ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัญ ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
เอกกะ - หมวด 1
Groups of One
(including related groups)
[1] กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหา และบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี, ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อม สนับสนุนชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ, สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี - having good friend; good company; friendship with the lovely; favorable social environment) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายนอก (external factor; environmental factor)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารยอัษฎางคิกมรรค”
       “อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส”
       “เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนความมีกัลยาณมิตร, ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
       “ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

S.V.2-30;
A.I.14-18;
It.10.
สํ.ม. 19/5/2, 129/36;
องฺ.เอก. 20/72/16, 128/25;
ขุ.อิติ. 25/195/237

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[2] โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย - reasoned attention: systematic attention; analytical thinking; critical reflection; thinking in terms of specific conditionality; thinking by way of causal relations or by way of problem-solving) และเป็น ฝ่ายปัญญา (a factor belonging to the category of insight or wisdom)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
       “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
       “เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย”
       “โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ
       ธรรมข้ออื่น ที่ได้รับยกย่องคล้ายกับโยนิโสมนสิการนี้ ในบางแง่ ได้แก่ อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท - earnestness; diligence), วิริยารัมภะ (การปรารภความเพียร, ทำความเพียรมุ่งมั่น - instigation of energy; energetic effort), อัปปิจฉตา (ความมักน้อย, ไม่เห็นแก่ได้ - fewness of wishes; paucity of selfish desire), สันตุฏฐี (ความสันโดษ - contentment), สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว, สำนึกตระหนักชัดด้วยปัญญา - awareness; full comprehension); กุสลธัมมานุโยค (การหมั่นประกอบกุศลธรรม - pursuit of virtue); ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งฉันทะ - possession of will), อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งตนคือมีจิตใจซึ่งพัฒนาเต็มที่แล้ว - self-possession; self-realization), ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ - possession of right view), และ อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งอัปปมาทะ - possession of earnestness)

S.V.2-30;
A.I.11-31;
It.9.
สํ.ม. 19/136-137/34, 154-155/41
องฺ.เอก. 20/68/15, 124/24;
ขุ.อิติ. 25/194/236

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[3] อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือ ความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงามและความอันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย การทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบและรุดหน้าเรื่อยไป - earnestness; diligence; heedfulness) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายใน (internal factor; personal factor) และเป็น ฝ่ายสมาธิ (a factor belonging to the category of concentration)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “ธรรมเอก ที่มีอุปการะมาก เพื่อการเกิดขึ้นแห่งอารยอัษฎางคิกมรรคที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญบริบูรณ์ เหมือนอย่างความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย”
       “รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลาย ชนิดใดๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด, รอยเท้าช้าง เรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายอย่างใดๆ ก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาท เรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้นฉันนั้น”
       “ผู้มีกัลยาณมิตร พึงเป็นอยู่โดยอาศัยธรรมเอกข้อนี้ คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย”
       “ธรรมเอกอันจะทำให้ยึดเอาประโยชน์ไว้ได้ทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์เฉพาะหน้า หรือประโยชน์สามัญของชีวิต เช่น ทรัพย์ ยศ กามสุข เป็นต้น) และสัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้าหรือประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไปทางจิตใจหรือคุณธรรม) ก็คือความไม่ประมาท”
       “สังขาร (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น) ทั้งหลาย มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
       “ความไม่ประมาท ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

D.II.156;
S.I.86-89;
S.V.30-45;
A.I.11-17;
A.III.365;
A.V.21
ที.ม. 10/143/180;
สํ.ส. 15/378-384/125-129;
สํ.ม. 19/135/37, 262/66;
องฺ.เอก. 20/60/13, 116/23;
อํ.ฉกฺก. 22/324/407;
องฺ.ทสก. 24/15/23

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
ทุกะ - หมวด 2
Groups of Two
(including related groups)
[4] กรรม 2 (การกระทำ, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทางกายก็ตามทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตาม - action; deed)
       1. อกุศลกรรม (กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, การกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ - unwholesome action; evil deed; bad deed)
       2. กุศลกรรม (กรรมที่เป็นกุศล, กรรมดี, การกระทำที่ดี ฉลาด เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ - wholesome action; good deed)

A.I.104, 263;
It.25,55
องฺ.ติก. 20/445/131, 551/338;
ขุ.อิติ. 25/208/248, 242/272

[*] กรรมฐาน 2 ดู [36] ภาวนา 2.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[9] ฌาน 4 = รูปฌาน 4 (the Four Jhanas)
       1. ปฐมฌาน (ฌานที่ 1 - the First Absorption) มีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
       2. ทุติยฌาน (ฌานที่ 2 - the Second Absorption) มีองค์ 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
       3. ตติยฌาน (ฌานที่ 3 - the Third Absorption) มีองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา
       4. จตุตถฌาน (ฌานที่ 4 - the Fourth Absorption) มีองค์ 2 คือ อุเบกขา เอกัคคตา

       คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม นิยมแบ่งรูปฌานนี้เป็น 5 ขั้น เรียกว่า ฌานปัญจกนัย หรือ ปัญจกัชฌาน โดยแทรก ทุติยฌาน (ฌานที่ 2) ที่มีองค์ 4 คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เพิ่มเข้ามา แล้วเลื่อนทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตฌาน ในฌาน 4 ข้างต้นนี้ออกไปเป็น ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ตามลำดับ (โดยสาระก็คือ การจำแนกขั้นตอนให้ละเอียดมากขึ้นนั่นเอง)

M.I.40 ม.มู. 12/102/72

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[24] ธรรมทำให้งาม 2 (gracing virtues)
       1. ขันติ (ความอดทน, อดได้ทนได้เพื่อบรรลุความดีงามและความมุ่งหมายอันชอบ - patience: forbearance; tolerance)
       2. โสรัจจะ (ความเสงี่ยม, อัธยาศัยงาม รักความประณีตหมดจดเรียบร้อยงดงาม - modesty; meekness)

Vin.I.349;
A.I.94.
วินย. 5/244/335;
องฺ.ทุก. 20/410/118

[**] ธรรมที่พระพุทธเจ้าเห็นคุณประจักษ์ 2 ดู [65] อุปัญญาตธรรม 2
[**] ธรรมเป็นโลกบาล 2 ดู [23] ธรรมคุ้มครองโลก 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[25] ธรรมมีอุปการะมาก 2 (ธรรมที่เกื้อกูลในกิจหรือในการทำความดีทุกอย่าง - virtues of great assistance)
       1. สติ (ความระลึกได้, นึกได้, สำนึกอยู่ไม่เผลอ - mindfulness)
       2. สัมปชัญญะ (ความรู้ชัด, รู้ชัดสิ่งที่นึกได้, ตระหนัก, เข้าใจชัดตามความเป็นจริง - clear comprehension)

D.III.273;
A.I.95.
ที.ปา. 11/378/290;
องฺ.ทุก. 20/424/119

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[28] บัญญัติ 2 และ 6 (การกำหนดเรียก หรือ สิ่งที่ถูกกำหนดเรียก, การกำหนดตั้งหรือตราไว้ให้เป็นที่รู้กัน - designation; term; concept)
       1. ปัญญาปิยบัญญัติ หรือ อรรถบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นสิ่งอันพึงให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นความหมาย, บัญญัติคือความหมายอันพึงกำหนดเรียก, ตัวความหมายที่จะพึงถูกตั้งชื่อเรียก - the Pannatti to be made Known or conveyed; concept)
       2. ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ หรือ สัททบัญญัติ (บัญญัติในแง่เป็นเครื่องให้รู้กัน, บัญญัติที่เป็นชื่อ, บัญญัติที่เป็นศัพท์, ชื่อที่ตั้งขึ้นใช้เรียก - the Pannatti that makes Known or conveys; term; designation)

       ปัญญาปิยบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปิยตฺตา ปญฺญตฺติ, ปัญญาปนบัญญัติ เรียกเต็มว่า ปญฺญาปนโต ปญฺญตฺติ

