ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ทิฏฐธ ”             ผลการค้นหาพบ  7  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 7
[3] อัปปมาทะ (ความไม่ประมาท คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือ ความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงามและความอันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย การทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบและรุดหน้าเรื่อยไป - earnestness; diligence; heedfulness) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายใน (internal factor; personal factor) และเป็น ฝ่ายสมาธิ (a factor belonging to the category of concentration)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “ธรรมเอก ที่มีอุปการะมาก เพื่อการเกิดขึ้นแห่งอารยอัษฎางคิกมรรคที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญบริบูรณ์ เหมือนอย่างความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย”
       “รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลาย ชนิดใดๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด, รอยเท้าช้าง เรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายอย่างใดๆ ก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาท เรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้นฉันนั้น”
       “ผู้มีกัลยาณมิตร พึงเป็นอยู่โดยอาศัยธรรมเอกข้อนี้ คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย”
       “ธรรมเอกอันจะทำให้ยึดเอาประโยชน์ไว้ได้ทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์เฉพาะหน้า หรือประโยชน์สามัญของชีวิต เช่น ทรัพย์ ยศ กามสุข เป็นต้น) และสัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้าหรือประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไปทางจิตใจหรือคุณธรรม) ก็คือความไม่ประมาท”
       “สังขาร (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น) ทั้งหลาย มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
       “ความไม่ประมาท ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

D.II.156;
S.I.86-89;
S.V.30-45;
A.I.11-17;
A.III.365;
A.V.21
ที.ม. 10/143/180;
สํ.ส. 15/378-384/125-129;
สํ.ม. 19/135/37, 262/66;
องฺ.เอก. 20/60/13, 116/23;
อํ.ฉกฺก. 22/324/407;
องฺ.ทสก. 24/15/23

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 7
[132] อัตถะ หรือ อรรถ 3 (ประโยชน์, ผลที่มุ่งหมาย, จุดหมาย, ความหมาย — benefit; advantage; welfare; aim; goal; meaning)
       1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน, ประโยชน์ในโลกนี้, ประโยชน์ขั้นต้น — benefits obtainable here and now; the good to be won in this life; temporal welfare)
       2. สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้า, ประโยชน์ในภพหน้า, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป — the good to be won in the life to come; spiritual welfare)
       3. ปรมัตถะ (ประโยชน์สูงสุด, จุดหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน — the highest good; final goal, i.e. Nibbana)

Ndii 26. ขุ.จู. 30/673/333; 455/389.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 7
[144] ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน, หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น - virtues conducive to benefits in the present; virtues leading to temporal welfare)
       1. อุฏฐานสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินการให้ได้ผลดี - to be endowed with energy and industry; achievement of diligence)
       2. อารักขสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย - to be endowed with watchfulness; achievement of protection)
       3. กัลยาณมิตตตา (คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา - good company; association with good people)
       4. สมชีวิตา (มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ - balanced livelihood; living economically)

       ธรรมหมวดนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทยๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ (อัตถะ แปลว่า ประโยชน์ จึงมีประโยชน์ซ้ำซ้อนกันสองคำ)

A.IV.281. องฺ.อฏฺฐก. 23/144/289.

[***] เทวทูต 4 ดู [150] นิมิต 4.
[***] ธรรมมีอุปการะมาก 4 ดู [140] จักร 4.
[***] ธรรมเป็นเหตุให้สมหมาย 4 ดู [191] สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 7
[184] สมาธิภาวนา 4 (การเจริญสมาธิ, วิธีฝึกสมาธิแบบต่างๆ จำแนกตามวัตถุประสงค์ - ways or kinds of concentration-development)
       1. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (คือเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เช่น ใช้เป็นเครื่องพักผ่อนจิต หาความสุขยามว่าง เป็นต้น - concentration-development that is conducive to happy living in the present)
       2. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ (concentration-development that is conducive to the acquisition of knowledge and insight)
       3. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ (concentration-development that is conducive to mindfulness and full comprehension)
       4. สมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ (concentration-development that is conducive to the destruction of cankers)

D.III.222;
A.II.44.
ที.ปา. 11/233/233;
องฺ.จตุกฺก. 21/41/57.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 7
[199] อบายมุข 4 (ช่องทางของความเสื่อม, ทางที่จะนำไปสู่ความพินาศ, เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ - causes of ruin; sources for the destruction of the amassed wealth)
       1. อิตถีธุตตะ (เป็นนักเลงผู้หญิง, นักเที่ยวผู้หญิง - seduction of women; debauchery)
       2. สุราธุตตะ (เป็นนักเลงสุรา, นักดื่ม - drunkenness)
       3. อักขธุตตะ (เป็นนักการพนัน - indulgence in gambling)
       4. ปาปมิตตะ (คบคนชั่ว - bad company)

       อบายมุข 4 อย่างนี้ ตรัสกับผู้ครองเรือนที่มีหลักฐานแล้ว และตรัสต่อท้ายทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 มุ่งความว่าเป็นทางพินาศแห่งโภคะที่หามาได้แล้ว

