ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๓. อานันทวรรค ๑. ฉันนสูตร

๓. อานันทวรรค
หมวดว่าด้วยพระอานนท์
๑. ฉันนสูตร
ว่าด้วยฉันนปริพาชก
[๗๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่อฉันนะเข้าไปหาท่านพระ อานนท์ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ แม้พวกท่านก็บัญญัติ การละราคะ(ความกำหนัด) โทสะ(ความคิดประทุษร้าย) และโมหะ(ความหลง)หรือ” พระอานนท์ตอบว่า “ผู้มีอายุ พวกเราเองบัญญัติการละราคะ โทสะ และโมหะ” ฉันนปริพาชกเรียนถามว่า “ผู้มีอายุ ก็พวกท่านเห็นโทษในราคะอย่างไร จึง บัญญัติการละราคะ เห็นโทษในโทสะอย่างไรจึงบัญญัติการละโทสะ และเห็นโทษใน โมหะอย่างไรจึงบัญญัติการละโมหะ” พระอานนท์ตอบว่า บุคคลผู้มีราคะ ถูกราคะครอบงำ มีจิตถูกราคะกลุ้มรุม ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เสวยทุกขโทมนัสทางใจบ้าง เมื่อละราคะได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดเพื่อ เบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่เสวยทุกขโทมนัสทางใจ บุคคลผู้มีราคะ ถูกราคะครอบงำ มีจิตถูกราคะกลุ้มรุม ย่อมประพฤติกาย- ทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เมื่อละราคะได้แล้ว เขาย่อมไม่ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต บุคคลผู้มีราคะ ถูกราคะครอบงำ มีจิตถูกราคะกลุ้มรุม ย่อมไม่รู้ชัดตามความ เป็นจริงถึงประโยชน์ตนบ้าง ประโยชน์ผู้อื่นบ้าง ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เมื่อละ ราคะได้แล้ว เขาย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงถึงประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๙๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๓. อานันทวรรค ๑. ฉันนสูตร

ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ราคะนั่นเองทำให้เป็นเหมือนคนตาบอด เป็นเหมือนคนไม่มี ดวงตา ทำให้ไม่รู้อะไร มีปัญญามืดบอด เป็นไปในฝ่ายความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อ พระนิพพาน บุคคลผู้มีโทสะ ฯลฯ บุคคลผู้มีโมหะ ถูกโมหะครอบงำ มีจิตถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เสวยทุกขโทมนัสทางใจบ้าง เมื่อละโมหะได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดเพื่อ เบียดเบียนตน ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่เสวยทุกขโทมนัสทางใจ บุคคลผู้มีโมหะ ถูกโมหะครอบงำ มีจิตถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมประพฤติกาย- ทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เมื่อละโมหะได้แล้ว เขาย่อมไม่ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต บุคคลผู้มีโมหะ ถูกโมหะครอบงำ มีจิตถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมไม่รู้ชัดตามความ เป็นจริงถึงประโยชน์ตนบ้าง ประโยชน์ผู้อื่นบ้าง ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เมื่อ ละโมหะได้แล้ว เขาย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงถึงประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย โมหะนั่นเองทำให้เป็นเหมือนคนตาบอด เป็นเหมือนคนไม่ มีดวงตา ทำให้ไม่รู้อะไร มีปัญญามืดบอด เป็นไปในฝ่ายความคับแค้น ไม่เป็นไป เพื่อพระนิพพาน พวกเราเห็นโทษในราคะเช่นนี้แลจึงบัญญัติการละราคะ เห็นโทษในโทสะเช่นนี้ จึงบัญญัติการละโทสะ และเห็นโทษในโมหะเช่นนี้จึงบัญญัติการละโมหะ ฉันนปริพาชกเรียนถามว่า “ผู้มีอายุ มรรคปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ และ โมหะนั้นมีอยู่หรือ” พระอานนท์ตอบว่า “มรรคปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ และโมหะนั้นมีอยู่” ฉันนปริพาชกเรียนถามต่อไปอีกว่า “ผู้มีอายุ มรรคปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ และโมหะนั้น เป็นอย่างไร” พระอานนท์ตอบว่า “คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า : ๒๙๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๓. อานันทวรรค ๒. อาชีวกสูตร

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ ๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ ๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ ๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ ผู้มีอายุ นี้แลคือมรรคปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ และโมหะนั้น” ฉันนปริพาชกกล่าวว่า “ผู้มีอายุ มรรคปฏิปทาเพื่อละราคะ โทสะ และโมหะนั่น ดีจริงหนอ และควรที่จะไม่ประมาท”
ฉันนสูตรที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๒๙๑-๒๙๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=20&siri=116              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=5667&Z=5721                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=511              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=20&item=511&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=5189              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=20&item=511&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=5189                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i511-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an03/an03.071.than.html https://suttacentral.net/an3.71/en/sujato https://suttacentral.net/an3.71/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :