ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๔๙. ทำไมอุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบากเวลาทำจุติจึงไม่มีสติเกิดร่วมด้วย
          ถาม  ขอคำอธิบายและเหตุผลว่า ทำไมอุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบาก เวลาทำจุติ จึงไม่มีสติเกิดร่วมด้วย ถึงแม้จะพิกลพิการทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม แต่ภูมิที่จะไปเกิดเป็นสุคติคือเป็นกามสุคติภูมิจึงน่าจะมีสติ

          ตอบ  ขอเรียนว่า โดยธรรมชาติแล้ว อุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบากเป็นผลของมหากุศลที่มีกำลังอ่อนมาก ทั้งไม่ประกอบด้วยปัญญา ในขณะทำก็มีอกุศลเข้ามาพัวพัน เช่นเวลาตักบาตร ก็สักแต่ว่าตัก คือมือก็หยิบของใส่ลงในบาตรพระ แต่ปากก็บ่นเรื่องอะไรต่ออะไรที่ไม่ถูกใจไปด้วย กุศลที่ทำโดยปราศจากปัญญา ทั้งมีอกุศลคือโทสะเข้ามาพัวพันอย่างนี้ จึงมีกำลังน้อย เมื่อเวลาให้ผลก็ให้ผลเป็นอเหตุกวิบาก อย่างอเหตุกสันตีรณะกุศลวิบากอย่างนี้แหละ
          เจตสิกที่เข้าประกอบกับอุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบากนี้ ก็มีเพียง ๑๐ ดวง คือสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง กับปกิณณกเจตสิก ๓ ดวง คือ วิตก วิจาร อธิโมกข์เท่านั้น ไม่มีโสภณเจตสิกเข้าประกอบเลย จึงเป็นอโสภณจิต
          ก็สติเจตสิกนั้นเป็นโสภณเจตสิก ย่อมประกอบกับโสภณจิตเท่านั้น โสภณจิตนั้นเป็นจิตที่มีเหตุประกอบเป็นสเหตุกจิต ที่เป็นอเหตุกจิตคือจิตที่ไม่มีเหตุนั้นไม่มีเลย จิตที่มีเหตุเป็นจิตที่มีกำลังโดยสภาพของตนเอง ยิ่งมีเหตุประกอบมากก็มีกำลังมาก ส่วนจิตที่ไม่มีเหตุคืออเหตุกจิตเป็นจิตที่มีกำลังน้อย
          สตินั้นเป็นธรรมชาติที่ระลึกในอารมณ์ที่ดีงามไม่มีโทษ เพราะฉะนั้นจึงต้องเกิดกับจิตที่มีกำลังที่มีเหตุและเป็นโสภณจิตเท่านั้น ก็อุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบากนั้นเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอโสภณจิต เป็นจิตมีกำลังน้อย เกิดขึ้นครั้งไร ไม่ว่าจะทำกิจอะไร คือทำปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ สันตีรณะ หรือตทารัมมณะก็คงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๑๐ ดวง ดังกล่าวแล้ว
          ๑๐ ดวงคือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ วิตก วิจาร และอธิโมกข์ และเพราะเป็นจิตที่มีกำลังน้อยนี่เอง เมื่อทำหน้าที่ปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ จึงทำให้เป็นมนุษย์หรือเทวดาที่มีร่างกายไม่สมประกอบเป็นใบ้บ้า ตาบอดมาตั้งแต่กำเนิดเป็นต้น หรือเป็นผู้มีจิตใจไม่สมประกอบ เป็นคนปัญญาอ่อนมาแต่กำเนิด เป็นต้น
          คำถามข้อนี้เป็นอุทาหรณ์อย่างดีสำหรับท่านที่ทำกุศลชนิดที่สักแต่ว่าทำ ขาดศรัทธาและปัญญา ทั้งยังปล่อยให้อกุศลเข้ามาพัวพันด้วย จะได้ตั้งเจตนาในการทำกุศลของท่านให้ดี ให้เข้มแข็ง ไม่ให้อกุศลเข้ามาพัวพัน หรือเมื่ออกุศลเข้ามาพัวพันก็ให้มีสติรู้เท่าทันตามความเป็นจริง
          สรุปว่า อุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบาก ไม่ว่าจะทำจุติกิจหรือกิจใดๆ ก็ตาม ก็ไม่มีสติเข้าประกอบ เพราะเป็นจิตที่มีกำลังน้อย ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอโสภณจิต

          ถาม  ขอคำอธิบายและเหตุผลว่า มหาวิบาก ๘ ตามธรรมดามีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ คำตอบที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
          ตอบ  มหาวิบากนี้เป็นผลของกุศลที่มีกำลัง ไม่มีอกุศลเข้ามาพัวพัน เป็นโสภณจิต เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุอย่างน้อย ๒ เหตุ คืออโลภเหตุและอโทสเหตุ อย่างมาก ๓ เหตุเพิ่มอโมหเหตุด้วย จึงต้องมีสติเจตสิกเข้าประกอบทุกครั้งที่เกิดขึ้น

