ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัต ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
[28] บัญญัติ 2 และ 6 (การกำหนดเรียก หรือ สิ่งที่ถูกกำหนดเรียก, การกำหนดตั้งหรือตราไว้ให้เป็นที่รู้กัน - designation; term; concept)
       1. ปัญญาปิยบัญญัติ หรือ อรรถบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นสิ่งอันพึงให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นความหมาย, บัญญัติคือความหมายอันพึงกำหนดเรียก, ตัวความหมายที่จะพึงถูกตั้งชื่อเรียก - the Pannatti to be made Known or conveyed; concept)
       2. ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ หรือ สัททบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นเครื่องให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นชื่อ, บัญญัติที่เป็นศัพท์, ชื่อที่ตั้งขึ้นใช้เรียก - the Pannatti that makes Known or conveys; term; designation)

       ปัญญาปิยบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปิยตฺตา ปญฺญตฺติ, ปัญญาปนบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปนโต ปญฺญตฺติ

       ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ แยกย่อยออกเป็น 6 อย่าง คือ
       1. วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มีอยู่ เช่น รูป เวทนา สมาธิ เป็นต้น - designation of reality; real concept)
       2. อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มีอยู่ เช่น ม้า แมว รถ นายแดง เป็นต้น - designation of an unreality; unreal concept)
       3. วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น คนดี นักฌาน ซึ่งความจริงมีแต่ดี คือภาวะที่เป็นกุศล และฌาน แต่คนไม่มี เป็นต้น - designation of an unreality by means of a reality; unreal concept by means of a real concept)
       4. อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงหญิง ซึ่งความจริง หญิงไม่มี มีแต่เสียง เป็นต้น - designation of a reality by means of an unreality; real concept by means of an unreal concept)
       5. วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น จักขุสัมผัส โสตวิญญาณ เป็นต้น - designation of a reality by means of a reality; real concept by means of a real concept)
       6. อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น ราชโอรส ลูกเศรษฐี เป็นต้น - designation of an unreality by means of an unreality; unreal concept by means of an unreal concept)

Pug.A.171;
COMP.198
ปญฺจ.อ. 32;
สงฺคห. 49;
สงฺคห.ฏีกา 253

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[64] อัตถะ 2 (อรรถ, ความหมาย - meaning)
       พระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัส ว่าโดยการแปลความหมาย มี 2 ประเภท คือ
       1. เนยยัตถะ ([พระสูตร]ซึ่งมีความหมายที่จะต้องไขความ, พุทธพจน์ที่ตรัสตามสมมติ อันจะต้องเข้าใจความจริงแท้ที่ซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง เช่นที่ตรัสเรื่องบุคคล ตัวตน เรา-เขา ว่า บุคคล 4 ประเภท, ตนเป็นที่พึ่งของตน เป็นต้น) - with indirect meaning; with meaning to be defined, elucidated or interpreted)
       2. นีตัตถะ ([พระสูตร]ซึ่งมีความหมายที่แสดงชัดโดยตรงแล้ว, พุทธพจน์ที่ตรัสโดยปรมัตถ์ ซึ่งมีความหมายตรงไปตรงมาตามสภาวะ เช่นที่ตรัสว่า รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น - with direct or manifest meaning; with defined or elucidated meaning)
       ผู้ใดแสดงพระสูตรที่เป็นเนยยัตถะ ว่าเป็นนีตัตถะ หรือแสดงพระสูตรที่เป็นนีตัตถะ ว่าเป็นเนยยัตถะ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวตู่พระตถาคต

A.I. 60 องฺ.ทุก 20/270/76

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[88] บุญกิริยาวัตถุ 3 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, เรื่องที่จัดเป็นการทำความดี, หลักการทำความดี, ทางทำความดี — bass of meritorious action; grounds for accomplishing merit)
       1. ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ — meritorious action consisting in giving or generosity)
       2. สีลมัย บุญกิริยาวัตถุ (ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีมีระเบียบวินัย — meritorious action consisting in observing the precepts or moral behaviour)
       3. ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจ — meritorious action consisting in mental development)