A.IV.283. องฺ.อฏฺฐก. 23/144/292.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 7
[323] ทศพลญาณ (บาลีเรียก ตถาคตพลญาณ 10 คือ พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต 10 ประการ ที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง — the Ten Powers of the Perfect One)
       1. ฐานาฐานญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฏธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมเกี่ยวกับสมรรถวิสัยของบุคคล ซึ่งจะได้รับผลกรรมที่ดีและชั่วต่างๆ กัน — knowledge of instance and no instance; knowledge of possibilities and impossibilities)
       2. กรรมวิปากญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อน ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่ว ที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มองเห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายในกระบวนการก่อผลของกรรมอย่างชัดเจน — knowledge of ripening of action; knowledge of the results of karma)
       3. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง กล่าวคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ หรือ ปรมัตถะ คือรู้ว่าเมื่อปรารถนาจะเข้าถึงคติหรือประโยชน์ใด จะต้องทำอะไรบ้าง มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างไร — knowledge of the way that leads anywhere; knowledge of the practice leading to all destinies and all goals)
       4. นานาธาตุญาณ (ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นเอนก คือ รู้สภาวะของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขารและฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร เช่น รู้จักส่วนประกอบต่างๆ ของชีวิต สภาวะของส่วนประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งลักษณะและหน้าที่ของมันแต่ละอย่าง อาทิการปฏิบัติหน้าที่ของขันธ์ อายตนะ และธาตุต่างๆ ในกระบวนการรับรู้ เป็นต้น และรู้เหตุแห่งความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น — knowledge of the world with its many and different elements)
       5. นานาธิมุตติกญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ แนวความสนใจ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ กัน — knowledge of the different dispositions of beings)
       6. อินทริยปโรปริยัตตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อน หรือแก่กล้า สอนง่ายหรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ — knowledge of the state of faculties of beings; knowledge of the inferiority and superiority of the controlling faculties of various beings; knowledge as regards maturity of persons)
       7. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ่ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิและสมาบัติทั้งหลาย — knowledge of defilement, cleansing and emergence in the cases of the meditations, liberations, concentrations and attainments)
       8. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อันทำให้ระลึกภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ — knowledge of the remembrance of former existences)
       9. จุตูปปาตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม -- knowledge of the decease and rebirth of beings)
       10. อาสวักขยญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย — knowledge of the exhaustion of mental intoxicants)

M.I.69;
A.V.33;
Vbh.336.
ม.มู. 12/166/140;
องฺ.ทสก. 24/21/35;
อภิ.วิ. 35/839/454.

[***] ทศพิธราชธรรม ดู [326] ราชธรรม 10.
[***] ธรรมจริยา 10 เป็นอีกชื่อหนึ่งของ [320] กุศลกรรมบถ 10.
[***] ธรรมมีอุปการะมาก 10 ดู [324] นาถกรณธรรม 10.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 7
อติเรกทสกะ - หมวดเกิน 10
Groups of More Than Ten
[338] กรรม 12 (การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาดีก็ตาม ชั่วก็ตาม, ในที่นี้หมายถึงกรรมประเภทต่างๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมเหล่านั้น — karma; kamma; action; volitional action)
       หมวดที่ 1 ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล (classification according to the time of ripening or taking effect)
           1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้ — kamma to be experienced here and now; immediately effective kamma)
           2. อุปปัชชเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิดคือในภพหน้า — kamma to be experienced on rebirth; kamma ripening in the next life)
           3. อปราปริยเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพต่อๆไป — kamma to be experienced in some subsequent becoming; indefinitely effective kamma)
           4. อโหสิกรรม (กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก — lapsed or defunct kamma)

       หมวดที่ 2 ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ (classification according to function)
           5. ชนกกรรม (กรรมแต่งให้เกิด, กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด — productive kamma; reproductive kamma)
           6. อุปัตถัมภกกรรม (กรรมสนับสนุน, กรรมที่เข้าช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม — supportive kamma; consolidating kamma)
           7. อุปปีฬกกรรม (กรรมบีบคั้น, กรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน obstructive kamma; frustrating kamma)
           8. อุปฆาตกกรรม (กรรมตัดรอน, กรรมที่แรง ฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรม เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเสียทีเดียว เช่น เกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง แต่อายุสั้น เป็นต้น — destructive kamma; supplanting kamma)

       หมวดที่ 3 ว่าโดยปากทานปริยาย คือ จำแนกตามความยักเยื้องหรือลำดับความแรงในการให้ผล (classification according to the order of ripening)
           9. ครุกกรรม (กรรมหนัก ให้ผลก่อน ได้แก่ สมาบัติ 8 หรือ อนันตริยกรรม — weighty kamma)
           10. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม (กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองจากครุกกรรม — habitual kamma)
           11. อาสันนกรรม (กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมทำเมื่อจวนจะตาย จับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มี 2 ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนอื่น — death threshold kamma; proximate kamma)
           12. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม (กรรมสักว่าทำ, กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้วกรรมนี้จึงจะให้ผล — reserve kamma; casual act)

       กรรม 12 หรือ กรรมสี่ 3 หมวดนี้ มิได้มีมาในบาลีในรูปเช่นนี้โดยตรง พระอาจารย์สมัยต่อมา เช่น พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น ได้รวบรวมมาจัดเรียงเป็นแบบไว้ภายหลัง.

Vism.601;
Comp.144.
วิสุทธิ. 3/223;
สงฺคห. 28.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ทิฏฐธ&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%B7%D4%AF%B0%B8&detail=on


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]