ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๓๐. ฆ่าสัตว์ถวายพระพุทธเจ้าเป็นบาปไหม
          ถาม  ฆ่าสัตว์ถวายพระพุทธเจ้าบาปไหม

          ตอบ  ในชีวกสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๕๖ ซึ่งมีข้อความว่า

          ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ข้าพเจ้าคือท่านพระอานนท์ ท่านได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อัมพวัน คือสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจ เขตพระนครราชคฤห์
          ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
          “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้ว่า ชนย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าใคร่จะทราบว่าชนทั้งหลายที่กล่าวอย่างนั้น ชื่อว่ากล่าวตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ หรือว่ากล่าวตู่พระพุทธเจ้าด้วยคำไม่จริง พระพุทธเจ้าข้า”
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
          “ดูก่อนชีวก ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระองค์ทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเจาะจงเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้ ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าว แต่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง
          ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือเนื้อที่ตนเห็น ๑ เนื้อที่ตนได้ยิน ๑ เนื้อที่ตนรังเกียจ ๑
          ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้
          ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการคือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น ๑ เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน ๑ เนื้อที่ตนไม่รังเกียจ ๑
          ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้”

          ในอรรถกถาแก้ว่า หมอชีวกผู้นี้เป็นพระโสดาบัน หลังจากที่ได้ถวายพระโอสถอ่อนๆ ระบายพระกายที่มากไปด้วยโทษของพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนา แล้วได้ถวายผ้าคู่หนึ่งที่ได้มาจากแคว้นกาสีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
          หมอชีวกคิดว่าเราต้องเฝ้าพระพุทธเจ้าวันละ ๒ หรือ ๓ ครั้ง พระวิหารเวฬุวันอยู่ไกลเกินไป สวนมะม่วงของเราอยู่ใกล้กว่า ดังนั้นจึงได้สร้างที่เร้น กุฎีและมณฑป ที่พักสำหรับกลางวันหรือกลางคืน สร้างพระคันธกุฎีอันสมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้อังคาสเลี้ยงดูพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ด้วยภัตตาหาร ถวายจีวรแล้วหลั่งน้ำทักษิโณทก มอบถวายวิหารแด่สงฆ์
          พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกนี้แหละ และหมอชีวกได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า เรื่องการบริโภคเนื้อดังที่ได้เล่ามาแล้ว ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า ความเชื่อถือของคนพวกหนึ่งมีว่า ผู้ใดบริโภคเนื้อที่เขาทำเจาะจงผู้ใด ผู้นั้นบริโภคเนื้อนั้น ผู้นั้นก็ต้องรับผลของกรรมคือการฆ่าสัตว์นั้นด้วย นี่เป็นความเชื่อถือของคนบางพวก แต่พระพุทธเจ้ามิได้เสวยเนื้อที่เขาทำเจาะจงพระองค์ ด้วยว่าพระองค์และภิกษุสงฆ์ไม่เสวยเนื้อที่ตนเห็น ไม่เสวยเนื้อที่ตนได้ยิน และไม่เสวยเนื้อที่ตนรังเกียจ ด้วยว่าเนื้อที่ตนเห็น ที่ตนได้ยิน และที่ตนรังเกียจ เป็นเนื้อที่ไม่ควรบริโภค เป็นอกัปปิยะมังสะ สำหรับเนื้อที่ตนเห็นนั้น คือได้เห็นว่าเขาฆ่าสัตว์แล้วเอาเนื้อสัตว์นั้นทำอาหารถวายตน เนื้อที่ตนได้ยินนั้น คือได้ยินว่าเขาให้ฆ่าเนื้อสัตว์แล้วนำมาทำอาหารถวาย เนื้อทั้งสองชนิดนี้เป็นเนื้อต้องห้าม ไม่สมควรที่ภิกษุจะฉัน เพราะเห็นอยู่ ได้ยินอยู่ว่าเขาฆ่าหรือให้ฆ่าเพื่อตน
          ในเรื่องนี้ที่ตนรังเกียจหรือที่ตนสงสัยนั้น อรรถกถาอธิบายว่า ภิกษุในศาสนานี้ เห็นคนทั้งหลายถือตาข่ายและแหเป็นต้น กำลังออกจากบ้านหรือกำลังเที่ยวเข้าไปในป่า ครั้นเมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น คนเหล่านั้นที่ท่านได้เห็นถือข่ายถือแหเป็นต้นเมื่อวานนี้ นำอาหารที่มีปลาและเนื้อมาถวาย ท่านก็สงสัยว่า ปลาและเนื้อนี้เป็นปลาและเนื้อที่ท่านได้เห็นเขาไปฆ่ามาเมื่อวานนี้ เพื่อถวายภิกษุสงฆ์กระมังหนอ เมื่อท่านสงสัยโดยอาศัยการเห็นเช่นนั้น ท่านก็ไม่ฉันปลาและเนื้อนั้น เพราะไม่แน่ใจว่า เขาทำเพื่อท่านหรือไม่
          ครั้นคนเหล่านั้นถามว่า “เหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับอาหารของพวกกระผม”
          ภิกษุท่านก็เล่าความสงสัยของท่านให้คนเหล่านั้นฟัง
          คนเหล่านั้นก็บอกว่า “พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย คือไม่ได้ทำเจาะจงภิกษุทั้งหลาย แต่ทำเพื่อประโยชน์ของพวกเราเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่พวกอำมาตย์ทั้งหลายเป็นต้นต่างหาก”
          ภิกษุทั้งหลายทราบแล้วจึงรับอาหารปลาและเนื้อนั้นฉัน นี้เป็นคำอธิบายในเรื่องภิกษุรังเกียจเพราะได้เห็นเข่าฆ่าสัตว์แล้วไม่แน่ใจ สงสัยว่าเขาทำเจาะจงตน จึงไม่รับเนื้อ ไม่ฉันเนื้อที่ตนสงสัย เพราะได้เห็นนั้น
          ในเรื่องที่ภิกษุสงสัยเพราะได้ยินนั้น อรรถกถาขยายความว่า ภิกษุทั้งหลายมิได้เห็น แต่ได้ยินว่าเขาเป็นคนถือตาข่ายและแหเป็นต้นออกจากบ้านไป วันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตในบ้านนั้น คนเหล่านั้นก็นำเอาอาหารที่มีปลาและเนื้อมาถวาย ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วก็สงสัยเพราะได้ยินมาว่าเมื่อวานนี้ว่า คนเหล่านี้หาปลาและเนื้อมาเพื่อประโยชน์แก่พวกท่านใช่หรือไม่หนอ จึงไม่รับอาหารนั้น ครั้นคนเหล่านั้นถามว่า เหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับอาหารของพวกเรา คนเหล่านั้นก็บอกว่า พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก แต่พวกเราทำเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่พวกอำมาตย์เป็นต้น ภิกษุเหล่านั้นฟังแล้วเห็นว่าอาหารนั้นสมควรแก่ตน จึงรับอาหารนั้น
          อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเห็นก็ไม่ได้เห็น ได้ยินก็ไม่ได้ยิน เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น คนทั้งหลายก็รับบาตรไป แล้วจัดอาหารที่มีปลาและเนื้อลงในบาตร แล้วถวาย ภิกษุเหล่านั้นถึงแม้ไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินมาก่อน ถึงกระนั้นก็อดสงสัยไม่ได้ว่า อาหารปลาและเนื้อเหล่านี้เขาทำเพื่อพวกตนหรือไม่หนอ เมื่อสงสัยก็ไม่รับอาหารนั้น เมื่อชาวบ้านถามว่า เหตุไรจึงไม่รับอาหารของพวกตน ท่านก็บอกให้ทราบ ชาวบ้านเหล่านั้นจึงว่า อาหารปลาและเนื้อนี้พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่พระคุณเจ้าทั้งหลายดอก แต่พวกเราทำเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่ออำมาตย์ทั้งหลายเป็นต้น เมื่อภิกษุทั้งหลายเห็นว่าอาหารนั้นสมควรแก่ท่าน ท่านก็รับ
          นอกจากนั้น ถ้าชาวบ้านบอกว่า อาหารปลาและเนื้อนั้นเป็นของที่มีอยู่แล้ว หรือเป็นของที่เขาซื้อหามาจากตลาดเป็นวัตตมังสะ อาหารและเนื้อเช่นนี้ภิกษุรับได้ แม้ในอาหารที่เขาทำอุทิศแด่คนตายหรือทำเพื่องานมงคล ถ้าภิกษุไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน หรือมิได้สงสัยเคลือบแคลงใจแล้ว ก็รับอาหารนั้นได้ทุกอย่าง แต่ถ้าอาหารปลาและเนื้อนั้นทำอุทิศภิกษุในวัดแห่งหนึ่ง ภิกษุบางพวกไม่รู้ว่าเขาทำเจาะจงตน ส่วนภิกษุบางพวกรู้ ภิกษุพวกใดรู้ ภิกษุพวกนั้นไม่ควรรับอาหารนั้น ภิกษุพวกที่ไม่รู้สมควรรับ แต่ถ้าภิกษุทั้งหมดเขาทำเพื่อพวกท่าน อาหารนั้นก็ไม่สมควรแก่ภิกษุทั้งหมดนั้น หากภิกษุทั้งหมดไม่รู้ว่าเขาทำเจาะจงพวกท่าน อาหารนั้นก็ควรแก่ภิกษุทั้งหมดนั้น
          ท่านยังอธิบายต่อไปอีกว่า บรรดาสหธรรมิก ๕ รูป อาหารที่เขาทำอุทิศภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมไม่ควรแก่ภิกษุสหธรรมิกทั้ง ๕ รูป ส่วนบางคนฆ่าสัตว์เจาะจงภิกษุรูปหนึ่ง แล้วบรรจุอาหารที่เต็มด้วยเนื้อสัตว์นั้นจนเต็มบาตรถวาย และภิกษุนั้นก็รู้อยู่ว่าเขาทำอุทิศคือเจาะจงตน ดังนั้นเมื่อรับแล้วก็ไม่ฉันถวายแก่ภิกษุรูปอื่นแทน ภิกษุรูปนั้นก็ฉันด้วยความเชื่อใจในภิกษุนั้น คือฉันโดยปราศจากความสงสัย ถ้าเป็นเช่นนั้น อาบัติย่อมไม่มีแม้แก่ภิกษุทั้งสองนั้น เพราะรูปที่รู้ก็มิได้ฉัน รูปที่ฉันก็ไม่รู้ ส่วนภิกษุรู้ว่าเป็นอุทิศมังสะ คือมังสะที่เขาทำเพื่อเจาะจงท่าน ท่านฉันเข้าไปเป็นอาบัติ แม้ภิกษุไม่รู้ว่าเขาทำเจาะจงท่าน ฉันเข้าไปก็เป็นอาบัติเช่นกัน เพราะฉะนั้น ภิกษุที่กลัวอาบัติ จึงถามก่อนฉันหรือก่อนรับ ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่าเนื้อสัตว์แล้ว เมื่อปรุงสำเร็จแล้วก็คล้ายๆ กัน ดูด้วยตาธรรมดาก็เหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นจึงควรถามก่อนแล้วจึงรับ
          สรุปว่า ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมฉันปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือโดยไม่เห็น ๑ โดยไม่ได้ยิน ๑ และโดยไม่สงสัย ๑ กับไม่ฉันเนื้อที่ต้องห้าม ๑๐ อย่าง คือเนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี และเนื้อเสือดาว รูปใดฉันเนื้อที่ไม่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ เป็นอาบัติทุกกฎ รูปใดฉันเนื้อมนุษย์เป็นอาบัติถุลลัจจัย รูปใดฉันเนื้อต้องห้าม ๙ อย่างที่เหลือ เป็นอาบัติทุกกฎ
          ส่วนข้อความในพระสูตรมีต่อไปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในบ้านหรือคามนิคมใดๆ ก็แผ่เมตตาไปทั่วทิศ ตลอดโลกทั้งปวงแก่สัตว์ทุกหมู่เหล่า ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ ก็เมื่อคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีเข้าไปหาภิกษุนั้น นิมนต์ให้รับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ขณะที่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีอังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต เธอไม่เคยคิดเลยว่าคนเหล่านั้นอังคาสเธอด้วยอาหารที่ประณีต และไม่เคยคิดที่จะให้เขาถวายอาหารเช่นนั้นอีก เธอไม่ได้ยินดียินร้ายในอาหารเหล่านั้น เป็นผู้มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องถอนตน บริโภคอยู่
          ดูก่อนชีวก ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งตนหรือผู้อื่นบ้างหรือไม่”
          หมอชีวกกราบทูลว่า “ไม่เบียดเบียน พระพุทธเจ้าข้า”
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า “ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษใช่หรือไม่”
          หมอชีวกกราบทูลว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบมาว่า พรหมมีปกติอยู่ด้วยเมตตา ข้าพระองค์เพียงแต่ได้ยินได้ฟังมา บัดนี้ข้าพระองค์ประจักษ์ชัดแล้วว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา”
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
          “ดูก่อนชีวก บุคคลที่มีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้นตถาคตละแล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา
          ดูก่อนชีวก ถ้าท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะเป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน”
          หมอชีวกทูลรับว่า “ข้าพระองค์หมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนั้น”
          แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสต่อไปอีกถึงภิกษุในธรรมวินัยนี้ว่า เมื่ออยู่ที่ใดก็มีใจประกอบด้วยกรุณา ประกอบด้วยมุทิตา ประกอบด้วยอุเบกขาในสัตว์ทั้งปวง ทั่วทุกทิศ ตลอดโลก ตามลำดับดังที่เล่าไปแล้ว กล่าวคือ เมื่อภิกษุนั้นรับนิมนต์ของผู้ใดแล้ว แม้ได้อาหารที่ประณีตท่านก็ไม่เคยคิดเลยว่า ขอให้ผู้นั้นจงถวายอาหารที่ประณีตอย่างนี้อีก แต่ท่านเป็นผู้ไม่ยินดียินร้ายในอาหารเหล่านั้น เป็นผู้บริโภคด้วยปัญญาเป็นเครื่องถอนตน เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจะชื่อว่าเบียดเบียนตนและผู้อื่นได้หรือไม่ และจะชื่อว่า ภิกษุนั้นฉันอาหารอันมีโทษได้หรือไม่
          หมอชีวกทูลว่าไม่ได้ แล้วทูลต่อไปว่า “ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พระพุทธเจ้าทรงมีปกติอยู่ด้วยกรุณา มุทิตา อุเบกขา คำนั้นสมจริงแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพยานในเรื่องนี้ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา”
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ถ้าท่านหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะแล้ว เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน”
          หมอชีวกทูลว่า “ข้าพระองค์หมายเอาเช่นนั้นพระเจ้าข้า”
          ก็เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วว่า พระองค์และภิกษุสาวกของพระองค์เป็นผู้มีอยู่ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อสัตว์ทุกชนิด ทุกประเภท ทั่วโลกหาประมาณมิได้
          เหตุไฉน จึงจะเป็นอย่างที่คนทั้งหลายกล่าวหาพระองค์ว่าพระองค์รับและฉันปลาและเนื้อที่เขาฆ่าเจาะจงพระองค์
          เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
          “ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการคือ
          ๑. ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมาดังนี้ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้
          ๒. สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๒ นี้
          ๓. ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้
          ๔. สัตว์นั้นเมื่อเขากำลังฆ่าย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้
          ๕. ผู้นั้นย่อมยังตถาคตและสาวกตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๕ นี้
          ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้“
          จากชีวกสูตรนี้ ท่านจะทราบว่า การฆ่าสัตว์เพื่อถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกของพระองค์นั้นบาปมาก คือบาปตั้งแต่สัตว์นั้นถูกนำตัวมาทีเดียว ไม่เพียงแต่ผู้ฆ่าหรือผู้สั่งให้ฆ่าจะเกิดบาปเท่ากัน แม้สัตว์ที่ถูกนำมาฆ่าก็เกิดบาป คือเกิดอกุศลจิตคิดกลัวภัย กลัวตาย ได้รับทุกข์โทมนัสมาก ทั้งในเวลาที่ถูกนำตัวมาและในเวลาที่ถูกฆ่า และด้วยอกุศลจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น อาจทำให้สัตว์นั้นไปเกิดในอบายได้อีกด้วย นับว่าน่าสงสารมาก เพราะฉะนั้นอย่าฆ่าเองหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าเลย ไม่ว่าฆ่าเล่น ฆ่าเอามากิน หรือฆ่าเพื่อทำบุญ เพราะแทนที่จะได้บุญกลับได้บาปมากทีเดียว ชีวิตใครใครก็รัก เรารักตัวกลัวตายกลัวถูกฆ่าอย่างไร สัตว์ทั้งหลายก็รักตัวกลัวตาย กลัวถูกฆ่าอย่างนั้นเหมือนกัน
          เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนั้น
          หมอชีวกโกมารภัจก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ในการที่ภิกษุทั้งหลายย่อมฉันอาหารที่ไม่มีโทษ อันสมควรแก่สมณะ”
          ครั้นแล้วได้กล่าวต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
          ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแจ่มแจ้งอย่างนี้แหละ หมอชีวกท่านจึงได้เป็นพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยท่านหนึ่ง
          จากพระสูตรนี้แสดงว่า ฆ่าสัตว์ถวายพระพุทธเจ้าบาปแน่นอน
________________________________________

ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕
          มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
          ชีวกสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=13&A=950&Z=1043

          พระไตรปิฏกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕
          พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อมนุษย์ เป็นต้น
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=5&A=1372&Z=1508

          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า พรหมวิหาร 4
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พรหมวิหาร_4

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]