ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร
ว่าด้วยกองทุกข์ สูตรเล็ก
[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ ในแคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วสิ้นกาลนานอย่างนี้ว่า ‘โลภะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต โทสะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต โมหะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ เมื่อเป็นเช่นนั้น บางคราว โลภธรรมยังครอบงำจิตของ ข้าพระองค์ไว้ได้บ้าง โทสธรรมยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้บ้าง โมหธรรม ยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้บ้าง ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ธรรมอะไร เล่าที่ข้าพระองค์ยังละไม่ได้ในภายใน ซึ่งเป็นเหตุให้โลภธรรมยังครอบงำจิตของ ข้าพระองค์ไว้ได้บ้าง โทสธรรมยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้บ้าง โมหธรรมยัง ครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้บ้างเป็นครั้งคราว” [๑๗๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหานามะ ธรรมในภายในนั้นแล เธอยัง ละไม่ได้ ซึ่งเป็นเหตุให้โลภธรรมครอบงำจิตของเธอไว้ได้บ้าง โทสธรรมครอบงำจิต ของเธอไว้ได้บ้าง โมหธรรมครอบงำจิตของเธอไว้ได้บ้างเป็นครั้งคราว ถ้าเธอจักละ ธรรมในภายในนั้นได้แล้ว เธอก็จะไม่พึงอยู่ครองเรือน ไม่พึงบริโภคกาม แต่เพราะ เธอละธรรมในภายในนั้นยังไม่ได้ เธอจึงยังอยู่ครองเรือน ยังบริโภคกาม [๑๗๗] แม้หากอริยสาวกเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘กาม ทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่’ ก็ตาม แต่ อริยสาวกนั้นก็ยังไม่บรรลุฌานที่มีปีติและสุข๑- ที่ปราศจากกามทั้งหลาย ปราศจาก @เชิงอรรถ : @ ฌานที่มีปีติและสุข หมายถึงปฐมฌานและทุติยฌาน (ม.มู.อ. ๑/๑๗๗/๓๘๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

อกุศลธรรมทั้งหลาย หรือยังไม่บรรลุธรรมอื่นที่สงบกว่าฌานทั้ง ๒ นั้น ดังนั้น เขาจึงชื่อว่า จะไม่เวียนมาหากามทั้งหลายอีกก็หาไม่๑- แต่เมื่อใด อริยสาวกเห็น ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่’ อริยสาวกนั้น ย่อมบรรลุฌาน ที่มีปีติและสุขที่ปราศจากกามทั้งหลาย ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือบรรลุ ธรรมอื่นที่สงบกว่าฌานทั้ง ๒ นั้น เมื่อนั้น เขาจึงชื่อว่าย่อมไม่เวียนมาหากาม ทั้งหลายอีก มหานามะ ก่อนการตรัสรู้ แม้เมื่อครั้งเราเป็นโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ เราก็ เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่’ ก็ตาม แต่เราก็ยังไม่บรรลุฌาน ที่มีปีติและสุขที่ปราศจากกามทั้งหลาย ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือยังไม่ บรรลุธรรมอื่นที่สงบกว่าฌานทั้ง ๒ นั้น ดังนั้นเราจึงปฏิญญาว่าชื่อว่าจะไม่เวียนมา หากามทั้งหลายก็หาไม่ แต่เมื่อใด เราเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ อย่างนี้ว่า ‘กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษ ยิ่งใหญ่’ เราได้บรรลุฌานที่มีปีติและสุขที่ปราศจากกามทั้งหลาย ปราศจากอกุศล- ธรรมทั้งหลาย หรือบรรลุธรรมอื่นที่สงบกว่าฌานทั้ง ๒ นั้น เมื่อนั้น เราจึง ปฏิญญาว่า ไม่เวียนมาหากามทั้งหลายอีก
คุณแห่งกาม
[๑๗๘] มหานามะ อะไรเล่า เป็นคุณแห่งกามทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด @เชิงอรรถ : @ ไม่เวียนมาหากามทั้งหลายอีกก็หาไม่ หมายถึงยังจะต้องกลับมาหากามทั้งหลายได้อีก เพราะไม่มี @สมุจเฉทปหาน (ละได้เด็ดขาด) ด้วยมรรค ๒ (อนาคามิมรรคและอรหัตตมรรค) ทั้งนี้เพราะพระอริยสาวก @แม้จะบรรลุมรรค ๒ (โสดาปัตติมรรคและสกทาคามิมรรค) แล้ว แต่ก็ยังไม่บรรลุญาณหรือมรรคเบื้องสูง @(ม.มู.อ. ๑/๑๗๗/๓๘๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ ๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ... ๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ... ๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด กามคุณมี ๕ ประการนี้แล การที่สุข โสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการ นี้ชื่อว่าเป็นคุณ แห่งกามทั้งหลาย
โทษแห่งกาม
