ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ิก ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  80  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 80
กฐิน ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร;
       ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ)
       ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔);
       ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ);
       สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป;
       ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
       ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา ดู จำพรรษา) ยืดออกไปอีก ๔ เดือน (ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอด ๔ เดือนนั้น
       คำถวายผ้ากฐิน
       แบบสั้นว่า : อิมํ, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม. (ว่า ๓ จบ)
       แปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์
       แบบยาวว่า : อิมํ, ภนฺเต, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, สงฺโฆ, อิมํ สปริวารํ, กฐินทุสฺสํ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, ปฏิคฺคเหตฺวา จ, อิมินา ทุสฺเสน, กฐินํ, อตฺถรตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย.
       แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ

กฐินทาน การทอดกฐิน, การถวายผ้ากฐิน คือการที่คฤหัสถ์ผู้ศรัทธาหรือแม้ภิกษุสามเณร นำผ้าไปถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว ณ วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อทำเป็นผ้ากฐิน เรียกสามัญว่า ทอดกฐิน (นอกจากผ้ากฐินแล้วปัจจุบันนิยมมีของถวายอื่นๆ อีกด้วยจำนวนมาก เรียกว่า บริวารกฐิน)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 80
กติก (ในคำว่า “ข้าพเจ้าถวายตามกติกาของสงฆ์”) ข้อตกลง, ข้อบังคับ,
       กติกาของสงฆ์ในกรณีนี้ คือข้อที่สงฆ์ ๒ อาวาส มีข้อตกลงกันไว้ว่า
           ลาภเกิดในอาวาสหนึ่ง สงฆ์อีกอาวาสหนึ่งมีส่วนได้รับแจกด้วย
       ทายกกล่าวคำถวายว่า “ข้าพเจ้าถวายตามกติกาของสงฆ์”
           ลาภที่ทายกถวายนั้น ย่อมตกเป็นของภิกษุผู้อยู่ในอาวาสที่ทำกติกากันไว้ด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 80
กถาวัตถุ ถ้อยคำที่ควรพูด, เรื่องที่ควรนำมาสนทนากันในหมู่ภิกษุ มี ๑๐ อย่างคือ
       ๑. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย
       ๒. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ
       ๓. ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายสงัดใจ
       ๔. อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่
       ๕. วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร
       ๖. สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล
       ๗. สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตมั่น
       ๘. ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา
       ๙. วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์
       ๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 80
กรรม ๑๒ กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ
       หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่
           ๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้
           ๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
           ๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป
           ๔. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล
       หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่
           ๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด
           ๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม
           ๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาบางหรือสั้นเข้า
           ๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรม ๒ อย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว
       หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่
           ๙. ครุกกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน
           ๑๐. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองลงมา
           ๑๑. อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น
