ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๑. มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๒
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๑๘๒] โดยสมัยนั้นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีล เป็นที่รัก กล่าวเสียดแทงพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก คือ ด่าว่า สบประมาท กระทบกำเนิดบ้าง ชื่อบ้าง วงศ์ตระกูลบ้าง การงานบ้าง ศิลปบ้าง โรคบ้าง รูปพรรณบ้าง กิเลสบ้าง อาบัติบ้าง คำด่าที่ทรามบ้าง. บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์ ทะเลาะกับภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก จึงได้ กล่าวเสียดแทงพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก คือด่าว่าสบประมาทกระทบกำเนิดบ้าง ชื่อบ้าง วงศ์- *ตระกูลบ้าง การงานบ้าง ศิลปบ้าง โรคบ้าง รูปพรรณบ้าง กิเลสบ้าง อาบัติบ้าง คำด่าที่ทราม บ้างเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า จริงหรือภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอ ทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก กล่าวเสียดแทงพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก คือด่าว่า สบประมาท กระทบกำเนิดบ้าง ชื่อบ้าง วงศ์ตระกูลบ้าง การงานบ้าง ศิลปบ้าง โรคบ้าง รูปพรรณบ้าง กิเลสบ้าง อาบัติบ้าง คำด่าที่ทรามบ้าง? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้ ทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก กล่าวเสียดแทงพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก คือด่าว่า สบประมาท กระทบกำเนิดบ้าง ชื่อบ้าง วงศ์ตระกูลบ้าง การงานบ้าง ศิลปบ้าง โรคบ้าง รูปพรรณบ้าง กิเลสบ้าง อาบัติบ้าง คำด่าที่ทรามบ้าง? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ..., ครั้นแล้วทรงกระทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายดังต่อไปนี้:-
เรื่องโคนันทิวิสาล
[๑๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว. พราหมณ์คนหนึ่งในเมืองตักกสิลา มีโคถึกตัวหนึ่งชื่อนันทิวิสาล. ครั้งนั้นโคถึกชื่อนันทิวิสาล ได้กล่าวคำนี้กะพราหมณ์นั้นว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปพนันกับเศรษฐีด้วยทรัพย์ ๑,๐๐๐ กษาปณ์ว่า โคถึกของข้าพเจ้า จักลากเกวียน ๑๐๐ เล่มที่ผูกเนื่องกันไปได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย จึงพราหมณ์นั้นได้ทำการพนันกับเศรษฐีด้วยทรัพย์ ๑,๐๐๐ กษาปณ์ว่า โคถึกของข้าพเจ้าจักลากเกวียน ๑๐๐ เล่มที่ผูกเนื่องกันไปได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้นแล้วพราหมณ์ได้ผูกเกวียน ๑๐๐ เล่มให้เนื่องกัน เทียมโคถึก นันทิวิสาลเสร็จแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า จงฉุดไป เจ้าโคโกง จงลากไป เจ้าโคโกง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น โคถึกนันทิวิสาลได้ยืนอยู่ในที่เดิมนั่นเอง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พราหมณ์นั้นแพ้พนัน เสียทรัพย์ ๑,๐๐๐ กษาปณ์แล้ว ได้ซบเซา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อมา โคถึกนันทิวิสาลได้ถามพราหมณ์นั้นว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ เหตุไรท่านจึงซบเซา? พ. ก็เพราะเจ้าทำให้เราต้องแพ้ เสียทรัพย์ไป ๑,๐๐๐ กษาปณ์ นั่นละซิ เจ้าตัวดี. น. ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ก็ท่านมาเรียกข้าพเจ้าผู้ไม่โกง ด้วยถ้อยคำว่าโกงทำไมเล่า? ขอท่านจงไปอีกครั้งหนึ่ง จงพนันกับเศรษฐีด้วยทรัพย์ ๒,๐๐๐ กษาปณ์ว่า โคถึกของข้าพเจ้า จักลากเกวียน ๑๐๐ เล่มที่ผูกเนื่องกันไปได้ แต่อย่าเรียกข้าพเจ้าผู้ไม่โกง ด้วยถ้อยคำว่าโกง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทันใดนั้นแล พราหมณ์นั้นได้พนันกับเศรษฐีด้วยทรัพย์ ๒,๐๐๐ กษาปณ์ว่า โคถึกของข้าพเจ้าจักลากเกวียน ๑๐๐ เล่มที่ผูกเนื่องกันไปได้. ครั้นแล้วได้ผูกเกวียน ๑๐๐ เล่มให้เนื่องกัน เทียมโคถึกนันทิวิสาลแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า เชิญฉุดไปเถิด พ่อรูปงาม เชิญลากไปเถิด พ่อรูปงาม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล โคถึกนันทิวิสาลได้ลากเกวียน ๑๐๐ เล่ม ซึ่งผูกเนื่องกัน ไปได้แล้ว. [๑๘๔] บุคคลกล่าวควรแต่ถ้อยคำเป็นที่จำเริญใจ, ไม่ควรกล่าวถ้อยคำอันไม่เป็นที่จำเริญใจ ในกาลไหน ๆ. เพราะเมื่อพราหมณ์กล่าวถ้อยคำเป็นที่จำเริญใจ, โคถึกนันทิวิสาลได้ลากเกวียนหนักไป, ยังพราหมณ์นั้นให้ได้ทรัพย์, และได้ดีใจเพราะพราหมณ์ ได้ทรัพย์โดยการกระทำของตนนั้นแล. [๑๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งนั้น คำด่า คำสบประมาทก็มิได้เป็นที่พอใจของเรา ไฉน ในบัดนี้ คำด่า คำสบประมาท จักเป็นที่พอใจเล่า? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๕๑. ๒. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะโอมสวาท.
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๑๘๖] ที่ชื่อว่า โอมสวาท ได้แก่คำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจด้วยอาการ ๑๐ อย่าง คือ ชาติ ๑ ชื่อ ๑ โคตร ๑ การงาน ๑ ศิลป ๑ โรค ๑ รูปพรรณ ๑ กิเลส ๑ อาบัติ ๑ คำด่า ๑.
บทภาชนีย์
[๑๘๗] ที่ชื่อว่า ชาติ ได้แก่ชาติ ๒ คือ ชาติทราม ๑ ชาติอุกฤษฏ์ ๑. ที่ชื่อว่า ชาติทราม ได้แก่ชาติคนจัณฑาล ชาติคนจักสาน ชาติพราน ชาติคน ช่างหนัง ชาติคนเทดอกไม้ นี้ชื่อว่าชาติทราม. ที่ชื่อว่า ชาติอุกฤษฏ์ ได้แก่ชาติกษัตริย์ ชาติพราหมณ์ นี้ชื่อว่าชาติอุกฤษฏ์. [๑๘๘] ที่ชื่อว่า ชื่อ ได้แก่ชื่อ ๒ คือ ชื่อทราม ๑ ชื่ออุกฤษฏ์ ๑. ที่ชื่อว่า ชื่อทราม ได้แก่ ชื่ออวกัณณกะ ชวกัณณกะ ธนิฏฐกะ สวิฏฐกะ กุลวัฑฒกะ, ก็หรือชื่อที่เขาเย้ยหยัน เหยียดหยาม เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่นับถือกันในชนบท นั้นๆ นี้ชื่อว่าชื่อทราม. ชื่อว่า ชื่ออุกฤษฏ์ ได้แก่ชื่อที่เกี่ยวเนื่องด้วยพุทธะ ธัมมะ สังฆะ, ก็หรือชื่อที่เขา ไม่เย้ยหยัน ไม่เหยียดหยาม ไม่เกลียดชัง ไม่ดูหมิ่น นับถือกันในชนบทนั้นๆ นี้ชื่อว่า ชื่ออุกฤษฏ์. [๑๘๙] ที่ชื่อว่า โคตร ได้แก่วงศ์ตระกูล มี ๒ คือ วงศ์ตระกูลทราม ๑ วงศ์ตระกูล อุกฤษฏ์ ๑. ที่ชื่อว่า วงศ์ตระกูลทราม ได้แก่วงศ์ตระกูลภารทวาชะ, ก็หรือวงศ์ตระกูลที่เขา เย้ยหยัน เหยียดหยาม เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่นับถือกันในชนบทนั้นๆ นี้ชื่อว่าวงศ์ตระกูล ทราม. ที่ชื่อว่า วงศ์ตระกูลอุกฤษฏ์ ได้แก่วงศ์ตระกูลโคตมะ วงศ์ตระกูลโมคคัลลานะ วงศ์ตระกูลกัจจายนะ วงศ์ตระกูลวาเสฏฐะ, ก็หรือวงศ์ตระกูลที่เขาไม่เย้ยหยัน ไม่เหยียดหยาม ไม่เกลียดชัง ไม่ดูหมิ่น นับถือกันในชนบทนั้นๆ นี้ชื่อว่า วงศ์ตระกูลอุกฤษฏ์. [๑๙๐] ที่ชื่อว่า การงาน ได้แก่งานที่ทำ มี ๒ คือ งานทราม ๑ งานอุกฤษฏ์ ๑. ที่ชื่อว่า งานทราม ได้แก่งานช่างไม้ งานเทดอกไม้, ก็หรืองานที่เขาเย้ยหยัน เหยียดหยาม เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่นับถือกัน ในชนบทนั้นๆ นี้ชื่อว่างานทราม. ที่ชื่อว่า งานอุกฤษฏ์ ได้แก่ งานทำนา งานค้าขาย งานเลี้ยงโค, ก็หรืองานที่เขา ไม่เย้ยหยัน ไม่เหยียดหยาม ไม่เกลียดชัง ไม่ดูหมิ่น นับถือกันในชนบทนั้นๆ นี้ชื่อว่า งาน อุกฤษฏ์. [๑๙๑] ที่ชื่อว่า ศิลปะ ได้แก่วิชาการช่าง มี ๒ คือ วิชาการช่างทราม ๑ วิชาการ ช่างอุกฤษฏ์ ๑. ที่ชื่อว่า วิชาการช่างทราม ได้แก่ วิชาการช่างจักสาน, วิชาการช่างหม้อ วิชาการ ช่างหูก วิชาการช่างหนัง วิชาการช่างกัลบก, ก็หรือวิชาการช่างที่เขาเย้ยหยัน เหยียดหยาม เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่นับถือกันในชนบทนั้นๆ นี้ชื่อว่าวิชาการช่างทราม. ที่ชื่อว่า วิชาการช่างอุกฤษฏ์ ได้แก่วิชาการช่างนับ วิชาการช่างคำนวณ วิชาการ ช่างเขียน, ก็หรือวิชาการช่างที่เขาไม่เย้ยหยัน ไม่เหยียดหยาม ไม่เกลียดชัง ไม่ดูหมิ่น นับถือกันในชนบทนั้นๆ นี้ชื่อว่าวิชาการช่างอุกฤษฏ์. [๑๙๒] โรค แม้ทั้งปวง ชื่อว่าทราม, แต่โรคเบาหวาน ชื่อว่าโรคอุกฤษฏ์. [๑๙๓] ที่ชื่อว่า รูปพรรณ ได้แก่รูปพรรณมี ๒ คือ รูปพรรณทราม ๑ รูปพรรณ อุกฤษฏ์ ๑. ที่ชื่อว่า รูปพรรณทราม คือ สูงเกินไป ต่ำเกินไป, ดำเกินไป ขาวเกินไป นี้ชื่อว่ารูปพรรณทราม. ที่ชื่อว่า รูปพรรณอุกฤษฏ์ คือไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก นี้ชื่อว่า รูปพรรณอุกฤษฏ์. [๑๙๔] กิเลส แม้ทั้งปวง ชื่อว่าทราม. [๑๙๕] อาบัติ แม้ทั้งปวง ชื่อว่าทราม, แต่โสดาบัติ สมาบัติ ชื่อว่า อาบัติอุกฤษฏ์ [๑๙๖] ที่ชื่อว่า คำด่า ได้แก่คำด่า มี ๒ คือ คำด่าทราม ๑ คำด่าอุกฤษฏ์ ๑. ที่ชื่อว่า คำด่าทราม ได้แก่คำด่าว่า เป็นอูฐ, เป็นแพะ, เป็นโค, เป็นลา, เป็น สัตว์ดิรัจฉาน, เป็นสัตว์นรก, สุคติของท่านไม่มี, ท่านต้องหวังได้แต่ทุคติ, คำด่าว่าที่เกี่ยวด้วย ยะอักษร ภะอักษร, หรือนิมิตของชายและนิมิตของหญิง นี้ชื่อว่าคำด่าทราม. ที่ชื่อว่า คำด่าอุกฤษฏ์ ได้แก่ คำด่าว่า เป็นบัณฑิต เป็นคนฉลาด เป็นนักปราชญ์ เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก, ทุคติของท่านไม่มี, ท่านต้องหวังได้แต่สุคติ, นี้ชื่อว่าคำด่าอุกฤษฏ์.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๔๙๐๖-๕๐๒๑ หน้าที่ ๒๐๔-๒๐๘. https://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=4906&Z=5021&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka1/m_siri.php?B=2&siri=33              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=182              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [182-196] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=182&items=15              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=6032              The Pali Tipitaka in Roman :- [182-196] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=182&items=15              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=6032              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc2/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :