ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๕. จูฬสัจจกสูตร
ว่าด้วยสัจจกะ นิครนถบุตร สูตรเล็ก
อนุสาสนีของพระพุทธเจ้า
[๓๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ในสมัยนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรอาศัยอยู่ในกรุงเวสาลี เป็นนักโต้วาทะ พูดยกตน ว่าเป็นบัณฑิต ชนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นผู้มีลัทธิดี เขากล่าวปราศรัยในที่ชุมชน ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า @เชิงอรรถ : @ ประตูแห่งอมตะ หมายถึงอริยมรรค (ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕) @ ธรรมอันเป็นแดนเกษม หมายถึงอรหัตตผล (ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๘๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

“สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ ผู้ปฏิญญาตน ว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อโต้ตอบวาทะกับเรา แล้วจะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ เราไม่เห็นเลยแม้แต่คนเดียว หากเราโต้ตอบวาทะกับต้นเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้ต้นเสานั้นโต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้อง ประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงมนุษย์เลย” ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี สัจจกะ นิครนถบุตรเดินเที่ยวเล่นอยู่ในกรุงเวสาลีได้เห็น ท่านพระอัสสชิเดินอยู่แต่ไกล จึงเข้าไปหา ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ถามว่า “ท่านพระอัสสชิ พระ สมณโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระสมณโคดมที่เป็นไปใน พวกสาวกโดยส่วนมากเป็นอย่างไร” ท่านพระอัสสชิตอบว่า “อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวก ทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่เป็นไปในสาวกทั้งหลายโดย ส่วนมากเป็นอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่อัตตา เวทนาไม่ใช่อัตตา สัญญาไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายไม่ใช่อัตตา วิญญาณไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา’ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่เป็นไปในสาวกทั้งหลาย โดยส่วนมากเป็นอย่างนี้” สัจจกะ นิครนถบุตรกล่าวว่า “ท่านพระอัสสชิ ข้าพเจ้าได้ฟังว่าพระสมณโคดม มีวาทะอย่างนี้ ชื่อว่าฟังเรื่องที่ผิด ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะพบพระสมณโคดมนั้น และสนทนากันสักครั้ง ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะปลดเปลื้องพระสมณโคดมจาก ทิฏฐิชั่วนั้นได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๘๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

สัจจกะ นิครนถบุตรชวนเจ้าลิจฉวีไปฟังการโต้วาทะ
[๓๕๔] สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ พระองค์ ทรงประชุมกันอยู่ใน หอประชุมด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปหาเจ้าลิจฉวี เหล่านั้น แล้วได้กล่าวกับเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยันตามคำที่ พระอัสสชิซึ่งเป็นพระสาวกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงยืนยันแล้วแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักฉุด กระชากลากพระสมณโคดมไปมาด้วยคำต่อคำ ให้เป็นเหมือนบุรุษผู้มีกำลังจับแกะ มีขนยาวที่ขนแล้วฉุดกระชากลากไปมาฉะนั้น หรือให้เป็นเหมือนคนงานในโรงสุรา ซึ่งกำลังวางเสื่อลำแพนสำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึกแล้วจับที่มุมลาก ฟาดไปฟาดมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักสลัดฟัดฟาดพระสมณโคดมด้วยคำต่อคำ ให้เป็น เหมือนบุรุษผู้มีกำลังซึ่งเป็นนักเลงจับถ้วยที่หูแล้วสลัดฟัดฟาดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้า จักเล่นงานพระสมณโคดมเหมือนนักกีฬาเล่นกีฬาซักป่าน ให้เป็นเหมือนช้างที่มีวัย ล่วง ๖๐ ปี ลงสู่สระโบกขรณีที่มีน้ำลึกแล้วเล่นกีฬาซักป่านฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวี ทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนา กับพระสมณโคดม” บรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “พระสมณโคดมจักกล่าว แย้งถ้อยคำของท่านสัจจกะได้อย่างไร ที่แท้ ท่านสัจจกะกลับจะกล่าวแย้งถ้อยคำของ พระสมณโคดม” บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านสัจจกะเป็นอะไร จึงกล่าวแย้งพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคได้ ที่แท้ พระผู้มีพระภาคกลับจะทรงกล่าวแย้งถ้อยคำของท่านสัจจกะ” ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรมีเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ พระองค์ห้อมล้อม ได้เข้าไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๙๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

