ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

[345] ญาณ 16 หรือ โสฬสญาณ (ความหยั่งรู้ ในที่นี้หมายถึงญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด — insight; knowledge)
       1. นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม — knowledge of the delimitation of mentality-materiality)
       2. ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฏแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ 3 ก็ดี เป็นต้น — knowledge of discerning the conditions of mentality-materiality)
       3. สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน — knowledge of comprehending mentality-materiality as impermanent, unsatisfactory and not-self)
       4-12. ได้แก่ วิปัสสนาญาณ 9 ดู [311]
       13. โคตรภูญาณ (ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล — knowledge at the moment of the ‘Change-of-lineage’)
       14. มัคคญาณ (ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น —knowledge of the Path)
       15. ผลญาณ (ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ — knowledge of Fruition)
       16. ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ — knowledge of reviewing)

       ในญาณ 16 นี้ 14 อย่าง (ข้อ 1-13 และ 16) เป็น โลกียญาณ, 2 อย่าง (ข้อ 14 และ 15) เป็น โลกุตตรญาณ
       ญาณ 16 (บางทีเรียกว่า โสฬสญาณ ซึ่งก็แปลว่าญาณ 16 นั่นเอง) ที่จัดลำดับเป็นชุดและเรียกชื่อเฉพาะอย่างนี้ มิใช่มาในพระบาลีเดิมโดยตรง พระอาจารย์ในสายวงการวิปัสสนาธุระได้สอนสืบกันมา โดยประมวลจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และวิสุทธิมรรค ในกาลต่อมา

       (พึงดู ขุ.ปฏิ. 31/มาติกา/1-2 = Ps.1 และ วิสุทธิ. 3/206-328 = Vism. 587-678)

[***] รูปพรหม หรือ พรหมโลก 16 ดู [351] ภูมิ 4 หรือ 31.
[***] โสฬสวัตถุกอานาปานสติ ดู [346] อานาปานสติ 16 ฐาน
[***] อานาปานสติ 16 ขั้น ดู [346] อานาปานสติ 16 ฐาน


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=345

อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย

บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]