ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๔๕. สงสัยเรื่องอุปกาชีวก
          ถาม  คนบ้านมีความสงสัยเรื่องอุปกาชีวกที่ได้พบพระพุทธเจ้าในระหว่างทาง ในคราวที่เสด็จไปเมืองพาราณสีเพื่อทรงโปรดปัญจวัคคีย์ว่า อุปกาชีวกเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้จริงหรือไม่เชื่อ ในเมื่อพระพุทธองค์ทรงเล่าว่าพระองค์ตรัสรู้เอง

          ตอบ  ในเรื่องนี้เห็นจะถือเอาเป็นข้อยุติมิได้ ดิฉันได้ลองนำเอาข้อความในพระไตรปิฎกภาษาบาลีในตอนนี้ไปถวายพระเถระผู้ทรงความรู้บาลีหลายรูปท่านแปลให้ ท่านแปลแล้ว บางท่านก็ตีความว่าเชื่อ บางท่านก็ตีความว่าไม่เชื่อ ดิฉันมีความรู้บาลีนิดหน่อยก็จนปัญญาที่จะตัดสิน แต่ในส่วนตัวเองนั้นสันนิษฐานว่า อย่างน้อยอุปกาชีวกก็คงจะเชื่ออยู่บ้าง ไม่ถึงกับปฏิเสธเสียทีเดียว ทั้งได้ฟังพระเถระที่ท่านอยู่อินเดียมานาน ท่านชี้แจงให้ฟังว่า การก้มศีรษะหรือสั่นศีรษะของแขกนั้น หมายความว่ายอมรับ อุปกาชีวกเป็นคนแขก การสั่นศีรษะหรือก้มศีรษะจะหมายเอารับหรือปฏิเสธ เราไม่อาจทราบได้ว่าธรรมเนียมของเขาเป็นอย่างไร ยิ่งเวลานานตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว ธรรมเนียมจะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่สำหรับคนไทยนั้นสั่นศีรษะแปลว่าปฏิเสธ เราจะไปเอาธรรมเนียมไทยเทียบกับธรรมเนียมแขกหาได้ไม่ เพราะฉะนั้นฎีกาซึ่งท่านก็เป็นแขกเหมือนกัน ท่านอาจจะทราบดีกว่าคนไทย ท่านจึงได้เขียนว่าอุปกาชีวกแสดงความชื่นชม คือเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
          คำกล่าวของท่านพระเถระรูปนี้น่ารับฟังอย่างยิ่งและคณะคล้อยตามความเห็นของท่าน คือเชื่อว่าอุปกาชีวกเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพราะมิฉะนั้นภายหลังในตอนที่ได้รับความลำบากจากการครองเรือน คงไม่คิดถึงคำพูดของพระพุทธเจ้าแล้วเดินทางไปขอบวชเป็นแน่ แม้ในหนังสือปฐมสมโพธิของกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็กล่าวไว้ว่า อุปกาชีวกเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า
          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้รับรองความเห็นของคณะว่าถูก หากท่านผู้ใดมีหลักฐานเป็นอย่างอื่นก็ยินดีรับฟัง
          สำหรับเรื่องการบวชของอุปกาชีวกที่คุณคนบ้านขอเล่าให้ฟังด้วยนั้น จะขอเล่าตามอรรถกถาดังนี้
          ในอรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาต มุนิสูตร เล่าไว้ว่า
          อุปกาชีวก เมื่อแยกทางกับพระพุทธเจ้าแล้ว ได้เดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อนาควิกคามในวังคชนบท นายบ้านเห็นอุปกาชีวกก็คิดว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะไม่นุ่งผ้า และความจริงอุปกาชีวกก็เป็นนักบวชประเภทไม่นุ่งผ้า เมื่อนายบ้านคิดว่าอุปกาชีวกเป็นพระอรหันต์ ก็เชื้อเชิญให้ไปที่บ้านของตน เลี้ยงดูด้วยอาหารอย่างดี แล้วก็เชิญให้อยู่เป็นประจำ จะถวายปัจจัยมิให้เดือดร้อน พร้อมกับจะสร้างที่อยู่ให้อยู่ด้วย อุปกาชีวกก็รับคำเชิญและก็ได้อาศัยอยู่ ณ ที่นั้น
          นายบ้านนั้นมีอาชีพเป็นนายพรานเนื้อ เมื่อเวลาจะออกไปล่าเนื้อกับบุตรและน้องชาย ก็สั่งธิดาชื่อนางฉาวา ให้ช่วยดูแลอุปกาชีวกแทนตน
          นางฉาวานั้นมีรูปร่างสวยงาม วันรุ่งขึ้นอุปกาชีวกมารับอาหารที่บ้านของนางฉาวา ได้เห็นนางฉาวาเกิดความพอใจ เฝ้าคำนึงถึงนางจนไม่กินอาหาร คิดแต่ว่าถ้าเราไม่ได้นางฉาวา เราจะต้องตาย แล้วก็ไม่รับอาหารอีกเลย
          ครั้นวันที่ ๗ นายพรานเนื้อกลับมา ทราบว่าอุปกาชีวกมารับอาหารเพียงวันเดียวแล้วไม่มาอีก ก็เข้าไปถามว่าท่านไม่สบายหรือ อุปกาชีวกก็ได้แต่ถอนใจไม่กล้าบอก
          ครั้นนายพรานเนื้อขอร้องว่า “จงบอกเถิด ข้าพเจ้าจะทำทุกอย่างเพื่อท่าน”
          อุปกาชีวกจึงบอกว่า “ถ้าเราได้ธิดาของท่านจึงจะมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ก็เห็นจะตาย”
          นายพรานจึงถามว่า “ท่านรู้จักศิลปะคือการทำมาหากินอะไรบ้าง”
          อุปกาชีวกบอกว่า “ไม่ทราบ”
          นายพรานก็ถามว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านจะครองเรือนได้อย่างไร”
          อุปกาชีวกก็ว่า “แม้เราไม่รู้ศิลปะอันใดเราก็มีแรงพอที่จะช่วยท่านหาบเนื้อ ขายเนื้อได้”
          นายพรานก็ชอบใจ จึงหาผ้าขาวมาให้ผืนหนึ่ง อุปกาชีวกก็นุ่งขาว คือพ้นจากเพศนักบวชมาเป็นคฤหัสถ์ผู้นุ่งขาว นายพรานก็ยกธิดาของตนให้เป็นภรรยา
          อุปกะกับนางฉาวามีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่อสุภัททะ เวลาที่สุภัททะร้องไห้ นางฉาวาก็แอบปลอบบุตรด้วยคำที่แสดงความเยาะเย้ยอุปกะว่า “ลูกคนหาบเนื้อเอ๋ย อย่าร้องไห้ไปเลย ลูกคนหาบเนื้อเอ๋ย อย่าร้องไห้ไปเลย”
          อุปกะได้ฟังก็เกิดความละอายใจจึงพูดว่า “เราจะไปหาสหายของเรา ชื่อว่าอนันตชินะ”
          นางฉาวาเห็นอุปกะไม่พอใจก็ยิ่งพูดจาเยาะเย้ยต่างๆ นานา จนกระทั่งอุปกะทนไม่ได้ ในวันหนึ่งก็ได้หนีภรรยาไปทางมัชฌิมประเทศ เที่ยวถามหาผู้ที่ชื่อว่าอนันตชินะ
          พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงทราบด้วยพระญาณจึงได้ตรัสสั่งว่า ถ้าใครมาถามหาอนันตชินะ ให้พามาเฝ้าพระองค์ เมื่ออุปกะมาถึงวิหารเชตวัน ถามหาอนันตชินะ พระภิกษุก็พาไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมให้ฟัง เขาได้ฟังแล้วก็บรรลุเป็นพระอนาคามีในเวลาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบลง
          นี้ก็เป็นเรื่องราวของอุปกาชีวกตามที่มีมาในอรรถกถามุนิสูตร ที่คุณผู้ถามอยากทราบ
          แต่ในเถรีคาถาแสดงคาถาของพระอรหันตเถรีรูปหนึ่งชื่อว่าจาปาเถรี ว่าเคยเป็นภรรยาของอุปกาชีวก เป็นธิดาของพรานเนื้อ ซึ่งชื่อภรรยาของอุปกาชีวก ในพระไตรปิฎกกับอรรถกถาจึงขัดกัน อรรถกถาชื่อว่านางฉาวา พระไตรปิฎกชื่อนางจาปา ความจริงชื่อก็ใกล้เคียงกัน อาจเกี่ยวกับการถ่ายทอดกันมาจนอักษรเพี้ยนไปก็ได้ นี่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น
________________________________________

ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔
          มหาวรรค ภาค ๑
          เรื่องอุปกาชีวก
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=4&A=282&Z=307

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕
          มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
          โพธิราชกุมารสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=13&A=7663&Z=8236#513

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘
          ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
          จาปาเถรีคาถา
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=26&A=9721&Z=9781

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗
          ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
          มุนีสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=25&A=7600&Z=7661

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]