ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘ ปริวาร
ภิกขุนีวิภังค์ ๑๖ มหาวาร
กัตถปัญญัติวารที่ ๑
ปาราชิกกัณฑ์
[๕๑๑] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ณ ที่ไหน? ทรงปรารภใคร? เพราะเรื่องอะไร? ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น มีบัญญัติ อนุบัญญัติ อนุปันนบัญญัติ สัพพัตถบัญญัติ ปเทส- *บัญญัติ สาธารณบัญญัติ อสาธารณบัญญัติ เอกโตบัญญัติ อุภโตบัญญัติหรือ? บรรดาปาติโมก- *ขุทเทศ ๔ ปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น จัดเข้าในอุเทศไหน? นับเนื่องในอุเทศไหน? มาสู่อุเทศ โดยอุเทศที่เท่าไร? บรรดาวิบัติ ๔ จัดเป็นวิบัติอย่างไหน? บรรดาอาบัติ ๗ กอง เป็นอาบัติกอง ไหน? บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ เกิดด้วยสมุฏฐานเท่าไร? บรรดาอธิกรณ์ ๔ เป็นอธิกรณ์ ไหน? บรรดาสมถะ ๗ ระงับด้วยสมถะเท่าไร? ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น อะไรเป็นวินัย? ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น อะไรเป็นอภิวินัย? ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น อะไรเป็นปาติ- *โมกข์ ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น อะไรเป็นอธิปาติโมกข์ อะไรเป็นวิบัติ? อะไรเป็นสมบัติ? อะไรเป็นข้อปฏิบัติ? พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ แก่ภิกษุณีทั้งหลาย เพราะ ทรงอาศัยอำนาจประโยชน์เท่าไร? พวกไหนศึกษา? พวกไหนมีสิกขาอันศึกษาแล้ว? ปาราชิก สิกขาบทที่ ๕ นั้น ตั้งอยู่ในใคร? พวกไหนย่อมทรงไว้? เป็นถ้อยคำของใคร? ใครนำมา?
ปาราชิกกัณฑ์
คำถามและคำตอบในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕
[๕๑๒] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ นั้น ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ณ ที่ไหน? ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี. ถ. ทรงปรารภใคร? ต. ทรงปรารภภิกษุณีสุนทรีนันทา. ถ. เพราะเรื่องอะไร? ต. เพราะเรื่องที่ภิกษุณีสุนทรีนันทา มีความกำหนัด ยินดีในการเคล้าคลึงด้วยกาย ของบุรุษบุคคลผู้กำหนัด. ถ. ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น มีบัญญัติ อนุบัญญัติ อนุปันนบัญญัติ หรือ? ต. มีบัญญัติ ๑ อนุบัญญัติ อนุปันนบัญญัติ ไม่มีในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น. ถ. มีสัพพัตถบัญญัติ ปเทสบัญญัติ หรือ? ต. มีแต่สัพพัตถบัญญัติ. ถ. มีสาธารณบัญญัติ อสาธารณบัญญัติ หรือ? ต. มีแต่อสาธารณบัญญัติ. ถ. มีเอกโตบัญญัติ อุภโตบัญญัติ หรือ? ต. มีแต่เอกโตบัญญัติ. บรรดาปาติโมกขุทเทศ ๔ ปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น จัดเข้าในอุเทศไหน? นับเนื่อง ในอุเทศไหน? ต. จัดเข้าในนิทาน นับเนื่องในนิทาน. ถ. มาสู่อุเทศโดยอุเทศที่เท่าไร? ต. มาสู่อุเทศโดยอุเทศที่ ๒. ถ. บรรดาวิบัติ ๔ เป็นวิบัติอย่างไหน? ต. เป็นศีลวิบัติ. ถ. บรรดาอาบัติ ๗ กอง เป็นอาบัติกองไหน? ต. เป็นกองอาบัติปาราชิก. ถ. บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ ปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น เกิดขึ้นด้วยสมุฏฐาน เท่าไร? ต. เกิดขึ้นด้วยสมุฏฐานอันหนึ่ง คือ เกิดแต่กาย กับจิต มิใช่วาจา. ถ. บรรดาอธิกรณ์ ๔ เป็นอธิกรณ์อะไร? ต. เป็นอาปัตตาธิกรณ์. ถ. บรรดาสมถะ ๗ ระงับด้วยสมถะเท่าไร? ต. ระงับด้วยสมถะ ๒ คือสัมมุขาวินัย ๑ ปฏิญญาตกรณะ ๑. ถ. ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น อะไรเป็นวินัย? อะไรเป็นอภิวินัย? ต. พระบัญญัติเป็นวินัย การจำแนกเป็นอภิวินัย. ถ. ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น อะไรเป็นปาติโมกข์? ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น อะไรเป็นอธิปาติโมกข์? ต. พระบัญญัติเป็นปาติโมกข์ การจำแนกเป็นอธิปาติโมกข์. ถ. อะไรเป็นวิบัติ? ต. ความไม่สังวรเป็นวิบัติ. ถ. อะไรเป็นสมบัติ? ต. ความสังวรเป็นสมบัติ. ถ. อะไรเป็นข้อปฏิบัติ? ต. ข้อที่ภิกษุณีสมาทานอาปาณโกฏิกศีลตลอดชีวิตว่า จักไม่ทำกรรมเห็นปานนี้ แล้ว ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เป็นข้อปฏิบัติ. ถ. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ทรงอาศัย อำนาจประโยชน์เท่าไร? ต. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ แก่ภิกษุณีทั้งหลาย เพราะทรง อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มภิกษุณีผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุณี ผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจะบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัท- *ธรรม ๑ เพื่ออนุเคราะห์ พระวินัย ๑. ถ. พวกไหนศึกษา? ต. ภิกษุณีเป็นเสกขะและเป็นกัลยาณปุถุชนศึกษา. ถ. พวกไหนมีสิกขาอันศึกษาแล้ว? ต. ภิกษุณีผู้อรหันต์มีสิกขาอันศึกษาแล้ว. ถ. ปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ นั้น ตั้งอยู่ในใคร? ต. ตั้งอยู่ในภิกษุณีผู้ใคร่ต่อการศึกษา. ถ. พวกไหนย่อมทรงไว้? ต. ปาราชิกสิกขาบทที่ ๕ ย่อมเป็นไปแก่ภิกษุณีเหล่าใด ภิกษุณีเหล่านั้นย่อมทรงไว้. ถ. เป็นถ้อยคำของใคร? ต. เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. ถ. ใครนำมา? ต. พระเถระทั้งหลายนำสืบๆ กันมา.
รายนามพระเถระผู้ทรงพระวินัย
พระเถระเหล่านี้ คือ พระอุบาลี พระทาสกะ พระโสณกะ พระสิคควะ รวมเป็นห้าทั้งพระโมคคัลลีบุตร นำพระวินัยมาในทวีปชื่อว่าชมพูมีสิริ. แต่นั้น พระเถระผู้ประเสริฐมีปัญญามากเหล่านี้ คือ พระมหินทะ ๑ พระอิฏฏิยะ ๑ พระอุตติยะ ๑ พระสัมพละ ๑ ... พระเถระผู้ประเสริฐ ผู้มี ปัญญามากเหล่านี้ รู้พระวินัย ฉลาดในมรรคา ได้ประกาศพระวินัยปิฎก ไว้ในเกาะตามพปัณณิ.
คำถามและคำตอบในปาราชิกสิกขาบทที่ ๖
[๕๑๓] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ นั้น ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๖ แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ณ ที่ไหน? ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี. ถ. ทรงปรารภใคร? ต. ทรงปรารภภิกษุณีถุลลนันทา. ถ. เพราะเรื่องอะไร? ต. เพราะเรื่องที่ภิกษุณีถุลลนันทารู้อยู่ว่า ภิกษุณีต้องปาราชิกธรรม ไม่โจทด้วยตนเอง ไม่บอกแก่คณะ. มีบัญญัติ ๑ บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ สิกขาบทนี้ เกิดด้วยสมุฏฐานอันหนึ่ง คือ เกิดแต่กาย วาจา และจิต.
คำถามและคำตอบในปาราชิกสิกขาบทที่ ๗
[๕๑๔] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ นั้น ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๗ แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ณ ที่ไหน? ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี. ถ. ทรงปรารภใคร? ต. ทรงปรารภภิกษุณีถุลลนันทา. ถ. เพราะเรื่องอะไร? ต. เพราะเรื่องที่ภิกษุณีถุลลนันทา ประพฤติตามพระอริฏฐะ ผู้เคยเป็นคนฆ่าแร้ง ถูก สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันยกวัตร. มีบัญญัติ ๑ บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ สิกขาบทนี้ เกิดด้วยสมุฏฐานอันหนึ่ง (เหมือนธุรนิกเขปสิกขาบท).
คำถามและคำตอบในปาราชิกสิกขาบทที่ ๘
[๕๑๕] ถามว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ นั้น ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๘ แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ณ ที่ไหน? ตอบว่า ทรงบัญญัติ ณ พระนครสาวัตถี. ถ. ทรงปรารภใคร? ต. ทรงปรารภภิกษุณีฉัพพัคคีย์. ถ. เพราะเรื่องอะไร? ต. เพราะเรื่องที่ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ทำวัตถุที่ ๘ ให้บริบูรณ์. มีบัญญัติ ๑ บรรดาสมุฏฐานแห่งอาบัติ ๖ สิกขาบทนี้ เกิดด้วยสมุฏฐานอันหนึ่ง (เหมือนธุรนิกเขปสิกขาบท).
ปาราชิก ๘ สิกขาบท จบ
-----------------------------------------------------
หัวข้อประจำกัณฑ์
[๕๑๖] พระมหาวีระทรงบัญญัติปาราชิกอันเป็นวัตถุแห่งการขาดอย่างไม่ต้องสงสัย คือ เมถุน ๑ อทินนาทาน ๑ มนุสสวิคคหะ ๑ อุตตริมนุสสธรรม ๑ กายสังสัคคะ ๑ ปกปิด ๑ สงฆ์ยกวัตร ๑ วัตถุที่แปด ๑ ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๘ บรรทัดที่ ๓๖๒๗-๓๗๕๔ หน้าที่ ๑๓๘-๑๔๓. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=8&A=3627&Z=3754&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=8&siri=36              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=511              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [511-516] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=8&item=511&items=6              The Pali Tipitaka in Roman :- [511-516] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=8&item=511&items=6              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_8              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-pvr2.1/en/brahmali# https://suttacentral.net/pli-tv-pvr2.1/en/horner-brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :