ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
อชปาลนิโครธกถา
เรื่องพราหมณ์หุหุกชาติ
[๔] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากควงไม้ โพธิพฤกษ์ เข้าไปยังต้นไม้อชปาลนิโครธ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้อชปาลนิโครธตลอด ๗ วัน. ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติคนหนึ่ง ได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พราหมณ์นั้นได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้ แด่ผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ก็แล ธรรมเหล่าไหนทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์? ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น ว่าดังนี้:-
พุทธอุทานคาถา
พราหมณ์ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว ไม่ ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด มีตน สำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวท มีพรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว พราหมณ์นั้นไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น ในอารมณ์ไหนๆ ในโลก ควรกล่าวถ้อยคำว่า ตนเป็นพราหมณ์โดยธรรม.
อชปาลนิโครธกถา จบ
-----------------------------------------------------
มุจจลินทกถา
เรื่องมุจจลินทนาคราช
[๕] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากควงไม้อชปาลนิโครธ เข้าไปยังต้นไม้มุจจลินท์ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้มุจจลินท์ ตลอด ๗ วัน. ครั้งนั้น เมฆใหญ่ในสมัยมิใช่ฤดูกาลตั้งขึ้นแล้ว ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาว ตลอด ๗ วัน. ครั้งนั้น มุจจลินทนาคราชออกจากที่อยู่ของตน ได้แวดวงพระกายพระผู้มีพระภาคด้วย ขนด ๗ รอบ ได้แผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียรสถิตอยู่ด้วยหวังใจว่า ความหนาว ความร้อน อย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน อย่า เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค. ครั้นล่วง ๗ วัน มุจจลินทนาคราชรู้ว่า อากาศปลอดโปร่งปราศจาก ฝนแล้ว จึงคลายขนดจากพระกายของพระผู้มีพระภาค จำแลงรูปของตนเป็นเพศมาณพ ได้ยืน ประคองอัญชลีถวายนมัสการพระผู้มีพระภาค ทางเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น ว่าดังนี้:-
พุทธอุทานคาถา
ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ มีธรรม ปรากฏแล้ว เห็นอยู่ ความไม่พยาบาท คือความ สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก ความ ปราศจากกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลาย เสียได้ เป็นสุขในโลก การกำจัดอัสมิมานะ เสียได้นั่นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง.
มุจจลินทกถา จบ
-----------------------------------------------------
ราชายตนกถา
เรื่องตปุสสะภัลลิกะ ๒ พ่อค้า
[๖] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จจากควงไม้ มุจจลินท์ เข้าไปยังต้นไม้ราชายตนะ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้ราชายตนะ ตลอด ๗ วัน. ก็สมัยนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เดินทางไกลจากอุกกลชนบท ถึงตำบลนั้น. ครั้งนั้น เป็นเทพยดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตปุสสะ ภัลลิกะ ๒ พ่อค้า ได้กล่าวคำนี้กะ ๒ พ่อค้านั้น ว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ ท่าน ทั้งสองจงไปบูชาพระผู้มีพระภาคนั้น ด้วยสัตตุผง และ สัตตุก้อน การบูชาของท่านทั้งสองนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน. ครั้งนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ ถือสัตตุผงและสัตตุก้อนเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคแล้วถวายบังคม ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. สองพ่อค้านั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่งแล้ว ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจง ทรงรับสัตตุผงสัตตุก้อนของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนาน. ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงปริวิตกว่า พระตถาคต ทั้งหลาย ไม่รับวัตถุด้วยมือ เราจะพึงรับสัตตุผง และสัตตุก้อนด้วยอะไรหนอ ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ทรงทราบพระปริวิตกแห่งจิตของพระผู้มีพระภาค ด้วย ใจของตนแล้ว เสด็จมาจาก ๔ ทิศ ทรงนำบาตรที่สำเร็จด้วยศิลา ๔ ใบเข้าไปถวายพระผู้มี พระภาค กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับสัตตุผงและสัตตุก้อนด้วยบาตรนี้ พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคทรงใช้บาตรสำเร็จด้วยศิลาอันใหม่เอี่ยม รับสัตตุผงและสัตตุก้อน แล้วเสวย. ครั้งนั้น พ่อค้าตปุสสะและภัลลิกะ ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคและพระธรรมว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป. ก็นายพาณิชสองคนนั้น ได้เป็นอุบาสกกล่าวอ้าง ๒ รัตนะ เป็นชุดแรกในโลก.
ราชายตนกถา จบ
-----------------------------------------------------
[๗] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว เสด็จจากควงไม้ ราชายตนะ เข้าไปยังต้นไม้อชปาลนิโครธ. ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ นั้น และพระองค์เสด็จไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ธรรม ที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่ง ลงสู่ความตรึก ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง ส่วนหมู่สัตว์นี้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีใน อาลัย ชื่นชมในอาลัย ฐานะคือความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารเป็นต้นนี้ เป็นสภาพอาศัย ปัจจัยเกิดขึ้นนี้ อันหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัยเห็นได้ยาก แม้ ฐานะคือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้น กำหนัด เป็นที่ดับสนิท หากิเลสเครื่องร้อยรัดมิได้นี้ ก็แสนยากที่จะเห็นได้ ก็ถ้าเราจะพึงแสดง ธรรม สัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า แก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา. อนึ่ง อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ ที่ไม่เคยได้สดับในกาลก่อน ปรากฏแก่พระผู้มีพระภาค ว่าดังนี้:-
อนัจฉริยคาถา
บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว โดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะ ครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้ว ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแสคือนิพพาน. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาเห็นอยู่ ดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๑๖-๒๐๘ หน้าที่ ๖-๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=4&A=116&Z=208&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka1/m_siri.php?B=4&siri=2              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=4              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [4-7] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=4&item=4&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=148              The Pali Tipitaka in Roman :- [4-7] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=4&item=4&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=148              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic2 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:2.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.1.8

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :