ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ กัป ”             ผลการค้นหาพบ  23  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 23
กัป, กัลป์ กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม)
       ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น;
       กำหนดอายุของโลก;
       กำหนดอายุ เรียกเต็มว่า อายุกัป เช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 23
กัปปมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 23
กัปปาสิกะ ผ้าทำด้วยฝ้าย คือผ้าสามัญ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 23
กัปปิยะ สมควร, ควรแก่สมณะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย
       คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุให้หรือฉันได้
       เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ
       แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ
       สิ่งที่ไม่เป็นกัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 23
กัปปิยการก ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ลูกศิษย์พระ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 23
กัปปิยกุฎี เรือนเก็บของที่เป็นกัปปิยะ;
       ดู กัปปิยภูมิ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 23
กัปปิยบริขาร เครื่องใช้สอยที่สมควรแก่สมณะ, ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 23
กัปปิยภัณฑ์ ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ, สิ่งของที่สมควรแก่สมณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 23
กัปปิยภูมิ ที่สำหรับเก็บเสบียงอาหารของวัด, ครัววัด มี ๔ อย่าง คือ
       ๑. อุสสาวนันติกา กัปปิยภูมิที่ทำด้วยการประกาศให้รู้แต่แรกสร้างว่าจะทำเป็นกัปปิยภูมิ คือพอเริ่มยกเสาหรือตั้งฝาก็ประกาศให้ได้ยินว่า “กปฺปิยภูมึ กโรม” แปลว่า “เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี”
       ๒. โคนิสาทิกา กัปปิยภูมิขนาดเล็ก เคลื่อนที่ได้ ดุจเป็นที่โคจ่อม
       ๓. คหปติกา เรือนของคฤหบดีเขาสร้างถวายเป็นกัปปิยภูมิ
       ๔. สัมมติกา กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่ กุฎีที่สงฆ์เลือกจะใช้เป็นกัปปิยกุฎี แล้วสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 23
กัปปิละ ชื่อพราหมณ์นายบ้านของหมู่บ้านพราหมณ์หมู่หนึ่ง ในแขวงกรุงราชคฤห์ เป็นบิดาของปิปผลิมาณพ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 23
ทำกัปปะ ทำเครื่องหมายด้วยของ ๓ อย่าง คือ คราม ตม และดำคล้ำ อย่างใดอย่างหนึ่งในเอกเทศ คือส่วนหนึ่งแห่งจีวร
       เรียกสามัญว่า พินทุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 23
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”,
       พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรม เป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากตรัสรู้ ๒ เดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม)
       ท่านโกณฑัญญะหัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่า เป็นปฐมสาวก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 23
ปริกัป
       1. ความตรึก, ความดำริ, ความคำนึง, ความกำหนดในใจ
       2. การกำหนดด้วยเงื่อนไข, ข้อแม้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 23
พินทุ จุด, วงกลมเล็กๆ ในที่นี้หมายถึง พินทุกัปปะ

พินทุกัปปะ การทำพินทุ, การทำจุดเป็นวงกลม อย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเรือด ที่มุมจีวร ด้วยสีเขียวคราม โคลน หรือดำคล้ำ เพื่อทำจีวรให้เสียสีหรือมีตำหนิตามวินัยบัญญัติ และเป็นเครื่องหมายช่วยให้จำได้ด้วย;
       เขียนพินทุกัป ก็ได้, คำบาลีเดิมเป็นกัปปพินทุ, เรียกกันง่ายๆ ว่า พินทุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 23
มหากัปปินะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติในนครกุกกุฏวดีในปัจจันตประเทศ
       ได้ทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าแล้ว บังเกิดปีติศรัทธา สละราชสมบัติทรงม้าเดินทางไกลถึง ๓๐๐ โยชน์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า สดับธรรมกถา บรรลุพระอรหัตแล้วได้รับอุปสมบท
       ส่วนพระอัครมเหสีชื่ออโนชา เมื่อทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าก็เกิดปีติและศรัทธาเช่นเดียวกัน พระนางทรงรถเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว รับบรรพชาจากพระอุบลวรรณาเถรี ไปอยู่ในสำนักภิกษุณี
       ฝ่ายมหากัปปินเถระชอบอยู่สงบสงัดและมักอุทานว่า สุขจริงหนอ ท่านสามารถแสดงธรรมให้ศิษย์บรรลุอรหัตตผลได้พร้อมคราวเดียวถึง ๑,๐๐๐ องค์
       พระบรมศาสดายกย่องท่านว่า ท่านเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่ภิกษุ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 23
มิจฉาสังกัปปะ ดำริผิด ได้แก่ ดำริแส่ไปในกาม ดำริพยาบาท ดำริเบียดเบียนเขา
       (ข้อ ๒ ในมิจฉัตตะ ๑๐)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 23
วิกัป, วิกัปป์ ทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือ ขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้นๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกบาตร หรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด เช่น
       วิกัปจีวรผืนหนึ่งต่อหน้าในหัตถบาสว่า
       “อิมํ จีวรํ ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ”
        แปลว่า “ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน”

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 23
วิกัปปิตจีวร จีวรที่วิกัปป์ไว้, จีวรที่ทำให้เป็นของ ๒ เจ้าของ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 23
สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ
       ๑. เนกขัมมสังกัปปะ ดำริจะออกจากกามหรือปลอดจากโลภะ
       ๒. อัพยาปาทสังกัปปะ ดำริในอันไม่พยาบาท
       ๓. อวิหิงสาสังกัปปะ ดำริในอันไม่เบียดเบียน
       (ข้อ ๒ ในมรรค)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 23
อกัปปิยะ ไม่ควร, ไม่สมควรแก่ภิกษุจะบริโภคใช้สอย
       คือ ต้องห้ามด้วยพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉัน,
       สิ่งที่ตรงข้ามกับ กัปปิยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 23
อกัปปิยวัตถุ สิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร คือ ภิกษุไม่ควรบริโภคใช้สอย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 23
อากัปกิริยา การแต่งตัวดี และมีท่าทางเรียบร้อยงดงาม;
       กิริยาท่าทาง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 23
อายุกัป, อายุกัปป์ การกำหนดแห่งอายุ, กำหนดอายุ, ช่วงเวลาแต่เกิดถึงตายตามปกติ หรือที่ควรจะเป็น ของสัตว์ประเภทนั้นๆ ในยุคสมัยนั้นๆ;
       ดู กัป


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=กัป
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A1%D1%BB


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]