อะไรเล่า เป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย คือ กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วยการประกอบศิลปะใด คือ ด้วยการนับ คะแนน การคำนวณ การนับจำนวน การไถ การค้าขาย การเลี้ยงโค การยิงธนู การรับราชการ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง อดทนต่อความหนาว ตรากตรำ ต่อความร้อน เดือดร้อนเพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน (และ)ตายเพราะความหิวกระหาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็น กองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น ย่อมไม่สัมฤทธิผล เขาเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเพ้อว่า ‘ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราก็ไม่มีผลเลยหนอ’ แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น ย่อมสัมฤทธิผล เขากลับเสวยทุกข์โทมนัสอันมีเหตุมาจากการรักษาโภคสมบัติ เหล่านั้นว่า ‘ทำอย่างไร พระราชาจะไม่พึงริบโภคสมบัติทั้งหลายของเรา พวกโจร จะไม่พึงลักไป ไฟจะไม่พึงไหม้ น้ำจะไม่พึงพัดไป หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่ พึงแย่งไป’ เมื่อกุลบุตรนั้นรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาริบโภคสมบัตินั้นไปก็ดี พวกโจรปล้นเอาไปก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปก็ดี ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักแย่งเอาไปก็ดี เขาเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเพ้อว่า ‘สิ่งใดเคย เป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา’ แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล พระราชาทรงวิวาทกับพระราชาก็ได้ กษัตริย์วิวาทกับกษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์วิวาทกับพราหมณ์ก็ได้ คหบดีวิวาทกับ คหบดีก็ได้ มารดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับบิดาก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ พี่ชายน้องชาย วิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ สหายวิวาท กับสหายก็ได้ ชนเหล่านั้นก่อการทะเลาะ ก่อการแก่งแย่ง และก่อการวิวาทกันใน ที่นั้น ทำร้ายกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วย ศัสตราบ้าง ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า เป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็น ต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายถือดาบและโล่ จับธนูพาดลูกศร แล้ววิ่งเข้าสู่สงครามปะทะกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อพวกเขายิงลูกศรไปบ้าง พุ่งหอกไปบ้าง กวัดแกว่งดาบฟันกันบ้าง ชนเหล่านั้นถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกาม เป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๘๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายถือดาบและโล่ จับธนูพาดลูกศร แล้ววิ่งเข้าไปยังเชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อพวกเขายิงลูกศรไปบ้าง พุ่งหอกไปบ้าง กวัดแกว่งดาบฟันกันบ้าง ชนเหล่านั้นถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง ถูก หอกแทงเอาบ้าง ถูกมูลโคร้อนรดบ้าง ถูกคราดสับบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่ง กามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมยยก เค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง ละเมิดภรรยาผู้อื่นบ้าง พระราชา ก็รับสั่งให้จับเขาลงอาญาด้วยประการต่างๆ คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วย หวายบ้าง ตีด้วยไม้พลองบ้าง ฯลฯ๑- เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบหนังจน ล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว ทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้งห้าทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยว หนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง เฉือนเนื้อออกเป็นแว่นๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง เฉือนหนัง เนื้อ เอ็นออกเหลือไว้แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง เสียบให้ติดดินแล้วจับหมุนได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้ แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัด กินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้นอนบนหลาวเหล็กทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วย ดาบบ้าง ชนเหล่านั้นจึงถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็น โทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็น ต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล @เชิงอรรถ : @ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๑๖๙ (มหาทุกขักขันธสูตร) หน้า ๑๗๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว หลังจากตาย แล้วย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
