ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๔๘. จำเป็นต้องบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้หรือไม่
          ถาม  มีผู้สอนบางท่านกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล ไม่มีใครเอาดอกไม้ของหอมไปบูชาพระพุทธเจ้า เพราะไม่มีกล่าวไว้ในพระสูตร มีแต่ชั้นอรรถกถาเท่านั้นที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องหาดอกไม้ไปบูชาพระ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ เรื่องนี้มีความจริงประการใด

          ตอบ  สำหรับการบูชาพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยดอกไม้ของหอมนั้น ในอรรถกถาแสดงไว้ชัดเจนมาก แต่ก็มิได้หมายความว่าในพระไตรปิฎกไม่ได้กล่าวไว้
          ก่อนอื่นขอให้นึกถึงวัตถุทาน ๑๐ ประการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่ามีอะไรบ้าง มีข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัย และประทีปดวงไฟ
          วัตถุทานทั้ง ๑๐ อย่างนี้สามารถนำมาถวายพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ได้ มิฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่ตรัสวัตถุทาน ๑๐ อย่างนี้ไว้ แม้วัตถุทาน ๑๐ อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นเพียงอามิสทาน มีผลน้อยกว่าธรรมทาน แต่ก็มิได้ทรงห้ามพุทธบริษัทว่าต้องบำเพ็ญแต่ธรรมทาน อามิสทานไม่ต้องบำเพ็ญ ไม่เคยตรัสเช่นนั้นเลย และแม้เมื่อใกล้จะปรินิพพานที่สาลวโนทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันบูชาพระองค์ด้วยดอกไม้ของหอมเป็นอันมาก ดังที่กล่าวไว้ในมหาปรินิพพานสูตร พระองค์ก็มิได้ทรงติเตียนการบูชาของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น เพียงแต่ตรัสว่าพุทธบริษัททั้งหลายมิได้บูชาพระองค์ด้วยอามิสบูชาคือดอกไม้ของหอมเหล่านั้นเพียงเท่านั้น แต่บูชาพระองค์ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง คือด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งเท่ากับทรงแสดงว่าอามิสบูชาไม่ใช่การบูชาอย่างยิ่ง การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือการเจริญโพธิปักขิยธรรม มีสติปัฏฐานสี่เป็นต้นต่างหากที่เป็นการบูชาอย่างยิ่ง เพราะอามิสบูชานั้นอานิสงส์อย่างยิ่งก็แค่สวรรค์สมบัติ แต่ปฏิบัติบูชานั้นอานิสงส์อย่างยิ่ง คือนิพพานสมบัติ
          ในพระสูตร ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มีอยู่หลายเรื่องที่กล่าวถึงบุพกรรมของนางเทพธิดาที่เมื่อเป็นมนุษย์ ได้ถวายดอกไม้ของหอมแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยอานิสงส์ของการถวายดอกไม้ของหอมนั้น จุติแล้วปฏิสนธิในเทวโลก เป็นนางเทพธิดาผู้งดงามทั้งวิมานและร่างกาย
          แม้ในขุททกนิกาย อปทาน ก็แสดงบุพกรรมของพระเถระ พระเถรีหลายรูป ก่อนที่จะสิ้นอาสวกิเลสว่า ในอดีต ท่านได้ถวายดอกไม้แม้เพียงดอกบวบแก่พระพุทธเจ้าเป็นต้น
          จากหลักฐานที่มีมาในพระไตรปิฎกเหล่านี้ ก็คงเป็นข้อยุติได้กระมังว่า คนทั้งหลายในสมัยก่อนพุทธกาล และในสมัยพุทธกาล ท่านได้บูชาพระรัตนตรัยและสิ่งที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัย เช่น พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วยดอกไม้ของหอม และวัตถุทานอื่นๆ กันมาแล้ว อันเป็นผลให้ท่านเหล่านั้นไม่ไปสู่ทุคติเลย ตราบจนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวกิเลส เพราะฉะนั้น คำกล่าวของท่านผู้สอนธรรมท่านนั้น จึงคลาดเคลื่อนจากคำสอนของพระพุทธเจ้า
________________________________________

ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒
          ทีฆนิกาย มหาวรรค
          มหาปรินิพพานสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=10&A=1888&Z=3915#129

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖
          มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
          จูฬกัมมวิภังคสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=14&A=7623&Z=7798

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔
          ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
          วกุลปุปผิยเถราปทานที่ ๖ (๒๒๖)
          ว่าด้วยผลแห่งการบูชาด้วยดอกพิกุล
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=32&A=5350&Z=5362

          อัคคปุปผิยเถราปทานที่ ๑๐ (๒๖๐)
          ว่าด้วยผลแห่งการบูชาด้วยดอกคันทรง
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=32&A=5767&Z=5789

          ปุณฑรีกเถราปทานที่ ๙ (๒๗๙)
          ว่าด้วยผลแห่งการถวายดอกบัวขาว
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=32&A=6012&Z=6020

          ติวัณฏิปุปผิยเถราปทานที่ ๑๐ (๑๙๐)
          ว่าด้วยผลแห่งการถวายดอกไม้ต่างๆ
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=32&A=4806&Z=4829

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕
          ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
          นฬมาลิกาเถริยาปทานที่ ๕
          ว่าด้วยผลแห่งการถวายดอกอ้อบูชาพระ
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=33&A=4134&Z=4149

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]