หมวดหนังสือธรรมะ
สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
ศัพทานุกรม
-------------------------------------------------------------------------------------
นิพพาน

การดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ปฐมสมโพธิกถา

ชื่อคัมภีร์แสดงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประทับบนสวรรค์ชั้นดุสิต และเทวดาอัญเชิญ ให้มาอุบัติในมนุษยโลก ออกบวช ตรัสรู้ ประกาศศาสนา ปรินิพพาน จนถึงแจกพระธาตุ ต่อท้ายด้วยเรื่องพระเจ้าอโศกยกย่องพระศานา และการอันตรธานแห่งพระศาสนาในที่สุด หนังสือปฐมสมโพธิกถาที่เป็นวรรณคดีสำคัญ คือ ฉบับที่เป็นพระนิพนธ์ของพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส โดยทรงชำระฉบับของเก่า ตัดและขยายความสำคัญบางตอน จัดเป็นบทตอนเพิ่มขึ้น มีทั้งฉบับบาลี และฉบับแปลเป็นไทย (ฉบับบาลีมี ๓๐ ปริเฉท แบ่งปริเฉทที่ ๑ เป็น ๒ ตอน ฉบับแปลไทยมี ๒๙ ปริเฉท)

ไตรปิฎก

"ปิฎกสาม" ปิฎก แปลว่า กระจาดหรือตะกร้า ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว โดยนัยนี้ ไตรปิฎกจึงแปลว่า คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด กล่าวคือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก
พระไตรปิฎก จัดแบ่งหมวดหมู่โดยย่อดังนี้ ...
ดู  ความหมายพระไตรปิฎก  ประกอบ

ธรรมวินัย

ธรรมและวินัย คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย ธรรม--คำสอนแสดงหลักความจริง และแนะนำความประพฤติ วินัย--เครื่องควบคุมกายและวาจา

โพธิสัตว์

ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

พระพุทธเจ้า

ผู้ตรัสรู้โดยชอบแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ท่านผู้รู้ดีรู้ชอบด้วยตนเองก่อนแล้วสอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ที่ใกล้กาลปัจจุบันที่สุด และ คัมภีร์กล่าวถึงบ่อยๆ คือ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ พระกัสสป และพระโคดม
พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ แห่งภัทรกัป ปัจจุบันนี้ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ พระกัสสป พระโคดม และพระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอาริย์ หรือ พระศรีอริยเมตไตรย)
พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์นับแต่พระองค์แรกที่พระโคดมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน) ได้ทรงพบและทรงได้รับการพยากรณ์ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า (รวม ๒๔ พระองค์) จนถึงพระองค์เองด้วย คือ ๑.พระทีปังกร ๒. พระโกณฑัญญะ ๓. พระมังคละ ๔. พระสุมนะ ๕. พระเรวตะ ๖. พระโสภิตะ ๗. พระอโนมทัสสี ๘. พระปทุมะ ๙. พระนารทะ ๑๐. พระปทุมุตตระ ๑๑. พระสุเมธะ ๑๒. พระสุชาตะ ๑๓. พระปิยทัสสี ๑๔. พระอัตถทัสสี ๑๕. พระธัมมทัสสี ๑๖. พระสิทธัตถะ ๑๗. พระติสสะ ๑๘. พระปุสสะ ๑๙. พระวิปัสสี ๒๐. พระสิขี ๒๑. พระเวสสภู ๒๒.  พระกกุสันธะ ๒๓.  พระโกนาคมน์ ๒๔. พระกัสสป ๒๕.  พระโคตมะ (จาก คัมภีร์พุทธวงศ์ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก) พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือ โคตมพุทธเจ้า เจริญในศากยสกุล ดังเรื่องราวปรากฏในหนังสือนี้

พระพุทธโฆษาจารย์

พระอรรถกถาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บุตรพราหมณ์ เกิดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้พุทธคยา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ เรียนจบไตรเพท ต่อมาพบพระเรวตะ โต้ตอบปัญหาสู้พระเรวตะไม่ได้ จึงขอบวชเรียนพระธรรมวินัย มีความสามารถมาก ได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตะเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬกลับเป็นภาษามคธ ท่านถูกพระเถระแห่งมหาวิหารในเกาะลังกาทดสอบความรู้ โดยให้คาถามา ๒ บท พระพุทธโฆสได้แต่งคำอธิบายคาถา ๒ บทนั้น เป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค และได้ทำงานแปลคัมภีร์ได้ตามประสงค์ ทำงานเสร็จแล้ว ท่านก็เดินทางกลับชมพูทวีป

พุทธกิจประจำวัน

กิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญในแต่ละวัน ๕ อย่าง คือ ๑. เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต ๒. เวลาเย็นทรงแสดงธรรม ๓. เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ ๔. เวลาเที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา ๕. จวนสว่างทรงตรวจพิจารณาสัตว์ที่สามารถ และที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรมอันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่

พุทธกิจ ๔๕ พรรษา

พรรษาที่ ๑ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน โปรดปัญจวัคคีย์ พรรษาที่ ๒-๓-๔ วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ระยะประดิษฐานพระพุทธศาสนา พรรษาที่ ๕ กูฏาคารในป่ามหาวัน นครเวสาลี โปรดพุทธบิดาที่กรุงกบิลพัสดุ์ โปรดพระญาติที่วิวาทเรื่องแม่น้ำโรหิณี พระนางมหาปชาบดีผนวช เกิดภิกษุณีสงฆ์ พรรษาที่ ๖ มกุลบรรพต ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถี พรรษาที่ ๗ ดาวดึงสเทวโลก แสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา พรรษาที่ ๘ เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ พบนกุลบิดาและนกุลมารดา พรรษาที่ ๙ โฆษิตาราม เมืองโกสัมพี พรรษาที่ ๑๐ ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน) พรรษาที่ ๑๑ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาลา พรรษาที่ ๑๒ เมืองเวรัญชา พรรษาที่ ๑๓ จาลิยบรรพต พรรษาที่ ๑๔ พระเชตวัน พระราหุลอุปสมบท พรรษาที่ ๑๕ นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์ พรรษาที่ ๑๖ เมืองอาฬวี (ทรมานอาฬวกยักษ์) พรรษาที่ ๑๗ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ พรรษาที่ ๑๘-๑๙ จาลิบรรพต พรรษาที่ ๒๐ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ โปรดมหาโจรองคุลีมาล พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ พรรษาที่ ๒๑-๔๕ ประทับสลับไปมา ณ พระเชตวันกับบุพพาราม นครสาวัตถี (อรรถกถาว่า ประทับที่เชตวัน ๑๙ พรรษา ที่บุพพาราม ๖ พรรษา) พรรษาที่ ๔๕ เวฬุคาม ใกล้นครเวสาลี

พุทธธรรม

๑. ธรรมของพระพุทธเจ้า พระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า คัมภีร์มหานิทเทสระบุจำนวนไว้ว่ามี ๖ ประการ แต่ไม่ได้จำแนกข้อไว้ อรรถกถาโยงความให้ว่า ได้แก่ ๑. กายกรรมทุกอย่างของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามญาณ (จะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา ด้วยความรู้ความเข้าใจ) ๒. วจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๓. มโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๔. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต ๕. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต ๖. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน, คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาแห่งฑีฆนิกาย จำแนกพุทธธรรมว่ามี ๑๘ อย่าง คือ ๑. พระตถาคตไม่ทรงมีกายทุจริต ๒. ไม่ทรงมีวจีสุจริต ๓. ไม่ทรงมีมโนทุจริต ๔. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต ๕. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต ๖. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน ๗. ทรงมีกายกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๘. ทรงมีวจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๙. ทรงมีมโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ ๑๐. ไม่มีความเสื่อมฉันทะ (ฉันทะไม่ลดถอย) ๑๑. ไม่มีความเสื่อมวิริยะ (ความเพียรไม่ลดถอย) ๑๒. ไม่มีความเสื่อมสติ ๑๓. ไม่มีการเล่น ๑๔. ไม่มีการพูดพลาด ๑๕. ไม่มีการทำพลาด ๑๖. ไม่มีความผลุนผลัน ๑๗. ไม่มีพระทัยที่ขวนขวาย ๑๘. ไม่มีอกุศลจิต
๒. ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้า ได้แก่ พุทธการกธรรม คือ บารมี ๑๐
๓. ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ มรรคมีองค์ ๘ ขันธ์ ๕ ปัจจัย ๒๔ เป็นอาทิ