D.III.218;
A.IV.239;
It.51.
ที.ปา. 11/228/230;
องฺ.อฏฺฐก. 23/126/245;
ขุ.อิติ. 25/238/270.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[89] บุญกิริยาวัตถุ 10 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางทำความดี — bases of meritorious action)
       1. ทานมัย (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ — meritorious action consisting in generosity; merit acquired by giving)
       2. สีลมัย (ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี — by observing the precepts or moral behavior)
       3. ภาวนามัย (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ — by mental development)
       4. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม — by humility or reverence)
       5. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ — by rendering services)
       6. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น — by sharing or giving out merit)
       7. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น — by rejoicing in others’ merit)
       8. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ — by listening to the Doctrine or right teaching)
       9. ธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ — by teaching the Doctrine or showing truth)
       10. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง — by straightening one’s views or forming correct views)

       ข้อ 4 และข้อ 5 จัดเข้าในสีลมัย; 6 และ 7 ในทานมัย; 8 และ 9 ในภาวนามัย; ข้อ 10 ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา

D.A.III.999;
Comp.146.
ที.อ. 3/246;
สังคหะ 29.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[100] รัตนตรัย (รัตนะ 3, แก้วอันประเสริฐ หรือสิ่งล้ำค่า 3 ประการ, หลักที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชน 3 อย่าง — the Triple Gem; Three Jewels)
       1. พระพุทธเจ้า (พระผู้ตรัสรู้เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตาม — the Buddha; the Enlightened One)
       2. พระธรรม (คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลักความจริงและหลักความประพฤติ — the Dhamma; Dharma; the Doctrine)
       3. พระสงฆ์ (หมู่สาวกผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า — the Sangha; the Order)

Kh.1. ขุ.ขุ. 25/1/1.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[108] วิรัติ 3 (การเว้นจากทุจริต, การเว้นจากกรรมชั่ว — abstinence)
       1. สัมปัตตวิรัติ (เว้นสิ่งประจวบเฉพาะหน้า, เว้นเมื่อประสบซึ่งหน้า หรือเว้นได้ทั้งที่ประจวบโอกาส คือ ไม่ได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน ไม่ได้สมาทานสิกขาบทไว้เลย แต่เมื่อประสบเหตุที่จะทำชั่ว นึกคิดพิจารณาขึ้นได้ในขณะนั้นว่า ตนมีชาติตระกูล วัยหรือคุณวุฒิอย่างนี้ ไม่สมควรกระทำกรรมเช่นนั้น แล้วงดเว้นเสียได้ไม่ทำผิดศีล — abstinence as occasion arises; abstinence in spite of opportunity)
       2. สมาทานวิรัติ (เว้นด้วยการสมาทาน คือ ตนได้ตั้งเจตนาไว้ก่อน โดยได้รับศีล คือ สมาทานสิกขาบทไว้แล้ว ก็งดเว้นตามที่ได้สมาทานนั้น — abstinence by undertaking; abstinence in accordance with one’s observances)
       3. สมุจเฉทวิรัติ หรือ เสตุฆาตวิรัติ (เว้นด้วยตัดขาด หรือด้วยชักสะพานตัดตอนเสียทีเดียว, เว้นได้เด็ดขาด คือ การงดเว้นความชั่ว ของพระอริยะทั้งหลาย อันประกอบด้วยอริยมรรคซึ่งขจัดกิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่วนั้นๆ เสร็จสิ้นแล้ว ไม่เกิดมีแม้แต่ความคิดที่จะประกอบกรรมชั่วนั้นเลย — abstinence by destruction (of the roots of evil))

       วิรัติ 2 อย่างแรก ยังไม่อาจวางใจได้แน่นอน วิรัติข้อที่ 3 จึงจะแน่นอนสิ้นเชิง

DA.I.305;
Kha.142;
DhsA.103
ที.อ. 1/377;
ขุทฺทก.อ. 156;
สงฺคณี.อ. 188

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[114] สมบัติ 3 (ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์แห่งสิ่งอันให้สำเร็จความปรารถนา, ผลสำเร็จที่ให้สมความปรารถนา — prosperity; success; excellence)
       1. มนุษยสมบัติ (สมบัติในมนุษย์, สมบัติชั้นมนุษย์ — human prosperity)
       2. เทวสมบัติ (สมบัติในสวรรค์, สวรรคสมบัติ, ทิพยสมบัติ — heavenly prosperity)
       3. นิพพานสมบัติ (สมบัติคือพระนิพพาน — successful attainment of Nibbana)

Kh.7;
DhA.III.183.
ขุ.ขุ. 25/9/12;
ธ.อ. 6/48.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[115] สมบัติ หรือ ทานสมบัติ 3 (ความถึงพร้อม, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ทานที่ได้บริจาคแล้วเป็นทานอันยอดเยี่ยม มีผลมาก — successful attainment; accomplishment; excellence)
       1. เขตสมบัติ (บุญเขตถึงพร้อม คือ ปฏิคาหก หรือผู้รับทาน เป็นผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยคุณธรรม — excellence of the field of merit)
       2. ไทยธรรมสมบัติ (ไทยธรรมถึงพร้อม คือ สิ่งที่ให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม และเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ — excellence of the gift)
       3. จิตตสมบัติ (เจตนาถึงพร้อม คือ ให้ด้วยความตั้งใจ คิดจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับแท้จริง มีเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาล คือ ก่อนให้ใจยินดี ขณะให้จิตผ่องใส ให้แล้วเบิกบานใจ — excellence of motive or intention)

UdA.199. อุ.อ. 251.

[***] สมาธิ 3 ดู [46] สมาธิ 3. [47] สมาธิ 3.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[123] สัปปุริสบัญญัติ 3 (บัญญัติของสัตบุรุษ, ข้อปฏิบัติที่สัตบุรุษวางเป็นแบบไว้ หรือกล่าวสรรเสริญไว้, ความดีที่คนดีถือลงกัน — things established by righteous people; recommendation of the good)
       1. ทาน (การให้ปัน, สละของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น — giving; generosity; charity; benefaction)
       2. ปัพพัชชา (การถือบวช, เว้นการเบียดเบียน ดำรงในธรรม คือ อหิงสา สัญญมะ และทมะ อันเป็นอุบายให้ไม่เบียดเบียนกัน และอยู่ร่วมกันด้วยความสุข — renunciation consisting in non-violence, restraint and self-control)
       3. มาตาปิตุอุปัฏฐาน (การบำรุงมารดาบิดา, ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข — support of mother and father)

A.I.151. องฺ.ติก. 20/484/191.

[***] สามัญลักษณะ 3 ดู [76] ไตรลักษณ์.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[132] อัตถะ หรือ อรรถ 3 (ประโยชน์, ผลที่มุ่งหมาย, จุดหมาย, ความหมาย — benefit; advantage; welfare; aim; goal; meaning)
       1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน, ประโยชน์ในโลกนี้, ประโยชน์ขั้นต้น — benefits obtainable here and now; the good to be won in this life; temporal welfare)
       2. สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้า, ประโยชน์ในภพหน้า, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป — the good to be won in the life to come; spiritual welfare)
       3. ปรมัตถะ (ประโยชน์สูงสุด, จุดหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน — the highest good; final goal, i.e. Nibbana)

Ndii 26. ขุ.จู. 30/673/333; 455/389.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[133] อัตถะ หรือ อรรถ 3 (ประโยชน์, ผลที่มุ่งหมาย — benefit; advantage; gain; welfare)
       1. อัตตัตถะ (ประโยชน์ตน — gain for oneself; one’s own welfare)
       2. ปรัตถะ (ประโยชน์ผู้อื่น — gain for others; others’ welfare)
       3. อุภยัตถะ (ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย — gain both for oneself and for others; welfare both of oneself and of all others)

Ndii 26. ขุ.จู. 30/673/333; 755/389.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[144] ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น - virtues conducive to benefits in the present; virtues leading to temporal welfare)
       1. อุฏฐานสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินการให้ได้ผลดี - to be endowed with energy and industry; achievement of diligence)
       2. อารักขสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย - to be endowed with watchfulness; achievement of protection)
       3. กัลยาณมิตตตา (คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา - good company; association with good people)
       4. สมชีวิตา (มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ - balanced livelihood; living economically)

       ธรรมหมวดนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ (อัตถะ แปลว่า ประโยชน์ จึงมีประโยชน์ซ้ำซ้อนกันสองคำ)

A.IV.281. องฺ.อฏฺฐก. 23/144/289.

[***] เทวทูต 4 ดู [150] นิมิต 4.
[***] ธรรมมีอุปการะมาก 4 ดู [140] จักร 4.
[***] ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย 4 ดู [191] สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[157] ปรมัตถธรรม 4 (สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์, สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด - ultimate realities; abstract realities; realities in the ultimate sense)
       1. จิต (สภาพที่คิด, ภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ - consciousness; state of consciousness)
       2. เจตสิก (สภาวะที่ประกอบกับจิต, คุณสมบัติและอาการของจิต - mental factors)
       3. รูป (สภาวะที่เป็นร่าง พร้อมทั้งคุณและอาการ - matter; corporeality)
       4. นิพพาน (สภาวะที่สิ้นกิเลสและทุกข์ทั้งปวง, สภาวะที่ปราศจากตัณหา)

       ดู รายละเอียดแต่ละอย่างใน [356] จิต 89; [355] เจตสิก 52; [38] รูป 28; [27] นิพพาน 2.

Comp.81. สงฺคห. 1

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[174] วิธีปฏิบัติต่อทุกข์-สุข 4 (หลักการเพียรพยายามให้ได้ผลในการละทุกข์ลุสุข, การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความทุกข์และความสุข ซึ่งเป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนา ที่แสดงว่า ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง จะมีผลจนสามารถเสวยสุขที่ไร้ทุกข์ได้ - fruitful exertion to enjoy happiness)
       1. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่มิได้ถูกทุกข์ท่วมทับ (Being not overwhelmed by suffering, one does not overwhelm oneself with suffering.)
       2. ไม่สละความสุขที่ชอบธรรม (One does not give up righteous happiness)
       3. ไม่สยบหมกมุ่น (แม้)ในสุขที่ชอบธรรมนั้น (One is not infatuated even with that righteous happiness.)
       4. เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป (One strives in the right way to eradicate the cause of suffering.)

       ข้อที่ 4 อาจพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า “เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป”

M.II.223. ม.อุ 14/12/13

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[175] วิบัติ 4 (ความผิดพลาด, ความเคลื่อนคลาด, ความเสียหาย, ความบกพร่อง, ความใช้การไม่ได้ - failure; falling away)
       1. ศีลวิบัติ (วิบัติแห่งศีล, เสียศีล, สำหรับพระภิกษุ คือ ต้องอาบัติปาราชิก หรือ สังฆาทิเสส - falling away from moral habit; failure in morality)
       2. อาจารวิบัติ (วิบัติแห่งอาจาระ, เสียความประพฤติ จรรยามรรยาทไม่ดี, สำหรับพระภิกษุ คือ ต้องลหุกาบัติ แต่ถุลลัจจัย ถึง ทุพภาสิต - falling away from good behavior; failure in conduct)
       3. ทิฏฐิวิบัติ (วิบัติแห่งทิฏฐิ, ความเห็นคลาดเคลื่อน ผิดธรรมผิดวินัย - falling away from right view; failure in views)
       4. อาชีววิบัติ (วิบัติแห่งอาชีวะ, ประกอบมิจฉาชีพ หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด - falling away from right mode of livelihood; failure in livelihood)

Vin.II.87. วินย. 6/634/336.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[176] วิบัติ 4 (ข้อเสีย, จุดอ่อน, ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี แต่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว - failure; defect; unfavorable factors affecting the ripening of Karma.)
       1. คติวิบัติ (วิบัติแห่งคติ, คติเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดในกำเนิดต่ำทราม หรือที่เกิดอันไร้ความเจริญ
       ในช่วงสั้นหมายถึงที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินไม่ดี หรือทำไม่ถูกเรื่องไม่ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นนั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น ไม่เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดีหรือการเจริญงอกงามของความดี แต่กลับเปิดทางให้แก่ความชั่วและผลร้าย - failure as regards place of birth; unfavorable environment, circumstances or career)
       2. อุปธิวิบัติ (วิบัติแห่งร่างกาย, รูปกายเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงร่างกายวิกล วิการ ไม่งดงาม บุคลิกภาพไม่ดี ในช่วงสั้นหมายถึงสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก - failure as regards the body; deformed or unfortunate body; unfavorable personality, health or physical conditions.)
       3. กาลวิบัติ (วิบัติแห่งกาล, กาลเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกไม่มีความเจริญ หรือบ้านเมืองมีแต่ภัยพิบัติ ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มีการกดขี่เบียดเบียนกันมาก ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ในช่วงสั้นหมายถึงทำผิดกาลผิดเวลา - failure as regards time; unfavorable or unfortunate time)
       4. ปโยควิบัติ (วิบัติแห่งการประกอบ, กิจการเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ผิด ประกอบกิจการงานที่ผิด หรือมีปกติชอบกระทำแต่ความชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อกระทำกรรมดี ก็ไม่ทำให้ถึงขนาด ไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ทำจับจด ใช้วิธีการไม่เหมาะกับเรื่อง หรือเมื่อประกอบความดีต่อเนื่องมา แต่กลับทำความชั่ว หักล้างเสียในระหว่าง - failure as regards undertaking; unfavorable, unfortunate or inadequate undertaking)

       วิบัติ 4 นี้ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในเรื่องการให้ผลของกรรม เพราะการปรากฏของวิบาก นอกจากอาศัยเหตุคือกรรมแล้ว ยังต้องอาศัยฐานคือ คติ อุปธิ กาละ และปโยคะ เป็นปัจจัยประกอบด้วย กล่าวคือ จะต้องพิจารณา กรรมนิยาม โดยสัมพันธ์กับปัจจัยทั้งหลายที่เป็นไปตามนิยามอื่นๆ ด้วย เพราะนิยาม หรือกฎธรรมชาตินั้นมีหลายอย่าง มิใช่มีแต่กรรมนิยามอย่างเดียว

       ดู [177] สมบัติ 4; [223] นิยาม 5.

Vbh. 338. อภิ.วิ. 35/840/458.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[177] สมบัติ 4 (ข้อดี, ความเพียบพร้อม, ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งอำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี และไม่เปิดให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบอำนวย ช่วยเสริมกรรมดี - accomplishment; factors favorable to the ripening of good Karma)
       1. คติสมบัติ (สมบัติแห่งคติ, ถึงพร้อมด้วยคติ, คติให้; ในช่วงยาวหมายถึงเกิดในกำเนิดอันอำนวย หรือที่เกิดอันเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึง ที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินดีหรือทำถูกเรื่อง ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นที่นั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดี หรือการเจริญงอกงามของความดี ทำให้ความดีปรากฏผลโดยง่าย - accomplishment of birth; fortunate birthplace; favorable environment, circumstances or career)
       2. อุปธิสมบัติ (สมบัติแห่งร่างกาย, ถึงพร้อมด้วยรูปกาย, รูปกายให้; ในช่วงยาวหมายถึงมีกายสง่า สวยงาม บุคลิกภาพดี ในช่วงสั้นหมายถึง ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี - accomplishment of the body; favorable or fortunate body; favorable personality, health or physical conditions)
       3. กาลสมบัติ (สมบัติแห่งกาล, ถึงพร้อมด้วยกาล, กาลให้; ในช่วงยาว หมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกมีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข มีการปกครองที่ดี คนในสังคมอยู่ในศีลธรรม สามัคคีกัน ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงทำถูกกาล ถูกเวลา - accomplishment of time; favorable or fortunate time)
       4. ปโยคสมบัติ (สมบัติแห่งการประกอบ, ถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร, กิจการให้; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ถูก นำความเพียรไปใช้ขวนขวายประกอบการที่ถูกต้องดีงาม มีปกติประกอบกิจการงานที่ถูกต้อง ทำแต่ความดีงามอยู่แล้ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อทำกรรมดี ก็ทำให้ถึงขนาด ทำจริงจัง ให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ใช้วิธีการที่เหมาะกับเรื่อง หรือทำความดีต่อเนื่องมาเป็นพื้นแล้ว กรรมดีที่ทำเสริมเข้าอีก จึงเห็นผลได้ง่าย - accomplishment of undertaking; favorable, fortunate or adequate undertaking)

       ดู [176] วิบัติ 4; [223] นิยาม 5;

Vbh.339. อภิ.วิ. 35/840/459.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[186] สังคหวัตถุ 4 (ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี, หลักการสงเคราะห์ - bases of sympathy; acts of doing favors; principles of service; virtues making for group integration and leadership)
       1. ทาน (การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน - giving; generosity; charity)
       2. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ้งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยอมตาม - kindly speech; convincing speech)
       3. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม - useful conduct; rendering services; life of service; doing good)
       4. สมานัตตตา* (ความมีตนเสมอ** คือ ทำตนเสมอด้วยปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี - even and equal treatment; equality consisting in impartiality, participation and behaving oneself properly in all circumstances)
----------------------------------------------
* ในปกรณ์ฝ่ายสันสกฤตของมหายานะ เป็น สมานารฺถตา = บาลี: สมานตฺถตา แปลว่า ความเป็นผู้มีจุดหมายร่วมกัน หรือความคำนึงประโยชน์อันร่วมกัน (having common aims; feeling of common good)
** คำแปลนี้ถือตามที่แปลกันมาเดิม แต่ตามคำอธิบายในคัมภีร์ น่าจะแปลว่า 'ความมีตนร่วม' (participation) โดยเฉพาะมุ่งเอาร่วมสุขร่วมทุกข์

       ดู [11] ทาน 2; [229] พละ 4.

D.III.152,232;
A.II.32,248;
A.IV.218.363.
ที.ปา. 11/140/167; 267/244;
องฺ.จตุกฺก. 21/32/42; 256/335;
องฺ.อฏฺฐก. 23/114/222;
องฺ.นวก. 23/209/377.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[187] สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน หรือ ราชสังคหวัตถุ 4 (สังคหวัตถุของพระราชา, ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน, หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง -a ruler's bases of sympathy; royal acts of doing favors; virtues making for national integration)
       1. สัสสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร - shrewdness in agricultural promotion)
       2. ปุริสเมธะ (ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ - shrewdness in the promotion and encouragement of government officials)
       3. สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น - 'a bond to bind men's hearts'; act of doing a favor consisting in vocational promotion as in commercial investment)
       4. วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ (ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และความนิยมเชื่อถือ - affability in address; kindly and convincing speech)

       ราชสังคหวัตถุ 4 ประการนี้ เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ส่วนที่แก้ไขปรับปรุงคำสอนในศาสนาพราหมณ์ โดยกล่าวถึงคำศัพท์เดียวกัน แต่ชี้ถึงความหมายอันชอบธรรมที่ต่างออกไป ธรรมหมวดนี้ ว่าโดยศัพท์ ตรงกับ มหายัญ 5 (the five great sacrifices) ของ พราหมณ์ คือ.-
       1. อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ - horse-sacrifice)
       2. ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ - human sacrifice)
       3. สัมมาปาสะ (ยัญอันสร้างแท่นบูชาไว้ที่ขว้างไม้ลอดบ่วงไปหล่นลง - peg-thrown site sacrifice)
       4. วาชเปยะ (การดื่มเพื่อพลังหรือเพื่อชัย - drinking of strength or of victory)
       5. นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือ ทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำกัด, การฆ่าครบทุกอย่างบูชายัญ - the bolts-withdrawn sacrifice; universal sacrifice)

       มหายัญ 5 ที่พระราชาพึงบูชาตามหลักศาสนาพราหมณ์นี้ พระพุทธศาสนาสอนว่า เดิมทีเดียวเป็นหลักการสงเคราะห์ที่ดีงาม แต่พราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญเพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน ความหมายที่พึงต้องการ ซึ่งพระพุทธศาสนาสั่งสอน 4 ข้อแรก มีดังกล่าวแล้วข้างต้น ส่วนข้อที่ 5 ตามหลักสังคหวัตถุ 4 นี้ ว่าเป็นผล แปลว่า ไม่มีลิ่มกลอน หมายความว่า บ้านเมืองจะสงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน

S.I.76;
A.II.42;
IV.151;
It.21;
Sn.303;
SA.I.145;
SnA.321.
สํ.ส. 15/351/110;
องฺ.จตุกฺก. 21/39/54;
องฺ.อฏฺฐก. 23/91/152;
ขุ.อิติ. 25/205/246;
ขุ.สุ. 25/323/383;
สํ.อ. 1/169;
อิติ.อ. 123.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[191] สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เบื้องหน้า, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นสูงขึ้นไป - virtues conducive to benefits in the future; virtues leading to spiritual welfare)
       1. สัทธาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศรัทธา - to be endowed with faith; accomplishment of confidence)
       2. สีลสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศีล - to be endowed with morality; accomplishment of virtue)
       3. จาคสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการเสียสละ - to be endowd with generosity; accomplishment of charity)
       4. ปัญญาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยปัญญา - to be endowed with wisdom; accomplishment of wisdom)

       ธรรมหมวดนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า สัมปรายิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ (อัตถะ ก็แปลว่า ประโยชน์ จึงเป็นคำซ้ำซ้อนกัน)

A.IV.284. องฺ.อฏฐก. 23/144/292.

[***] สัมมัปปธาน 4 ดู [156] ปธาน 4.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ัต&nextseek=193
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D1%B5&nextseek=193


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]