ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ุพ ”             ผลการค้นหาพบ  37  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 37
ทุพภาสิต “พูดไม่ดี” “คำชั่ว” “คำเสียหาย”
       ชื่ออาบัติเบาที่สุดที่เกี่ยวกับคำพูดเป็นความผิดในลำดับถัดรองจากทุกกฎ
       เช่น ภิกษุพูดกับภิกษุที่มีกำเนิดเป็นจัณฑาล ว่าเป็นคนชาติจัณฑาล
           ถ้ามุ่งว่ากระทบให้อัปยศ ต้องอาบัติทุกกฎ
           แต่ถ้ามุ่งเพียงล้อเล่น ต้องอาบัติทุพภาษิต;
       ดู อาบัติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 37
บุพกรณ์ ธุระอันจะพึงทำในเบื้องต้น, งานที่จะต้องกระทำทีแรก,
       เรื่องที่ควรตระเตรียมให้เสร็จก่อน เช่น
           บุพกรณ์ของการทำอุโบสถ ได้แก่ เมื่อถึงวันอุโบสถ
               พระเถระลงอุโบสถก่อน
               สั่งภิกษุให้ปัดกวาดโรงอุโบสถตามไฟ
               ตั้งน้ำฉันน้ำใช้
               ตั้งหรือปูลาดอาสนะไว้;
           บุพกรณ์แห่งการกรานกฐิน คือ
               ซักผ้า ๑
               กะผ้า ๑
               ตัดผ้า ๑
               เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว ๑
               เย็บเป็นจีวร ๑
               ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว ๑
               ทำกัปปะคือพินทุ ๑
       ดังนี้เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 37
บุพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน คือผู้มีพระคุณ ได้แก่ มารดาบิดา ครูอาจารย์ เป็นต้น
       (ข้อ ๑ ในบุคคลหาได้ยาก ๒)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 37
บุพกิจ กิจอันจะพึงทำก่อน, กิจเบื้องต้น เช่น
       บุพกิจในการทำอุโบสถ ได้แก่
           ก่อนสวดปาฏิโมกข์ต้องนำปาริสุทธิของภิกษุอาพาธมาแจ้งให้สงฆ์ทราบ
           นำฉันทะของภิกษุอาพาธมา
           บอกฤดูนับภิกษุ
           ให้โอวาทนางภิกษุณี;
       บุพกิจแห่งการอุปสมบท มี
           การให้บรรพชา
           ขอนิสัย
           ถืออุปัชฌาย์
           จนถึงสมมติภิกษุผู้สอบถามอันตรายิกธรรมกะอุปสัมปทาเปกขะท่ามกลางสงฆ์
       ดังนี้เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 37
บุพประโยค อาการหรือการทำความพยายามเบื้องต้น, การกระทำทีแรก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 37
บุพเปตพลี บุญที่อุทิศให้แก่ญาติผู้ตายไปก่อน, การทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 37
บุพพสิกขาวัณณนา หนังสืออธิบายพระวินัย
       พระอมราภิรักขิต (อมร เกิด) วัดบรมนิวาส เป็นผู้แต่ง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 37
บุพพัณณะ ของที่ควรกินก่อน ได้แก่ ข้าวทุกชนิด เช่น ข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง เป็นต้น;
       เทียบ อปรัณณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 37
บุพพัณหสมัย เวลาเบื้องต้นแห่งวัน, เวลาเช้า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 37
บุพพาจารย์
       1. อาจารย์ก่อนๆ, อาจารย์รุ่นก่อน, อาจารปางก่อน
       2. อาจารย์ต้น, อาจารย์แรก คือ มารดาบิดา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 37
บุพพาราม วัดที่นางวิสาขาสร้างถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่กรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าประทับที่วัดนี้ รวมทั้งสิ้น ๖ พรรษา;
       ดู วิสาขา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 37
บุพเพนิวาสานุสติญาณ ดู ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 37
บุพเพสันนิวาส การเคยอยู่ร่วมกันในกาลก่อน เช่น เคยเป็นพ่อแม่ลูกพี่น้องเพื่อนผัวเมียกันในภพอดีต
       (ดู ชาดกที่ ๖๘ และ ๒๓๗ เป็นต้น)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 37
บุพภาค ส่วนเบื้องต้น, ตอนต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 37
บุรพนิมิตต์ เครื่องหมายให้รู้ล่วงหน้า, ลางที่บอกเหตุขึ้นก่อน
       บัดนี้เขียน บุพนิมิต

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 37
ปุพพเปตพลี การทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย (ข้อ ๓ ในพลี ๕ แห่งโภคอาทิยะ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 37
ปุพพัณณะ ดู บุพพัณณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 37
ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในก่อน, ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อนแล้ว
       (ข้อ ๔ ในจักร ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 37
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน, ระลึกชาติได้
       (ข้อ ๑ ในวิชชา ๓, ข้อ ๔ ในอภิญญา ๖, ข้อ ๖ ในวิชชา ๘, ข้อ ๘ ในทศพลญาณ)
       เขียนอย่างรูปเดิมในภาษาบาลีเป็น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ;
       ใช้ว่า บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ก็มี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 37
พหุพจน์, พหูพจน์ คำที่กล่าวถึงสิ่งมากกว่าหนึ่ง คือตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไป,
       เป็นคำที่ใช้ในไวยากรณ์บาลีและไทย คู่กับเอกพจน์ ซึ่งกล่าวถึงสิ่งเดียว;
       แต่ในไวยากรณ์สันสกฤต จำนวนสองเป็นทวิพจน์ หรือทวิวจนะ จำนวนสามขึ้นไปจึงจะเป็นพหุพจน์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 37
พุทธานุพุทธประวัติ ประวัติของพระพุทธเจ้าและพระสาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 37
ยชุพเพท ชื่อคัมภีร์ที่ ๒ แห่งพระเวท ในศาสนาพราหมณ์ เป็นตำรับประกอบด้วยมนต์สำหรับใช้สวดในยัญพิธีและแถลงพิธีทำกิจบูชายัญ เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ยชุรเวท;
       ดู ไตรเพท, เวท