ลัทธิของนิครนถ์
[๑๗๙] มหานามะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ณ ตำบลกาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ นิครนถ์เป็นจำนวนมากถือการยืนเป็น วัตร ปฏิเสธการนั่ง เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจากความพยายาม ครั้งนั้น เราออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหานิครนถ์เหล่านั้นจนถึงตำบล กาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ แล้วได้กล่าวกับนิครนถ์เหล่านั้นว่า ‘นิครนถ์ทั้งหลาย ไฉนเล่า ท่านทั้งหลายจึงถือการยืนเป็นวัตร ปฏิเสธการนั่ง เสวยทุกขเวทนาอัน แรงกล้า เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจากความพยายาม’ เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว นิครนถ์ เหล่านั้นได้กล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้มีอายุ นิครนถ์ นาฏบุตรเป็นสัพพัญญู(ผู้รู้ทุกสิ่ง) เห็นสิ่งทั้งปวง ปฏิญญาญาณทัสสนะ อย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเราเดิน ยืน หลับ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะได้ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป’๑- นิครนถ์ นาฏบุตรนั้นกล่าว อย่างนี้ว่า ‘นิครนถ์ทั้งหลายผู้เจริญ บาปกรรมที่พวกท่านทำแล้วในกาลก่อนมีอยู่ พวกท่านจงสลัดบาปกรรมนั้นด้วยปฏิปทาที่ทำได้ยากอันเผ็ดร้อนนี้ ข้อที่ท่านทั้งหลาย สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ในกาลบัดนี้นั้น เป็นการไม่กระทำบาปกรรม ต่อไป เพราะกรรมเก่าสิ้นสุดไปเพราะตบะ (การบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก) เพราะไม่ทำ กรรมใหม่ จึงไม่ตกอยู่ใต้อำนาจ(แห่งกรรม)ต่อไป เพราะไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งกรรม ต่อไป กรรมจึงสิ้นไป เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงสิ้นไป เพราะทุกข์สิ้นไป เวทนาจึง สิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งปวงจึงจักเป็นอันสลายไป คำที่นิครนถ์ นาฏบุตร กล่าวแล้วนั้นถูกใจและชอบใจเราทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงมีใจยินดี’ @เชิงอรรถ : @ ดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๓๘/๕๑๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

[๑๘๐] มหานามะ เมื่อพวกนิครนถ์กล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับนิครนถ์ เหล่านั้นว่า ‘นิครนถ์ทั้งหลาย พวกท่านรู้ไหมว่า ‘เมื่อก่อน เราทั้งหลายได้มีแล้ว มิใช่ไม่ได้มีแล้ว’ พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’ ตถาคตถามว่า ‘พวกท่านรู้ไหมว่า ‘เมื่อก่อน เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมไว้ มิใช่ไม่ได้ทำไว้’ พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’ ตถาคตถามว่า ‘พวกท่านรู้ไหมว่า ‘เมื่อก่อน เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรม เช่นนี้บ้างๆ’ พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’ ตถาคตถามว่า ‘พวกท่านรู้ไหมว่า ‘เมื่อก่อน ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว ทุกข์เท่านี้เราพึงสลัดเสีย หรือเมื่อเราสลัดทุกข์เท่านี้ได้แล้ว ก็จักเป็นอันสลัดทุกข์ ได้ทั้งหมด’ พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’ ตถาคตถามว่า ‘พวกท่านรู้จักการละอกุศลธรรมทั้งหลาย การบำเพ็ญกุศล- ธรรมทั้งหลายในปัจจุบันหรือ’ พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’ ตถาคตถามว่า ‘ท่านนิครนถ์ทั้งหลาย ได้ยินมาว่า พวกท่านไม่รู้ว่า ‘เมื่อก่อน เราทั้งหลายได้มีแล้ว มิใช่ไม่ได้มีแล้ว’ ไม่รู้ว่า ‘เมื่อก่อน เราได้ทำบาปกรรมไว้ มิใช่ไม่ได้ทำไว้’ ไม่รู้ว่า ‘เราได้ทำบาปกรรมเช่นนี้บ้างๆ’ ไม่รู้ว่า ‘ทุกข์เท่านี้เรา สลัดได้แล้ว ทุกข์เท่านี้เราพึงสลัดเสีย หรือเมื่อเราสลัดทุกข์เท่านี้ได้แล้ว ก็จักเป็น อันสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด’ ไม่รู้จักการละอกุศลธรรมทั้งหลาย การบำเพ็ญกุศลธรรม ทั้งหลายในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่บวชในพวกนิครนถ์ก็เฉพาะแต่พวกคนโหดร้าย มีมือเปื้อนเลือด ทำกรรมชั่วช้า กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์ในโลก’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๘๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

บุคคลผู้อยู่เป็นสุข
พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม บุคคลมิใช่จะพึงประสบความสุขได้ ด้วยความสุข แต่จะพึงประสบความสุขได้ด้วยความทุกข์ ถ้าบุคคลจักประสบความ สุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธก็คงจะประสบความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธจะอยู่เป็นสุขกว่าท่านพระโคดม’ ตถาคตถามว่า ‘นิครนถ์ทั้งหลายกล่าววาจาหุนหันไม่ทันพิจารณาอย่างแน่แท้ ว่า ‘บุคคลมิใช่จะพึงประสบความสุขได้ด้วยความสุข แต่จะพึงประสบความสุขได้ ด้วยความทุกข์ ถ้าบุคคลจักประสบความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแคว้นมคธก็คงจะประสบความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้น มคธจะอยู่เป็นสุขยิ่งกว่าท่านพระโคดม’ แต่ว่าเราเท่านั้นที่พวกท่านควรซักถามในเนื้อ ความนั้นว่า ‘บรรดาท่านทั้งหลาย ใครเล่าหนออยู่เป็นสุขกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแคว้นมคธ หรือท่านพระโคดมเอง’ พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘พวกข้าพเจ้ากล่าววาจาหุนหันไม่ทันพิจารณาอย่างแน่ แท้ว่า ‘บุคคลมิใช่จะพึงประสบความสุขได้ด้วยความสุข แต่จะพึงประสบความสุข ได้ด้วยความทุกข์ ถ้าบุคคลจักประสบความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแคว้นมคธก็คงจะประสบความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้น มคธจะอยู่เป็นสุขกว่าท่านพระโคดม’ ขอโอกาสหยุดเรื่องนี้ไว้เพียงเท่านี้ แม้บัดนี้ พวกข้าพเจ้าจะถามท่านพระโคดมบ้างว่า ‘บรรดาท่านทั้งหลาย ใครเล่าหนออยู่ เป็นสุขกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธ หรือท่านพระโคดมเอง’ ตถาคตถามว่า ‘ถ้าอย่างนั้น ในเนื้อความข้อนั้น เราจักถามพวกท่านนั่นแลว่า ‘พวกท่านเข้าใจอย่างใด ควรตอบอย่างนั้น พวกท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธไม่ทรงเคลื่อนไหวพระวรกาย ไม่มีพระดำรัส สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียวอยู่ตลอด ๗ คืน ๗ วันหรือ’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๘๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’ ตถาคตถามว่า ‘พวกท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแคว้นมคธไม่ทรงเคลื่อนไหวพระวรกาย ไม่มีพระดำรัส สามารถเสวยสุข โดยส่วนเดียวอยู่ตลอด ๖ คืน ๖ วัน ... ๕ คืน ๕ วัน ... ๔ คืน ๔ วัน ... ๓ คืน ๓ วัน ... ๒ คืน ๒ วัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธไม่ทรง เคลื่อนไหวพระวรกาย ไม่มีพระดำรัส สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียวอยู่ตลอด ๑ คืน ๑ วันได้หรือ’ พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’ ตถาคตถามว่า ‘เราไม่เคลื่อนไหวกาย ไม่พูด สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียว อยู่ตลอด ๑ คืน ๑ วัน ... ๒ คืน ๒ วัน ... ๓ คืน ๓ วัน ... ๔ คืน ๔ วัน ... ๕ คืน ๕ วัน ... ๖ คืน ๖ วัน เราไม่เคลื่อนไหวกาย ไม่พูด สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียวอยู่ตลอด ๗ คืน ๗ วัน พวกท่านเข้าใจความข้อ นั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะอยู่เป็นสุขกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแคว้นมคธหรือเราเอง’ พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมเท่านั้น อยู่เป็นสุขกว่า พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธ” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทรงมีใจ ยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬทุกขักขันธสูตรที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๘๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๗๗-๑๘๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=12&siri=14              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=3014&Z=3184                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=209              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=209&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=9821              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=209&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=9821                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i209-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.014.than.html https://suttacentral.net/mn14/en/sujato https://suttacentral.net/mn14/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :