หมวดหนังสือธรรมะ
  สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
ภาพที่ ๑๔
ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา

	ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายเสด็จขึ้นทรง  เพื่อเสด็จออกบวชครั้งนี้  มีชื่อว่า  'กัณฐกะ'  เป็นสหชาติ
คือเกิดวันเดียวกับเจ้าชาย  หนังสือปฐมสมโพธิบอกส่วนยาวของม้านี้ไว้ว่า  "ยาวตั้งแต่คอจดท้ายมีประมาณ  
๑๘  ศอก"  แต่ส่วนสูงกี่ศอก  ไม่ได้บอกไว้  บอกแต่ว่า "โดยสูงก็สมควรกับกายอันยาว"  และแจ้งถึงลักษณะ
อย่างอื่นไว้ว่า    "สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่    ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกา   มีเกศาในมุขประเทศ  (หน้า)  
ขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด  กอปรด้วยพหลกำลังมาก  แลยืนประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วมณี"

	ความที่ว่านั้นเป็นม้าในวรรณคดีที่กวีพรรณาให้เขื่อง   และให้เป็นม้าพิเศษกว่าม้าสามัญ  ถ้า
ถอดความเป็นอย่างธรรมดาก็ว่ากัณฐกะสูงใหญ่สีขาวเหมือนม้าทรงของจอมจักรพรรดิ   หรือบุคคลผู้ทรง
ความเป็นเอกในเรื่อง

	เมื่อเจ้าชายเสด็จเข้าใกล้ม้า  ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังกัณฐกะ   ท่านว่าม้ากัณฐกะมีความ
ยินดีก็เปล่งเสียงร้องดังกึกก้องสนั่นไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์    ดังไปไกลถึงหนึ่งโยชน์   (ประมาณ  ๔๐๐  เส้น)  
โดยรอบ  ถ้าเป็นไปตามนี้ ทำไมคนทั้งเมืองจึงไม่ตื่นกัน ท่านผู้รจนาวรรณคดีเรื่องนี้ท่านบอกว่า  "เทพยดา
ก็กำบังเสียซึ่งเสียงนั้นให้อันตรธานหายไป..."  ท่านใช้เทวดาเป็นเครื่องเก็บเสียงม้านั่นเอง

	ถ้าถอดความจากเรื่องราวของวรรณคดีดังกล่าวออกมาก็คือ   เจ้าชายทรงชำนาญในเรื่องม้า
มาก  ทรงสามารถสะกดม้าไม่ให้ส่งเสียงร้องได้

	จากนั้นก็เสด็จขึ้นหลังกัณฐกะ  บ่ายพระพักตร์ออกไปทางประตูเมืองที่ชื่อ 'พระยาบาลทวาร'  
โดยมีนายฉันนะมหาดเล็กตามเสด็จไปข้างหลัง  วันที่เสด็จออกบวชนั้น  หนังสือปฐมสมโพธิบอกว่าเป็นวัน
เพ็ญเดือน  ๘  ท่านว่า   "พระจันทร์แจ่มในท่ามกลางคัคนาดลประเทศ  (ท้องฟ้า)  ปราศจากเมฆ   ภายใน
ห้องจักรวาลก็ขาวผ่องโอภาสด้วยนิศากรรังสี"  นิศากรรังสี คือ  แสงจันทร์ในวันเพ็ญ
_________________________________________
บันทึก  ๒๘  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๕
ติดต่อ : [email protected]