[๓๕๕] สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกำลังจงกรมอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรมแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ บัดนี้ พระสมณโคดมอยู่ ณ ที่ไหน พวกข้าพเจ้าปรารถนาจะพบพระสมณโคดม พระองค์นั้น” ภิกษุเหล่านั้นจึงตอบว่า “อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไป สู่ป่ามหาวันประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง” ลำดับนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีจำนวนมากเข้าไปสู่ป่ามหาวัน ถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร แม้เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร บางพวกทูลปราศรัยแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือ แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน ในสำนักของพระผู้มี พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร
ปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร
[๓๕๖] สัจจกะ นิครนถบุตรครั้นนั่งแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าพเจ้าขอถามท่านพระโคดมสักหน่อยหนึ่ง ถ้าท่านพระโคดมจะเปิดโอกาสที่จะ ตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามปัญหาใด ก็ถามเถิด” “ท่านพระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร คำสั่งสอนของท่านพระโคดมที่เป็น ไปในพระสาวกทั้งหลาย โดยส่วนมากเป็นอย่างไร” “เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเราที่เป็นไปในสาวก ทั้งหลายโดยส่วนมากเป็นอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่อัตตา เวทนาไม่ใช่อัตตา สัญญาไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายไม่ใช่อัตตา วิญญาณไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลาย ทั้งปวงไม่ใช่อัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา’ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเราที่เป็นไปในสาวกทั้งหลายโดยส่วนมากเป็นอย่างนี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๙๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

“ท่านพระโคดม ขอให้ข้าพเจ้าแสดงอุปมาถวาย” “ขอเชิญท่านแสดงอุปมาเถิด” “ท่านพระโคดม พืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชพันธุ์ไม้เหล่านั้นทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน อยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้ หรือการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลต้องทำด้วยกำลัง การ งานเหล่านั้นทั้งหมดบุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ แม้ฉันใด บุรุษบุคคลนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีรูปเป็นอัตตา มีเวทนาเป็นอัตตา มีสัญญาเป็น อัตตา มีสังขารเป็นอัตตา มีวิญญาณเป็นอัตตา ต้องดำรงอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงจะประสบบุญหรือบาปได้” “อัคคิเวสสนะ ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตา ของเรา สัญญาเป็นอัตตาของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็น อัตตาของเรามิใช่หรือ” “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้นจริง และหมู่ชนเป็นอันมากก็กล่าว อย่างนั้นว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตาของเรา สัญญาเป็นอัตตา ของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็นอัตตาของเรามิใช่หรือ” “อัคคิเวสสนะ หมู่ชนเป็นอันมากจักช่วยอะไรท่านได้ เชิญท่านยืนยันคำของ ท่านเถิด” “ท่านพระโคดม เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตาของเรา สัญญาเป็นอัตตาของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็นอัตตาของเรา” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๙๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

ทรงย้อนถามสัจจกะ นิครนถบุตรด้วยอุปมา
[๓๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบ ถามท่านในข้อนี้แล ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านควรตอบอย่างนั้น ท่านเข้าใจความ ข้อนั้นว่าอย่างไร พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก๑- แล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิ- โกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ มิใช่หรือ” สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้ รับมูรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่ง แคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควร เนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ แม้แต่คณะผู้ปกครองเหล่านี้ คือ เจ้าวัชชี เจ้ามัลละก็มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ทำไมพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธจะไม่มี อำนาจเล่า พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วนั้น ต้องมีอำนาจแน่ และ ควรจะมีอำนาจ” “อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ นั้น ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า ‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเสีย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ นั้น ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า ‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย’ หรือ” @เชิงอรรถ : @ มูรธาภิเษก ในที่นี้หมายถึงพิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในการพระราชพิธีราชาภิเษก (พจนานุกรม @ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๖๕๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๙๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรว่า “อัคคิเวสสนะ บัดนี้ ท่านจงตอบ ไม่ใช่เวลาที่ท่านจะนิ่ง ผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุถึง ๓ ครั้งแล้วไม่ตอบ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็น ๗ เสี่ยงในที่นั้นนั่นเอง” ขณะนั้น ยักษ์วชิรปาณี๑- ถือกระบองเพชรมีไฟลุกโชติช่วงยืนอยู่ในอากาศ เบื้องบนสัจจกะ นิครนถบุตรคิดว่า “หากสัจจกะ นิครนถบุตรนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาอันชอบธรรม ถึง ๓ ครั้งแต่ไม่ยอมตอบ เราจะทุบศีรษะของเขาให้แตกเป็น ๗ เสี่ยง ณ ที่นี้แล” พระผู้มีพระภาคกับสัจจกะ นิครนถบุตรเท่านั้นที่มองเห็นยักษ์วชิรปาณีนั้น ในทันใดนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรตกใจกลัวจนขนพองสยองเกล้า แสวงหาพระผู้มี พระภาคเป็นที่ต้านทาน เป็นที่ป้องกัน เป็นที่พึ่ง ได้กราบทูลว่า “พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจะตอบ ณ บัดนี้”
หลักไตรลักษณ์
[๓๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้น ว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า ‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ” สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ” “ท่านจงมนสิการ๒- เถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในเวทนานั้นว่า ‘เวทนาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ” @เชิงอรรถ : @ ยักษ์วชิรปาณี ในที่นี้หมายถึงท้าวสักกเทวราช (ม.มู.อ. ๒/๓๕๗/๑๘๕) @ มนสิการ ในที่นี้หมายถึงการพิจารณาไตร่ตรองแล้วทรงจำไว้ในใจ (ม.มู.อ. ๒/๓๕๘/๑๘๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๙๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ” “ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สัญญาเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในสัญญานั้นว่า ‘สัญญาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ” “ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ” “ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในสังขาร ทั้งหลายเหล่านั้นว่า ‘สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่าง นี้เลยหรือ” “ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ” “ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วิญญาณเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในวิญญาณนั้นว่า ‘วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ” “ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ” “ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ” “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ” “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๙๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขารทั้งหลาย ฯลฯ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร วิญญาณ เที่ยง หรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ” “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ” “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืน ทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปแล้วจึงอยู่ มีบ้างหรือ” “จะพึงมีได้อย่างไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ” “อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรามิใช่หรือ” “จะไม่มีอย่างไรได้ ข้อนี้ต้องเป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
สัจจกะ นิครนถบุตรยอมจำนน
[๓๕๙] “อัคคิเวสสนะ บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่า มีต้นตรง กำลังรุ่น ยังไม่ออกปลี เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น แล้วตัดยอด ลิดใบออก เขาไม่พบ แม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้จากที่ไหน แม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกเรา ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง ท่านได้กล่าว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๙๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

ปราศรัยนี้ในที่ชุมชนในกรุงเวสาลีว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ ที่ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โต้ตอบวาทะกับ เราแล้วจะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ เราไม่เห็นเลยแม้แต่คนเดียว หากเราโต้ตอบวาทะกับต้นเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้เสานั้น โต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง มนุษย์เลย’ อัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด หยดจากหน้าผากลงไปยัง ผ้าห่มแล้วตกลงที่พื้น ส่วนหยาดเหงื่อในกายของเราในบัดนี้ไม่มีเลย” ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเปิดพระวรกายอันมีพระฉวีวรรณดุจทองคำในที่ ชุมชนนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรถึงกับนั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ [๓๖๐] ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีนามว่าทุมมุขะเห็นว่า สัจจกะ นิครนถบุตรนั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม ขอให้ข้าพเจ้าแสดงอุปมาถวาย” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ทุมมุขะ ขอเชิญท่านแสดงอุปมาเถิด” เจ้าลิจฉวีนั้นกราบทูลว่า “ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม มีสระโบกขรณีอยู่สระหนึ่ง ในสระนั้นมีปูอยู่ตัวหนึ่ง พวกเด็กชายหญิงเป็นจำนวนมากออกจากบ้านหรือนิคมนั้น ไปถึงสระโบกขรณีนั้นแล้วก็ลงไปจับปูขึ้นจากน้ำ วางไว้บนบก ปูนั้นส่ายก้ามไปทางใด เด็กเหล่านั้นก็คอยต่อย ตี ทุบก้ามปูนั้นด้วยไม้บ้าง ด้วยกระเบื้องบ้าง เมื่อปูนั้น ก้ามหักหมดแล้ว ก็ไม่อาจลงสู่สระโบกขรณีนั้นเหมือนก่อนได้ แม้ฉันใด ทิฏฐิที่เป็น เสี้ยนหนาม ที่เข้าใจผิด และที่กวัดแกว่งบางอย่างของสัจจกะ นิครนถบุตร ถูกพระองค์ หัก โค่น ลบ ล้างเสียแล้ว บัดนี้ สัจจกะ นิครนถบุตรก็จะไม่มาใกล้พระองค์เพื่อ โต้วาทะอีก ฉันนั้นเหมือนกัน” เมื่อเจ้าลิจฉวีนามว่าทุมมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรจึงพูดว่า “เจ้าทุมมุขะ ท่านหยุดเถิด หยุดเถิด ท่านพูดมากนัก ข้าพเจ้าไม่ได้พูดกับท่าน ข้าพเจ้าพูดกับท่านพระโคดมต่างหาก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๙๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

พระสาวกผู้ปฏิบัติตามคำสอน
[๓๖๑] (สัจจกะ นิครนถบุตร) ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็กราบทูลว่า “ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ คำพูดนี้เป็นของข้าพเจ้าและของพวกสมณพราหมณ์เหล่าอื่น หยุดไว้ก่อน ถ้อยคำนั้นอาจเป็นแต่คำเพ้อเจ้อ พูดเพ้อกันไป ด้วยเหตุเพียงเท่าไร สาวกของท่านพระโคดมจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน ทำถูกตามโอวาท หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใดๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้อง เชื่อใครอีกในคำสอนของศาสดา(ของตน)” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์ นั้นทั้งหมด คือ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใด อย่างหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล สาวกของเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูก ตามโอวาท หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใดๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีก ในคำสอนของศาสดา(ของตน)” “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ” “อัคคิเวสสนะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์นั้นทั้งหมด คือ รูปอย่าง ใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือ ละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน ชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เห็นเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง ... เห็นสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... เห็นสังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๙๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

... เห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา’ จึงหลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็น อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม ๓ ประการ คือ ๑. ความเห็นอันยอดเยี่ยม ๒. ข้อปฏิบัติอันยอดเยี่ยม ๓. ความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม เมื่อมีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว๑- ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตรัสรู้ พระผู้มี พระภาคพระองค์นั้นทรงฝึกพระองค์แล้ว๒- ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึกตน พระผู้มี พระภาคพระองค์นั้นทรงสงบแล้ว๓- ทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นทรงข้ามพ้นแล้ว๔- ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ข้ามพ้น พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นปรินิพพานแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน”
สัจจกะ นิครนถบุตรถวายภัตตาหาร
[๓๖๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรได้กราบ ทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนอง วาจา ได้เข้าใจพระดำรัสของท่านพระโคดมว่า ‘ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำ ของตน’ บุรุษมาปะทะช้างซับมันเข้าก็ดี พบกองไฟที่กำลังลุกโชนก็ดี พบงูพิษที่มี พิษร้ายก็ดี ยังพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่พอมาพบท่านพระโคดมเข้าแล้ว ไม่มีใคร เอาตัวรอดได้เลย ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจา ได้เข้าใจ @เชิงอรรถ : @ ตรัสรู้ หมายถึงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙) @ ฝึกพระองค์ หมายถึงปราศจากกิเลส (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๖๑/๒๕๕) @ สงบ หมายถึงสงบระงับกิเลสทั้งปวงได้ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙) @ ข้ามพ้น หมายถึงข้ามพ้นโอฆะ ๔ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๙๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๕. จูฬสัจจกสูตร

พระดำรัสของท่านพระโคดมว่า ‘ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน’ ขอท่าน พระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับนิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้เถิด” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ [๓๖๓] ลำดับนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรง รับนิมนต์แล้ว จึงบอกพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า “เจ้าลิจฉวีทั้งหลายโปรดฟังข้าพเจ้า ข้าพเจ้านิมนต์ท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไว้แล้วเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น พวกท่าน จะนำอาหารใดมาเพื่อข้าพเจ้า จงเลือกอาหารที่ควรแก่ท่านพระโคดมเถิด” เมื่อล่วงราตรีแล้ว เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้นำภัตตาหารประมาณ ๕๐๐ สำรับ ไปให้แก่สัจจกะ นิครนถบุตร เขาจึงให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีต ในอาราม ของตนเสร็จแล้วจึงให้ทูลบอกเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เวลานี้เป็นเวลาอันควร ภัตตาหารจัดเตรียมสำเร็จแล้ว” ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงครองอันตรวาสกถือ บาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังอารามของสัจจกะ นิครนถบุตร แล้วประทับนั่งบน พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว จากนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรได้นำของขบฉันอันประณีต ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำด้วยมือตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาค เสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรจึงเลือกนั่ง ณ ที่ สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่าแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ขอบุญและ ผลบุญในทานครั้งนี้ จงมีเพื่อความสุขแก่ทายกทั้งหลายเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ บุญและผลบุญในทานนี้อาศัย ทักขิไณยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับท่าน จักมีแก่ทายกทั้งหลาย บุญและผลบุญในทานนี้อาศัยทักขิไณยบุคคลที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับเรา จักมีแก่ท่าน”
จูฬสัจจกสูตรที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๐๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๘๘-๔๐๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=12&siri=35              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=7323&Z=7551                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=392              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=392&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=4481              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=392&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=4481                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i392-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.035.than.html https://suttacentral.net/mn35/en/sujato https://suttacentral.net/mn35/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :