ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
พระพุทธบัญญัติห้ามใช้จีวรที่ไม่ตัด
[๑๔๘] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด ใช้จีวรที่ย้อมน้ำฝาด มีสีเหมือนงาช้าง ประชาชนจึงพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ภิกษุทั้งหลายกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้จีวร ที่มิได้ตัด รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญชาให้แต่งจีวร
[๑๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคิรีชนบท พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นใน ระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัด กันไป ครั้นแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดิน ขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยมพูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนา สั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไปหรือไม่? อา. เห็นตามพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า. ภ. เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่? อา. สามารถ พระพุทธเจ้าข้า. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ กลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระ- *พุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า.
ตรัสสรรเสริญท่านพระอานนท์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ ได้ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง อานนท์ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อ อัฑฒกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่อวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อ อนุวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อคีเวยยกะก็ได้ ทำผ้าชื่อชังเฆยยกะก็ได้ และทำผ้าชื่อพาหันตะก็ได้ จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิตัด ผ้าอุตราสงค์ตัด ผ้าอันตรวาสกตัด.
เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกล
[๑๕๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครเวสาลี พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกลระหว่าง พระนครราชคฤห์ และระหว่างพระนครเวสาลีต่อกัน ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุหลายรูป หอบผ้า พะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกขึ้นบนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอว เดินมาอยู่ ครั้นแล้ว ได้ทรงดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้ เวียนมาเพื่อความมักมากในจีวรเร็วนัก เราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่าน ระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์ เขตพระนครเวสาลีนั้น. ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงผ้าจีวรผืนเดียว ประทับนั่งอยู่กลางแจ้งตอน กลางคืน ขณะน้ำค้างตก ในราตรีเหมันตฤดู กำลังหนาว ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ กับเดือน ๔ ต่อกัน ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวรผืนที่สอง ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวร ผืนที่สาม ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ขณะรุ่งอรุณแห่ง ราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ความหนาวได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึง ทรงห่มจีวรผืนที่สี่ ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อความหนาว อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน ไฉนหนอเราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฏ ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราพึงอนุญาตผ้าสามผืน.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๓๘๙๙-๓๙๔๕ หน้าที่ ๑๕๙-๑๖๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=5&A=3899&Z=3945&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka1/m_siri.php?B=5&siri=38              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=148              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [148-150] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=5&item=148&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4867              The Pali Tipitaka in Roman :- [148-150] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=5&item=148&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4867              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/brahmali#pli-tv-kd8:11.2.11 https://suttacentral.net/pli-tv-kd8/en/horner-brahmali#Kd.8.12.1

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :