีทุจริต ๑. ทำแต่มโนสุจริต ๒. ไม่ได้ทำมโนทุจริต เขาย่อมไม่เดือดร้อนอยู่ว่า “เราทำแต่กายสุจริต ไม่ได้ทำกายทุจริต ทำแต่วจีสุจริต ไม่ได้ทำวจีทุจริต ทำแต่มโนสุจริต ไม่ได้ทำมโนทุจริต” ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ไม่เป็นเหตุแห่งความเดือดร้อน ๒ ประการนี้แล
อตปนียสูตรที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๖๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๑. กัมมกรณวรรค ๕. อุปัญญาตสูตร

๕. อุปัญญาตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้ทรงรู้สัพพัญญุตญาณ
[๕] ภิกษุทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรม ๒ ประการ ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ความไม่สันโดษเพียงแค่กุศลธรรมทั้งหลาย ๒. ความไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร ภิกษุทั้งหลาย เราเริ่มตั้งความเพียรไม่ย่อหย่อนว่า “จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่พึง บรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียร” สัมโพธิญาณนั้นเราบรรลุได้ด้วยความไม่ประมาท ธรรม เป็นแดนเกษมจากโยคะที่ยอดเยี่ยม๑- เราก็บรรลุได้ด้วยความไม่ประมาท แม้ถ้าเธอ ทั้งหลายพึงตั้งความเพียรไม่ย่อหย่อนว่า “จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุด้วย เรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่ หยุดความเพียร” ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๒- อันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอัน ยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้ เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักเริ่มตั้งความ เพียรไม่ย่อหย่อนว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เนื้อและเลือดใน สรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ยังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความ เพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียร” ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
อุปัญญาตสูตรที่ ๕ จบ
@เชิงอรรถ : @ ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะที่ยอดเยี่ยม หมายถึงอรหัตตผลหรือนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๕/๗) @ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลหรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์ @(องฺ.ทุก.อ. ๒/๕/๗, ม.ม.อ. ๒/๘๒/๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๖๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๑. กัมมกรณวรรค ๗. กัณหสูตร

๖. สัญโญชนสูตร
ว่าด้วยกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์
[๖] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้ ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. การเห็นธรรมที่เป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์โดยความพอใจ ๒. การเห็นธรรมที่เป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์โดยความเบื่อหน่าย บุคคลผู้เห็นธรรมที่เป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์โดยความพอใจอยู่ย่อมละราคะ โทสะ และโมหะไม่ได้ เรากล่าวว่า “บุคคลยังละราคะ โทสะ และโมหะไม่ได้ ย่อมไม่พ้นจาก ชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) อุปายาส(ความคับ แค้นใจ) และย่อมไม่พ้นจากทุกข์”๑- บุคคลผู้เห็นธรรมที่เป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์โดยความเบื่อหน่ายอยู่ย่อมละราคะ โทสะ และโมหะได้ เรากล่าวว่า “บุคคลละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว ย่อมพ้นจาก ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส และย่อมพ้นจากทุกข์” ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้แล
สัญโญชนสูตรที่ ๖ จบ
๗. กัณหสูตร
ว่าด้วยธรรมฝ่ายดำ
[๗] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมฝ่ายดำ ๒ ประการนี้ ธรรมฝ่ายดำ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. อหิริกะ (ความไม่อายบาป) ๒. อโนตตัปปะ (ความไม่กลัวบาป) ภิกษุทั้งหลาย ธรรมฝ่ายดำ ๒ ประการนี้แล
กัณหสูตรที่ ๗ จบ
@เชิงอรรถ : @ หมายถึงทุกข์ในวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้น (องฺ.ทุก.อ. ๒/๖/๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๖๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๑. กัมมกรณวรรค ๙. จริยสูตร

๘. สุกกสูตร
ว่าด้วยธรรมฝ่ายขาว
[๘] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมฝ่ายขาว ๒ ประการนี้ ธรรมฝ่ายขาว ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. หิริ (ความอายบาป) ๒. โอตตัปปะ (ความกลัวบาป) ภิกษุทั้งหลาย ธรรมฝ่ายขาว ๒ ประการนี้แล
สุกกสูตรที่ ๘ จบ
๙. จริยสูตร
ว่าด้วยจริยธรรมคุ้มครองโลก
[๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมฝ่ายขาว ๒ ประการย่อมคุ้มครองโลก๑- ธรรมฝ่ายขาว ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. หิริ ๒. โอตตัปปะ ธรรมฝ่ายขาว ๒ ประการนี้แล หากไม่คุ้มครองโลก ชาวโลกไม่พึงบัญญัติว่า “มารดา น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู” โลกจักถึงความสำส่อน กันเหมือนพวกแพะ แกะ ไก่ หมู สุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอกฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะเหตุที่ธรรมฝ่ายขาว ๒ ประการนี้คุ้มครองโลก ฉะนั้น ชาวโลกจึงบัญญัติคำว่า “มารดา น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู”
จริยสูตรที่ ๙ จบ
@เชิงอรรถ : @ โลก ในที่นี้หมายถึงสัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ (องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๙/๑๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๖๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. อธิกรณวรรค

๑๐. วัสสูปนายิกสูตร
ว่าด้วยการเข้าพรรษา
[๑๐] ภิกษุทั้งหลาย การเข้าพรรษา ๒ อย่างนี้ การเข้าพรรษา ๒ อย่าง อะไรบ้าง คือ ๑. การเข้าพรรษาต้น ๒. การเข้าพรรษาหลัง ภิกษุทั้งหลาย การเข้าพรรษา ๒ อย่างนี้แล
วัสสูปนายิกสูตรที่ ๑๐ จบ
กัมมกรณวรรคที่ ๑ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. วัชชสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. ตปนียสูตร ๔. อตปนียสูตร ๕. อุปัญญาตสูตร ๖. สัญโญชนสูตร ๗. กัณหสูตร ๘. สุกกสูตร ๙. จริยสูตร ๑๐. วัสสูปนายิกสูตร


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๕๗-๖๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=20&siri=29              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=1267&Z=1373                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=247              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=20&item=247&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=20&item=247&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i247-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an02/an02.005.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an02/an02.009.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an02/an02.009.irel.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/02/an02-005.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/02/an02-009.html https://suttacentral.net/an2.1-10/en/sujato https://suttacentral.net/an2.1-10/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :