ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ุป ”             ผลการค้นหาพบ  13  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 13
[25] ธรรมมีอุปการะมาก 2 (ธรรมที่เกื้อกูลในกิจหรือในการทำความดีทุกอย่าง - virtues of great assistance)
       1. สติ (ความระลึกได้, นึกได้, สำนึกอยู่ไม่เผลอ - mindfulness)
       2. สัมปชัญญะ (ความรู้ชัด, รู้ชัดสิ่งที่นึกได้, ตระหนัก, เข้าใจชัดตามความเป็นจริง - clear comprehension)

D.III.273;
A.I.95.
ที.ปา. 11/378/290;
องฺ.ทุก. 20/424/119

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 13
[40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (derivative materiality)
       ก. ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์: sensitive material qualities)
           1. จักขุ (ตา - the eye)
           2. โสต (หู - the ear)
           3. ฆาน (จมูก - the nose)
           4. ชิวหา (ลิ้น - the tongue)
           5. กาย (กาย - the body)

       ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ : material qualities of sense-fields)
           6. รูปะ (รูป - form)
           7. สัททะ (เสียง - sound)
           8. คันธะ (กลิ่น - smell)
           9. รสะ (รส - taste)
           0. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - tangible objects) ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูต 3 คือ ปฐวี เตโช และ วาโย ที่กล่าวแล้วในมหาภูต

       ค. ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ - material qualities of sex)
           10. อิตถัตตะ, อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง - femininity)
           11. ปุริสัตตะ, ปุริสินทรีย์ (ความเป็นชาย - masculinity)

       ง. หทยรูป 1 (รูปคือหทัย - physical basis of mind)
           12. หทัยวัตถุ* (ที่ตั้งแห่งใจ, หัวใจ - heart-base)
*ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก รวมทั้งอภิธรรมปิฎก ไม่มี เว้นแต่ปัฏฐานใช้คำว่า “วัตถุ” ไม่มีหทัย

       จ. ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต - material qualities of life)
           13. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต - life-faculty; vitality; vital force)

       ฉ. อาหารรูป 1 (รูปคืออาหาร - material quality of nutrition)
           14. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว, อาหารที่กิน : edible food; nutriment)

       ช. ปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ : material quality of delimitation)
           15. อากาสธาตุ (สภาวะคือช่องว่าง : space-element)

       ญ. วิญญัติรูป 2 (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย : material intimation; gesture)
           16. กายวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย : bodily intimation; gesture)
           17. วจีวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา : verbal intimation; speech)

       ฏ. วิการรูป 5 (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ : material quality of plasticity or alterability)
           18. (รูปัสส) ลหุตา (ความเบา - lightness; agility)
           19. (รูปัสส) มุทุตา (ความอ่อนสลวย : elasticity; malleability)
           20. (รูปัสส) กัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน, ใช้การได้ : adaptability; wieldiness)
           0. วิญญัติรูป 2 ไม่นับเพราะซ้ำในข้อ ญ.

       ฏ. ลักขณรูป 4 (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด : material quality of salient features)
           21. (รูปัสส) อุปจย (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น : growth; integration)
           22. (รูปัสส) สันตติ (ความสืบต่อ : continuity)
           23. (รูปัสส) ชรตา (ความทรุดโทรม : decay)
           24. (รูปัสส) อนิจจตา (ความปรวนแปรแตกสลาย : impermanence)

Dhs. 127;
Vism.443;
Comp.155
อภิ.สํ. 34/504/185;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 34

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 13
[65] อุปัญญาตธรรม 2 (ธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติเห็นคุณประจักษ์กับพระองค์เอง คือ พระองค์ได้ทรงอาศัยธรรม 2 อย่างนี้ดำเนินอริยมรรคจนบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ สัมมาสัมโพธิญาณ — two virtues realized or ascertained by the Buddha himself)
       1. อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ (ความไม่สันโดษในกุศลธรรม, ความไม่รู้อิ่มไม่รู้พอในการสร้างความดีและสิ่งที่ดี — discontent in moral states; discontent with good achievements)
       2. อปฺปฏิวาณิตา ปธานสฺมึ (ความไม่ระย่อในการพากเพียร, การเพียรพยายามก้าวหน้าเรื่อยไปไม่ยอมถอยหลัง — perseverance in exertion; unfaltering effort)

D.III.214;
A.I.50,95;
Dhs.8,234.
ที.ปา. 11/227/227;
องฺ.ทุก. 20/251/64; 422/119;
อภิ.สํ. 34/15/8; 875/339

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 13
[140] จักร 4 (ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมาย - virtues wheeling one to prosperity)
       1. ปฏิรูปเทสวาสะ (อยู่ในถิ่นที่ดี มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม - living in a suitable region; good or favourable environment)
       2. สัปปุริสูปัสสยะ (สมาคมกับสัตบุรุษ - association with good people)
       3. อัตตสัมมาปณิธิ (ตั้งตนไว้ชอบ, ตั้งจิตคิดมุ่งหมาย นำตนไปถูกทาง - setting oneself in the right course; aspiring and directing oneself in the right way)
       4. ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว, มีพื้นเดิมดี, ได้สร้างสมคุณความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น - having formerly done meritorious deeds; to have prepared oneself with good background)

       ธรรม 4 ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พหุการธรรม คือธรรมมีอุปการะมาก (virtues of great assistance) เป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างความดีอื่นๆ ทุกอย่าง และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต บรรลุความงอกงามไพบูลย์.

A.11.32;
D.III.276.
องฺ.จตุกฺก. 21/31/41;
ที.ปา. 11/400/293.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 13
[207] อรูป หรือ อารุปป์ 4 (ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ คืออรูปฌาน, ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน, ภพของอรูปพรหม - absorptions of the Formless Sphere; the Formless Spheres; immaterial states)
       1. อากาสานัญจายตนะ (ฌานอันกำหนดอากาศคือช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of infinity of space)
       2. วิญญาณัญจายตนะ (ฌานอันกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of infinity of consciousness)
       3. อากิญจัญญายตนะ (ฌานอันกำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of nothingness)
       4. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ฌานอันเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of neither perception nor non-perception)

D.III.224;
S.IV.227.
ที.ปา. 11/235/235;
สํ.สฬ. 18/519/326.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 13
[214] อุปาทาน 4 (ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส, ความยึดติดอันเนื่องมาแต่ตัณหา ผูกพันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง - attachment; clinging; assuming)
       1. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าพอใจ - clinging to sensuality)
       2. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือความเห็น ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ - clinging to views)
       3. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่างๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยสักว่ากระทำสืบๆ กันมา หรือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล - clinging to mere rule and ritual)
       4. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลายหรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ - clinging to the ego-belief)

D.III.230;
M.I.66;
Vbh.375.
ที.ปา. 11/262/242;
ม.มู. 12/156/132;
อภิ.วิ. 35/963/506.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 13
[246] อนุปุพพิกถา 5 (เรื่องที่กล่าวถึงตามลำดับ, ธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ — progressive sermon; graduated sermon; subjects for gradual instruction)
       1. ทานกถา (เรื่องทาน, กล่าวถึงการให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน — talk on giving, liberality or charity)
       2. สีลกถา (เรื่องศีล, กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม — talk on morality or righteousness)
       3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์, กล่าวถึงความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกาม ที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น — talk on heavenly pleasures)
       4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษแห่งกาม, กล่าวถึงส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้ — talk on the disadvantages of sensual pleasures)
       5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งความออกจากกาม, กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น — talk on the benefits of renouncing sensual pleasures)

       ตามปกติ พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษ ทรงแสดงอนุปุพพิกถานี้ก่อน แล้วจึงตรัสแสดงอริยสัจจ์ 4 เป็นการทำจิตให้พร้อมที่จะรับ ดุจผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้ว ควรรับน้ำย้อมต่างๆ ได้ด้วยดี

Vin.I.15;
D.I.148.
วินย. 4/27/32;
ที.สี. 9/237/189.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 13
[279] ธรรมมีอุปการะมาก 7 (virtues of great assistance)
       ธรรมหมวดนี้ ท่านหมายเอาอริยทรัพย์ 7 ประการ

       ดู [292] อริยทรัพย์ 7

D.III.282 ที.ปา. 11/433/310

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 13
[290] อปริหานิยธรรม 7 ของภิกษุ หรือ ภิกขุปริหานิยธรรม 7 (ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียวสำหรับภิกษุทั้งหลาย — things leading never to decline but only to prosperity; conditions of welfare)
       1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ (to hold regular and frequent meeting)
       2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ (to meet together in harmony, disperse in harmony, and do the business and duties of the Order in harmony)
           ข้อนี้แปลอีกอย่างว่า : พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันลุกขึ้นจัดการแก้ไข สิ่งเสียหาย เหตุไม่งาม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ
       3. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ (to introduce no revolutionary ordinance, break up no established ordinance, but train oneself in accordance with the prescribed training-rules)
       4. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง (to honour and respect those elders of long experience, the fathers and leaders of the Order and deem them worthy of listening to)
       5. ไม่ลุอำนาจตัณหาคือความอยากที่เกิดขึ้น (not to fall under the influence of craving which arises)
       6. ยินดีในเสนาสนะป่า (to delight in forest retreat)
       7. ตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลงาม ซึ่งยังไม่มา ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่ผาสุก (to establish oneself in mindfulness, with this thought, ‘Let disciplined co-celibates who have not come, come hither, and let those that have already come live in comfort.’)

D.II.77;
A.IV.20.
ที.ม. 10/70/90;
องฺ.สตฺตก. 23/21/21.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 13
[324] นาถกรณธรรม 10 (ธรรมอันกระทำที่พึ่ง, ธรรมสร้างที่พึ่ง, คุณธรรมที่ทำให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้ — virtues which make for protection)
       1. ศีล (ความประพฤติดีงามสุจริต รักษาระเบียบวินัย มีอาชีวะบริสุทธิ์ — good conduct; keeping moral habits)
       2. พาหุสัจจะ (ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้ง — great learning)
       3. กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร, การคบคนดี ได้ที่ปรึกษา และผู้แนะนำสั่งสอนที่ดี — good company; association with good people)
       4. โสวจัสสตา (ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย รับฟังเหตุผล — amenability to correction; meekness; easy admonishability)
       5. กิงกรณีเยสุ ทักขตา (ความเอาใจใส่ช่วยขวนขวายในกิจใหญ่น้อยทุกอย่างของเพื่อนร่วมหมู่คณะ รู้จักพิจารณาไตร่ตรอง สามารถจัดทำให้สำเร็จเรียบร้อย — willingness to give a helping hand; diligence and skill in managing all affairs of one’s fellows in the community)
       6. ธัมมกามตา (ความเป็นผู้ใคร่ธรรม คือ รักธรรม ใฝ่ความรู้ใฝ่ความจริง รู้จักพูดรู้จักฟัง ทำให้เกิดความพอใจ น่าร่วมปรึกษาสนทนา ชอบศึกษา ยินดีปรีดาในหลักธรรมหลักวินัยที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป — love of truth; to the Doctrine, be pleasant to consult and converse with and rejoice in the advanced teaching of both the Doctrine and the Discipline)
       7. วิริยารัมภะ (ความขยันหมั่นเพียร คือ เพียรละความชั่ว ประกอบความดีมีใจแกล้วกล้า บากบั่นก้าวหน้า ไม่ย่อท้อ ไม่ทอดทิ้งธุระ — energy; effort; energetic exertion)
       8. สันตุฏฐี (ความสันโดษ คือ ยินดี มีความสุขความพอใจด้วยปัจจัย 4 ที่หามาได้ด้วยความเพียรอันชอบธรรมของตน — contentment)
       9. สติ (ความมีสติ รู้จักกำหนดจดจำ ระลึกการที่ทำคำที่พูดไว้ได้ ไม่มีความประมาท — mindfulness; ability to remember what one has done and spoken)
       10. ปัญญา (ความมีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้จักคิดพิจารณา เข้าใจภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง — wisdom; insight)

       นาถกรณธรรมนี้ ท่านเรียกว่าเป็น พหุการธรรม หรือ ธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นกำลังหนุนในการบำเพ็ญคุณธรรมต่างๆ ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์

D.III.266, 290;
A.V.23
ที.ปา. 11/357/281; 466/334;
องฺ.ทสก. 24/17/25.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 13
[327] วัตถุประสงค์ในการบัญญัติวินัย 10 (เหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงปรารภหรือประโยชน์ที่ทรงประสงค์ ในการทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสงฆ์สาวก — reasons for laying down the course of training for monks; purposes of monastic legislation)
       ก. ว่าด้วยประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม
           1. สงฺฆสุฏฺฐุตาย (เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ คือ เพื่อความเรียบร้อยดีงามแห่งสงฆ์ ซึ่งได้ทรงชี้แจงให้มองเห็นคุณโทษแห่งความประพฤตินั้นๆ ชัดเจนแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นไว้โดยความเห็นร่วมกัน — for the comfort of the excellence of the unanimous Order)
           2. สงฺฆผาสุตาย (เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ — for the comfort of the Order)

       ข. ว่าด้วยประโยชน์แก่บุคคล
           3. ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย (เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก คือ เพื่อกำราบคนผู้ด้าน ประพฤติทราม — for the control of shameless persons)
           4. เปสลานํ ภิกฺขูนํ ผาสุวิหาราย (เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม — for the living in comfort of well-behaved monks)

       ค. ว่าด้วยประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์ หรือแก่ชีวิต ทั้งทางกายและทางใจ
           5. ทิฏฺฐธมฺมิกานํ อาสวานํ สํวราย (เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน คือ เพื่อระงับปิดทางความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่จะมีในปัจจุบัน — for the restraint of the cankers in the present; for the prevention of temporal decay and troubles)
           6. สมฺปรายิกานํ อาสวานํ ปฏิฆาตาย (เพื่อบำบัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต คือ เพื่อแก้ไขมิให้เกิดความเสื่อมเสีย ความทุกข์ความเดือดร้อน ที่จะมีมาในภายหน้าหรือภพหน้า -- for warding off the cankers in the hereafter; for protection against spiritual decay and troubles)

       ง. ว่าด้วยประโยชน์แก่ประชาชน
           7. อปฺปสนฺนานํ ปสาทาย (เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส — for the confidence of those who have not yet gained confidence)
           8. ปสนฺนานํ ภิยฺโยภาวาย (เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว — for the increase of the confidence of the confident)

       จ. ว่าด้วยประโยชน์แก่พระศาสนา
           9. สทฺธมฺมฏฺฐิติยา (เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม — for the lastingness of the true doctrine)
           10. วินยานุคฺคหาย (เพื่ออนุเคราะห์วินัย คือ ทำให้มีบทบัญญัติสำหรับใช้เป็นหลักเกณฑ์จัดระเบียบของหมู่ สนับสนุนความมีวินัยให้หนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น — for the support of the discipline)

Vin.III.20;
A.V.70.
วินย. 1/20/37;
องฺ.ทสก. 24/31/74.

[***] วิปัสสนาญาณ 10 ดู [311] วิปัสสนาญาณ 9.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 13
[340] ปฏิจจสมุปบาท มีองค์หรือหัวข้อ 12 (การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น — the Dependent Origination; conditioned arising)
       1/2. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี
           (Dependent on lgnorance arise Kamma-Formations)
       3. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี
           (Dependent on Kamma-Formations arise Consciousness)
       4. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี
           (Dependent on Consciousness arise Mind and Matter)
       5. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี
           (Dependent on Mind and Matter arise the Six Sense-Bases.)
       6. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี
           (Dependent on the Six Sense-Bases arises Contact)
       7. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี
           (Dependent on Contact arise Feeling)
       8. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี
           (Dependent on Feeling arise Craving.)
       9. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี
           (Dependent on Craving arises Clinging.)
       10. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี
           (Dependent on Clinging arises Becoming.)
       11. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี
           (Dependent on Becoming arises Birth.)
       12. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี
           (Dependent on Birth arise Decay and Death.)
       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม
           (There also arise sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ.
       ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus arises this whole mass of suffering.)

       แสดงตามลำดับ จากต้นไปหาปลายอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมเทศนา (teaching in forward order) ถ้าแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น ว่า ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขาร มีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา (teaching in backward order)

       องค์ (factors) หรือหัวข้อ 12 นั้น มีความหมายโดยสังเขป ดังนี้
       1. อวิชชา ความไม่รู้ คือไม่รู้ในอริยสัจ 4 หรือตามนัยอภิธรรม ว่า อวิชชา 8 ดู [208] อวิชชา 4; [209] อวิชชา 8
       2. สังขาร (Kamma-formations) สภาพที่ปรุงแต่ง ได้แก่ [120] สังขาร 3 หรือ [129] อภิสังขาร 3
       3. วิญญาณ (consciousness) ความรู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ [268] วิญญาณ 6
       4. นามรูป (mind and matter) นามและรูป ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ หรือตามนัยอภิธรรมว่า นามขันธ์ 3 + รูป ดู [216] ขันธ์ 5 (ข้อ 2, 3, 4); [38] รูป 2, 28; [39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4; [40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24; [41] รูป 2
       5. สฬายตนะ (six sense-bases) อายตนะ 6 ได้แก่ [276] อายตนะภายใน 6
       6. ผัสสะ (contact) ความกระทบ, ความประจวบ ได้แก่ [272] สัมผัส 6
       7. เวทนา (feeling) ความเสวยอารมณ์ ได้แก่ [113] เวทนา 6
       8. ตัณหา (craving) ความทะยานอยาก ได้แก่ ตัณหา 6 มีรูปตัณหา เป็นต้น (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย และในธัมมารมณ์) ดู [74] ตัณหา 3 ด้วย
       9. อุปาทาน (clinging; attachment) ความยึดมั่น ได้แก่ [214] อุปาทาน 4
       10. ภพ (becoming) ภาวะชีวิต ได้แก่ [98] ภพ 3 อีกนัยหนึ่งว่า ได้แก่ กรรมภพ (ภพคือกรรม — active process of becoming ตรงกับ [129] อภิสังขาร 3) กับ อุปปัตติภพ (ภพคือที่อุบัติ — rebirth-process of becoming ตรงกับ [98] ภพ 3)
       11. ชาติ (birth) ความเกิด ได้แก่ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะ
       12. ชรามรณะ (decay and death) ความแก่และความตาย ได้แก่ ชรา (ความเสื่อมอายุ, ความหง่อมอินทรีย์) กับมรณะ (ความสลายแห่งขันธ์, ความขาดชีวิตินทรีย์)

       ทั้ง 12 ข้อ เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป หมุนเวียนเป็นวงจร ไม่มีต้นไม่มีปลาย เรียกว่า ภวจักร (วงล้อหรือวงจรแห่งภพ — wheel of existence) และมีข้อควรทราบเกี่ยวกับภวจักรอีกดังนี้
       ก. อัทธา (periods; times) คือ กาล 3 ได้แก่
           1) อดีต = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ
           3) อนาคต = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ข. สังเขป หรือ สังคหะ 4 (sections; divisions) คือ ช่วง หมวด หรือ กลุ่ม 4 ได้แก่
           1) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ค. สนธิ 3 (links; connection) คือ ขั้วต่อ ระหว่างสังเขปหรือช่วงทั้ง 4 ได้แก่
           1) ระหว่าง อดีตเหตุ กับ ปัจจุบันผล
           2) ระหว่าง ปัจจุบันผล กับ ปัจจุบันเหตุ
           3) ระหว่าง ปัจจุบันเหตุ กับ อนาคตผล

       ง. วัฏฏะ 3 ดู [105] วัฏฏะ 3
       จ. อาการ 20 (modes; spokes; qualities) คือองค์ประกอบแต่ละอย่าง อันเป็นดุจกำของล้อ จำแนกตามส่วนเหตุ (causes) และส่วนผล (effects) ได้แก่
           1) อดีตเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           2) ปัจจุบันผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
       อาการ 20 นี้ ก็คือ หัวข้อที่กระจายให้เต็ม ในทุกช่วงของสังเขป 4 นั่นเอง

       ฉ. มูล 2 (roots) คือ กิเลสที่เป็นตัวมูลเหตุ ซึ่งกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นในวงจรแต่ละช่วง ได้แก่
           1) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ส่งผลถึงเวทนาในช่วงปัจจุบัน
           2) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบัน ส่งผลถึงชรามรณะในช่วงอนาคต

       พึงสังเกตด้วยว่า การกล่าวถึงส่วนประกอบของภวจักรตามข้อ ก. ถึง ฉ. นี้ เป็นคำอธิบายในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น

       การแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท ให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่างๆ โดยอาศัยปัจจัยสืบทอดกันไปอย่างนี้ เป็น สมุทยวาร คือฝ่ายสมุทัย ใช้เป็นคำอธิบายอริยสัจข้อที่ 2 (สมุทัยสัจ) คือ แสดงให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแบบนี้ เรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท — direct Dependent Origination)
       การแสดงในทางตรงข้ามกับข้างต้นนี้ เป็น นิโรธวาร คือฝ่ายนิโรธ ใช้อธิบายอริยสัจข้อที่ 3 (นิโรธสัจ) เรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท (reverse Dependent Origination ซึ่งความจริงก็คือ Dependent Extinction นั่นเอง) แสดงให้เห็นความดับไปแห่งทุกข์ ด้วยอาศัยความดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลายสืบทอดกันไป ตัวบทของปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมนี้ พึงเทียบจากแบบอนุโลมนั่นเอง เช่น
       1/2. อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
           (Through the total fading away and cessation of lgnorance, cease Kamma-Formations.)
       3. สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
           (Through the cessation of Kamma-Formations. ceases Consciousness.)
       ฯลฯ
       12. ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)
           (Through the cessation go Birth, cease Decay and Death.)
       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
           (Also cease sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ.
       ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus comes about the cessation of this whole mass of suffering.)

       นี้เป็นอนุโลมเทศนาของปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท ส่วนปฏิโลมเทศนา ก็พึงแสดงย้อนว่า ชรามรณะ เป็นต้น ดับ เพราะชาติดับ ชาติดับเพราะภพดับ ฯลฯ สังขารดับเพราะอวิชชาดับ อย่างเดียวกับในอนุโลมปฏิจจสมุปบาท
       ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — specific conditionality) ธรรมนิยาม (ความเป็นไปอันแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law) และ ปัจจยาการ (อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน — mode of conditionality; structure of conditions) เฉพาะชื่อหลังนี้เป็นคำที่นิยมใช้ในคัมภีร์อภิธรรม และคัมภีร์รุ่นอรรถกถา.

Vin.I.1;
S.II.1;
Vbh.135;
Vism.517;
Comp.188.
วินย. 4/1/1;
สํ.นิ. 16/1/1;
อภิ.วิ. 35/274/185;
วิสุทธิ. 3/107;
สงฺคห. 45.

[***] ปัจจยาการ 12 ดู [340] ปฏิจจสมุปบาท
[***] สันโดษ 12 ดู [122] สันโดษ 3, 12

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 13
[347] อุปกิเลส หรือ จิตตอุปกิเลส 16 (ธรรมเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเปรอะเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี — mental defilements)
       1. อภิชฌาวิสมโลภะ (คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร, โลภกล้า จ้องจะเอาไม่เลือกควรไม่ควร — greed and covetousness; covetousness and unrighteous greed)
       2. พยาบาท (คิดร้ายเขา — malevolence; illwill)
       3. โกธะ (ความโกรธ — anger)
       4. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ — grudge; spite)
       5. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน, ความหลู่ความดีของผู้อื่น, การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น — detraction; depreciation; denigration)
       6. ปลาสะ (ความตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน, เอาตัวขึ้นตั้งขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน — domineering; rivalry; envious rivalry)
       7. อิสสา (ความริษยา — envy; jealousy)
       8. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ — stinginess; meanness)
       9. มายา (มารยา — deceit)
       10. สาเถยยะ (ความโอ้อวดหลอกเขา, หลอกด้วยคำโอ้อวด — hypocrisy)
       11. ถัมภะ (ความหัวดื้อ, กระด้าง — obstinacy; rigidity)
       12. สารัมภะ (ความแข่งดี, ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน — presumption; competing contention; contentiousness; contentious rivalry; vying; strife)
       13. มานะ (ความถือตัว, ทะนงตน — conceit)
       14. อติมานะ (ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา, ดูหมิ่นเขา — excessive conceit; contempt)
       15. มทะ (ความมัวเมา — vanity)
       16. ปมาทะ (ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ — heedlessness; negligence; indolence)

       ข้อ 2 มีต่างออกไป คือ ในธัมมทายาทสูตร เป็น โทสะ (ความคิดประทุษร้ายเขา — hatred) (ม.มู. 12/26/26)

M.I.36 ม.มู. 12/93/65.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ุป
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D8%BB


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]