          ถาม  ปุถุชนที่เกิดด้วยเหตุ ๒ หรือ เหตุ ๓ เวลานอนหลับสนิท มีสติเกิดหรือไม่
          ตอบ  ปุถุชนที่เกิดด้วยเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ ที่เรียกว่า ทวิเหตุกบุคคลหรือติเหตุกบุคคลนั้น ย่อมเกิดด้วยจิตหรือมหาวิบากดวงใดดวงหนึ่งใน ๘ ดวง ที่นำเกิดในกามสุคติภูมิ ๗ คือ มนุษย์ ๑ เทวภูมิ ๖ มิฉะนั้นก็เกิดด้วยรูปาวจรวิบาก ๕ ดวงดวงใดดวงหนึ่งในรูปพรหม ๑๕ ภูมิ หรือเกิดด้วยอรูปาวจรวิบาก ๔ ดวงดวงใดดวงหนึ่งในอรูปพรหม ๔ ภูมิ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจิตที่ทำหน้าที่นำเกิดที่กล่าวนี้ ล้วนแต่เป็นจิตที่ประกอบด้วยสติทั้งสิ้น
          เมื่อจิตใดทำหน้าที่ปฏิสนธิคือนำเกิด จิตนั้นก็ทำหน้าที่ภวังค์ คือรักษาภพชาติที่ตนเกิดแล้วเอาไว้ด้วย เวลาที่นอนหลับ ก็คือเวลาที่จิตไม่ขึ้นวิถีรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เวลาที่นอนหลับจิตจึงทำหน้าที่ภวังค์ รักษาภพชาติ สืบต่อภพชาติไว้ ก็เมื่อจิตที่ทำภวังคกิจในเวลานอนหลับ เป็นจิตประเภทเดียวกับจิตที่ทำปฏิสนธินำเกิด และจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธินำเกิดเป็นจิตที่ประกอบด้วยสติเช่นกัน
          เพราะฉะนั้น บุคคลที่เกิดด้วยเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ เวลานอนหลับ จิตที่เกิดในขณะนั้นจึงประกอบด้วยสติเสมอ เพราะจิตที่เกิดในขณะนอนหลับก็คือภวังคจิตนั่นเอง
          อาจจะมีผู้แย้งว่า ในขณะนอนหลับจิตมิได้รับอารมณ์กุศล สติจะระลึกอยู่ในอารมณ์กุศลได้อย่างไร ถ้ามีผู้แย้งดังนี้ ก็ขอเรียนว่า
          จริงอยู่ ในขณะนอนหลับ จิตมิได้มีอารมณ์เป็นกุศลที่กำลังทำอยู่ก็จริง แต่จิตก็รับอารมณ์กุศลที่เป็นกรรม กรรมนิมิต คตินิมิตที่ได้มาแต่ภพก่อนเป็นอารมณ์ กล่าวคือเมื่อตอนใกล้จะตาย จิตน้อมเอากรรม กรรมนิมิต คตินิมิตที่เป็นกุศลเป็นอารมณ์แล้วจึงจุติ เมื่อจุติแล้วก็ปฏิสนธิทันที ปฏิสนธิจิตที่เกิดใหม่นี้รับเอาอารมณ์กรรม กรรมนิมิต คตินิมิต เมื่อตอนใกล้จะตายนั่นแหละเป็นอารมณ์ ภวังคจิตที่ทำหน้าที่สืบต่อรักษาภพชาติก็มีอารมณ์เหมือนปฏิสนธิ คือมีอารมณ์กรรม กรรมนิมิต คตินิมิตที่เป็นกุศลในอดีต ด้วยเหตุนี้ สติของบุคคลที่เกิดมาด้วยเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ จึงมีอารมณ์เป็นกุศลที่ทำมาแต่อดีตภพด้วย
          รวมความว่า บุคคลที่เกิดมาด้วยเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ เวลานอนหลับ จิตที่เกิดในเวลานอนหลับคือภวังคจิต มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

