ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ วิสัยรูป ”             ผลการค้นหาพบ  2  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 2
[40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (derivative materiality)
       ก. ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์: sensitive material qualities)
           1. จักขุ (ตา - the eye)
           2. โสต (หู - the ear)
           3. ฆาน (จมูก - the nose)
           4. ชิวหา (ลิ้น - the tongue)
           5. กาย (กาย - the body)

       ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ : material qualities of sense-fields)
           6. รูปะ (รูป - form)
           7. สัททะ (เสียง - sound)
           8. คันธะ (กลิ่น - smell)
           9. รสะ (รส - taste)
           0. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - tangible objects) ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูต 3 คือ ปฐวี เตโช และ วาโย ที่กล่าวแล้วในมหาภูต

       ค. ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ - material qualities of sex)
           10. อิตถัตตะ, อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง - femininity)
           11. ปุริสัตตะ, ปุริสินทรีย์ (ความเป็นชาย - masculinity)

       ง. หทยรูป 1 (รูปคือหทัย - physical basis of mind)
           12. หทัยวัตถุ* (ที่ตั้งแห่งใจ, หัวใจ - heart-base)
*ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก รวมทั้งอภิธรรมปิฎก ไม่มี เว้นแต่ปัฏฐานใช้คำว่า “วัตถุ” ไม่มีหทัย

       จ. ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต - material qualities of life)
           13. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต - life-faculty; vitality; vital force)

       ฉ. อาหารรูป 1 (รูปคืออาหาร - material quality of nutrition)
           14. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว, อาหารที่กิน : edible food; nutriment)

       ช. ปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ : material quality of delimitation)
           15. อากาสธาตุ (สภาวะคือช่องว่าง : space-element)

       ญ. วิญญัติรูป 2 (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย : material intimation; gesture)
           16. กายวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย : bodily intimation; gesture)
           17. วจีวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา : verbal intimation; speech)

       ฏ. วิการรูป 5 (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ : material quality of plasticity or alterability)
           18. (รูปัสส) ลหุตา (ความเบา - lightness; agility)
           19. (รูปัสส) มุทุตา (ความอ่อนสลวย : elasticity; malleability)
           20. (รูปัสส) กัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน, ใช้การได้ : adaptability; wieldiness)
           0. วิญญัติรูป 2 ไม่นับเพราะซ้ำในข้อ ญ.

       ฏ. ลักขณรูป 4 (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด : material quality of salient features)
           21. (รูปัสส) อุปจย (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น : growth; integration)
           22. (รูปัสส) สันตติ (ความสืบต่อ : continuity)
           23. (รูปัสส) ชรตา (ความทรุดโทรม : decay)
           24. (รูปัสส) อนิจจตา (ความปรวนแปรแตกสลาย : impermanence)

Dhs. 127;
Vism.443;
Comp.155
อภิ.สํ. 34/504/185;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 34

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 2
[359] กิเลส 1500 (สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง - defilements)
       กิเลส 1500 ที่จัดเป็นชุดจำนวนอย่างนี้ ไม่มีในพระบาลี แม้จะมีกล่าวถึงในอรรกกถาบางแห่งก็แสดงเพียงตัวอย่าง ไม่ครบถ้วน ระบุไว้อย่างมากที่สุดเพียง 336 อย่าง (ดู อุ.อ.172,424; อิติ.อ.166) เช่น โลภะ โทสะ โมหะ วิปริตมนสิการ อหิริกะ อโนตตัปปะ ถีนะ มิทธะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ อกุศลกรรมบถ 10 ... ตัณหา 108
       ในคัมภีร์รุ่นหลังต่อมา ได้มีการพยายามนับจำนวนกิเลสพันห้าให้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน ดังปรากฏในธัมมสังคณีอนุฏีกา (ฉบับ มจร. สงฺคณี.อนุฏีกา 23-24) ซึ่งได้แสดงระบบวิธีนับไว้หลายอย่าง สรุปได้เป็น 2 แบบ คือ แบบลงตัวจำนวน 1500 ถ้วน และแบบนับคร่าวๆ ขาดเกินเล็กน้อย นับแต่จำนวนเต็ม

       แบบที่ 1 จำนวนลงตัว 1500 ถ้วน คือ
           อารมณ์ 150 x กิเลส 10 = กิเลส 1,500
           กิเลส 10 ดู [316] กิเลส 10
           อารมณ์ 150 หมายถึง อารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลส แต่มีวิธีนับ 2 นัย คือ
           ก) อารมณ์ 150 = ธรรม 75 [อรูปธรรม 53 (คือจิต 1 + เจตสิก 52) + รูปรูป 18* + อากาสธาตุ 1 + ลักขณรูป 3**] x 2 (ภายใน + ภายนอก)
           ข) อารมณ์ 150 = ธรรม 75 [อรูปธรรม 57 (คือจิต 1 + เวทนาเจตสิก 5 + เจตสิกอื่นๆ 51) + รูปรูป 18] x 2 (ภายใน + ภายนอก)

       แบบที่ 2 จำนวนไม่ลงตัว ขาดหรือเกินเล็กน้อย นับจำนวนเต็มปัดเศษ
           แบบที่ 2 นี้ ท่านแจงวิธีนับไว้หลายอย่าง เป็น 1,584 บ้าง 1,512 บ้าง 1,510 บ้าง 1,416 บ้าง แต่จะไม่นำรายละเอียดมาแสดงในที่นี้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ

       ในภาษาไทย มีคำพูดเป็นสำนวนเก่า ที่นิยมกล่าวอ้างกันสืบๆ มาแบบติดปากว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด” พึงทราบว่า เป็นถ้อยคำที่อิงหลักธรรม 2 หมวด คือ [359] กิเลส 1500 และ [357] ตัณหา 108 ที่แสดงแล้วนี้
----------------------------------------------
* รูปทั้งหมดมี 28 (ดู [40]) ในจำนวนนี้ 18 อย่าง เรียกว่า รูปรูป เพราะเป็นรูปที่เป็นรูปธรรมจริงๆ หรือแปลง่ายๆ ว่า “รูปแท้” ได้แก่ มหาภูตรูป 4, ปสาทรูป 5, วิสัยรูป 4, ภาวรูป 2, หทัยรูป 1, ชีวิตรูป 1 และอาหารรูป 1 ส่วนรูปที่เหลืออีก 10 อย่าง (คือ ปริจเฉทรูป 1, วิญญัติรูป 2, วิการรูป 3, ลักขณรูป 4) เป็นเพียงอาการลักษณะหรือความเป็นไปของรูปเหล่านั้น จึงไม่เป็นรูปรูป
** ลักขณรูป นับเต็มมี 4 (ดู [40] ฏ.) แต่ 2 อย่างแรก นับรวมเป็น 1 ได้ เรียกว่า ชาติรูป กล่าวคือ อุปจยะ หมายถึง การเกิดที่เป็นการก่อตัวขึ้นทีแรก และ สันตติ หมายถึง การเกิดสืบเนื่องต่อๆ ไป โดยนัยนี้ จึงนับลักขณรูปเป็น 3

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิสัยรูป&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%C7%D4%CA%D1%C2%C3%D9%BB&detail=on


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]