หมวดหนังสือธรรมะ
  สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
ภาพที่ ๒๐
เสด็จถึงอุรุเวลาเสนานิคมอันสงัดเงียบ ทรงพอพระทัยประทับบำเพ็ญเพียรที่นั่น

	พระมหาบุรุษทรงอำลาท่านคณาจารย์ทั้งสองแล้วออกจากที่นั่น    แล้วเสด็จจาริกแสวงหาที่
สำหรับทรงบำเพ็ญเพียร    เพื่อทดลองทุกกรกิริยาที่คนสมัยนั้นนิยมทำกันดังกล่าว    แล้วเสด็จไปถึงตำบล
แห่งหนึ่ง    ซึ่งอยู่ในเขตแขวงมคธเหมือนกัน   มีนามว่า  'อุรุเวลาเสนานิคม'   อุรุเวลา   แปลว่า  กองทราย  
เสนานิคม  แปลว่า  ตำบล  หมู่บ้าน

	พื้นที่ตำบลแห่งนี้เป็นที่ราบรื่น  มีแนวป่าเขียวสด  เป็นที่น่าเบิกบานใจ  มีแม่น้ำเนรัญชรา  น้ำ
ไหลใสสะอาด  มีท่าสำหรับลงอาบ มีหมู่บ้านตั้งอยู่โดยรอบ ไม่ใกล้เกินไป และไม่ไกลเกินไป  เหมาะสำหรับ
เป็นที่อาศัยเที่ยวบิณฑบาตของนักบวชบำเพ็ญพรต

	อุรุเวลาเสนานิคม  ถ้าจะเรียกอย่างไทยเราก็คงจะเรียกได้ว่า 'หมู่บ้านกองทราย'  หรือหมู่บ้าน
ทรายงาม  อะไรอย่างนั้น

	คัมภีร์อรรถกถาชื่อ  'สมันตปสาทิกา'  เล่ม  ๓  ซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดีย  สมัยหลัง
พระพุทธเจ้านิพพานแล้วเป็นผู้แต่ง  ได้เล่าประวัติของกองทรายที่ตำบลนี้ไว้ว่า  ในอดีตสมัย  ที่นี่เคยเป็นที่
บำเพ็ญเพียรของพวกนักพรตจำนวนมาก     นักพรตที่มาตั้งอยู่ที่นี่ตั้งระเบียบข้อบังคับปกครองกันเองไว้ว่า  
ความผิดของคนที่แสดงออกทางกายและวาจานั้นพอมองเห็นได้   ส่วนทางใจไม่มีใครมองเห็นเลย   ใครจะ
คิดผิดคิดชั่วอย่างไรก็มองไม่เห็น    ลงโทษว่ากล่าวกันก็ไม่ได้   เพราะฉะนั้น   ถ้าใครเกิดคิดชั่ว   เช่น   เกิด
อารมณ์ความใคร่ขึ้นมาเมื่อใดละก็    ขอให้ผู้นั้นลงโทษตัวเอง    โดยวิธีนำบาตรไปตักเอาทรายมาเทกองไว้  
หนึ่งคนหนึ่งครั้ง   ครั้งละหนึ่งบาตร   เป็นการประจานตัวเองให้คนอื่นรู้  ด้วยเหตุนี้  ภูเขากองทราย  หรือ
อุรุเวลา  ซึ่งเสมือนหนึ่งอนุสรณ์แห่งกองกิเลสของพระฤาษีเก่าก่อนจึงเกิดขึ้น

	สมัยพระพุทธเจ้า    บริเวณตำบลบ้านแห่งนี้ยังเรียกว่า   'อุรุเวลาเสนานิคม'   แต่มาสมัยหลัง  
กระทั่งทุกวันนี้เรียกบริเวณตำบลแห่งนี้ว่า  'พุทธคยา'  ซึ่งปัจจุบันวัดไทยพุทธคยาก็ตั้งอยู่ที่นั่น

	พระมหาบุรุษทรงเลือกตำบลนี้เป็นที่บำเพ็ญทุกกรกิริยา   ซึ่งเป็นบททดลองอีกบทหนึ่งว่าจะ
เป็นทางตรัสรู้หรือไม่
_________________________________________
บันทึก  ๒๘  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๕
ติดต่อ : [email protected]