          ถาม  ขอคำอธิบายและเหตุผลว่า เวลานอนหลับสนิท ก่อนนอนได้สมาทานศีลแล้ว ขณะหลับจะยังมีศีลอยู่หรือไม่
          ตอบ  เรื่องของศีลเป็นเรื่องของการงดเว้นไม่ทำชั่วไม่ทำบาป ขณะใดคิดงดเว้นไม่ทำชั่วไม่ทำบาป ขณะนั้นศีลจึงเกิด ไม่ใช่ว่าสมาทานศีลแล้ว ศีลจะเกิดอยู่ตลอดเวลา ยังไม่ต้องพูดถึงคนหลับนะ คนที่ยังตื่นอยู่นี่แหละ เมื่อสมาทานศีลแล้วก็ใช่ว่าจะมีศีลกันทุกคน ขณะใดที่เขายังไม่ทำอะไรให้ล่วงศีล เราจะไม่ทราบเลยว่าคนๆ นั้น เป็นคนมีศีลหรือไม่มีศีล แต่ขณะใดมีเหตุที่จะให้ล่วงศีลเกิดขึ้นแล้วเขางดเว้น ไม่ล่วง เมื่อนั้นเราจะทราบว่าเขามีศีล เช่นคนที่ชอบดื่มสุรา ได้สมาทานศีล ๕ ในงานสวดศพแล้ว ก็ไปนั่งดื่มสุราอย่างนี้ชื่อว่าไม่มีศีล แต่ถ้าเขารับศีลแล้ว มีคนเอาสุรามาให้ดื่ม เขาไม่ยอมดื่มทั้งๆ ที่อยากดื่ม ด้วยสำนึกว่าตนได้สมาทานศีลไว้ คนอย่างนี้จึงจะมีศีล
          เพราะฉะนั้น ศีลจึงเกิดในขณะงดเว้น ไม่ล่วงละเมิด ในเมื่อมีสิ่งที่ควรละเมิดเกิดขึ้น
          สำหรับคนที่นอนหลับนั้นจะกล่าวว่า เขามีศีลหรือไม่มีศีลหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะเขามิได้ทำสิ่งใดที่ล่วงศีลในขณะหลับ ได้โปรดนึกถึงวิรตีเจตสิกทั้ง ๓ ดวงที่เป็นตัวศีลว่าเกิดขึ้นพร้อมกับจิตที่ทำชวนะกิจเพียง ๑๖ ดวง คือมหากุศลจิต ๘ กับโลกุตตรจิต ๘ เท่านั้น ไม่เกิดกับภวังคจิต ด้วยเหตุนี้ คนที่กำลังนอนหลับสนิทจึงไม่อาจกล่าวได้ว่ามีศีลหรือไม่มี ทั้งนี้หมายความว่า ไม่ว่าเขาจะสมาทานศีลมาก่อนนอนหลับหรือไม่ก็ตาม

          ถาม  เวลาจิตเป็นมหากุศลดวงใดดวงหนึ่ง ขณะนั้นประหานอกุศลได้ครบทั้ง ๑๒ ดวงหรือไม่
          ตอบ  สำหรับคำถามข้อนี้ ขอเรียนว่า มหากุศลดวงใดดวงหนึ่ง ๘ ดวงที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่งๆ นั้น ไม่สามารถประหานอกุศลได้ครบทั้ง ๑๒ ดวง แต่จะประหานอกุศลเป็นอย่างๆ ไป ตามประเภทของกุศล
          เช่น ขณะให้ทานจะประหานมัจฉริยะความตระหนี่ออกไป การแสดงการเคารพอ่อนน้อมประหานมานะความถือตัวออกไป ขณะใดผู้อื่นเขามีความสุขก็แสดงมุทิตายินดีกับเขา ขณะนั้นประหานความริษยาออกไป ขณะใดเจริญภาวนา ขณะนั้นประหานโมหะความไม่รู้ออกไป ขณะใดฟังธรรมแล้วเข้าใจ ขณะนั้นประหานวิจิกิจฉาความสงสัยไม่แน่ใจออกไป
          นี่เป็นเพียงตัวอย่าง ที่ว่าเมื่อมหากุศลชนิดใดเกิดขึ้น อกุศลชนิดใดถูกประหานออกไป อย่าว่าแต่มหากุศลที่เป็นจิตธรรมดาๆ เลย แม้แต่มรรคจิตอันเป็นจิตพิเศษมีนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ยังสามารถประหานกิเลสได้เป็นขั้นๆ ไป ไม่ประหานทีเดียวทั้งหมด อย่างโสดาปัตติมรรคจิตประหานเพียงทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ดวงกับวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิตอีก ๑ ดวงรวม ๕ ดวงเท่านั้น อกุศลที่เหลืออีก ๗ ดวงเป็นหน้าที่ของมรรคที่สูงขึ้นไปเป็นผู้ประหาน
          ก็การประหานอกุศลของมหากุศลกับของมรรคจิตนั้นต่างกัน คือมหากุศลประหานกุศลได้ชั่วขณะที่มหากุศลเกิดอยู่เท่านั้น เมื่อมหากุศลดับลงไปแล้ว อกุศลที่ถูกประหานไปนั้นอาจเกิดได้อีก หรือเกิดได้บ่อยๆ ตามสมควรแก่เหตุปัจจัย การประหานชนิดนี้เรียกว่าตทังคปหาน ส่วนมรรคจิตนั้นประหานอกุศลใดไปแล้ว อกุศลนั้นไม่สามารถเกิดใหม่ได้อีกเลย เราเรียกว่าสมุจเฉทปหาน
          สำหรับคำถามข้อนี้ก็ขอตอบเพียงเท่านี้
________________________________________

ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑
          ธรรมสังคณีปกรณ์
          [๖๗๐] ธรรมอันโสดาปัตติมรรคประหาณ เป็นไฉน?
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=34&A=5832&Z=5897

          พระไตรปิฏกเล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓
          ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
          [๘๖] ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้ ชื่อว่าสีลมยญาณอย่างไร ฯ
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=31&A=951&Z=1087

          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า จิต 89
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=จิต_89
          คำว่า เจตสิก 52
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เจตสิก_52
          คำว่า ปหาน 5
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปหาน_5

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]