ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ศีล ”             ผลการค้นหาพบ  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
จำศีล อยู่รักษาศีล, ถือศีลเป็นกิจวัตร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
ทุศีล มีศีลชั่ว คือประพฤติไม่ดี มักละเมิดศีล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
นิจศีล ศีลที่พึงรักษาเป็นประจำ, ศีลประจำตัวของอุบาสกอุบาสิกา ได้แก่ ศีล ๕

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
เบญจศีล ดู ศีล ๕

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
ปาริสุทธิศีล ศีลเป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์, ศีลเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ หรือความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีลมี ๔ อย่าง คือ
       ๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์
       ๒. อินทรียสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
       ๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม
       ๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
ศีล ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ;
       มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา
       (ข้อ ๑ ในไตรสิกขา, ข้อ ๒ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๒ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๒ ในอริยวัฑฒิ ๕)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
ศีลธรรม
       ความประพฤติที่ดีที่ชอบ, ความประพฤติดีงาม;
       นิยมแปลกันว่า ศีลและธรรม โดยถือว่า
           ศีล หมายถึง เว้นชั่วหรือเว้นจากข้อห้าม
           ธรรม หมายถึง ประพฤติดี หรือทำตามคำแนะนำสั่งสอน,
       แต่แปลตามหลักว่า ธรรมขั้นศีล เพราะศีลเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับสมาธิและปัญญา (ในไตรสิกขา)
       ความประพฤติดีงามทางกายวาจา, ความประพฤติที่ดีที่ชอบ, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีวะ;
       โดยทางศัพท์ ศีลธรรม แปลว่า “ธรรมคือศีล” หมายถึง ธรรมขั้นศีล หรือธรรมในระดับศีล เพราะศีลเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ในบรรดาธรรมภาคปฏิบัติ ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ดังนั้นต่อจากธรรมขั้นศีล จึงมีธรรมขั้นสมาธิ และธรรมขั้นปัญญา;
       ได้มีผู้พยายามแปลศีลธรรม อีกอย่างหนึ่งว่า “ศีลและธรรม” (ถ้าแปลให้ถูกต้องจริงต้องว่าศีลและธรรมอื่นๆ คือศีลและธรรมอื่นๆ นอกจากศีล เช่น สมาธิ และปัญญา เป็นต้น เพราะศีลก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง)
       ถ้าแปลอย่างนี้ จะต้องเข้าใจว่า ศีลธรรม มิใช่เป็นเพียงความประพฤติดีงามเท่านั้น แต่รวมถึง สมถะวิปัสสนา ขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ เป็นต้น ด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
ศีลวัตร, ศีลพรต ศีลและวัตร, ศีลและพรต,
       ข้อที่จะต้องสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่า ศีล
       ข้อที่พึงถือปฏิบัติ ชื่อว่า วัตร,
       หลักความประพฤติทั่วไป อันจะต้องรักษาเสมอกัน ชื่อว่า ศีล
       ข้อปฏิบัติพิเศษเพื่อฝึกฝนตนให้ยิ่งขึ้นไป ชื่อว่า วัตร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
ศีลวิบัติ ดู สีลวิบัติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
ศีล ๕ สำหรับทุกคน คือ
       ๑. เว้นจากทำลายชีวิต
       ๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
       ๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
       ๔. เว้นจากพูดเท็จ
       ๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท;
       คำสมาทานว่า
           ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๒. อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๔. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ;
       ดู อาราธนาศีล ด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
ศีล ๘ สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ หัวข้อเหมือนศีล ๕ แต่เปลี่ยนข้อ ๓ และเติมข้อ ๖-๗-๘ คือ
       ๓. เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี
       ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป
       ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
       ๘. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย;
       คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่างจากศีล ๕) ว่า
           ๓. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๖. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ;
       ดู อาราธนาศีล ด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดศรัทธาจะรักษาก็ได้
       หัวข้อเหมือนศีล ๘ แต่แยกข้อ ๗ เป็น ๒ ข้อ (= ๗, ๘) เลื่อนข้อ ๘ เป็น ๙ และเติมข้อ ๑๐ คือ
       ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ฯลฯ
       ๘. เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ฯลฯ
       ๙. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ ฯลฯ
       ๑๐. เว้นจากการรับทองและเงิน;
       คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่าง) ว่า
           ๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๘. มาลาคนฺธวิเลปน ธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๙. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๑๐. ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ;
       ดู อาราธนาศีล ด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
ศีล ๒๒๗ ศีลสำหรับพระภิกษุ มีในปาฏิโมกข์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
ศีล ๓๑๑ ศีลสำหรับพระภิกษุณี มีในภิกขุนีปาฏิโมกข์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
ศีลอุโบสถ คือ ศีล ๘ ที่สมาทานรักษาพิเศษในวันอุโบสถ;
       ดู อุโบสถศีล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
ศีลาจาร ศีลและอาจาระ, การปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ และมารยาททั่วไป;
       นัยหนึ่งว่า
           ศีล คือ ไม่ต้องอาบัติปาราชิกและสังฆาทิเสส
           อาจาระ คือ ไม่ต้องอาบัติเบาตั้งแต่ถุลลัจจัยลงมา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
อธิศีลสิกขา การศึกษาในอธิศีล, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง, การฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกาย วาจา คือ ระเบียบวินัย การอยู่ร่วมกับผู้อื่นและในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วยดี ให้เกื้อกูล ไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย เป็นพื้นฐานแห่งการฝึกอบรมจิตใจในอธิจิตตสิกขา
       (ข้อ ๑ ในสิกขา ๓ หรือไตรสิกขา),
       เขียนอย่างบาลีเป็น อธิสีลสิกขา และ เรียกกันง่ายๆ ว่า ศีล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
อาราธนาศีล กล่าวคำเชิญหรือขอร้องพระให้ให้ศีล, สำหรับศีล ๕ ว่าดังนี้:
       “มยํ ภนฺเต, (วิสุงฺ วิสุงฺ รกฺขณตฺถาย), ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม;
       ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต, (วิสุงฺ วิสุงฺ รกฺขณตฺถาย), ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม;
       ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต, (วิสุงฺ วิสุงฺ รกฺขณตฺถาย), ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม”
       (คำในวงเล็บ จะไม่ใช้ก็ได้)
       คำอาราธนาศีล ๘ ก็เหมือนกัน เปลี่ยนแต่ ปญฺจ เป็น อฏฺฐ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
อาราธนาศีลอุโบสถ กล่าวคำเชิญพระให้ให้อุโบสถศีล ว่าพร้อมกันทุกคน ดังนี้;
       “มยํ ภนฺเต, ติสรเณน สห, อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ, อุโปสถํ ยาจาม” (ว่า ๓ จบ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
อุโบสถศีล ศีลที่รักษาเป็นอุโบสถ หรือ ศีลที่รักษาในวันอุโบสถ ได้แก่ ศีล ๘ ที่อุบาสกอุบาสิกาสมาทานรักษาเป็นการจำศีลในวันพระ คือขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (แรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด)


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ศีล
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C8%D5%C5


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]