มหาบุรุษลักษณ์
ดู . . .
     ลักขณสูตร
  . . . ประกอบ
ลักษณะของมหาบุรุษ  มี  ๓๒  ประการ  คือ
            ๑.	มีฝ่าพระบาทเรียบเสมอกัน
            ๒.	ลายพื้นพระบาทเป็นจักร
            ๓.	มีส้นพระบาทยาว  (ถ้าแบ่ง  ๔  พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่  ๓)
            ๔.	มีนิ้วยาวเรียว  (นิ้วพระหัตถ์  และพระบาทด้วย)
            ๕.	ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
            ๖.	ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจข่าย
            ๗.	มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำอัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท  กลับกลอกได้
	คล่อง  เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน
            ๘.	พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
            ๙.	เมื่อยืนตรง  พระหัตถ์ทั้งสองลูบจับถึงพระชานุ
            ๑๐.	มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก
            ๑๑.	มีฉวีวรรณดุจสีทอง
            ๑๒.	พระฉวีละเอียด  ธุลีละอองไม่ติดพระกาย.
            ๑๓.	มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้นๆ
            ๑๔.	เส้นพระโลมาดำสนิท  เวียนเป็นทักษิณาวัฏ  มีปลายงอนขึ้นข้างบน
            ๑๕.	พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม
            ๑๖.	มีมังสะอูมเต็มในที่  ๗  แห่ง  (คือหลังพระหัตถ์ทั้ง  ๒  และหลังพระบาท
	ทั้ง  ๒  พระอังสะทั้ง  ๒  กับลำพระศอ)
            ๑๗.	มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์  (ล่ำพี)  ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์
            ๑๘.	พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน
            ๑๙.	ส่วนพระกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร  
	(พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์)
            ๒๐.	มีลำพระศอ กลมงามเสมอตลอด
            ๒๑.	มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี
            ๒๒.	มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์  (โค้งเหมือนวงพระจันทร์)
            ๒๓.	มีพระทนต์  ๔๐  ซี่  (ข้างละ  ๒๐  ซี่)
            ๒๔.	พระทนต์เรียบเสมอกัน
            ๒๕.	พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง
            ๒๖.	เขี้ยวพระทนต์ทั้ง  ๔  ขาวงามบริสุทธิ์
            ๒๗.	พระชิวหาอ่อนและยาว  (อาจแผ่ปกพระนลาฏได้)
            ๒๘.	พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม  ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก
            ๒๙.	พระเนตรดำสนิท
            ๓๐.	ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
            ๓๑.	มีอุณาโลมาระหว่างพระขนงเวียนขวาเป็นทักษิณาวัฏ
            ๓๒.	มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์
	มหาปุริสลักษณะ  ก็เรียก

วันสำคัญต่างๆ

๑. วิสาขบูชา--การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ คือ วันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
๒. มาฆบูชา--การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓ ในโอกาสวันคล้าย วันประชุมใหญ่ แห่งพระสาวก เรียกว่า 'จาตุรงคสันนิบาต' ณ พระเวฬุวันหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ที่พระองค์ทรงแสดง 'โอวาทปาฏิโมกข์' (การปลงพระชนมายุสังขารก็ตรงกับวันนี้)
๓. อาสาฬหบูชา--การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เพื่อรำลึกถึง คุณพระรัตนตรัย เป็นการพิเศษ เนื่องในวันที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทำให้เกิดมีปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และเกิดสังฆรัตนะ ทำให้ครบพระรัตนตรัย
๔. เข้าพรรษา--อยู่ประจำวัดสามเดือนในฤดูฝน คือ
ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (เรียกปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาต้น)
หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ (เรียกปัจฉิมพรรษา แปลว่า พรรษาหลัง)
วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา
วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา

สมันตปาสาทิกา

ชื่อคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความใน พระวินัยปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์เรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ โดยปรึกษาอรรถกถาภาษาสิงหฬ ที่มีอยู่ก่อน ชื่อ มหาปัจจริยและกุรุนที

สังคายนา

การสวดพร้อมกัน การร้อยกรองพระธรรมวินัย การประชุมตรวจชำระสอบทานและ จัดหมวดหมู่ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว
สังคายนาครั้งที่ ๑ ถึง ๕ มีดังนี้
ครั้งที่  ๑ ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุ ผู้บวชเมื่อแก่ กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และเพื่อให้พระธรรมอยู่สืบไป ประชุมทำหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป พระมหากัสสปเป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือน
ครั้งที่  ๒ ปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรมนอกวินัย พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวนได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพกามีเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่วาสิการาม เมืองเวลาลี เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือน
ครั้งที่  ๓ ปรารภเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนาเพราะมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก พระโมคคัลลีบุตรติสสะเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔ พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๙ เดือน
ครั้งที่  ๔ ปรารภจะให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชชนา ประชุมทำที่ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือน
ครั้งที่  ๕ ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ พวก คือ พวกมหาวิหารกับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ประชุมกันสวดซ้อมแล้วจารพระพุทธพจน์ลงในใบลาน ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ประเทศลังกา เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ (ว่า ๔๓๖ ก็มี) โดยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เป็นศาสนูปถัมภก์ (ครั้งที่ ๔ และ ๕ ไม่เป็นที่รับรองทั่วไป)

อรรถกถา

คัมภีร์อธิบายความในพระไตรปิฎก แต่งโดยพระอาจารย์รุ่นหลังๆ ตัวอย่างเช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค ที่แต่งโดย พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น

อรหันต์

ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด
พระอรหันต์ ๒  คือ ๑. พระสุกขวิปัสสก--ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่น
๒. พระสมถยานิก--ผู้มีสมถะเป็นญาณ ผู้เจริญสมถะกรรมฐาน จนได้ฌานก่อนแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาต่อ
พระอรหันต์ ๔  คือ ๑. พระสุกขวิปัสสก ๒. พระเตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓ คือ รู้ระลึกชาติได้ รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย รู้ทำอาสวะให้สิ้น) ๓. พระฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา ๖ คือ แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ ทายใจผู้อื่นได้ ระลึกชาติได้ ตาทิพย์ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป) ๔. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔)
พระอรหันต์ ๕  คือ ๑.พระปัญญาวิมุต ๒.พระอุภโตภาควิมุต ๓.พระเตวิชชะ ๔.พระฉฬภิญญะ ๕.พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ
พระอรรถกถาจารย์แสดงความหมายของพระอรหันต์ไว้ ๕ นัย คือ ๑. ไกลจากกิเลส ๒. กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น ๓. เป็นผู้หมดสังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิด ๔. เป็นผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ๕ ไม่มีที่ลับในการทำบาป ไม่มีความชั่วเสียหายที่จะต้องปิดบัง

อริยบุคคล

บุคคลผู้เป็นอริยะ ท่านผู้บรรลุธรรมวิเศษ มี ๔ ชั้น คือ ๑. พระโสดาบัน ๒. พระสกทาคามี ๓. พระอนาคามี ๔. พระอรหันต์

อริยสัจ

ความจริงอย่างประเสริฐ มี ๔ คือ ๑. ทุกข์ ๒. สมุทัย ๓. นิโรธ ๔. มรรค

โอวาทปาฏิโมกข์

หลักคำสอนสำคัญ หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (อรรถกถา กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้ สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้ แทนต่อมา)

คาถาโอวาทปาฏิโมกข์  (โอวาทปาติโมกข์  ก็เขียน)  มีดังนี้
	สพฺพปาปสฺส  อกรณํ	กุสลสฺสูปสมฺปทา
	สจิตฺตปริโยทปนํ	เอตํ  พุทฺธานํ  สาสนํ ฯ
	               ขนฺตี  ปรมํ  ตโป  ตีติกฺขา
	               นิพฺพานํ  ปรมํ  วทนฺติ  พุทฺธา
	               น  หิ  ปพฺพชิโต  ปรูปฆาตี
	               สมโณ  โหติ  ปรํ  วิเหฐยนฺโต ฯ
	อนูปวาโท  อนูปฆาโต	ปาติโมก์เข  จ  สํวโร
	มตฺตญฺญุตา  จ  ภตฺตสฺมึ	ปนฺตญฺจ  สยนาสนํ
	อธิจิตฺเต  จ  อาโยโค	เอตํ  พุทฺธานํ  สาสนํ ฯ
แปล :
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง  ๑  	การบำเพ็ญแต่ความดี  ๑  
การทำจิตของตนให้ผ่องใส  ๑  	นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
	ขันติ  คือ  ความอดกลั้น  เป็นตบะอย่างยิ่ง  
	พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า  นิพพานเป็นบรมธรรม  
	ผู้ทำร้ายผู้อื่น  ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
	ผู้เบียดเบียนผู้อื่น  ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
การไม่กล่าวร้าย  ๑  การไม่ทำร้าย  ๑  	การสำรวมในปาฏิโมกข์  ๑
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร  ๑  	ที่นั่งที่นอนอันสงัด  ๑
ความเพียรในอธิจิต  ๑		นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันโดยมาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า
ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

ศัพทานุกรม
_________________________________________
บันทึก  ๒๘  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๕
ติดต่อ : [email protected]