ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖
เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี
[๔๙๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็น สถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายชาวรัฐอาฬวี สร้างกุฎีซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์อันตนขอเขามาเอง อันหาเจ้าของมิได้ เป็นส่วนเฉพาะตนเอง ใหญ่ ไม่มีกำหนด กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ เธอต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่านทั้งหลาย จงให้บุรุษ จงให้แรงบุรุษ จงให้โค จงให้เกวียน จงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง จงให้จอบ จงให้สิ่ว จงให้เถาวัลย์ จงให้ไม้ไผ่ จงให้หญ้ามุงกระต่าย จงให้หญ้าปล้อง จงให้หญ้าสามัญ จงให้ดิน ดังนี้เป็นต้น ประชาชนที่ถูกเบียดเบียนด้วยการวิงวอนด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว หวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หนีไปเสียบ้าง เดินเลี่ยงไปเสียทางอื่นบ้าง เมินหน้าเสียบ้าง ปิดประตู เสียบ้าง แม้พบแม่โคเข้าก็หนี สำคัญว่าพวกภิกษุ. [๔๙๕] ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปจำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ แล้วออกเดินทาง มุ่งไปรัฐอาฬวี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับถึงรัฐอาฬวีแล้ว ทราบว่าท่านพักอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐ- *อาฬวีนั้น ครั้นเวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาต ในรัฐอาฬวี ประชาชนเห็นท่านพระมหากัสสปแล้วหวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หลบหนีไปบ้าง เดิน- *เลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมินหน้าบ้าง ปิดประตูบ้านบ้าง ครั้นท่านพระมหากัสสปเที่ยวบิณฑบาตไปใน รัฐอาฬวี เวลาหลังอาหารกลับจากบิณฑบาตแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายมาถามว่า ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนรัฐอาฬวีนี้มีอาหารบริบูรณ์ หาบิณฑบาตได้ง่าย ภิกษุสงฆ์ครองชีพด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำได้ง่าย มาบัดนี้รัฐอาฬวีอัตคัดอาหาร หาบิณฑบาตได้ยาก ภิกษุสงฆ์จะครองชีพด้วยการถือ บาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้รัฐอาฬวีนี้เป็นดั่งนี้ จึงภิกษุเหล่านั้น กราบเรียนเรื่องนั้นให้ท่านพระมหากัสสปทราบแล้ว. [๔๙๖] คราวนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกโดยหนทางอันจะไปสู่รัฐอาฬวี เมื่อเสด็จจาริกโดยลำดับ ได้เสด็จถึงรัฐอาฬวีแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น จึงท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้า ถวาย บังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุชาวรัฐอาฬวีว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอ ให้สร้างกุฎี ซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์ที่ตนต้องขอเขามาเอง อันหาเจ้าของมิได้ เป็นส่วนเฉพาะตนเอง ใหญ่ไม่มีกำหนด กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ พวกเธอจึงต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่านทั้งหลายจงให้บุรุษ จงให้แรงบุรุษ จงให้โค จงให้เกวียน จงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง จงให้จอบ จงให้สิ่ว จงให้เถาวัลย์ จงให้ไม้ไผ่ จงให้หญ้ามุงกระต่าย จงให้หญ้าปล้อง จงให้ หญ้าสามัญ จงให้ดิน ดังนี้เป็นต้น ประชาชนที่ถูกเบียดเบียนด้วยการวิงวอน ด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายเข้า บ้างก็หวาด บ้างก็สะดุ้ง บ้างก็หลบหนีไป บ้างก็เลี่ยงไปทางอื่น บ้างก็ เมินหน้า บ้างก็ปิดประตูบ้าน แม้พบแม่โคก็หลบหนี สำคัญว่าพวกภิกษุ ดังนี้ จริงหรือ? ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงได้ให้ สร้างกุฎีซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์ที่ตนต้องขอเขามาเอง อันหาเจ้าของมิได้ เป็นส่วนเฉพาะตน ใหญ่ไม่มี กำหนดเล่า กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ พวกเธอจึงต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่าน ทั้งหลายจงให้บุรุษ จงให้แรงบุรุษ จงให้โค จงให้เกวียน จงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง จงให้ จอบ จงให้สิ่ว จงให้เถาวัลย์ จงให้ไม้ไผ่ จงให้หญ้ามุงกระต่าย จงให้หญ้าปล้อง จงให้หญ้า- *สามัญ จงให้ดิน ดั่งนี้เป็นต้น ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และ เพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวีโดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยอเนกปริยายแล้ว ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่ เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่าดังนี้:-

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๖๒๐๗-๑๖๒๕๘ หน้าที่ ๖๒๔-๖๒๕. https://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=1&A=16207&Z=16258&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka1/m_siri.php?B=1&siri=48              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=494              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [496-498] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=1&item=496&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=1222              The Pali Tipitaka in Roman :- [496-498] https://84000.org/tipitaka/read/roman_item_s.php?book=1&item=496&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=1222              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-ss6/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :