ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ พระสุตตันตปิฎก ”             ผลการค้นหาพบ  2  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 2
[63] อริยบุคคล 7 (บุคคลผู้ประเสริฐ — noble individuals) เรียงจากสูงลงมา
       1. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย และสิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้เจโตวิมุตติขั้นอรูปสมบัติมาก่อนที่จะได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       2. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา คือ ท่านที่มิได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย แต่สิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้ปัญญาวิมุตติก็สำเร็จเลยทีเดียว — one liberated by understanding)
       3. กายสักขี (ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย หรือ ผู้ประจักษ์กับตัว คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — the body-witness)
       4. ทิฏฐิปปัตตะ (ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — one attained to right view)
       5. สัทธาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านทีเข้าในอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา แต่มีศรัทธาเป็นตัวนำหน้า หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — one liberated by faith)
       6. ธัมมานุสารี (ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ — the truth-devotee)
       7. สัทธานุสารี (ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต — the faith devotee)

       กล่าวโดยสรุป
       บุคคลที่ 1 และ 2 (อุภโตภาควิมุต และปัญญาวิมุต) ได้แก่พระอรหันต์ 2 ประเภท
       บุคคลที่ 3, 4 และ 5 (กายสักขี ทิฏฐิปปัตตะ และสัทธาวิมุต) ได้แก่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค จำแนกเป็น 3 พวกตามอินทรีย์ที่แก่กล้า เป็นตัวนำในการปฏิบัติ คือ สมาธินทรีย์ หรือปัญญินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์
       บุคคลที่ 6 และ 7 (ธัมมานุสารีและสัทธานุสารี) ได้แก่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จำแนกตามอินทรีย์ที่เป็นตัวนำในการปฏิบัติ คือ ปัญญินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์

       อย่างไรก็ตาม ข้อความที่อธิบายมาเกี่ยวกับบุคคลประเภทที่ 3-4-5 บางคัมภีร์กล่าวว่าเป็นการแสดงโดยนิปปริยาย คือ แสดงความหมายโดยตรงจำเพาะลงไป แต่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ ท่านแสดงความหมายโดยปริยาย เรียกผู้ที่ปฏิบัติโดยมีสัทธินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น สัทธาวิมุต ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติผล ไปจนบรรลุอรหัตตผล; เรียกผู้ปฏิบัติโดยมีสมาธินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น กายสักขี ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติมรรค ไปจนบรรลุอรหัตตผล; เรียกผู้ที่ปฏิบัติโดยมีปัญญินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น ทิฏฐิปปัตตะ ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติผล ไปจนบรรลุอรหัตตผล; โดยนัยนี้ จึงมีคำเรียกพระอรหันต์ว่า สัทธาวิมุต หรือกายสักขี หรือทิฏฐิปปัตตะได้ด้วย แต่ถ้าถือศัพท์เคร่งครัด ก็มีแต่ อุภโตภาควิมุต กับปัญญาวิมุต เท่านั้น
       ในฎีกาแห่งวิสุทธิมัคค์คือปรมัตถมัญชุสา มีคำอธิบายว่า ผู้ไม่ได้วิโมกข์ 8 เมื่อตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นสัทธานุสารี หรือธัมมานุสารี อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นสัทธาวิมุต หรือ ทิฏฐิปปัตตะ จนได้สำเร็จอรหัตตผล จึงเป็น ปัญญาวิมุต; ผู้ได้วิโมกข์ 8 เมื่อตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นสัทธานุสารี หรือ ธัมมานุสารี อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นกายสักขี เมื่อสำเร็จอรหัตตผล เป็น อุภโตภาควิมุต
       นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า บุคคลประเภทกายสักขีนี่เองที่ได้ชื่อว่า สมยานิก; ส่วนคำว่า ปัญญาวิมุต บางแห่งมีคำจำกัดความแปลกออกไปจากนี้ว่า ได้แก่ผู้ที่บรรลุอรหัต โดยไม่ได้โลกียอภิญญา 5 และอรูปฌาน 4 (สํ.นิ. 16/283-289/147-150; S.II.121.)
       อริยบุคคล 7 นี้ ในพระสุตตันตปิฎก นิยมเรียกว่า ทักขิไณยบุคคล 7.

D.III. 105,254;
A.I.118;
Ps.II.52;
Pug.10.73;
Vism.659.
ที.ปา. 11/80/115; 336/266;
องฺ.ติก. 20/460/148;
ขุ.ปฏิ. 31/493-495/380-383;
อภิ.ปุ. 36/13/139;
วิสุทธิ. 3/302;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/562-568.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 2
[75] ไตรปิฎก (ปิฎก 3, กระจาด ตะกร้า กระบุง หรือตำรา 3, ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย 3 หมวด หรือ 3 ชุด — the Three Baskets; the Pali Canon) จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทยมี 45 เล่ม
       1. วินัยปิฎก (หมวดพระวินัย, ประมวลสิกขาบท สำหรับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ — the Basket of Discipline) แบ่งเป็น 3 หมวด หรือ 5 คัมภีร์ จัดพิมพ์อักษรไทยเป็น 8 เล่มคือ
           ก. วิภังค์ หรือ สุตตวิภังค์ (Vibhanga) ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ แบ่งเป็น 2 คัมภีร์ คือ
               1. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก (อา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนัก ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต (Major Offenses) จัดพิมพ์เป็น 1 เล่ม
               2. ปาจิตติยะ (ปา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถึงเสขิยะ และรวมเอาภิกขุนีวิภังค์เข้าไว้ด้วย (Minor Offenses) จัดเป็น 2 เล่ม
           วิภังค์ นี้ แบ่งอีกอย่างหนึ่งเป็น 2 เหมือนกัน คือ
               1. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ (Rules for Monks) จัดเป็น 2 เล่ม
               2. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (Rules for Nuns) จัดเป็น 1 เล่ม
           ข. ขันธกะ (khandhaka) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ รวมเป็นบทๆ เรียกว่าขันธกะหนึ่งๆ ทั้งหมดมี 22 ขันธกะ ปันเป็น 2 วรรค คือ
               3. มหาวรรค (ม; วรรคใหญ่ — Greater Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น มี 10 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
               4. จุลวรรค (จุ; วรรคเล็ก — Smaller Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย มี 12 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
           ค. 5. ปริวาร (ป; หนังสือประกอบ; คู่มือ — Epitome of the Vinaya) คัมภีร์บรรจุคำถามคำตอบ ซ้อมความรู้พระวินัย จัดเป็น 1 เล่ม

       2. สุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตร, ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมและเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส — the Basket of Discourses) แบ่งเป็น 5 นิกาย (แปลว่าประมวล หรือชุมนุม) จัดพิมพ์เป็น 25 เล่ม คือ
           1. ทีฆนิกาย (ที) ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว — Collection of long Discourses จัดเป็น 3 วรรค 3 เล่ม มี 34 สูตร
           2. มัชฌิมนิกาย (ม) ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง — collection of Middle-length Discourses จัดเป็น 3 ปัณณาสก์ 3 เล่ม มี 152 สูตร
           3. สังยุตตนิกาย (สํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่าสังยุตหนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน — collection of Connected Discourses จัดเป็น 56 สังยุต แล้วประมวลเข้าอีกเป็น 5 วรรค 5 เล่ม มี 7762 สูตร
           4. อังคุตตรนิกาย (อํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม — Adding-One Collection; Collection of Numerical Sayings จัดเป็น 11 นิบาต (หมวด 1 ถึง หมวด 11) รวมเข้าเป็นคัมภีร์ 5 เล่ม มี 9557 สูตร
           5. ขุททกนิกาย (ขุ) ชุมนุมพระสูตร ข้อธรรม คำอธิบายและเรื่องราวเบ็ดเตล็ด — Smaller Collection of Minor Works รวมคัมภีร์ที่จัดเข้าไม่ได้ในนิกายสี่ข้างต้นมีทั้งหมด 15 คัมภีร์ จัดเป็น 9 เล่ม คือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต (1 เล่ม) วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา (1 ล) ชาดก (2 ล.) นิทเทส (มหานิทเทส 1 ล., จูฬนิทเทส 1 ล.) ปฏิสัมภิทามรรค (1 ล.) อปทาน (1 2/3 ล.) พุทธวงศ์ จริยาปิฎก (1/3 ล.)

       3. อภิธรรมปิฎก (หมวดอภิธรรม, ประมวลหลักธรรมและคำอธิบายในรูปหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยเหตุการณ์และบุคคล — the Basket of Sublime, Higher or Extra Doctrine) แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ จัดพิมพ์เป็น 12 เล่ม คือ
           1. ธัมมสังคณี หรือ สังคณี (สํ) รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายเป็นประเภทๆ — Enumeration of the Dhammas (1 ล.)
           2. วิภังค์ (วิ) อธิบายข้อธรรมที่รวมเป็นหมวดหมู่ (เรียกวิภังค์หนึ่งๆ) แยกแยะออกชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด — Analysis of the Dhammas (1 ล.)
           3. ธาตุกถา (ธา) สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ — Discussion of Elements (ครึ่งเล่ม)
           4. ปุคคลบัญญัติ (ปุ) บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่างๆตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ — Description of Individuals (ครึ่งเล่ม)
           5. กถาวัตถุ (ก) แถลงวินิจฉัยทัศนะต่างๆ ที่ขัดแย้งกันระหว่างนิกายทั้งหลายสมัยตติยสังคายนา — Subjects of Discussion (1 ล.)
           6. ยมก (ย) ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบโดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ — Book of Pairs (2 ล.)
           7. ปัฏฐาน (ป) หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย 24 โดยพิสดาร — Book of Relation (6 ล.)

       อนึ่ง 3 ปิฎกนี้ สงเคราะห์เข้าในปาพจน์ 2 คือ พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก จัดเป็น ธรรม พระวินัยปิฎกจัดเป็น วินัย

Vin. V.86. วินย. 8/826/224.

[**] ไตรรัตน์ ดู [100] รัตนตรัย.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พระสุตตันตปิฎก&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%BE%C3%D0%CA%D8%B5%B5%D1%B9%B5%BB%D4%AE%A1&detail=on


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]