           ๑๒. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 80
กรานกฐิน ขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์เพื่ออนุโมทนา ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า ผู้กราน
       พิธีทำในบัดนี้คือ ภิกษุซึ่งจำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดเดียวกัน (ต้องมีจำนวน ๕ รูปขึ้นไป) ประชุมกันในอุโบสถ พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ภิกษุรูปนั้นทำกิจตั้งแต่ ซัก กะตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ยกผ้าให้ เพื่ออนุโมทนา และภิกษุสงฆ์นั้นได้อนุโมทนาแล้ว เรียกว่า กรานกฐิน
       ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป กิจที่จะต้อง ซัก กะ ตัด เย็บย้อม ก็ไม่มี
       (กราน เป็นภาษาเขมร แปลว่า ขึง คือทำให้ตึง กฐิน เป็นภาษาบาลี แปลว่า ไม้สะดึง กรานกฐินก็คือขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง)
       เขียน กราลกฐิน บ้างก็มี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 80
กสิกรรม การทำนา, การเพาะปลูก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 80
กัญจนา เจ้าหญิงแห่งเทวทหนครเป็นมเหสีของพระเจ้าสีหนุ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เป็นพระชนนีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระอัยยิกาของเจ้าชายสิทธัตถะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 80
กัณฑกสามเณร ชื่อสามเณรรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล ผู้กล่าวตู่พระธรรม เป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติิกขาบทที่ ๑๐ แห่งสัปปาณกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์ และทรงให้สงฆ์นาสนะเธอเสีย
       เขียนเป็น กัณฏกะ ก็มี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 80
กัตติกมาส เดือน ๑๒

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 80
กัตติก
       1. ดาวลูกไก่
       2. เดือน ๑๒ ตามจันทรคติ ตกในราวปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 80
กัปปาสิก ผ้าทำด้วยฝ้าย คือผ้าสามัญ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 80
กัปปิยะ สมควร, ควรแก่สมณะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย
       คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุให้หรือฉันได้
       เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ
       แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ
       สิ่งที่ไม่เป็นกัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 80
กัปปิยการก ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ลูกศิษย์พระ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 80
กัปปิยบริขาร เครื่องใช้สอยที่สมควรแก่สมณะ, ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 80
กัปปิยภัณฑ์ ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ, สิ่งของที่สมควรแก่สมณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 80
กัปปิยภูมิ ที่สำหรับเก็บเสบียงอาหารของวัด, ครัววัด มี ๔ อย่าง คือ
       ๑. อุสสาวนันติก กัปปิยภูมิที่ทำด้วยการประกาศให้รู้แต่แรกสร้างว่าจะทำเป็นกัปปิยภูมิ คือพอเริ่มยกเสาหรือตั้งฝาก็ประกาศให้ได้ยินว่า “กปฺปิยภูมึ กโรม” แปลว่า “เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี”
       ๒. โคนิสาทิก กัปปิยภูมิขนาดเล็ก เคลื่อนที่ได้ ดุจเป็นที่โคจ่อม
       ๓. คหปติก เรือนของคฤหบดีเขาสร้างถวายเป็นกัปปิยภูมิ
       ๔. สัมมติก กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่ กุฎีที่สงฆ์เลือกจะใช้เป็นกัปปิยกุฎี แล้วสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 80
กัมมลักขณะ การอันมีลักษณะเป็น (สังฆ) กรรมนั้นได้,
       กิจการที่มีลักษณะอันจัดเข้าเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ในสังฆกรรมประเภทนั้นได้ แต่ท่านไม่ได้ออกชื่อไว้ และไม่อาจจัดเข้าในชื่ออื่นๆ แห่งสังฆกรรมประเภทเดียวกัน เช่น
       การอปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน เป็นกัมมลักขณะ ในอปโลกนกรรม
       การประกาศเริ่มต้นระงับอธิกรณ์ด้วยติณวัตถารกวินัย เป็นกัมมลักขณะ ในญัตติกรรม
       ญัตติทุติยกรรมที่สวดในลำดับไปในการระงับอธิกรณ์ด้วยติณวัตถารกวินัย เป็นกัมมลักขณะ ในญัตติทุติยกรรม
       อุปสมบทและอัพภาน เป็นกัมมลักขณะในญัตติจตุตถกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 80
กัมมัฏฐาน ๔๐ คือ
       กสิณ ๑๐
       อสุภะ ๑๐
       อนุสสติ ๑๐
       พรหมวิหาร ๔
       อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
       จตุธาตุววัตถาน ๑
       อรูป ๔

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 80
กัมมารหะ ผู้ควรแก่กรรม คือบุคคลที่ถูกสงฆ์ทำกรรม
       เช่น ภิกษุที่สงฆ์พิจารณาทำปัพพาชนียกรรม คฤหัสถ์ที่ถูกสงฆ์ดำเนินการคว่ำบาตร เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 80
กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว
       (ข้อ ๓ ในทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิธรรม ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 80
กัสสปสังยุตต์ ชื่อเรียกพระสูตรหมวดหนึ่ง ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย รวบรวมเรื่องเกี่ยวกับพระมหากัสสปไว้เป็นหมวดหมู่

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 80
กามภพ ที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม, โลกเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสพกาม
       ได้แก่
           อบายภูมิ ๔
           มนุษยโลก และ
           สวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
           รวมเป็น ๑๑ ชั้น
       (ข้อ ๑ ในภพ ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 80
กามสมบัติ สมบัติกามารมณ์, ความถึงพร้อมด้วยกามารมณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 80
กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุข เป็นที่สุดอย่างหนึ่ง ในบรรดาที่สุด ๒ คือ
       กามสุขัลลิกานุโยค ๑
       อัตตกิลมถานุโยค

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 80
กายกัมมัญญตา ความควรแก่การงานแห่งนามกาย,
       ธรรมชาติที่ทำนามกาย คือ เจตสิกทั้งหลายให้อยู่ในภาวะที่จะทำงานได้ดี
       (ข้อ ๑๔ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 80
กายปัสสัทธิ ความสงบรำงับแห่งนามกาย,
       ธรรมชาติทำนามกาย คือ เจตสิกทั้งหลายให้สงบเย็น
       (ข้อ ๘ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 80
กายปาคุญญตา ความคล่องแคล่วแห่งนามกาย,
       ธรรมชาติทำนามกายคือ เจตสิกทั้งหลายให้แคล่วคล่องว่องไว รวดเร็ว
       (ข้อ ๑๖ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 80
กายมุทุตา ความอ่อนโยนแห่งนามกาย,
       ธรรมชาติทำนามกาย คือ เจตสิกทั้งหลายให้นุ่มนวลอ่อนละมุน
       (ข้อ ๑๒ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 80
กายลหุตา ความเบาแห่งนามกาย,
       ธรรมชาติทำนามกาย คือ กองเจตสิกให้เบา
       (ข้อ ๑๐ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 80
กายสังสัคคะ ความเกี่ยวข้องด้วยกาย, การเคล้าคลึงร่างกาย,
       เป็นชื่ออาบัติสังฆาทิเสสข้อที่ ๒ ที่ว่าภิกษุมีความกำหนัดถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม, การจับต้องกายหญิงโดยมีจิตกำหนัด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 80
กายิกสุข สุขทางกาย เช่น ได้ยินเสียงไพเราะ ลิ้มรสอร่อย ถูกต้องสิ่งที่อ่อนนุ่ม เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 80
กายุชุกตา ความซื่อตรงแห่งนามกาย, ธรรมชาติที่ทำนามกายคือเจตสิกทั้งหลายให้ซื่อตรง
       (ข้อ ๑๘ ในโสภณเจตสิก ๒๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 80
การก ผู้กระทำกรรมได้ตามพระวินัย มี ๓ คือ สงฆ์ คณะ และ บุคคล เช่น ในการทำอุโบสถ
       ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปเรียก สงฆ์ สวดปาฏิโมกข์ได้
       ภิกษุ ๒ หรือ ๓ รูป เรียก คณะ ให้บอกความบริสุทธิ์ได้
       ภิกษุรูปเดียวเรียกว่า บุคคล ให้อธิษฐาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 80
กาลามสูตร สูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคมใน แคว้นโกศล ไม่ให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล ตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ
       อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา,
           ด้วยการถือสืบๆ กันมา,
           ด้วยการเล่าลือ,
           ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์,
           ด้วยตรรก,
           ด้วยการอนุมาน,
           ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล,
           เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน,
           เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ,
           เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา;
       ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น
       เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตติยสูตร หรือเกสปุตตสูตร.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 80
กาลิก เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ
       ๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น
           เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
       ๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่
           ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต
       ๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน
           ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕
       ๔. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา
           ได้แก่ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น
           (ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 80
กาฬุทายี อำมาตย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ
       เป็นสหชาติและเป็นพระสหายสนิทของพระโพธิสัตว์ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์
       พระเจ้าสุทโธทนะส่งไปทูลเชิญพระศาสดาเพื่อเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์
       กาฬุทายีไปเฝ้าพระศาสดาที่กรุงราชคฤห์ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตตผล อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ทูลเชิญพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์
       ท่านได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ทำตระกูลให้เลื่อมใส

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 80
กิงกรณีเยสุ ทักขตา ความเป็นผู้ขยันช่วยเอาใจใส่ในกิจธุระของเพื่อนภิกษุ สามเณร
       (ข้อ ๕ ในนาถกรณธรรม)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 80
กิจจาธิกรณ์ การงานเป็นอธิกรณ์ คือ เรื่องที่เกิดขึ้นอันสงฆ์ต้องจัดต้องทำ หรือกิจธุระที่สงฆ์จะพึงทำ;
       อรรถกถาพระวินัยว่า หมายถึงกิจอันจะพึงทำด้วยประชุมสงฆ์ ได้แก่ สังฆกรรม ทั้ง ๔ คือ
       อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 80
กิจในอริยสัจ ข้อที่ต้องทำในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง คือ
       ปริญญา กำหนดรู้ เป็นกิจในทุกข์
       ปหานะ การละ เป็นกิจในสมุทัย
       สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้งหรือการบรรลุ เป็นกิจในนิโรธ
       ภาวนา การเจริญคือปฏิบัติบำเพ็ญ เป็นกิจในมรรค

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 80
กิจเบื้องต้น ในการอุปสมบท หมายถึง ให้บรรพชา ถือนิสัย ถืออุปัชฌายะ จนถึงถามอันตรายิกธรรมในที่ประชุมสงฆ์
       (คำเดิมเป็น บุพกิจ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 80
กินร่วม ในประโยคว่า “ภิกษุใดรู้อยู่กินร่วมก็ดี อยู่ร่วมก็ดี สำเร็จการนอนด้วยก็ดี” คบหากันในทางให้หรือรับอามิส และคบหากันในทางสอนธรรมเรียนธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 80
กิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุใคร่, กิเลสที่ทำให้อยาก, เจตสิกอันเศร้าหมอง ชักให้ใคร่ ให้รัก ให้อยากได้
       ได้แก่ ราคะ โลภะ อิจฉา (อยากได้) เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 80
กีสาโคตมี พระเถรีสำคัญองค์หนึ่ง
       เดิมเป็นธิดาคนยากจนในพระนครสาวัตถี แต่ได้เป็นลูกสะใภ้ของเศรษฐีในพระนครนั้น นางมีบุตรชายคนหนึ่ง
       อยู่มาไม่นานบุตรชายตาย นางมีความเสียใจมาก อุ้มบุตรที่ตายแล้วไปในที่ต่างๆ เพื่อหายาแก้ให้ฟื้น จนได้ไปพบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนด้วยอุบายและทรงประทานโอวาท นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชในสำนักนางภิกษุณี
       วันหนึ่งนั่งพิจารณาเปลวประทีปที่ตามอยู่ในพระอุโบสถ ได้บรรลุพระอรหัต
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางทรงจีวรเศร้าหมอง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 80
กุฎี กระท่อมที่อยู่ของนักบวช เช่น พระภิกษุ, เรือนหรือตึกที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 80
กุฏิภัต อาหารที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อยู่ในกุฎีอันเขาสร้าง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 80
กุมมาส ขนมสด คือขนมที่เก็บไว้นานเกินไปจะบูด
       เช่น ขนมด้วง ขนมครก ขนมถ้วย ขนมตาล เป็นต้น
       พระพุทธเจ้า หลังจากเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาก็เสวยข้าวสุกและกุมมาส

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 80
กุมารกัสสปะ พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์
       คลอดเมื่อมารดาบวชเป็นภิกษุณีแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ทารกนั้นได้นามว่า กัสสปะ
       ภายหลังเรียกกันว่า กุมารกัสสปะ เพราะท่านเป็นเด็กสามัญ แต่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างราชกุมาร
       ท่านอุปสมบทในสำนักของพระศาสดา ได้บรรลุพระอรหัต
       ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นเอตทัคคะในทางแสดงธรรมวิจิตร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 80
กุมารีภูตวรรค ชื่อหมวดในพระวินัยปิฎก หมายถึงตอนอันว่าด้วยกุมารีภูตา คือสามเณรีผู้เตรียมจะอุปสมบทเป็นภิกษุณี มีอยู่ในปาจิตติยกัณฑ์ ในภิกขุนีวิภังค์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 80
กุมารีภูตา ผู้เป็นนางสาวแล้ว
       หมายถึง สามเณรีที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุณี
       เช่น ในคำว่า “อิฉันเป็นนางสาว (กุมารีภูตา) ของแม่เจ้าชื่อนี้ มีอายุ ๒๐ ปีเต็ม มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ๒ ปี ขอวุฏฐานสมมติต่อสงฆ์เจ้าข้า”

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 80
กุลทูสก “ผู้ประทุษร้ายตระกูล”
       หมายถึง ภิกษุผู้ประจบคฤหัสถ์ เอาใจเขาต่างๆ ด้วยอาการผิดวินัย มุ่งเพื่อให้เขาชอบตนเป็นส่วนตัว เป็นเหตุให้เขาคลายศรัทธาในพระศาสนาและเสื่อมจากกุศลธรรม
       เช่น ให้ของกำนัลเหมือนอย่างคฤหัสถ์เขาทำกัน ยอมตัวให้เขาใช้ เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 80
กุลมัจฉริยะ “ตระหนี่ตระกูล” ได้แก่หวงแหนตระกูล ไม่ยอมให้ตระกูลอื่นมาเกี่ยวดองด้วย ถ้าเป็นบรรพชิตก็หวงแหนอุปัฏฐาก ไม่พอใจให้ไปบำรุงภิกษุอื่น;
       ดู มัจฉริยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 80
กูฏทันตสูตร สูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สุตตันตปิฎก
       พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กูฏทันตพราหมณ์ ผู้กำลังเตรียมพิธีบูชายัญ ว่าด้วยวิธีบูชายัญตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ต้องมีการฆ่าฟันเบียดเบียนสัตว์ มีแต่การเสียสละทำทาน และการทำความดีอื่นๆ
       เริ่มด้วยการตระเตรียมพิธีโดยจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยก่อนตามธรรมวิธี มีการส่งเสริมกสิกรรม พาณิชยกรรม สัมมาชีพ และบำรุงส่งเสริมข้าราชการที่ดี ซึ่งจะทำให้ประชาชนขวนขวาย ขะมักเขม้นในหน้าที่การงานของตนๆ จนบ้านเมืองมีความเกษมปลอดภัย พลเมืองมีความสุข ราชทรัพย์บริบูรณ์ดีแล้ว จึงกระทำพิธีบูชายัญ ด้วยการบริจาคทรัพย์ทำทานเป็นต้น
       ผลของพระธรรมเทศนานี้ คือ กูฏทันตพราหมณ์ล้มเลิกพิธีบูชายัญของตน ปล่อยสัตว์ทั้งหลาย และประกาศตนเป็นอุบาสก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  53 / 80
เก็บวัตร โวหารเรียกวินัยกรรมเกี่ยวกับวุฏฐานวิธีอย่างหนึ่ง คือ เมื่อภิกษุต้องครุกาบัติขั้นสังฆาทิเสสกำลังอยู่ปริวาส ยังไม่ครบเวลาที่ปกปิดอาบัติไว้ก็ดี กำลังประพฤติมานัตยังไม่ครบ ๖ ราตรีก็ดี เมื่อมีเหตุอันสมควร ก็ไม่ต้องประพฤติติดต่อกันเป็นรวดเดียว พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า นั่งกระหย่ง ประณมมือ
       ถ้าเก็บปริวาสพึงกล่าวว่า
           “ปริวาสํ นิกฺขิปามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าเก็บปริวาส”
           หรือว่า “วตฺตํ นิกฺขิปามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าเก็บวัตร”
           ว่าคำใดคำหนึ่ง ก็เป็นอันพักปริวาส ;
       ถ้าเก็บมานัต พึงกล่าวว่า
           “มานตฺตํ นิกฺขิปามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าเก็บมานัต”
           หรือว่า “วตฺตํ นิกฺขิปามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าเก็บวัตร” ดังนี้
           ว่าคำใดคำหนึ่งก็เป็นอันพักมานัต
       ต่อไปเมื่อมีโอกาสก็ให้สมาทานวัตรใหม่ได้อีก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  54 / 80
เกินพิกัด เกินกำหนดที่จะต้องเสียภาษีอากร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  55 / 80
โกสัมพิกขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๑๐ (สุดท้าย) แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะวิวาทกัน จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาในป่ารักขิตวัน ตำบลปาริไลยกะ
       ในที่สุด พระภิกษุเหล่านั้นถูกมหาชนบีบคั้นให้ต้องกลับปรองดองกัน บังเกิดสังฆสามัคคีอีกครั้งหนึ่ง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  56 / 80
ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ, สมาธิขั้นต้นพอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดี ให้จิตใจสงบสบายได้ พักชั่วคราว และใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้
       (ขั้นต่อไป คือ อุปจารสมาธิ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  57 / 80
ขณิกาปีติ ความอิ่มใจชั่วขณะ เมื่อเกิดขึ้นทำให้รู้สึกเสียวแปลบๆ เป็นขณะๆ เหมือนฟ้าแลบ
       (ข้อ ๒ ในปีติ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  58 / 80
ขนบ แบบอย่างที่ภิกษุควรประพฤติในกาลนั้นๆ ในที่นั้นๆ แก่บุคคลนั้นๆ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  59 / 80
ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง คือ เมื่อลงมือฉันแล้วมีผู้นำอาหารมาถวายอีก ก็ไม่รับ
       (ข้อ ๗ ในธุดงค์ ๑๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  60 / 80
ของต้องพิกัด ของเข้ากำหนดที่จะต้องเสียภาษี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  61 / 80
ขัชชภาชกะิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่แจกของเคี้ยว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  62 / 80
ขัณฑสีมา สีมาเล็กผูกเฉพาะโรงอุโบสถที่อยู่ในมหาสีมา มีสีมันตริกคั่น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  63 / 80
ขันธกะ หมวด, พวก, ตอน
       หมายถึง เรื่องราวเกี่ยวกับพระวินัย และสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ ที่จัดประมวลเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่า ขันธกะ, ขันธกะหนึ่งๆ ว่าด้วยเรื่องหนึ่งๆ เช่น อุโบสถขันธกะ หมวดที่ว่าด้วยการทำอุโบสถ จีวรขันธกะ หมวดที่ว่าด้วยจีวรเป็นต้น รวมทั้งสิ้นมี ๒๒ ขันธกะ (พระวินัยปิฎกเล่ม ๔-๕-๖-๗)
       ดู ไตรปิฎก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  64 / 80
ขึ้นวัตร โวหารเรียกวินัยกรรมเกี่ยวกับวุฏฐานวิธีอย่างหนึ่ง คือ
       เมื่อภิกษุต้องครุกาบัติชั้นสังฆาทิเสสแล้วอยู่ปริวาส ยังไม่ครบเวลาที่ปกปิดอาบัติไว้หรือประพฤติมานัตอยู่ยังไม่ครบ ๖ ราตรี พักปริวาสหรือมานัตเสียเนื่องจากมีเหตุอันสมควร
       เมื่อจะสมาทานวัตรใหม่เพื่อประพฤติปริวาสหรือมานัตที่เหลือนั้น เรียกว่าขึ้นวัตรคือการสมาทานวัตรนั่นเอง
       ถ้าขึ้นปริวาส พึงกล่าวคำในสำนักภิกษุรูปหนึ่งว่า
           “ปริวาสํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขึ้นปริวาส”
           “วตฺตํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขึ้นวัตร”
       ถ้าขึ้นมานัต พึงกล่าวว่า
           “มานตฺตํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขึ้นมานัต” หรือ
           “วตฺตํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขึ้นวัตร”

แสดงผลการค้น ลำดับที่  65 / 80
เขต
       1. แดนที่กันไว้เป็นกำหนด เช่น นา ไร่ ที่ดิน แคว้น เป็นต้น
       2. ข้อที่ภิกษุระบุถึงเพื่อลาสิกขา เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  66 / 80
เขมา พระเถรีมหาสาวิการูปหนึ่ง ประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ
       ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตน ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี
       ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  67 / 80
คณญัตติกรรม การประกาศให้สงฆ์ทราบแทนคณะคือพวกฝ่ายตน ได้แก่
       การที่ภิกษุรูปหนึ่งในนามแห่งภิกษุฝ่ายหนึ่ง สวดประกาศขออนุมัติเป็นผู้แสดงแทนซึ่งอาบัติของฝ่ายตนและของตนเองด้วยติณวัตถารกวิธี (อีกฝ่ายหนึ่งก็พึงทำเหมือนกันอย่างนั้น) ;
       เป็นขั้นตอนหนึ่งแห่งการระงับอธิกรณ์ ด้วยติณวัตถารกวินัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  68 / 80
คณปูรกะิกษุผู้เป็นที่ครบจำนวนในคณะนั้นๆ
       เช่น สังฆกรรมที่ต้องมีภิกษุ ๔ รูป หรือยิ่งขึ้นไป เป็นผู้ทำ
       ยังขาดอยู่เพียงจำนวนใดจำนวนหนึ่ง มีภิกษุอื่นมาสมบท ทำให้ครบองค์สงฆ์ ในสังฆกรรมนั้นๆ
       ภิกษุที่มาสมทบนั้น เรียกว่า คณปูรกะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  69 / 80
คณโภชน์ ฉันเป็นหมู่ คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะ แล้วฉัน;
       อีกนัยหนึ่งว่า นั่งล้อมโภชนะฉัน หรือฉันเข้าวง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  70 / 80
คณะธรรมยุต คณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นภิกษุในรัชกาลที่ ๓ (เรียกว่า ธรรมยุตติกา หรือ ธรรมยุติกิกาย ก็มี);
       สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า “พระสงฆ์ออกจากมหานิกายนั้นเอง แต่ได้รับอุปสมบทในรามัญนิกายด้วย” (การคณะสงฆ์ น.๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  71 / 80
คณะมหานิกาย คณะสงฆ์ไทยเดิมทีสืบมาแต่สมัยสุโขทัย,
       เป็นชื่อที่ใช้เรียกในเมื่อได้เกิดมีคณะธรรมยุตขึ้นแล้ว;
       สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า “พระสงฆ์อันมีเป็นพื้นเมือง [ของประเทศไทย-ผู้เขียน] ก่อนเกิดธรรมยุติกิกาย” (การคณะสงฆ์ น.๙๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  72 / 80
คณิก หญิงแพศยา, หญิงงามเมือง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  73 / 80
คติ
       1. การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง
       2. ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี ๕ คือ
           ๑. นิรยะ นรก
           ๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน
           ๓. เปตติวิสัย แดนเปรต
           ๔. มนุษย์ สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล
           ๕. เทพ ชาวสวรรค์ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงอกนิฏฐพรหม
       (ท่านว่าในที่นี้ จัดอสูรเข้าในเปตตวิสัยด้วย)
       ๓ คติแรกเป็น ทุคติ (ที่ไปเกิดอันชั่ว หรือแบบดำเนินชีวิตที่ไม่ดี)
       ๒ คติหลังเป็น สุคติ (ที่ไปเกิดอันดี หรือแบบดำเนินชีวิตที่ดี)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  74 / 80
คมิยภัต ภัตเพื่อผู้ไป, อาหารที่เขาถวายเฉพาะภิกษุผู้จะเดินทางไปอยู่ที่อื่น ;
       คมิกภัต ก็ว่า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  75 / 80
คยาสีสะ ชื่อตำบล ซึ่งเป็นเนินเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดคยา
       พระพุทธเจ้าเทศนาอาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุสงฆ์ปุราณชฎิลทั้งหมดให้สำเร็จพระอรหัตที่ตำบลนี้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  76 / 80
คราวใหญ่ คราวที่ภิกษุอยู่มากด้วยกัน บิณฑบาตไม่พอฉัน (ฉันเป็นหมู่ได้ ไม่ต้องปาจิตตีย์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  77 / 80
ครุกาบัติ อาบัติหนัก ได้แก่
       อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ ภิกษุต้องแล้วจำต้องสึกเสีย และ
       อาบัติสังฆาทิเสส อยู่กรรมจึงจะพ้นได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  78 / 80
ครุธรรม ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ
       ๑. ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว
       ๒. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
       ๓. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
       ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึง ระแวงสงสัยหรือประพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง)
       ๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน
       ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา
       ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ
       ๘. ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุแต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  79 / 80
คว่ำบาตร การที่สงฆ์ลงโทษอุบาสก ผู้ปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย โดยประกาศให้ภิกษุทั้งหลายไม่คบด้วย
       คือไม่รับบิณฑบาต ไม่รับนิมนต์ ไม่รับไทยธรรม
       คู่กับ หงายบาตร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  80 / 80
คหปติก “เรือนของคฤหบดี” คือ เรือนอันชาวบ้านสร้างถวายเป็นกัปปิยกุฎี
       ดู กัปปิยภูมิ


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ิก&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%D4%A1&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]