       ปัญญาปนบัญญัติ หรือ นามบัญญัติ แยกย่อยออกเป็น 6 อย่าง คือ
       1. วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มีอยู่ เช่น รูป เวทนา สมาธิ เป็นต้น - designation of reality; real concept)
       2. อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มีอยู่ เช่น ม้า แมว รถ นายแดง เป็นต้น - designation of an unreality; unreal concept)
       3. วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น คนดี นักฌาน ซึ่งความจริงมีแต่ดี คือภาวะที่เป็นกุศล และฌาน แต่คนไม่มี เป็นต้น - designation of an unreality by means of a reality; unreal concept by means of a real concept)
       4. อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงหญิง ซึ่งความจริง หญิงไม่มี มีแต่เสียง เป็นต้น - designation of a reality by means of an unreality; real concept by means of an unreal concept)
       5. วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่มี เช่น จักขุสัมผัส โสตวิญญาณ เป็นต้น - designation of a reality by means of a reality; real concept by means of a real concept)
       6. อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี เช่น ราชโอรส ลูกเศรษฐี เป็นต้น - designation of an unreality by means of an unreality; unreal concept by means of an unreal concept)

Pug.A.171;
COMP.198
ปญฺจ.อ. 32;
สงฺคห. 49;
สงฺคห.ฏีกา 253

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[29] บุคคลหาได้ยาก 2 (rare persons)
       1. บุพการี (ผู้ทำความดีหรือทำประโยชน์ให้แต่ต้นโดยไม่ต้องคอยคิดถึงผลตอบแทน - one who is first to do a favor; previous benefactor)
       2. กตัญญูกตเวที (ผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้วและตอบแทน, ผู้รู้จักคุณค่าแห่งการกระทำดีของผู้อื่น และแสดงออกเพื่อบูชาความดีนั้น - one who is grateful and repays the done favor; grateful person)

A.I.87 องฺ.ทุก. 20/364/108.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[33] ปริเยสนา 2 (การแสวงหา - search; quest)
       1. อนริยปริเยสนา (แสวงหาอย่างไม่ประเสริฐ, แสวงหาอย่างอนารยะ คือ ตนเอง เป็นผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ และสังกิเลสเป็นธรรมดา ก็ยังใฝ่แสวงหาแต่สิ่งอันมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ และสังกิเลสเป็นธรรมดา - unariyan or ignoble search)
       2. อริยปริเยสนา (แสวงหาอย่างประเสริฐ, แสวงหาอย่างอารยะ คือ ตนเป็นผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ และสังกิเลสเป็นธรรมดา แต่รู้จักโทษข้อบกพร่องของสิ่งที่มีสภาพเช่นนั้นแล้ว ใฝ่แสวงธรรมอันเกษม คือ นิพพาน อันไม่มีสภาพเช่นนั้น - ariyan or noble search)

       สองอย่างนี้ เทียบได้กับ อามิสปริเยสนา และ ธรรมปริเยสนา ที่ตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย; แต่สำหรับคนสามัญ อาจารย์ภายหลังอธิบายว่า ข้อแรกหมายถึงมิจฉาอาชีวะ ข้อหลังหมายถึงสัมมาอาชีวะ ดังนี้ก็มี.

M.I.161;
A.I.93.
ม.มู. 12/313/314;
องฺ.ทุกฺ. 20/399/116.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[34] ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ 2 (ทางเกิดแห่งแนวคิดที่ถูกต้อง, ต้นทางของความดีงามทั้งปวง : sources or conditions for the arising of right view)
       1. ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียนความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร : another’ s utterance; inducement by others; hearing or learning from others)
       2. โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย : reasoned attention; systematic attention; genetical reflection; analytical reflection)

       ข้อธรรม 2 อย่างนี้ ได้แก่ ธรรมหมวดที่ [1] และ [2] นั่นเอง แปลอย่างปัจจุบันว่า “องค์ประกอบของการศึกษา” หรือ “บุพภาคของการศึกษา” โดยเฉพาะข้อที่ 1 ในที่นี้ใช้คำกว้างๆ แต่ธรรมที่ต้องการเน้น ก็คือ กัลยาณมิตตตา
       ปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ก็มี 2 อย่าง คือ ปรโตโฆสะ และ อโยนิโสมนสิการ ซึ่งตรงข้ามกับที่กล่าวมานี้.

M.I.294;
A.I.87.
ม.มู. 12/497/539;
องฺ.ทุก. 20/371/110.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[35] ปาพจน์ 2 (วจนะอันเป็นประธาน, พุทธพจน์หลัก, คำสอนหลักใหญ่ : fundamental text; fundamental teaching)
       1. ธรรม (คำสอนแสดงหลักความจริงที่ควรรู้ และแนะนำหลักความดีที่ควรประพฤติ : the Doctrine)
       2. วินัย (ข้อบัญญัติที่วางไว้เป็นหลักกำกับความประพฤติให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเสมอกัน : the Discipline)

       ดู [75] ไตรปิฎก ด้วย.

D.II.154. ที.ม. 10/141/178

[**] พุทธคุณ 2 ดู [304] พุทธคุณ 2
[**] พุทธคุณ 3 ดู [305] พุทธคุณ 3
[**] ไพบูลย์ 2 ดู [44] เวปุลละ 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[36] ภาวนา 2 (การเจริญ, การทำให้เกิดให้มีขึ้น, การฝึกอบรมจิตใจ : mental development)
       1. สมถภาวนา (การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ, การฝึกสมาธิ : tranquillity development)
       2. วิปัสสนาภาวนา (การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง, การเจริญปัญญา : insight development)

       สองอย่างนี้ ในบาลีที่มาท่านเรียกว่า ภาเวตัพพธรรม และ วิชชาภาคิยธรรม. ในคัมภีร์สมัยหลัง บางทีเรียกว่า กรรมฐาน (อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งงานเจริญภาวนา, ที่ตั้งแห่งงานทำความเพียรฝึกอบรมจิต, วิธีฝึกอบรมจิต - stations of mental exercises; mental exercise; สงฺคห. 51 ; Comp. 202)

D.III.273;
A.I. 60.
ที.ปา. 11/379/290;
องฺ.ทุก. 20/275/77.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[37] ภาวนา 4 (การเจริญ, การทำให้เป็นให้มีขึ้น, การฝึกอบรม, การพัฒนา : cultivation; training; development)
       1. กายภาวนา (การเจริญกาย, พัฒนากาย, การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ, การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ : physical development)
       2. สีลภาวนา (การเจริญศีล, พัฒนาความประพฤติ, การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน : moral development)
       3. จิตภาวนา (การเจริญจิต, พัฒนาจิต, การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น : cultivation of the heart; emotional development)
       4. ปัญญาภาวนา (การเจริญปัญญา, พัฒนาปัญญา, การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา : cultivation of wisdom; intellectual development)

       ในบาลีที่มา ท่านแสดงภาวนา 4 นี้ ในรูปที่เป็นคุณบทของบุคคล จึงเป็น ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา (ผู้ได้เจริญกาย ศีล จิต และปัญญาแล้ว) บุคคลที่มีคุณสมบัติชุดนี้ครบถ้วนย่อมเป็นพระอรหันต์

A.III.106 องฺ.ปญฺจก. 22/79/121

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (the Four Primary Elements; primary matter)
       1. ปฐวีธาตุ (สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่, สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือ ธาตุดิน : element of extension; solid element; earth)
       2. อาโปธาตุ (สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม หรือซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือ ธาตุน้ำ : element of cohesion; fluid element; water)
       3. เตโชธาตุ (สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ : element of heat or radiation; heating element; fire)
       4. วาโยธาตุ (สภาวะที่ทำให้สั่นไหวเคลื่อนที่ และค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม : element of vibration or motion; air element; wind)

       สี่อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธาตุ 4

D.I.214;
Vism. 443;
Comp. 154.
ที.สี. 9/343/277;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 33

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (derivative materiality)
       ก. ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์: sensitive material qualities)
           1. จักขุ (ตา - the eye)
           2. โสต (หู - the ear)
           3. ฆาน (จมูก - the nose)
           4. ชิวหา (ลิ้น - the tongue)
           5. กาย (กาย - the body)

       ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ : material qualities of sense-fields)
           6. รูปะ (รูป - form)
           7. สัททะ (เสียง - sound)
           8. คันธะ (กลิ่น - smell)
           9. รสะ (รส - taste)
           0. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - tangible objects) ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูต 3 คือ ปฐวี เตโช และ วาโย ที่กล่าวแล้วในมหาภูต

       ค. ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ - material qualities of sex)
           10. อิตถัตตะ, อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง - femininity)
           11. ปุริสัตตะ, ปุริสินทรีย์ (ความเป็นชาย - masculinity)

       ง. หทยรูป 1 (รูปคือหทัย - physical basis of mind)
           12. หทัยวัตถุ* (ที่ตั้งแห่งใจ, หัวใจ - heart-base)
*ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก รวมทั้งอภิธรรมปิฎก ไม่มี เว้นแต่ปัฏฐานใช้คำว่า “วัตถุ” ไม่มีหทัย

       จ. ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต - material qualities of life)
           13. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต - life-faculty; vitality; vital force)

       ฉ. อาหารรูป 1 (รูปคืออาหาร - material quality of nutrition)
           14. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว, อาหารที่กิน : edible food; nutriment)

       ช. ปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ : material quality of delimitation)
           15. อากาสธาตุ (สภาวะคือช่องว่าง : space-element)

       ญ. วิญญัติรูป 2 (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย : material intimation; gesture)
           16. กายวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย : bodily intimation; gesture)
           17. วจีวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา : verbal intimation; speech)

       ฏ. วิการรูป 5 (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ : material quality of plasticity or alterability)
           18. (รูปัสส) ลหุตา (ความเบา - lightness; agility)
           19. (รูปัสส) มุทุตา (ความอ่อนสลวย : elasticity; malleability)
           20. (รูปัสส) กัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน, ใช้การได้ : adaptability; wieldiness)
           0. วิญญัติรูป 2 ไม่นับเพราะซ้ำในข้อ ญ.

       ฏ. ลักขณรูป 4 (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด : material quality of salient features)
           21. (รูปัสส) อุปจย (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น : growth; integration)
           22. (รูปัสส) สันตติ (ความสืบต่อ : continuity)
           23. (รูปัสส) ชรตา (ความทรุดโทรม : decay)
           24. (รูปัสส) อนิจจตา (ความปรวนแปรแตกสลาย : impermanence)

Dhs. 127;
Vism.443;
Comp.155
อภิ.สํ. 34/504/185;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 34

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[43] วิมุตติ 2 (ความหลุดพ้น : deliverance; liberation; freedom)
       1. เจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นแห่งจิต, ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการฝึกจิต, ความหลุดพ้นแห่งจิตจากราคะ ด้วยกำลังแห่งสมาธิ : deliverance of mind; liberation by concentration)
       2. ปัญญาวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยปัญญา, ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญญา, ความหลุดพ้นแห่งจิตจากอวิชชา ด้วยปัญญาที่รู้เห็นตามเป็นจริง : deliverance through insight; liberation through wisdom)

A.I.60 องฺ.ทุก. 20/276/78

[**] เวทนา 2 ดู [110] เวทนา 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[51] สาสน์ หรือ ศาสนา 2 (คำสอน : teaching; dispensation)
       1. ปริยัติศาสนา (คำสอนฝ่ายปริยัติ, คำสอนอันจะต้องเล่าเรียนหรือจะต้องช่ำชอง ได้แก่ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ — teaching to be studied or mastered; textual or scriptural teaching; dispensation as text) = [302] นวังคสัตถุสาสน์
       2. ปฏิบัติศาสนา (คำสอนฝ่ายปฏิบัติ, คำสอนที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ สัมมาปฏิปทา อนุโลมปฏิปทา อปัจจนีกปฏิปทา (ปฏิปทาที่ไม่ขัดขวาง) อันวัตถปฏิปทา (ปฏิปทาที่เป็นไปตามความมุ่งหมาย) ธัมมานุธัมมปฏิปทา (ปฏิบัติธรรมอันถูกหลัก) กล่าวคือ การบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์, [128] ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค สติสัมปชัญญะ, [182] สติปัฏฐาน 4, [156] สัมมัปปธาน 4, [213] อิทธิบาท 4, [258] อินทรีย์ 5, [228] พละ 5, [281] โพชฌงค์ 7, [293] มรรคมีองค์ 8, — teaching to be practised; practical teaching; dispensation as practice) ที่เป็นสำคัญในหมวดนี้ ก็คือ [352] โพธิปักขิยธรรม 37.

Nd1 143. ขุ.ม. 29/232/175.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[59] สกทาคามี 3, 5 (ท่านผู้บรรลุสกทาคามิผลแล้ว, ผู้กลับมาอีกครั้งเดียว — Once-Returner)
       พระสกทาคามีนี้ ในบาลีมิได้แยกประเภทไว้ แต่ในคัมภีร์รุ่นหลังแยกประเภทไว้หลายอย่าง เช่น ในคัมภีร์ ปรมัตถโชติกา แยกไว้เป็น 3 ประเภท คือ ผู้ได้บรรลุผลนั้น ในกามภพ 1 ในรูปภพ 1 ในอรูปภพ 1
       ในคัมภีร์ ปรมัตถมัญชุสา จำแนกไว้ 5 ประเภท คือ ผู้บรรลุในโลกนี้แล้วปรินิพพานในโลกนี้เอง 1 ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ปรินิพพานในเทวโลก 1 ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว ปรินิพพานในเทวโลกนั้นเอง 1 ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว เกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน 1 ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ไปเกิดในเทวโลกหมดอายุแล้ว กลับมาเกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน 1 และอธิบายต่อท้ายว่า พระสกทาคามีที่กล่าวถึงในบาลีหมายเอาประเภทที่ 5 อย่างเดียว
       นอกจากนี้ ที่ท่านแบ่งออกเป็น 4 บ้าง 12 บ้าง ก็มี แต่จะไม่กล่าวไว้ในที่นี้

KhA.182. ขุทฺทก.อ. 199;
วิสุทฺธิ.ฏีกา 3/655.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[62] อรหันต์ 4, 5, 60 (an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — bare-insight-worker)
       2. เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา 3 — one with the Threefold Knowledge)
       3. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one with the Sixfold Superknowledge)
       4. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา — one having attained the Analytic Insights)

       พระอรหันต์ทั้ง 4 ในหมวดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงประมวลแสดงไว้ในหนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ 2 หน้า 41 พึงทราบคำอธิบายตามที่มาเฉพาะของคำนั้นๆ

       แต่คัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น 2 อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น 5 อย่างบ้าง ที่เป็น 5 คือ
       1. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)
       2. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       3. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3 — one possessing the Threefold Knowledge)
       4. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one possessing the Sixfold Superknowledge)
       5. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 — one having gained the Four Analytic Insights)

       ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น 2 คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน 5 ประเภท) พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ทั้งนั้น แต่ท่านแยกพระอุภโตภาควิมุตไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก เพราะพระอุภโตภาควิมุตที่ไม่ได้โลกียวิชชาและโลกียอภิญญา ก็มี ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้งสี่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต.
       พระอรหันต์ทั้ง 5 นั้น แต่ละประเภท จำแนกโดยวิโมกข์ 3 รวมเป็น 15 จำแนกออกไปอีกโดยปฏิปทา 4 จึงรวมเป็น 60 ความละเอียดในข้อนี้จะไม่แสดงไว้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ ผู้ต้องการทราบยิ่งขึ้นไป พึงดูในหนังสือนี้ฉบับใหญ่

       ดู [61] อรหันต์ 2; [106] วิชชา 3; [155] ปฏิสัมภิทา 4; [274] อภิญญา 6.

Vism. 710. วิสุทธิ. 3/373;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/657.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ัญ&detail=on&nextseek=63
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D1%AD&detail=on&nextseek=63


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]