ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

[248] ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10 (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ — ideas to be constantly reviewed by a monk; facts which the monk should again and contemplate)
       บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า (เติมลงหน้าข้อความทุกข้อ)
       1. เราถึงความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว (I have come to a status different from that of a layman.)
๑. ในนวโกวาท มีต่อว่า “อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ”

           ข้อนี้บาลีว่า “เววณฺณิยมฺหิ อชฺฌูปคโต” ในที่นี้แปล เววณฺณิย ว่า ความมีเพศต่าง (จากคฤหัสถ์) แต่หลายท่าน แปลว่า ความปราศจากวรรณะ (casteless state) คือเป็นคนนอกระบบชนชั้น หรือ หมดวรรณะ คือ หมดฐานะในสังคม หรือเป็นคนนอกสังคม (outcast) ความต่าง หรือปราศจาก หรือหมดไปนี้ อรรถกถาอธิบายว่า เป็นไปในสองทาง คือ ทางสรีระ เพราะปลงผมและหนวดแล้ว และทางบริขาร คือเครื่องใช้ เพราะแต่ก่อนครั้งเป็นคฤหัสถ์ เคยใช้ผ้าดีๆ รับประทานอาหารรสเลิศในภาชนะเงินทอง เป็นต้น ครั้งบวชแล้ว ก็นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดฉันอาหาร คลุกเคล้าในบาตรเหล็กบาตรดิน ปูหญ้านอนต่างเตียง เป็นต้น
           ส่วนวัตถุประสงค์แห่งการพิจารณาธรรมข้อนี้ อรรถกถาแก้ว่า จะละความกำเริบใจ (ความจู้จี้เง้างอน) และมานะ (ความถือตัว) เสียได้.
       2. การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น (คือต้องอาศัยผู้อื่น — My livelihood is bound up with other.)
๒. ในนวโกวาท มีต่อว่า “เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย”

           วัตถุประสงค์ ตามอรรถกถาแก้ว่า เพื่อให้อิริยาบถเรียบร้อยเหมาะสม มีอาชีวะบริสุทธิ์ เคารพในบิณฑบาต และบริโภคปัจจัยสี่ด้วยใส่ใจพิจารณา
       3. เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ (I have a different way to behave.)
๓. ในนวโกวาท ทรงเรียงเป็นข้อความใหม่ว่า “อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้” จะเห็นว่า ข้อ 1 กับข้อ 3 ทรงตีความต่างออกไป ถ้าแปลตามนัยอรรถกถา ข้อ 1 จะได้ว่า “เราเป็นผู้หมดวรรณะ คือไม่มีฐานะในสังคมแล้ว จะต้องไม่มีความกระด้างถือตัวใดๆ” ข้อ 3 จะได้ว่า “เราจะต้องมีอาการกิริยาต่างจากคฤหัสถ์ สำรวมให้เหมาะกับความเป็นสมณะ” (องฺ.อ. 3/395)

           อรรถกถาอธิบายว่า เราควรทำอากัปป์ (คือกิริยามารยาท) ที่ต่างจากของคฤหัสถ์ เช่น มีอินทรีย์สงบ ก้าวเดินสม่ำเสมอ เป็นต้น และแสดงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้มีอิริยาบถเรียบร้อยเหมาะสม บำเพ็ญไตรสิกขาได้บริบูรณ์
       4. ตัวเราเองติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ (Does my not reproach me on my virtue’s account ?)
           ข้อนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดหิริพรั่งพร้อมอยู่ในใจ ช่วยให้มีสังวรทางไตรทวาร
       5. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ (Do my discerning fellows in the holy life, on considering me, not reproach me on my virtue’s account ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ดำรงโอตตัปปะในภายนอกไว้ได้ ช่วยให้มีสังวรทางไตรทวาร
       6. เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น (There will be division and separation from all that are dear to me and beloved.)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาท และเป็นอันได้ตั้งมรณสติไปด้วย
       7. เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น (I am owner of my deed, whatever deed I do, whether good or bad, I shall become heir to it.)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้กระทำความชั่ว
       8. วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่ (How has my passing of the nights and days been ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความไม่ประมาทให้บริบูรณ์
       9. เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่ (Do I delight in a solitary place or not?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำกายวิเวกให้บริบูรณ์
       10. คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้ว มีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถาม ในกาลภายหลัง (Have I developed any extraordinary qualities whereon when questioned in my latter days by my fellows in the holy life I shall not be confounded ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้เป็นผู้ตายเปล่า

A.V.87;
Netti. 185.
องฺ.ทสก. 24/48/97;
องฺ.อ. 3/395.

[***] อรหันต์ 5 ดู [62] อรหันต์ 5.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=248

อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย

บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]