ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นตัณหา สูตรเล็ก
ปัญหาธรรมของท้าวสักกะ
[๓๙๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของมิคารมาตา ณ บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า @เชิงอรรถ : @ ความหมายของชื่อครูทั้ง ๖ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๖ ข้อ ๓๑๒ (จูฬสาโรปมสูตร) หน้า ๓๔๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๒๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด๑- มีความเกษม จากโยคะสูงสุด๒- ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด๓- มีที่สุดอันสูงสุด๔- เป็นผู้ประเสริฐ กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรม ทั้งปวง๕- ไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควร ยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณา เห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งใน เวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลาย กำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลาย นั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อ ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตนและรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๖-’ @เชิงอรรถ : @ มีความสำเร็จสูงสุด (อัจจันตนิฏฐะ) หมายถึงผ่านที่สุดกล่าวคือความสิ้นไปและเสื่อมไปเพราะไม่มีธรรม @เครื่องกำเริบอีก ได้แก่ ถึงพระนิพพาน (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๐/๓๘๓, @ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๖๖) @ มีความเกษมจากโยคะสูงสุด หมายถึงบรรลุธรรมที่สูงสุดอันปราศจากโยคะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา @หมายถึงบรรลุพระนิพพาน ชื่อว่าผู้มีความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕, @องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๐/๑๒) @ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด หมายถึงอยู่จบพรหมจรรย์ แล้วมีสภาวะที่ไม่เสื่อมอีก (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, @ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๐๖๖) @ มีที่สุดอันสูงสุด หมายถึงมีที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๖๖) @และดู องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๐/๔๐๖ @ ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ เป็นธรรมที่ไม่ควรยึดมั่นด้วยอำนาจตัณหา @และทิฏฐิ เพราะเป็นภาวะไม่ดำรงอยู่โดยอาการที่บุคคลจะยึดถือได้ (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕-๒๐๖) @ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๒๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร

จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว ด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปจากที่นั้นนั่นเอง
พระมหาโมคคัลลานะทดสอบท้าวสักกะ
[๓๙๑] สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มี พระภาค ได้มีความคิดว่า “ท้าวสักกะนั้นทราบเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มี พระภาคแล้วจึงยินดี หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี ทางที่ดี เราควรรู้เรื่องที่ท้าว สักกะจอมเทพทรงทราบเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วยินดี หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี” จากนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้อันตรธานจากปราสาทของมิคารมาตา ในบุพพารามไปปรากฏในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขน ออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพกำลังเอิบอิ่มพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยทิพยดนตรี ๕๐๐ ชนิด ในสวนดอกบุณฑริกล้วน ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหา- โมคคัลลานะมาแต่ไกล จึงรับสั่งให้หยุดบรรเลงทิพยดนตรีทั้ง ๕๐๐ ชนิดไว้ เสด็จ เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้วตรัสว่า “นิมนต์เข้ามาเถิด ท่านพระมหา- โมคคัลลานะ ผู้นิรทุกข์ ขอต้อนรับ นานๆ ท่านจะมีเวลามา ณ ที่นี้ นิมนต์นั่งบน อาสนะที่ปูลาดไว้เถิด”๑- @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๔๔/๑๘๔, องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๕๖/๑๐๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๒๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ส่วนท้าวสักกะจอมเทพ ได้ทรงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงทูล ถามท้าวสักกะจอมเทพว่า “ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงความหลุดพ้นด้วย ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ท่านอย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้อาตมภาพก็จักขอมี ส่วนในการฟังกถานั้น” [๓๙๒] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก ทั้งหน้าที่ส่วนตัวและหน้าที่ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ พระภาษิตใดที่ข้าพเจ้าฟังแล้วก็ลืมเสียเร็วพลัน พระภาษิตนั้น ท่านฟังดี เรียนดี ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรได้ ประชิดกันแล้ว ในสงครามนั้นพวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ ข้าพเจ้าชนะ เทวาสุร- สงครามเสร็จสิ้นแล้ว กลับจากสงครามนั้นแล้วได้สร้างเวชยันตปราสาท เวชยันต- ปราสาทมี ๑๐๐ ชั้น ในชั้นหนึ่งๆ มีกูฏาคาร(เรือนมียอด) ๗๐๐ หลัง ใน กูฏาคารหลังหนึ่งๆ มีนางอัปสร ๗ องค์ นางอัปสรองค์หนึ่งๆ มีเทพธิดาบำเรอ ๗ องค์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านปรารถนาเพื่อจะชมสถานที่น่ารื่นรมย์แห่ง เวชยันตปราสาทหรือไม่” ท่านพระมหาโมคคัลลานะรับโดยดุษณีภาพ
พระเถระใช้นิ้วเท้าเขย่าเวชยันตปราสาท
[๓๙๓] ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช นิมนต์ท่าน พระมหาโมคคัลลานะให้นำหน้าเข้าไปยังเวชยันตปราสาท พวกเทพธิดาผู้บำเรอ ของท้าวสักกะเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกลก็เกรงกลัวละอายอยู่ จึงเข้า สู่ห้องเล็กของตนๆ ดุจหญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้วก็เกรงกลัวละอายอยู่ ฉะนั้น จากนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช เมื่อนิมนต์ให้ท่านพระ มหาโมคคัลลานะเที่ยวเดินชมไปในเวชยันตปราสาท ได้ตรัสว่า “ท่านพระมหา- โมคคัลลานะ ขอท่านจงดูสถานที่ที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้ ขอท่านจง ดูสถานที่ที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๒๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “สถานที่ที่น่ารื่นรมย์ของท่านท้าวโกสีย์นี้ งดงาม เหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน แม้มนุษย์ทั้งหลายเห็น สถานที่ที่น่ารื่นรมย์ใดๆ แล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘งามจริง ดุจสถานที่ที่น่า รื่นรมย์ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์” ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดว่า “ท้าวสักกะนี้เป็นผู้ ประมาทอยู่มากนัก ทางที่ดี เราควรให้ท้าวสักกะนี้สังเวช” จึงบันดาลอิทธา- ภิสังขาร๑- ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทเขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหว ทันใดนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเวสวัณมหาราช และพวกเทพชั้นดาวดึงส์ มีความ ประหลาดมหัศจรรย์ใจ กล่าวกันว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่ เคยปรากฏ พระสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดทิพยพิภพ เขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหวได้” ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะทราบว่า “ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีความ สลดจิตขนลุกแล้ว” จึงทูลถามว่า “ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความหลุด พ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่ออย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้อาตมภาพก็จักขอมี ส่วนเพื่อฟังกถานั้น”
ข้อปฏิบัติเพื่อความสิ้นตัณหา
[๓๙๔] ท้าวสักกะจึงตรัสว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้า จะเล่าถวาย ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้ว จึงได้ ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ทูลถามว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มี @เชิงอรรถ : @ อิทธาภิสังขาร หมายถึงการแสดงฤทธิ์ ในที่นี้พระมหาโมคคัลลานเถระ เข้าอาโปกสิณแล้วอธิษฐานว่า @“ขอให้โอกาส(พื้นที่)อันเป็นที่ตั้งเฉพาะปราสาท จงเป็นน้ำ” แล้วใช้หัวแม่เท้ากดลงที่ช่อฟ้าปราสาท ปราสาทนั้น @สั่นสะท้านหวั่นไหวไปมา เหมือนบาตรวางไว้บนหลังน้ำ เอานิ้วเคาะที่ขอบบาตร ก็หวั่นไหวไปมา อยู่นิ่งไม่ @ได้ฉะนั้น (ม.มู.อ. ๒/๓๙๓/๒๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๒๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร

ความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มี ที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ เมื่อข้าพเจ้าทูลถาม อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ‘จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ ควรยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนด รู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความ สลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็น ความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนา ทั้งหลายนั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน และรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ อีกต่อไป’ จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย ท่านพระมหาโมคคัลลานะ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความหลุดพ้นด้วยธรรม เป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ข้าพเจ้าอย่างนี้” ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะชื่นชมยินดีภาษิตของท้าวสักกะแล้ว อันตรธานจากหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ครั้งนั้น พวกเทพธิดาผู้บำเรอท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อท่านพระมหา- โมคคัลลานะจากไปแล้วไม่นาน ได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทพว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ พระสมณะนั้นเป็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพระองค์หรือ หนอ” ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “เหล่าเทพธิดาผู้นิรทุกข์ พระสมณะนั้นไม่ใช่พระผู้มี- พระภาคผู้เป็นพระศาสดาของเรา เป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นเพื่อนพรหมจารี ของเรา” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๒๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร

พวกเทพธิดาเหล่านั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นลาภของพระองค์ พระองค์ได้ดีแล้วที่ได้พระสมณะผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เป็นเพื่อน พรหมจารีของพระองค์ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพระองค์คงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเป็นอัศจรรย์เป็นแน่”
ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
[๓๙๕] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ‘พระองค์เป็นผู้ตรัสความหลุดพ้นด้วยธรรม เป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่จอมเทพผู้มีศักดามากผู้ใดผู้หนึ่งบ้าง หรือหนอ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ เรารู้อยู่ จะเล่าให้ฟัง ท้าวสักกะ จอมเทพเข้ามาหาเรา ถวายอภิวาทแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ตรัส ถามเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุ จึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษม จากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ เมื่อท้าวสักกะนั้นถามอย่างนี้แล้ว เราตอบว่า ‘จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว อย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่ง ธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอ ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความ สลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๒๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๘. มหาตัณหาสังขยสูตร

ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน และรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจ อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความ เกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐ กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย โมคคัลลานะ เรารู้อยู่ว่า ‘เราเป็นผู้กล่าวความหลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้น ตัณหาโดยย่อแก่ท้าวสักกะจอมเทพ อย่างนี้” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะมีใจยินดีชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬตัณหาสังขยสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๔๒๐-๔๒๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=12&siri=37              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=7915&Z=8040                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=433              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=433&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=5203              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=433&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=5203                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i433-e1.php# https://suttacentral.net/mn37/en/sujato https://suttacentral.net/mn37/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :