ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ วิริยะ ”             ผลการค้นหาพบ  13  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 13
นาถกรณธรรม ธรรมทำที่พึ่ง, ธรรมสร้างที่พึ่ง,
       คุณธรรมที่ทำให้พึ่งตนได้ มี ๑๐ อย่าง คือ
           ๑. ศีล มีความประพฤติดี
           ๒. พาหุสัจจะ ได้เล่าเรียนสดับฟังมาก
           ๓. กัลยาณมิตตตา มีมิตรดีงาม
           ๔. โสวจัสสตา เป็นคนว่าง่าย ฟังเหตุผล
           ๕. กิงกรณีเยสุ ทักขตา เอาใจใส่กิจธุระของเพื่อนร่วมหมู่คณะ
           ๖. ธัมมกามตา เป็นผู้ใคร่ธรรม
           ๗. วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร
           ๘. สันตุฏฐี มีความสันโดษ
           ๙. สติ มีสติ
           ๑๐. ปัญญา มีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 13
บารมี คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง
       มี ๑๐ คือทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 13
พละ กำลัง
       1. พละ ๕ คือธรรมอันเป็นกำลัง ซึ่งเป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรค จัดอยู่ในจำพวกโพธิปักขิยธรรม มี ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา; ดู อินทรีย์ ๕, โพธิปักขิยธรรม
       2. พละ ๔ คือธรรมอันเป็นพลังทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวภัยต่างๆ ได้แก่
           ๑. ปัญญาพละ กำลังปัญญา
           ๒. วิริยพละ กำลังความเพียร
           ๓. อนวัชชพละ กำลังคือการกระทำที่ไม่มีโทษ (กำลังความสุจริตและการกระทำแต่กิจกรรมที่ดีงาม)
           ๔. สังคหพละ กำลังการสงเคราะห์ คือช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
       3. พละ ๕ หรือ ขัตติยพละ ๕ ได้แก่กำลังของพระมหากษัตริย์ หรือกำลังที่ทำให้มีความพร้อมสำหรับความเป็นกษัตริย์ ๕ ประการ ดังแสดงในคัมภีร์ชาดกคือ
           ๑. พาหาพละ หรือ กายพละ กำลังแขนหรือกำลังกาย คือแข็งแรงสุขภาพดี สามารถในการใช้แขนใช้มือใช้อาวุธ มีอุปกรณ์พรั่งพร้อม
           ๒. โภคพละ กำลังโภคสมบัติ
           ๓. อมัจจพละ กำลังข้าราชการที่ปรึกษาและผู้บริหารที่สามารถ
           ๔. อภิชัจจพละ กำลังความมีชาติสูง ต้องด้วยความนิยมเชิดชูของมหาชนและได้รับการศึกษาอบรมมาดี
           ๕. ปัญญาพละ กำลังปัญญา ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 13
พุทธธรรม
       1. ธรรมของพระพุทธเจ้า, พระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า คัมภีร์มหานิทเทศระบุจำนวนไว้ว่ามี ๖ ประการ แต่ไม่ได้จำแนกข้อไว้ อรรถกถาโยงความให้ว่าได้แก่
           ๑. กายกรรมทุกอย่างของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามพระญาณ (จะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา ด้วยความรู้เข้าใจ)
           ๒. วจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
           ๓. มโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
           ๔. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต
           ๕. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต
           ๖. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน;
       คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาแห่งทีฆนิกาย จำแนกพุทธธรรมว่ามี ๑๘ อย่าง คือ
           ๑. พระตถาคตไม่ทรงมีกายทุจริต
           ๒. ไม่ทรงมีวจีทุจริต
           ๓. ไม่ทรงมีมโนทุจริต
           ๔. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอดีต
           ๕. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในอนาคต
           ๖. ทรงมีพระญาณไม่ติดขัดในปัจจุบัน
           ๗. ทรงมีกายกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
           ๘. ทรงมีวจีกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
           ๙. ทรงมีมโนกรรมทุกอย่างเป็นไปตามพระญาณ
           ๑๐. ไม่มีความเสื่อมฉันทะ (ฉันทะไม่ลดถอย)
           ๑๑. ไม่มีความเสื่อมวิริยะ (ความเพียรไม่ลดถอย)
           ๑๒. ไม่มีความเสื่อมสติ (สติไม่ลดถอย)
           ๑๓. ไม่มีการเล่น
           ๑๔. ไม่มีการพูดพลาด
           ๑๕. ไม่มีการทำพลาด
           ๑๖. ไม่มีความผลุนผลัน
           ๑๗. ไม่มีพระทัยที่ไม่ขวนขวาย
           ๑๘. ไม่มีอกุศลจิต
       2. ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่พุทธการกธรรม คือบารมี ๑๐
       3. ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ มรรคมีองค์ ๘ ขันธ์ ๕ ปัจจัย ๒๔ เป็นอาทิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 13
โพชฌงค์ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้หรือองค์ของผู้ตรัสรู้มี ๗ อย่าง
       คือ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม) ๓. วิริยะ ๔. ปิติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา
       (ดู โพธิปักขิยธรรม)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 13
โพธิสัตว์ ท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ คือ
       ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 13
มหรคต “อันถึงความเป็นสภาพใหญ่” “ซึ่งถึงความยิ่งใหญ่” หรือ “ซึ่งดำเนินไปด้วยฉันทะวิริยะจิตตะและปัญญาอย่างใหญ่” คือ เข้าถึงฌาน, เป็นรูปาวจร หรืออรูปาวจร, ถึงระดับวิกขัมภนวิมุตติ
       (เขียนอย่างบาลีเป็น มหัคคตะ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 13
มาร
       1. สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ คือ
           ๑. กิเลสมาร มารคือกิเลส
           ๒. ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์
           ๓. อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขารที่ปรุงแต่งกรรม
           ๔. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร
           ๕. มัจจุมาร มารคือความตาย
       2. พระยามารที่มีเรื่องราวปรากฏบ่อยๆ ในคัมภีร์ คอยมาแทรกแซงเหตุการณ์ต่างๆ ในพุทธประวัติ เช่น ยกพลเสนามาผจญพระมหาบุรุษในวันที่จะตรัสรู้ พระองค์ชนะพระยามารได้ด้วยทรงนึกถึงบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐาน เมตตา อุเบกขา
           มารในกรณีเช่นนี้ บางทีท่านอธิบายออกชื่อว่าเป็นวสวัตดีมาร ซึ่งครองแดนหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุด แห่งระดับกามาวจรคือปรนิมิตวสวัตดี เป็นผู้คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนกามซึ่งอยู่ในอำนาจครอบงำของตน
           อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเทียบจากมาร ๕ ในความหมายที่ 1. ด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 13
วิริยะ ความเพียร, ความบากบั่น, ความเพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี, ความพยายามทำกิจ ไม่ท้อถอย
       (ข้อ ๕ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๓ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๒ ในอิทธิบาท ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 13
สมาธิขันธ์ หมวดธรรมจำพวกสมาธิ เช่น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ชาคริยานุโยค กายคตาสติ เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 13
อัญญสมานาเจตสิก เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้กับจิตต์ทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล มิใช่เข้าได้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว มี ๑๓ แยกเป็น
       ก. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง) ๗ คือ
           ผัสสะ (ความกระทบอารมณ์)
           เวทนา
           สัญญา
           เจตนา
           เอกัคคตา
           ชีวิตินทรีย์
           มนสิการ (ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ, ใส่ใจ)
       ข. ปกิณณกเจตสิก (เจตสิกที่เรี่ยราย คือเกิดกับจิตได้ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล แต่ไม่แน่นอนเสมอไปทุกดวง) ๖ คือ
           วิตก (ความตรึกอารมณ์)
           วิจาร (ความตรองอารมณ์)
           อธิโมกข์ (ความปักใจในอารมณ์)
           วิริยะ
           ปีติ
           ฉันทะ (ความพอใจในอารมณ์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 13
อิทธิบาท คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณเครื่องสำเร็จประสงค์,
       ทางแห่งความสำเร็จ มี ๔ คือ
           ๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่สิ่งนั้น
           ๒. วิริยะ ความพยายามทำสิ่งนั้น
           ๓. จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
           ๔. วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น;
       จำง่ายๆ ว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตต์ฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน;
       ดู โพธิปักขิยธรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 13
อินทรีย์ ความเป็นใหญ่, สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน,
       ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่งๆ เช่น ตาเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าการในการเห็น หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน ศรัทธาเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งความไร้ศรัทธาเป็นต้น
       1. อินทรีย์ ๖ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
       2. อินทรีย์ ๕ ตรงกับ พละ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
           ธรรม ๕ อย่างชุดเดียวกันนี้ เรียกชื่อต่างกันไป ๒ อย่าง ตามหน้าที่ที่ทำ คือ
           เรียกชื่อว่า พละ โดยความหมายว่า เป็นกำลังทำให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง ซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่างจะเข้าครอบงำไม่ได้
           เรียกชื่อว่า อินทรีย์ โดยความหมายว่า เป็นเจ้าการในการครอบงำเสีย ซึ่งธรรมที่ตรงข้ามแต่ละอย่าง คือความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงงมงาย ตามลำดับ;
       ดู โพธิปักขิยธรรม


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=วิริยะ&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C7%D4%C3%D4%C2%D0&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]