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 37
ยุพราช พระราชกุมารที่ได้รับอภิเษก หรือแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งที่จะสืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบไป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 37
วิกุพพนฤทธิ์, วิกุพพนาอิทธิ ฤทธิ์คือการแผลง, ฤทธิ์บิดผัน, ฤทธิ์ผันแผลง คือ เปลี่ยนจากรูปร่างปกติ แปลงเป็นเด็ก เป็นครุฑ เป็นเทวดา เป็นเสือ เป็นงู เป็นต้น
       (ต้องห้ามทางพระวินัย)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 37
สุพาหุ บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี เป็นสหายของยสกุลบุตร ได้ทราบข่าวยสกุลบุตรออกบวช จึงได้บวชตามพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คน คือ วิมละ ปุณณชิ และควัมปติ ได้เป็นสาวกรุ่นแรก ที่พระพุทธเจ้าส่งไปประกาศพระศาสนา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 37
อนุบุพพิกถา ดู อนุปุพพิกถา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 37
อนุปุพพปฏิปทา ข้อปฏิบัติโดยลำดับ, การปฏิบัติตามลำดับ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 37
อนุปุพพวิหาร ธรรมเป็นเครื่องอยู่โดยลำดับ,
       ธรรมเครื่องอยู่ที่ประณีตต่อกันขึ้นไปโดยลำดับ มี ๙ คือ
           รูปฌาน ๔
           อรูปฌาน ๔ และ
           สัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 37
อนุปุพพิกถา เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ
       เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้นๆ จากง่ายไปหายาก
       เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจจ์
       มี ๕ คือ
           ๑. ทานกถา พรรณนาทาน
           ๒. สีลกถา พรรณนาศีล
           ๓. สัคคกถา พรรณนาสวรรค์ คือ ความสุขที่พรั่งพร้อมด้วยกาม
           ๔. กามาทีนวกถา พรรณนาโทษของกาม
           ๕. เนกขัมมานิสังสกถา พรรณาอานิสงส์แห่งการออกจากกาม
       อนุปุพพีกถา ก็มีใช้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 37
อนุพยัญชนะ ลักษณะน้อยๆ,
       พระลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ (นอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ ๓๒)
       อีก ๘๐ ประการ คือ
           ๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม
           ๒. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไป โดยลำดับแต่ต้นจนปลาย
           ๓. นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี
           ๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง
           ๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้นงอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง
           ๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลม สนิทมิได้เป็นริ้วรอย
           ๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก
           ๘. พระบาททั้งสองเสมอกัน มิได้ย่อมใหญ่กว่ากัน มาตรว่าเท่าเมล็ดงา
           ๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ
           ๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช
           ๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์
           ๑๒. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน
           ๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน
           ๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก
           ๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์ คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี
           ๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง
           ๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก
           ๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ
           ๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี
           ๒๐. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี
           ๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้
           ๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งประสรีรกาย
           ๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง
           ๒๔. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง
           ๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง
           ๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง
           ๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ
           ๒๘. มีพระนาสิกอันสูง
           ๒๙. สัณฐานนาสิกงามแฉล้ม
           ๓๐. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก
           ๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน
           ๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์
           ๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย
           ๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
           ๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์
           ๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย
           ๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน
           ๓๘. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก
           ๓๙. ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว
           ๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด
           ๔๑. ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง
           ๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ
           ๔๓. กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์
           ๔๔. กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน
           ๔๕. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
           ๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด
           ๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม
           ๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม
           ๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ
           ๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม
           ๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง
           ๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง
           ๕๓. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว
           ๕๔. ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน
           ๕๕. พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม
           ๕๖. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้
           ๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด
           ๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ
           ๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่
           ๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร
           ๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย
           ๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ
           ๖๓. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
           ๖๔. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ
           ๖๕. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย
           ๖๖. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา
           ๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น
           ๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย
           ๖๙. ลมอัสสาสะและปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด
           ๗๐. พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม
           ๗๑. กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล
           ๗๒. พระเกสาดำเป็นแสง
           ๗๓. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ
           ๗๔. พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ
           ๗๕. พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น
           ๗๖. พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น
           ๗๗. พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด
           ๗๘. เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง
           ๗๙. เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น
           ๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ
       นิยมเรียกว่า อสีตยานุพยัญชนะ;
       ดู มหาบุรุษลักษณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 37
อนุพุทธะ ผู้ตรัสรู้ตาม
       คือ ตรัสรู้ด้วยได้สดับเล่าเรียนและปฏิบัติตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน
       ได้แก่ พระอรหันตสาวกทั้งหลาย;
       ดู พุทธะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 37
อนุพุทธปวัตติ ประวัติของพระสาวก ผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า;
       เขียนสามัญเป็น อนุพุทธประวัติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 37
อสีตยานุพยัญชนะ อนุพยัญชนะ ๘๐;
       ดู อนุพยัญชนะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 37
อัสสยุชมาส, ปฐมกัตติกมาส เดือน ๑๑;
       ปุพพกัตติกา หรือ บุพกัตติกา ก็เรียก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 37
อิรุพเพท คำบาลีเรียกคัมภีร์หนึ่งในไตรเพท ตรงกับที่เรียกอย่างสันสกฤต ว่า ฤคเวท;
       ดู ไตรเพท

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 37
อุพพาหิกา กิริยาที่ถอนนำไป, การเลือกแยกออกไป,
       หมายถึง วิธีระงับวิวาทาธิกรณ์ ในกรณีที่ที่ประชุมสงฆ์มีความไม่สะดวก ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง สงฆ์จึงเลือกภิกษุบางรูปในที่ประชุมนั้น ตั้งเป็นคณะ แล้วมอบเรื่องให้นำเอาไปวินิจฉัย
       (เป็นทำนองตั้งคณะกรรมการพิเศษ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 37
อุพภตกสัณฐาคาร ท้องพระโรงชื่ออุพภตก เป็นท้องพระโรง หรือหอประชุมที่สร้างขึ้นใหม่ของมัลลกษัตริย์แห่งเมืองปาวา
       มัลลกษัตริย์ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปประทับพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนจะเปิดใช้งาน
       ณ ที่นี้ พระสารีบุตรได้แสดงสังคีติสูตร อันเป็นต้นแบบของการสังคายนา


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ุพ
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D8%BE


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]