ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
วักกลิเถราปทานที่ ๒
ว่าด้วยบุพจริยาของพระวักกลิเถระ
[๑๒๒] สมเด็จพระผู้นำมีพระนามไม่ทราม มีพระคุณนับไม่ได้พระนามว่า ปทุมุตระ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ พระนามว่า ปทุมุตระ ก็เพราะมีพระพักตร์เหมือนดอกปทุม มีพระฉวีวรรณ งาม ไม่มีมลทิน เหมือนดอกปทุม ไม่เปื้อนด้วยโลก เหมือน ดอกปทุมไม่เปื้อนด้วยน้ำ ฉะนั้น เป็นนักปราชญ์ มีพระอินทรีย์ ดังใบปทุมและน่ารักเหมือนดอกปทุม ทั้งมีพระโอฐ มีกลิ่น อุดม เหมือนกลิ่นในกลีบของดอกปทุม เพราะฉะนั้น พระองค์ จึงทรงพระนามว่า ปทุมุตระ พระองค์เป็นผู้เจริญกว่าโลก ไม่ทรงถือพระองค์ เปรียบเสมือนเป็นนัยน์ตาให้คนตาบอด มีพระ อิริยาบถสงบ เป็นที่ฝังพระคุณ เป็นที่รองรับกรุณาและมติถึงใน ครั้งไหนๆ พระมหาวีรเจ้าพระองค์นั้น ก็เป็นผู้อันพรหมอสูรและ เทวดาบูชา สูงสุดกว่าชนในท่ามกลางหมู่ชนที่เกลื่อนกล่นไปทั้ง เทวดาและมนุษย์ เมื่อจะยังบริษัททั้งปวงให้ยินดีด้วยพระสำเนียง อันเสนาะ และด้วยพระธรรมเทศนาอันเพราะพริ้ง จึงได้ชมสาวก ของพระองค์ว่า ภิกษุอื่นที่พ้นกิเลสด้วยศรัทธา มีมติดี ขวนขวาย ในการดูเรา เช่นกับวักกลิภิกษุนี้ ไม่มีเลย ครั้งนั้น เราเป็นบุตร ของพราณ์ในพระนครหงสวดี ได้สดับพระพุทธภาษิตนั้น จึง ชอบฐานันดรนั้น ครั้งนั้น เราได้นิมนต์พระตถาคตผู้ปราศจาก มลทินพระองค์นั้น พร้อมด้วยพระสาวก ให้เสวยตลอด ๗ วัน แล้วให้ครองผ้า เราหมอบศีรษะลงแล้วจมลงในสาครคืออนันตคุณ ของพระศาสดาพระองค์นั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยปีติ ได้กราบทูล ดังนี้ว่า ข้าแต่พระมหามุนี ขอให้พระองค์ได้เป็นเช่นกับภิกษุผู้ สัทธาธิมุติ ที่พระองค์ตรัสชมเชยว่า เลิศกว่าภิกษุผู้มีศรัทธาใน พระศาสนานี้เถิด เมื่อเรากราบทูลดังนี้แล้ว พระมหามุนีผู้มี ความเพียรใหญ่ มีพระทรรศนะมิได้มีเครื่องกีดกัน ได้ตรัสพระ ดำรัสนี้ในท่ามกลางบริษัทว่า จงดูมาณพผู้นี้ ผู้นุ่งผ้าเนื้อเกลี้ยง สีเหลือง มีอวัยวะอันบุญสร้างสมให้คล้ายทองคำ ดูดดื่มตา และใจของหมู่ชนในอนาคตกาล มาณพผู้นี้จักได้เป็นพระสาวก ของพระโคดมผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายสัทธาธิมุติ เขาเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตามจักเป็นผู้เว้นจาก ความเดือดร้อนทั้งปวง รวบรวมโภคทรัพย์ทุกอย่าง มีความสุข ท่องเที่ยวไป ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดามีนามชื่อว่าโคดม ทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มาณพผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็น โอรสอันธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดามีนามชื่อว่า วักกลิ เพราะผลกรรมที่เหลือนั้น และเพราะตั้งเจตน์จำนงไว้ เรา ละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรามีความสุขในที่ทุก สถาน ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ได้เกิดในสกุลหนึ่งใน พระนครสาวัตถี มารดาของเราถูกภัยปีศาจคุกคาม มีใจหวาดกลัว จึงให้เราผู้ละเอียดอ่อนเหมือนเนยข้น นุ่มนิ่มเหมือนใบไม้อ่อนๆ ซึ่งยังนอนหงาย ให้นอนลงแทบบาทมูลของพระผู้แสวงหาคุณอัน ยิ่งใหญ่ กราบทูลว่า ข้าแต่พระโลกนาถ หม่อมฉันขอถวาย ทารกนี้แด่พระองค์ ข้าแต่พระโลกนายก ขอพระองค์จงทรงเป็นที่ พึ่งของเขาด้วยเถิด ครั้งนั้น สมเด็จพระมุนีผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ ผู้หวาดกลัว พระองค์ได้ทรงรับเราด้วยฝ่าพระหัตถ์อันอ่อนนุ่ม มี ตาข่ายอันท่านกำหนดด้วยจักร จำเดิมแต่นั้นมา เราก็เป็นผู้ถูก รักษาโดยพระพุทธเจ้า จึงเป็นผู้พ้นจากความป่วยไข้ทุกอย่าง อยู่ โดยสุขสำราญ เราเว้นจากพระสุคตเสียเพียงครู่เดียวก็กระสัน พอ อายุได้ ๗ ขวบ เราก็ออกบวชเป็นบรรพชิต เราเป็นผู้ไม่อิ่มด้วย การดูพระรูปอันประเสริฐ เกิดพระบารมีทุกอย่าง มีดวงตาสีเขียว ล้วน เกลื่อนกล่นไปด้วยวรรณสันฐานอันงดงาม ครั้งนั้น พระพิชิต มารทรงทราบว่า เรายินดีในพระพุทธรูป จึงได้ตรัสสอนเราว่า อย่าเลยวักกลิ ประโยชน์อะไรในรูปที่น่าเกลียดซึ่งชนพาลชอบเล่า ก็บัณฑิตใดเห็นสัทธรรม บัณฑิตนั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ไม่เห็นสัทธรรม ถึงจะเห็นเราก็ชื่อว่าไม่เห็น กายมีโทษไม่สิ้นสุด เปรียบเสมอด้วย ต้นไม้มีพิษ เป็นที่อยู่ของโรคทุกอย่าง ล้วนเป็นที่ประชุมของทุกข์ เพราะฉะนั้น ท่านจงเบื่อหน่ายในรูป พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย จักถึงที่สุดแห่งสรรพกิเลสได้ โดยง่าย เราอันสมเด็จพระโลกนายกผู้แสวงหาประโยชน์พระองค์ นั้น ทรงพร่ำสอนอย่างนี้ ได้ขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ เพ่งดูอยู่ที่ซอกเขา พระพิชิตมารผู้มหามุนีประทับยืนอยู่ที่เชิงเขา เมื่อจะทรงปลอบโยน เรา ได้ตรัสเรียกว่า วักกลิ เราได้ฟังพระดำรัสนั้นเข้าก็เบิกบาน ครั้งนั้น เราวิ่งลงไปที่เงื้อมเขาสูงหลายร้อยชั่วบุรุษ แต่ถึงแผ่นดิน ได้โดยสะดวกทีเดียว ด้วยพุทธานุภาพ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง พระธรรมเทศนา คือ ความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งขันธ์ ทั้งหลายอีก เรารู้ธรรมนั้นทั่วถึงแล้ว จึงได้บรรลุอรหัต ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปรีชาใหญ่ ทรงทำที่สุดแห่งจรณะ ทรง ประกาศในท่ามกลางมหาบุรุษว่า เราเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่าย สัทธาธิมุติ ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วย กรรมนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลส ทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระวักกลิเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ วักกลิเถราปทาน.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ บรรทัดที่ ๒๗๖๗-๒๘๔๑ หน้าที่ ๑๒๒-๑๒๕. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=2767&Z=2841&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=122              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=122              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [122] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=33&item=122&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5642              The Pali Tipitaka in Roman :- [122] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=33&item=122&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5642              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap534/en/walters

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :