ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๓๖. ที่ว่าพระสกทาคามีทำกิเลสให้เบาบางนั้นแค่ไหน
          ถาม  สกทาคามิมรรคนั้นละสังโยชน์ได้ ๓ อย่าง กับทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง ความหมายที่ว่า เบาบางนั้นมีแค่ไหน

          ตอบ  โดยปกตินั้น โสดาปัตติมรรคละสังโยชน์ได้ ๕ คือทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพตปรามาส อิสสาและมัจฉริยะ ส่วนสกทาคามิมรรคนั้นละสังโยชน์ใดๆ ที่เหลือไม่ได้เลยคือสังโยชน์มี ๑๐ โสดาปัตติมรรคละไปแล้ว ๕ ยังเหลืออีก ๕
          สกทาคามิมรรคละสังโยชน์ ๕ ที่เหลือโดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทไม่ได้เลย ได้เพียงทำให้กามราคะและปฏิฆสังโยชน์ที่เป็นอย่างหยาบที่ไม่นำไปอบาย ให้เบาบางลง ส่วนกามราคะและปฏิฆะอย่างละเอียด ละได้ด้วยอนาคามิมรรค
          พูดให้ชัดก็คือ เราสามารถจะแบ่งความหนาบางของกิเลสได้เป็น ๓ ขั้น คือ
                    ๑. ชนิดที่นำไปอบาย
                    ๒. ชนิดที่เป็นอย่างหยาบ
                    ๓. ชนิดที่เป็นอย่างละเอียด
          ชนิดที่นำไปอบายนั้นโสดาปัตติมรรคละได้เด็ดขาด ชนิดที่เป็นอย่างหยาบแต่ไม่นำไปอบาย สกทาคามิมรรคละได้เด็ดขาด คือสกทาคามิมรรคละเฉพาะกิเลสอย่างหยาบเท่านั้น ยังละกิเลสที่เป็นอย่างละเอียดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าทำกิเลสที่เหลือให้เบาบางลง คือทำอย่างหยาบให้บางลงเป็นส่วนละเอียด ซึ่งส่วนละเอียดนี้ต้องละด้วยอนาคามิมรรคและอรหัตตมรรค นี่เป็นการพูดอย่างกว้างๆ
          ท่านยังกล่าวถึงเหตุที่ทำให้เบาบางไว้ด้วยว่า
                    เบาบางด้วยการเกิดขึ้นโดยลำพัง ๑
                    เบาบางด้วยความกลุ้มรุมอ่อน ๑
          อธิบายว่า กิเลสย่อมไม่เกิดขึ้นเนืองๆ แก่พระสกทาคามี เหมือนกับที่เกิดแก่ปุถุชนส่วนมากที่แล่นไปตามวัฏฏะ ย่อมเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น แม้เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอาการที่เบาบาง เหมือนอย่างหน่อพืชในไร่นาที่หว่านไว้ห่างๆ แม้เมื่อเกิดขึ้นก็ไม่รุนแรง ไม่กระทำความมืดมนให้เหมือนกันที่เกิดแก่ปุถุชนส่วนมากที่แล่นไปตามวัฏฏะ
          อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุที่ถูกมรรคทั้งสองประหานเสียแล้ว จึงเกิดขึ้นอ่อนๆ ไม่รุนแรง ย่อมเกิดขึ้นเป็นอาการบางๆ เหมือนชั้นแห่งหมอก และเหมือนอย่างปีกแมลงปอ จากคำขยายความจากอรรถกถานี้ คงทำให้มองเห็นภาพว่า สกทาคามิมรรคทำราคะและโทสะให้เบาบางได้อย่างไร
          จึงขอยุติปัญหาข้อนี้ไว้เพียงเท่านี้
________________________________________

ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๓
          ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์
          [๕๐] บุคคลชื่อว่าสกทาคามี เป็นไฉน
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=36&A=2785&Z=2939#50

          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า สังโยชน์ 10 [ตามสุตตันตนัย]
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=329
          คำว่า สังโยชน์ 10 [ตามอภิธรรมนัย]
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=330

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]