ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
             [๗๘๐] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ไม่ทำความติดใจ ในรสทั้งหลาย ไม่มี
                          ตัณหาอันเป็นเหตุให้เหลวไหล ไม่เลี้ยงผู้อื่น เที่ยวไปตามลำดับ
                          ตรอก มีจิตไม่พัวพันในสกุล พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
                          ฉะนั้น.
             [๗๘๑] คำว่า ในรสทั้งหลาย ในอุเทศว่า รเสสุ เคธํ อกรํ อโลโล ดังนี้ คือ รส
ที่ราก รสที่ต้น รสที่เปลือก รสที่ใบ รสที่ดอก รสที่ผล รสเปรี้ยว รสหวาน รสขม
รสเผ็ดร้อน รสเค็ม รสปร่า รสเฝื่อน รสฝาด รสอร่อย รสไม่อร่อย รสเย็น รสร้อน.
             สมณพราหมณ์ผู้ติดใจในรสมีอยู่ในโลก. สมณพราหมณ์เหล่านั้น เที่ยวแสวงหารส
ด้วยปลายลิ้น ได้รสเปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสไม่เปรี้ยว ได้รสไม่เปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสเปรี้ยว
ได้รสหวานแล้วก็แสวงหารสไม่หวาน ได้รสไม่หวานแล้วก็แสวงหารสหวาน ได้รสขมแล้วก็
แสวงหารสไม่ขม ได้รสไม่ขมแล้วก็แสวงหารสขม ได้รสเผ็ดร้อนแล้วก็แสวงหารสไม่เผ็ดร้อน
ได้รสไม่เผ็ดร้อนแล้วก็แสวงหารสเผ็ดร้อน ได้รสเค็มแล้วก็แสวงหารสไม่เค็ม ได้รสไม่เค็มแล้ว
ก็แสวงหารสเค็ม ได้รสปร่าแล้วก็แสวงหารสไม่ปร่า ได้รสไม่ปร่าแล้วก็แสวงหารสปร่า ได้รส
เฝื่อนแล้วก็แสวงหารสฝาด ได้รสฝาดแล้วก็แสวงหารสเฝื่อน ได้รสอร่อยแล้วก็แสวงหารส
ไม่อร่อย ได้รสไม่อร่อยแล้วก็แสวงหารสอร่อย ได้รสเย็นแล้วก็แสวงหารสร้อน ได้รสร้อน
แล้วก็แสวงหารสเย็น. สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้รสใดๆ ก็ไม่ยินดีด้วยรสนั้นๆ แสวงหารสอื่น
ต่อไป ย่อมเป็นผู้ยินดี ติดใจ ชอบใจ หลงใหล ซบเซา ข้อง เกี่ยวข้อง พัวพัน ในรส
ทั้งหลาย. ตัณหาในรสนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้ง
ดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉัน
เพื่อความมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้กาย
นี้เป็นไป เพื่อบำบัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะ
กำจัดทุกขเวทนาเก่า จักไม่ให้ทุกขเวทนาใหม่เกิดขึ้น จักเป็นไปได้สะดวก จักไม่มีโทษ จักอยู่
ผาสุก ด้วยการฉันอาหารเพียงกำหนดเท่านั้น. คนทาแผลเพื่อประโยชน์จะให้งอกเป็นกำหนด
เท่านั้น หรือพวกเกวียนหยอดเพลาเกวียน เพื่อประโยชน์แก่การขนภาระออกเป็นกำหนดเท่านั้น
หรือคนกินเนื้อบุตร เพื่อประโยชน์แก่จะออกจากทางกันดารเป็นกำหนดเท่านั้น ฉันใด พระ-
*ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาโดยอุบายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น
ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ... จักอยู่ผาสุก ด้วยการฉันอาหารเพียงกำหนดเท่านั้น. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
นั้นเป็นผู้งดเว้น เว้นขาด ออกไป สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยตัณหาในรส มีจิต
อันทำให้ปราศจากเขตแดนอยู่ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ไม่ทำความติดใจในรสทั้งหลาย.
             คำว่า ไม่มีตัณหาอันเป็นเหตุให้เหลวไหล ความว่า ตัณหา ราคะ สาราคะ ฯลฯ อภิชฌา
โลภะ อกุศลมูล ท่านกล่าวว่า เป็นเหตุให้โลเล หรือว่า เป็นเหตุให้เหลวไหล. ตัณหาอัน
เป็นเหตุให้โลเลเหลวไหลนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้วทำให้ไม่มีที่
ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา. เพราะเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงชื่อว่า ไม่มีตัณหา อันเป็นเหตุให้เหลวไหล. เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า
ไม่ทำความติดใจในรสทั้งหลาย ไม่มีตัณหา อันเป็นเหตุให้เหลวไหล
             [๗๘๒] คำว่า ไม่เลี้ยงผู้อื่น ในอุเทศว่า อนญฺญโปสี สปทานจารี ดังนี้ ความว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เลี้ยงแต่ตนเท่านั้น มิได้เลี้ยงผู้อื่น
                          เราเรียกบุคคลผู้ไม่เลี้ยงผู้อื่น ปรากฏอยู่ ตั้งมั่นคงดีแล้วใน
                          สารธรรม มีอาสวะสิ้นแล้ว คายโทษออกแล้วนั้นว่า เป็นพราหมณ์
             เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ไม่เลี้ยงผู้อื่น.
             คำว่า ผู้เที่ยวไปตามลำดับตรอก ความว่า เวลาเช้า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นนุ่งสบง
แล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปสู่บ้านหรือนิคมเพื่อบิณฑบาต มีกายวาจาจิตอันรักษาแล้ว มีสติ
ตั้งมั่น มีอินทรีย์อันสำรวมแล้ว สำรวมจักษุถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ ออกจากสกุลหนึ่งไปสู่สกุล
หนึ่งเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่เลี้ยงผู้อื่น เที่ยวไปตามลำดับตรอก.
             [๗๘๓] คำว่า มีจิตไม่พัวพันในสกุล ความว่า ภิกษุเป็นผู้มีจิตพัวพันด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ เป็นผู้ตั้งตนไว้ต่ำตั้งผู้อื่นไว้สูง มีจิตพัวพัน ๑ เป็นผู้ตั้งตนไว้สูงตั้งผู้อื่นไว้ต่ำ มีจิตพัวพัน ๑.
             ภิกษุเป็นผู้ตั้งตนไว้ต่ำตั้งผู้อื่นไว้สูงมีจิตพัวพันอย่างไร? ภิกษุกล่าวว่า ท่านทั้งหลายมีอุปการะ
แก่อาตมามาก. อาตมาได้ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะอาศัย
ท่านทั้งหลาย คนอื่นๆ อาศัยท่านทั้งหลาย เห็นแก่ท่านทั้งหลาย จึงสำคัญเพื่อจะให้หรือเพื่อจะ
ทำแก่อาตมา. ชื่อและวงศ์สกุลของโยมมารดาโยมบิดาเก่าของอาตมาเสื่อมไปแล้ว. อาตมาย่อมได้
ว่า เราเป็นกุลุปกะของอุบาสกโน้น เราเป็นกุลุปกะของอุบาสิกาโน้น เพราะท่านทั้งหลาย. ภิกษุ
เป็นผู้ตั้งตนไว้ต่ำตั้งผู้อื่นไว้สูงมีจิตพัวพันอย่างนี้.
             ภิกษุเป็นผู้ตั้งตนไว้สูงตั้งผู้อื่นไว้ต่ำมีจิตพัวพันอย่างไร? ภิกษุกล่าวว่า อาตมามีอุปการะ
มากแก่ท่านทั้งหลาย. ท่านทั้งหลายอาศัยอาตมาจึงได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็น
สรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม การพูด
เท็จ และการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท. อาตมาให้อุเทศ ให้ปริปุจฉา
บอกอุโบสถ อธิษฐานนวกรรม แก่ท่านทั้งหลาย. ก็เมื่อเป็นดังนั้น ท่านทั้งหลายสละอาตมาแล้ว
ย่อมสักการะเคารพนับถือบูชาผู้อื่น. ภิกษุเป็นผู้ตั้งตนไว้สูงตั้งผู้อื่นไว้ต่ำ มีจิตพัวพันอย่างนี้.
             คำว่า มีจิตไม่พัวพันในสกุล ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น มีจิตไม่พัวพันด้วย
ความกังวลในสกุล คณะ อาวาส จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มีจิตไม่พัวพันในสกุล พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
                          พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่ทำความติดใจในรสทั้งหลาย ไม่มีตัณหา
                          อันเป็นเหตุให้เหลวไหล ไม่เลี้ยงผู้อื่น เที่ยวไปตามลำดับตรอก
                          มีจิตไม่พัวพันในสกุล พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
             [๗๘๔] 	พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละแล้วซึ่งเครื่องกั้นจิต ๕ ประการ สลัด
                          เสียแล้วซึ่งกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งปวง อันตัณหาและทิฏฐิ
                          ไม่อาศัย ตัดเสียแล้วซึ่งความรักและความชัง พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                          เหมือนนอแรด ฉะนั้น.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๗๗๔๗-๗๘๑๖ หน้าที่ ๓๑๔-๓๑๖. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=7747&Z=7816&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=30&siri=20              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=663              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [780-784] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=30&item=780&items=5              The Pali Tipitaka in Roman :- [780-784] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=30&item=780&items=5              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_30

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :