ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒
พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๕. จัมมขันธกะ
๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ๑-
ว่าด้วยบุตรเศรษฐีชื่อโสณโกฬิวิสะ
เรื่องพระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้โสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้า
[๒๔๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ครองราชสมบัติเป็นใหญ่ ปกครองหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน ครั้งนั้น ในกรุงจัมปา มีบุตรเศรษฐีชื่อโสณโกฬิวิสะ เป็นคนมีลักษณะละเอียด อ่อนมีขนขึ้นที่ฝ่าเท้าทั้งสอง ต่อมา พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ รับสั่งให้กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนประชุมกัน ทรงส่งราชทูตไปพบนายโสณโกฬิวิสะด้วยพระราชกรณียกิจบางอย่าง ด้วยรับสั่งว่า “เราต้องการให้เจ้าโสณะมาหา” @เชิงอรรถ : @ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๓๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

ครั้งนั้น มารดาบิดาของนายโสณโกฬิวิสะได้กล่าวกับนายโสณโกฬิวิสะดังนี้ว่า “พ่อโสณะ พระราชามีพระประสงค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสองของเจ้า พ่อโสณะ เจ้าไม่พึงเหยียดเท้าไปทางที่พระราชาประทับ จงนั่งขัดสมาธิตรงพระพักตร์ของ พระราชา พระองค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสอง เมื่อเจ้านั่งลงแล้ว” ต่อมา บริวารชนใช้วอนำนายโสณโกฬิวิสะไป ลำดับนั้น โสณโกฬิวิสะได้เข้า เฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ณ ที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งขัดสมาธิ ตรงพระพักตร์ของพระราชา พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ได้ทอดพระเนตรเห็นขนที่ฝ่าเท้าทั้งสองของ เขาแล้ว ทรงสั่งสอนกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน เกี่ยวกับประโยชน์ในปัจจุบัน๑- ทรงส่งกลับไปด้วยรับสั่งว่า “ท่านทั้งหลาย เราสั่งสอนพวกท่านเกี่ยวกับประโยชน์ ในปัจจุบันแล้ว พวกท่านจงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ของเราทั้งหลายพระองค์นั้น จะทรงสั่งสอนพวกท่านเกี่ยวกับประโยชน์ในภาย ภาคหน้า”
เรื่องพระสาคตะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน พากันไปที่ภูเขาคิชฌกูฏ สมัยนั้น ท่านพระสาคตะเป็นพระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนเหล่านั้น เข้าไปหาท่านพระสาคตะ ณ ที่พักแล้ว ได้กล่าวกับท่านพระสาคตะดังนี้ว่า “ท่านขอรับ กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนี้ พากันเข้ามาที่นี้เพื่อขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอโอกาสให้พวกเราได้เข้าเฝ้าพระผู้ มีพระภาคเถิด” ท่านพระสาคตะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงรออยู่ที่นี้สักครู่ จนกว่า อาตมาจะกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ” @เชิงอรรถ : @ ประโยชน์ในปัจจุบัน หมายถึงประโยชน์ในโลกนี้ เช่น การทำไร่ไถนา การค้าขายที่สุจริตชอบธรรม @ตลอดถึงการเลี้ยงดูมารดาบิดาโดยถูกต้องชอบธรรม (วิ.อ. ๓/๒๔๒/๑๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

ลำดับนั้น ท่านพระสาคตะ เมื่อกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนกำลังเพ่ง มองอยู่เฉพาะหน้า ได้ดำลงใต้แผ่นหินไปผุดขึ้นตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนี้พากัน เข้ามาที่นี้เพื่อขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงทราบเวลา อันควรในบัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “สาคตะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงปูอาสนะใต้ร่มเงา ที่มุมสุดวิหาร” ท่านพระสาคตะรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วถือตั่ง ดำลงเบื้องพระพักตร์ของ พระผู้มีพระภาค ผุดขึ้นที่แผ่นหินต่อหน้ากุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนที่กำลัง เพ่งมองอยู่แล้วปูอาสนะใต้ร่มเงาที่มุมสุดพระวิหาร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร ไปประทับนั่งบนพุทธ อาสน์ที่จัดไว้ใต้ร่มเงาที่มุมสุดพระวิหาร ลำดับนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร พากันสนใจแต่ท่านพระสาคตะ เท่านั้น ไม่สนใจพระผู้มีพระภาคเลย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิต ของกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น จึงรับสั่งกับท่านพระสาคตะว่า “สาคตะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นอุตตริมนุสสธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป” ท่านพระสาคตะทูลรับสนองพระพุทธาณัติแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ จงกรมบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง บังหวนควันบ้าง โพลงไฟบ้าง หายตัวบ้าง ในอากาศ กลางท้องฟ้า ลำดับนั้น ครั้นท่านพระสาคตะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นอุตตริ- มนุสสธรรมหลายอย่างในอากาศกลางท้องฟ้าแล้ว จึงกลับลงมาซบศีรษะแทบ พระบาทของพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดา ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น ต่างสรรเสริญว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระสาวกยังมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ พระศาสดา จะต้องมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก(กว่านี้)แน่นอน” แล้วหันมาสนใจพระผู้มีพระภาค เท่านั้น ไม่ยอมสนใจท่านพระสาคตะอีกเลย
ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของ กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น จึงตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ๑. ทานกถา (เรื่องทาน) ๒. สีลกถา (เรื่องศีล) ๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์) ๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๑- ๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)๒- เมื่อทรงทราบว่ากุลบุตรเหล่านั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา๓- ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่กุลบุตร ในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี @เชิงอรรถ : @ แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ @ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม ในที่นี้หมายถึงอานิสงส์แห่งการออกจากกามสัญญา การออกจากกาม @วิตก การออกจากกามปริฬาหะ(ความเร่าร้อนเพราะกาม) การออกจากความขวนขวาย ได้แก่คุณในการ @บรรพชาและในฌานเป็นต้น (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๖-๒๓๗) @ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น @ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก @(วิ.อ. ๓/๒๙๒/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.ฏีกา (อภินว) ๒/๒๙๘/๓๕๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม แจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูป’ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและ พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เรื่องโสณโกฬิวิสะเศรษฐีบุตรบรรพชา
[๒๔๓] ครั้นนั้น โสณโกฬิวิสะได้มีความคิดดังนี้ว่า “ธรรมตามที่พระผู้มีพระ ภาคทรงแสดงนั้น เราเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต” ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วจากไป ลำดับนั้น โสณโกฬิวิสะ เมื่อกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วจากไปไม่นาน ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร โสณโกฬิวิสกะผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ข้าพระองค์เข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’ ข้าพระองค์ปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

กาสายะ ออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ขอพระผู้มีพระภาคทรงพระกรุณา ให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด” โสณโกฬิวิสะได้รับการบรรพชาอุปสมบทในพุทธสำนัก และเมื่อท่านอุปสมบท ได้ไม่นาน พำนักอยู่ ณ ป่าสีตวัน ท่านปรารภความเพียรอย่างยิ่ง๑- เดินจงกรมจน เท้าทั้งสองแตก สถานที่เดินจงกรมเปื้อนเลือดดุจที่ฆ่าโค ต่อมา ท่านพระโสณโกฬิวิสะหลีกเร้นอยู่ในสงัด ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ใน บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ ไฉนจิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นได้เล่า ทรัพย์สมบัติใน ตระกูลของเรามีอยู่ เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ อย่ากระนั้นเลย เราควรสึกไปใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของท่าน พระโสณโกฬิวิสะจึงทรงหายไปจากภูเขาคิชฌกูฏ มาปรากฏพระองค์ที่ป่าสีตวัน เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อม ด้วยภิกษุเป็นจำนวนมากเสด็จเที่ยวจาริกไปตามเสนาสนะ เสด็จไปทางที่เดินจงกรม ของท่านพระโสณโกฬิวิสะ ทอดพระเนตรเห็นสถานที่เดินจงกรมเปื้อนเลือด จึงรับ สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของใคร เปื้อนเลือดดุจที่ฆ่าโค” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ท่านพระโสณโกฬิวิสะปรารภความเพียรอย่างยิ่ง เดินจงกรมจนเท้าทั้งสองแตก สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของท่านจึงเปื้อนเลือดดุจที่ ฆ่าโค พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ ปรารภความเพียร หมายถึงประกอบความเพียรในสัมมัปปธาน (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๔/๒๙๒) หมายถึง @ระดมความเพียรอย่างเต็มที่ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปที่อยู่ของท่านพระโสณโกฬิวิสะ ประทับ นั่งบนพุทธอาสน์ที่จัดไว้ แม้ท่านพระโสณโกฬิวิสะก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
เรื่องทรงเปรียบเทียบความเพียรกับสายพิณ
พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระโสณโกฬิวิสะผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “โสณะ เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ในบรรดาพระสาวกของ พระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิตของเราจึงยังไม่ หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นได้เล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูลของเรามีอยู่ เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ อย่ากระนั้นเลย เราควรสึกไปใช้ สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ’ มิใช่หรือ” ท่านพระโสณะทูลรับว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เมื่อครั้งที่เธอ อยู่ครองเรือนนั้น เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีดพิณมิใช่หรือ” ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ ของเธอตึงเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ” ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสาย พิณของเธอหย่อนเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ” ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ ของเธอไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป ขึงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ พิณของเธอมีเสียงใช้การ ได้หรือ” ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การได้ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โสณะ เช่นเดียวกัน ความเพียรที่ปรารภอย่างยิ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน๑- จงถือ เอานิมิต๒- ในความเสมอกันนั้น” ท่านพระโสณะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะ มาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
พระโสณะบรรลุอรหัตตผล
ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” ท่านพระ โสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
อุปนิสัยสมบัติของผู้เป็นพระอรหันต์
[๒๔๔] ครั้งนั้น ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ ว่า “ถ้ากระไร เราพึงพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักของพระผู้มีพระภาค” จึงเข้าไป @เชิงอรรถ : @ ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน หมายถึงปรับศรัทธาให้เสมอกับปัญญา และปรับปัญญาให้เสมอกับศรัทธา @ปรับวิริยะให้เสมอกับสมาธิ และปรับสมาธิให้เสมอกับวิริยะ ส่วนสตินั้นยิ่งมีเท่าไรก็ยิ่งดีไม่มีคำว่าเกิน @(วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๔, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๔๓/๓๕๒-๓๕๓) @ ถือเอานิมิต ในที่นี้ หมายถึงให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น @(สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

เฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ไม่มี อาสวกิเลส อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ไม่มีหน้าที่ต้องทำอีก บรรลุประโยชน์สูงสุดแล้ว สิ้นกิเลสเครื่องผูกไว้ในภพ หลุด พ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ย่อมน้อมไปในฐานะ ๖ ๑- คือ ๑. น้อมไปในเนกขัมมะ ๒. น้อมไปในปวิเวก ๓. น้อมไปในความไม่เบียดเบียน ๔. น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน ๕. น้อมไปในความสิ้นตัณหา ๖. น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้ อาศัยคุณเพียงศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่จึงน้อมไปในเนกขัมมะ’ แต่ข้อนี้ไม่พึงเห็น อย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็น ว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน เนกขัมมะ เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้ ต้องการลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมไปในปวิเวก’ แต่ข้อนี้ก็ไม่ พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน @เชิงอรรถ : @ น้อมไป หมายถึงบรรลุอย่างประจักษ์ชัด @ฐานะ ๖ หมายถึงพระอรหัตตผล พระอรหัตตผล ชื่อว่าการออกจากกาม (เนกขัมมะ) เพราะออกไป @จากกิเลสทุกอย่าง ชื่อว่าความสงัด (ปวิเวก) เพราะสงัดจากกิเลสเหล่านั้น ชื่อว่าความไม่เบียดเบียน @(อัพยาปัชชะ) เพราะไม่มีความเบียดเบียน ขื่อว่าความสิ้นอุปาทาน (อุปาทานักขยะ) เพราะเกิดขึ้นใน @ที่สุดแห่งความสิ้นอุปาทาน ชื่อว่าความสิ้นตัณหา (ตัณหักขยะ) เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหา @ชื่อว่าความไม่ลุ่มหลง (อสัมโมหะ) เพราะไม่มีความลุ่มหลง (วิ.อ. ๓/๒๔๔/๑๖๔-๑๖๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

ปวิเวก เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในปวิเวก เพราะสิ้น โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในปวิเวก เพราะสิ้นโมหะ เพราะ ปราศจากโมหะ พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า “ท่านรูปนี้ ถือสีลัพพตปรามาส๑- โดยเป็นสาระแน่ จึงน้อมไปในความไม่เบียดเบียน’ แต่ข้อนี้ก็ ไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้น้อม ไปในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไป ในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน ความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้น้อม ไปในความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน ความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน ความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อม @เชิงอรรถ : @ สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและพรต เป็นเพียงความยึดถึอ @ที่อิงอาศัยศีลและพรต (วิ.อ. ๓/๒๔๔/๑๖๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

ไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน ความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางตา มาปรากฏทางตาของภิกษุผู้มีจิตหลุด พ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และภิกษุนั้น ก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางหู ... ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางจมูก ... ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางลิ้น ... ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางกาย ... ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และ ภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น พระพุทธเจ้าข้า ภูเขาศิลาล้วน ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศตะวันออก ก็ทำภูเขานั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนไม่ได้ ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศตะวันตก ... ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศเหนือ ... ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศใต้ ก็ทำภูเขานั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนไม่ได้ แม้ฉันใด พระพุทธเจ้าข้า ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางตา มาปรากฏทางตา ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

ของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนัก แน่น และภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางหู ... ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางจมูก ... ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางลิ้น ... ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางกาย ... ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และ ภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความ(เกิด)ดับของจิตนั้น (ฉันนั้นเหมือนกันแล)
นิคมคาถา
จิตของพระขีณาสพผู้น้อมไปในเนกขัมมะ น้อมไปในปวิเวก น้อมไปในความไม่เบียดเบียน น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน น้อมไปในความสิ้นตัณหา และน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง๑- ย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะเห็นความเกิดแห่งอายตนะ๒- ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ ย่อมไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ทั้งไม่มีกิจที่จะต้องทำอีก ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งมวล @เชิงอรรถ : @ ฐานะ ๖ มีเนกขัมมะเป็นต้น หมายถึงพระอรหัตตผล (วิ.อ. ๓/๒๔๔/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๕) @ส่วนในเถรคาถาอรรถกถากล่าวอธิบายโดยประการอื่น (ขุ.เถร.อ. ๒/๖๔๐-๖๔๑/๒๕๘-๒๖๓) @ ความเกิดและความดับแห่งอายตนะทั้งหลาย (วิ.อ. ๓/๒๔๓-๒๔๔/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๔/๓๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ]

๑๔๘. ทิคุณาทิอุปาหนปฏิกเขปะ

ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ย่อมทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวมิได้ ฉันนั้น จิตของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร เพราะท่านผู้คงที่ พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น๑-
๑๔๘. ทิคุณาทิอุปาหนปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามใช้รองเท้า ๒ ชั้นเป็นต้น
[๒๔๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรทั้งหลายกล่าวพยากรณ์อรหัตตผลอย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวแต่เนื้อความและมิได้ น้อมตนเข้าไป๒- แต่โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้เห็นเป็นของสนุก กล่าวพยากรณ์ อรหัตตผล ภายหลัง จึงเดือดร้อน” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระโสณะว่า “โสณะ เธอเป็นคน สุขุมาลชาติ เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียวแก่เธอ” ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ละทิ้งเงินถึง ๘๐ เล่มเกวียนและ กองคาราวานประกอบด้วยช้าง ๗ เชือก ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าข้าพระองค์จะใช้รองเท้าชั้นเดียวก็จะมีคนกล่าวว่า พระโสณโกฬิวิสะละทิ้งเงินถึง ๘๐ เล่มเกวียนและกองคาราวานประกอบด้วยช้าง ๗ เชือก ออกบวชเป็นบรรพชิต เวลานี้ท่านพระโสณะนั้นยังข้องอยู่ในเรื่องรองเท้าชั้นเดียว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรง อนุญาตภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระองค์ก็จะใช้สอย ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระองค์ก็จะไม่ใช้สอย พระพุทธเจ้าข้า” @เชิงอรรถ : @ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๓๘-๕๓๙, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๔๐-๖๔๔/๔๕๐ @ มิได้น้อมตนเข้าไปด้วยการแสดงให้ปรากฏว่า เราเป็นพระอรหันต์ (วิ.อ. ๓/๒๔๕/๑๖๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑-๑๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka1/m_siri.php?B=5&siri=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=5&A=1&Z=223                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=1              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=1&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3641              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=1&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3641                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd5/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-kd5/en/horner-brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :