ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ทิฏฐิ ”             ผลการค้นหาพบ  19  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 19
ทิฏฐิ ความเห็น, ทฤษฎี;
       ความเห็นผิดมี ๒ คือ
           ๑. สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง
           ๒. อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ;
       อีกหมวดหนึ่ง มี ๓ คือ
           ๑. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ
           ๒. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ
           ๓. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี คือถืออะไรเป็นหลักไม่ได้ เช่น มารดาบิดาไม่มีเป็นต้น;
       ในภาษาไทยมักหมายถึง การดื้อดึงในความเห็น
       (พจนานุกรมเขียน ทิฐิ);
       (ข้อ ๔ ในสังโยชน์ ๑๐ ตามนัยพระอภิธรรม, ข้อ ๓ ในอนุสัย ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 19
ทิฏฐิบาป ความเห็นลามก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 19
ทิฏฐิปปัตตะ ผู้ถึงทิฏฐิ คือ บรรลุสัมมาทิฏฐิ,
       พระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จนถึงผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ที่เป็นผู้มีปัญญินทรีย์แรงกล้า ไม่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ (ถ้าบรรลุอรหัตตผล กลายเป็นปัญญาวิมุต);
       ดู อริยบุคคล ๗

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 19
ทิฏฐิมานะ
       ทิฏฐิ แปลว่า “ความเห็น” ในที่นี้หมายถึง ความเห็นดื้อดึง ถึงผิดก็ไม่ยอมแก้ไข
       มานะ ความถือตัว
       รวม ๒ คำ เป็นทิฏฐิมานะ หมายถึง ถือรั้น อวดดี หรือดึงดื้อถือตัว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 19
ทิฏฐิวิบัติ วิบัตแห่งทิฐิ, ความผิดพลาดแห่งความคิดเห็น, ความเห็นคลาดเคลื่อน ผิดธรรมผิดวินัย ทำให้ประพฤติตนนอกแบบแผน ทำความผิดอยู่เสมอ
       (ข้อ ๓ ในวิบัติ ๔)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 19
ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็น
       คือ เกิดความรู้ความเข้าใจ มองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง คลายความหลงผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ลงได้
       (ข้อ ๓ ในวิสุทธิ ๗)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 19
ทิฏฐิสามัญญตา ความเป็นผู้มีความเสมอกันโดยทิฐิ, มีความเห็นร่วมกัน, มีความคิดเห็นลงกันได้
       (ข้อ ๖ ในสารณียธรรม ๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 19
นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี
       เช่น เห็นว่า ผลบุญผลบาปไม่มี บิดามารดาไม่มี ความดีความชั่วไม่มี
       เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด ที่ร้ายแรงอย่างหนึ่ง;
       ดู ทิฏฐิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 19
ภวทิฏฐิ ความเห็นเนื่องด้วยภพ,
       ความเห็นว่า อัตตาและโลกจักมีอยู่คงอยู่เที่ยงแท้ตลอดไป เป็นพวกสัสสตทิฏฐิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 19
มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
       (พจนานุกรมเขียน มิจฉาทิฐิ);
       (ข้อ ๑ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 19
สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน,
       ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน เป็นต้น
       (ข้อ ๑ ในสังโยชน์ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 19
สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจจ์ ๔,
       เห็นชอบตามคลองธรรมว่า
           ทำดีมีผลดี
           ทำชั่วมีผลชั่ว
           มารดาบิดามี (คือมีคุณความดีควรแก่ฐานะหนึ่งที่เรียกว่ามารดาบิดา)
           ฯลฯ,
       เห็นถูกต้องตามที่เป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงเป็นต้น
       (ข้อ ๑ ในมรรค)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 19
สัมมาทิฏฐิสูตร พระสูตรแสดงความหมายต่างๆ แห่งสัมมาทิฏฐิ เป็นภาษิตของพระสารีบุตร
       (สูตรที่ ๙ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 19
สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่า อัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป
       เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง;
       ตรงข้ามกับ อุจเฉททิฏฐิ
       (ข้อ ๑ ในทิฏฐิ ๒)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 19
อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ, เห็นว่าการกระทำไม่มีผล
       อธิบายอย่างง่าย เช่น ทำชั่ว หากไม่มีคนรู้คนเห็น ไม่มีคนชม ไม่มีคนลงโทษ ก็ชื่อว่าไม่เป็นอันทำ
       เป็นมิจฉาทิฏฐิร้ายแรงอย่างหนึ่ง
       (ข้อ ๑ ในทิฏฐิ ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 19
อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ
       คือ ความเห็นผิดว่า คนเราจะได้ดีหรือชั่วตามคราวเคราะห์ ถึงคราวจะดี ก็ดีเอง ถึงคราวจะร้าย ก็ร้ายเอง ไม่มีเหตุอื่นจะทำให้คนดีคนชั่วได้
       (ข้อ ๒ ในทิฏฐิ ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 19
อัตตานุทิฏฐิ ความตามเห็นว่าเป็นตัวตน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 19
อันตคาหิกทิฏฐิ ความเห็นที่ยึดเอาที่สุด
       คือ แล่นไปถึงที่สุดในเรื่องหนึ่งๆ มี ๑๐ อย่าง คือ
           ๑. โลกเที่ยง
           ๒. โลกไม่เที่ยง
           ๓. โลกมีที่สุด
           ๔. โลกไม่มีที่สุด
           ๕. ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น
           ๖. ชีพก็อย่าง สรีระก็อย่าง
           ๗. สัตว์ตายแล้ว ยังมีอยู่
           ๘. สัตว์ตายแล้ว ย่อมไม่มี
           ๙. สัตว์ตายแล้วทั้งมีอยู่ ทั้งไม่มี
           ๑๐. สัตว์ตายแล้วจะมีอยู่ ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ ก็ไม่ใช่

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 19
อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ เช่น เห็นว่าคนและสัตว์จุติจากอัตภาพนี้ แล้วขาดสูญ;
       ตรงข้ามกับ สัสสตทิฏฐิ
       (ข้อ ๒ ในทิฏฐิ ๒)


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ทิฏฐิ
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%B7%D4%AF%B0%D4


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]